นี่แน่นเข้า ๆ จะทำยังไงล่ะ ผู้ที่มาศึกษาอบรมพอสมควรก็ต้องขยับขยายนะ แน่นขึ้นทุกวัน ๆ ทั้งหมดมีเท่าไรนี่ทั้งพระทั้งเณร ประมาณ ๔๐ โน่น ยั้วเยี้ย ๆ จะทำยังไง ผมก็ยิ่งกำลังวังชาไม่มีเสียแล้วเดี๋ยวนี้ ถ้าอยู่ลำพังเจ้าของก็รู้สึกว่าหนักอยู่แล้ว จิตมันหดเข้ามา ๆ ไม่ได้เป็นเหมือนแต่ก่อน ๒ ปีมานี้รู้สึกเป็นความรู้สึกอันหนึ่งอยู่ในจิตนี้ มีอาการหดเข้า ๆ มา ก็ธาตุขันธ์ละพาให้เป็น
หมู่เพื่อนก็หลั่งไหลเข้ามาเรื่อย ๆ ๆ ถ้ามีมากเมื่อไรหากมีเรื่องแหละ ไม่เรื่องหนึ่งก็เรื่องหนึ่งจนได้ เรื่องกิเลสมันออกรวดเร็วที่สุดนะ ธรรมไม่ทัน ธรรมยังนอนไม่ตื่น กิเลสออกเพ่นพ่านยุ่งกวนทำลายไปทุกแห่งทุกหนรวดเร็วยิ่งกว่าอะไร อย่างหยาบ ๆ ก็อย่างที่ทะเลาะกันนั่นซิ เป็นเรื่องหยาบที่สุด เป็นเรื่องของโลกเขาแท้ ๆ ก็ยังมาเป็นได้ในวัดในพระในเณร ยังมาถือว่าเป็นของดีจนได้เรื่องความทะเลาะ เป็นเรื่องหยาบโลนที่สุด แม้ทางฆราวาสเขาก็ยังถือกัน นี่พระยังมาถือว่าเป็นของดีมาทะเลาะกันได้นี่ซิ
ตั้ง ๔๐-๕๐ จะอยู่ที่ไหนก็ยิ่งคับยิ่งแน่น หาความสงบสงัดไม่ได้ พวกอยู่เก่าก็เป็นแบบหนึ่ง พวกมาใหม่ก็เป็นแบบหนึ่ง ทั้งสองแบบนี้ไม่ใช่แบบที่น่าไว้ใจ ไม่ใช่แบบที่น่าอบอุ่นเย็นสบายสำหรับหัวหน้าและหมู่เพื่อนที่อยู่ด้วยกันก็ดี เป็นแบบอย่างว่านั่นแหละ จะว่าแบบยักษ์แบบผีก็ว่าได้ เรื่องกิเลสไม่ใช่แบบดี หากเป็นอย่างนั้นของมันแหละ ตั้งใจมาศึกษา-ศึกษาจริง ๆ ก็ดีซิ นี่ไม่เห็นมีจริงมีจังอะไร พอให้หนักเปล่า ๆ
เราไปวัดถ้ำกลองเพลวันนั้นก็ได้พิจารณาถึงเรื่องหมู่เรื่องคณะ เหมือนกับไปปลงธรรมสังเวชอันหนึ่งเหมือนกัน หากเป็นอยู่ในจิต หูตาสัมผัสสัมพันธ์ไปที่ไหน ๆ ก็อดคิดไม่ได้ น่าสงสารหมู่เพื่อน พระเต็ม...เป็นร้อยมาจากที่ต่าง ๆ วันนั้นเราก็ได้อุตส่าห์เทศน์ให้ฟังถึงจะเมื่อยจะเพลียก็ตาม เพราะความสงสารนั่นแหละ ถึงไม่ได้เข้มข้นอะไรนักก็พอเป็นคติ ๆ เทศน์ไปเรียบ ๆ ธรรมดาตามธาตุขันธ์อำนวย เป็นธรรมะอันสูงสุดเหมือนกัน
ถ้าไม่มีผู้นำ ให้เป็นไปตามลำพังจะเป็นไปได้ยังไง นี่ซิทำให้คิดมากนะ พระเณรมานั้นเรียกว่าเศษหนึ่งส่วนหมื่นก็ว่าได้ ของพระของเณรทั่วประเทศไทย ทำให้เอามาพิจารณาเทียบเคียงดูถึงผู้นำ แต่ละก๊ก ๆ นี้ต้องมีผู้นำ ๆ ผู้นำนั้นต้องเป็นผู้สำคัญจึงเรียกว่าผู้นำ สำคัญทางฝ่ายปฏิบัติก็คือสำคัญทางด้านจิตใจ เมื่อจิตใจสำคัญ การประพฤติปฏิบัติก็สำคัญ เพราะใจเป็นหลักใหญ่ของการปฏิบัติ
ถ้าใจมีหลักมีเกณฑ์ การปฏิบัติย่อมมีหลักมีเกณฑ์ แม้จะลดหย่อนผ่อนผันลงบ้างตามกาลตามเวลา ก็เป็นไปด้วยความนิ่มนวลด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้เป็นไปด้วยความขัดต่อเหตุต่อผลอรรถธรรม เช่นเป็นทิฐิมานะ หรือความหย่อนยานก็กลายเป็นกิเลสไปเสีย ทิฐิมานะเฉพาะความเคร่งก็กลายเป็นกิเลสไปเสียอย่างนั้น ไม่มีสำหรับจิตใจที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์แล้ว ย่อมลดหย่อนผ่อนผันลงได้ด้วยเหตุด้วยผล พอหมดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความให้ลดหย่อนผ่อนผันนั้นแล้ว การปฏิบัติก็ดีดเข้าสู่ปกติของตน นั่นมันสำคัญอย่างนั้น เราถือหลักใจเป็นสำคัญ ข้อปฏิบัติถ้าใจไม่มีหลักก็หาหลักเกณฑ์ไม่ได้ ถ้าใจเป็นหลักอยู่แล้วการปฏิบัติย่อมเป็นหลักเป็นเกณฑ์สม่ำเสมอ การแนะนำสั่งสอนผู้มาอยู่อาศัยด้วยอบรมศึกษา ก็เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นที่แน่ใจได้ตายใจได้เมื่อยึดหลักที่ท่านแนะนำสั่งสอนไปปฏิบัติ ผู้นำจึงเป็นสำคัญมากทีเดียว
เราเห็นอย่างพ่อแม่ครูอาจารย์นี้แหม สำคัญมากนะ ท่านเป็นแม่เหล็กจริง ๆ ท่านไปอยู่ที่ไหนพระเณรหลั่งไหลไป ถึงจะเข้าไปอยู่สำนักท่านไม่ได้ ก็ไปอยู่ตามบ้านเล็กบ้านน้อยแถว ๆ ใกล้เคียงพอไปมาหาสู่ได้ เช่น วันปาฏิโมกข์ก็มาฟังปาฏิโมกข์และโอวาทของท่านที่นั่น เวลามีโอกาสมากราบเยี่ยมท่านแต่ละครั้ง ๆ ได้อุบายไป เพราะการอบรมสั่งสอนอันอบอุ่นของท่าน นี่ละผู้มีหลักเกณฑ์ ยิ่งอย่างพ่อแม่ครูอาจารย์นี้เป็นผู้ที่บริสุทธิ์พุทโธเต็มที่แล้วอย่างนั้นก็ยิ่งร่มเย็น นี่ท่านก็เคยพูด วันอุโบสถนั่นละเป็นสำคัญ เพราะวันอุโบสถนั้นพระมามากนี่ บางที ๕๐-๖๐ พระต่างถิ่นต่างฐานแถวใกล้เคียงนั่นแหละ เณรก็ติดตามมาด้วยนอกจากพระแล้ว
เวลาให้โอวาทท่านเตือน อย่าได้นอนใจ การศึกษาอรรถธรรมทางด้านจิตใจนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก สำคัญที่ผู้จะให้การอบรมศึกษาถูกต้องแม่นยำหรือไม่ เราก็เป็นห่วงหมู่เพื่อน การศึกษาทางด้านจิตใจนี้ไม่เหมือนทางด้านปริยัติ ต้องเอาของจริงมาพูดกัน เมื่อพูดสมาธิ จิตของผู้เทศน์ผู้แสดงผู้เป็นหัวหน้าต้องเป็นสมาธิมาแล้ว พูดถึงเรื่องปัญญา ผู้แนะนำสั่งสอนเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงเสียทุกขั้นทุกภูมิแล้วจะเอาอะไรมาสงสัย จะเอาอะไรมาผิด พูดตรงไหนก็ถูกตรงนั้น ๆ จึงเป็นที่ตายใจสำหรับผู้มาอบรมศึกษาท่านว่า แล้วก็ย้อนมาหาองค์ของท่านเอง นี่ผมก็แก่แล้ว ท่านทั้งหลายมาศึกษาก็เอาให้จริงให้จังนะ การแนะนำสั่งสอนหรือแก้ไขดัดแปลงทางด้านจิตตภาวนานี้เป็นของยากมาก ถ้าผู้ไม่รู้ไม่เข้าใจจริง ๆ จะสอนกันไม่ได้ ผู้ที่จะสอนสมถวิปัสสนา ต้องเป็นผู้เข้าใจสมถวิปัสสนามาเรียบร้อยแล้ว ไม่เหมือนปริยัติ ท่านย้ำแล้วย้ำเล่าอยู่อย่างนั้น
บางครั้งถึงขนาดที่ว่า ภิกษุเฒ่ายังไม่ตายนี่ถ้าใครมีข้อข้องใจอะไร เอ้า ให้มาถาม แล้วให้รีบเร่งขวนขวายทางด้านจิตตภาวนา สงสัยตรงไหนให้มาถาม เวลาภิกษุเฒ่าตายแล้วยากนะผู้ที่จะแก้ไขทางด้านจิตใจนี่ นั่นเวลาท่านเน้นหนักท่านเน้นจริง ๆ นี่อายุไม่ได้นานนะ บางทีออกมาเป็นตัวเลขเลยเราไม่ลืม เหมือนสด ๆ ร้อน ๆ เหมือนอัดเทปไว้ ถ้าเป็นโอวาทของพ่อแม่ครูบาอาจารย์แล้วเป็นอย่างนั้นนะจิตใจผม เพราะฉะนั้นผมถึงกล้าเขียนประวัติของท่าน เท่าที่ผมได้ยินมาแล้วเหมือนกับว่าไม่หลุดไม่ตกไปไหนเลยอย่างนั้น เหมือนเทป เจ้าของเองก็แปลกในเจ้าของเหมือนกันว่าจำได้อย่างไร บอกถึงขนาดตัวเลขยังเหลืออีกเท่านั้นปีเท่านี้ปี นี่ก็อายุเท่านั้นแล้วนะ ยังเหลืออีกกี่ปี ไม่เลย ๘๐ นะ นี่ก็ได้เท่านั้นปีแล้วนี่ แล้วก็นับไป ๆ นับข้อมือ นี่เห็นไหมนานเท่าไรนานอะไร เท่ากับสองสามวันเท่านั้นก็ตาย ยังจะมานอนใจอยู่เหรอ ท่านว่า
พอเริ่มป่วยครั้งสุดท้าย ทั้ง ๆ ที่เริ่มป่วยเท่านั้นก็บอกเลยทีเดียว นี่ป่วยเป็นครั้งสุดท้ายของเรานะ ครั้งนี้ไม่มีหาย มันขาดไปหมดแล้วแหละ ยังเหลือแต่ลมหายใจยังไม่ขาด ไอ้เรื่องราวอะไร ๆ ที่เป็นความสืบต่อของธาตุขันธ์นี่ขาดไปหมดแล้ว ยังไงก็ต้องตายเพราะป่วยครั้งนี้ไม่สงสัย แต่ไม่ตายง่ายนะ โรคนี้เป็นโรคทรมาน เขาเรียกว่าโรคคนแก่ ท่านว่าไม่ตายง่าย แล้วเราก็นับมาจริง ๆ ๘ เดือน นั่น ตั้งแต่เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ผมจำได้ถึงขนาดนั้นละท่านเริ่มป่วย จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ท่านมรณภาพ พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นเวลา ๘ เดือน โอ้โห เหมือนกับฟ้าดินถล่มหัวใจเรานะ เพราะจิตมันจ่ออยู่กับท่านเท่านั้น เหมือนท่านเป็นแม่เหล็กคอยดึงคอยช่วยเรา จิตเราตอนนั้นก็ชุลมุนเอาเหลือประมาณ
ตอนท่านเริ่มป่วย จิตเราก็เริ่มชุลมุนวุ่นวายของมันไม่มีวันมีคืนเลย ตั้งแต่นั้นมาเรื่อย ๆ จิตเราก็ไม่ว่างเลย ท่านป่วยหนักเข้าเท่าไร เราก็ยิ่งต้องเป็นตัวตั้งตัวตีเกี่ยวกับการดูแลรักษา ตลอดถึงหมู่เพื่อนที่จะไปเกี่ยวข้องกับท่าน เราเป็นผู้คอยให้อุบายคอยแนะนำตักเตือน ไอ้เราเองก็หมุนติ้ว ๆ ซิ ลงจากกุฏิท่านก็เข้าทางจงกรม แน่ะ พอออกจากทางจงกรมมาก็ขึ้นกุฏิท่าน นี่หมายถึงอยู่หนองผือ ออกจากกุฏิท่านก็เข้าทางจงกรมเลย ปล่อยท่านก็ปล่อยไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะปล่อยไม่ได้แม้หมู่เพื่อนจะมีมากก็ตาม แต่เราคอยแนะคอยให้อุบาย คอยอะไรอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ พอมีเวลาบ้างนิดหน่อยก็เข้าทางจงกรม ๆ เพราะตอนนั้นจิตมันพิลึกพิลั่นจริง ๆ ที่เรียกว่ามันเป็นของมันเอง ไม่มีใครบอกใครสอน ไม่มีใครแนะใครนำแหละ หากเป็นในตัวของมันเองถึงวาระที่มันเป็น นี่ถ้าเราเรียกก็เรียกว่า ภาวนามยปัญญา อย่างว่า
เมื่อก้าวถึงขั้นภาวนามยปัญญาแล้ว ต้องหมุนตัวไปเองเป็นอัตโนมัติไม่หยุดไม่ถอย มีแต่หมุนอยู่ตลอด หมุนกับกิเลสนั่นแหละไม่ใช่หมุนอะไร ลืมวันลืมคืนลืมปีลืมเดือนลืมเวล่ำเวลา ไม่ได้ส่งออกนอก มีแต่พันกันอยู่กับกิเลสอาสวะประเภทต่าง ๆ อยู่ภายในนั้น น้ำท่าหมากพลูบุหรี่ไม่คิดถึงกันเลยนะแปลกอยู่ นั่นละเวลามันหมุนของมันมันหมุนขนาดนั้น มีแต่กิเลสกับสติปัญญาพันกันอยู่นั้น ถ้าสมมุติว่าอันนี้ขาดลงไปแล้ว จิตมันก็เสาะมันขุดมันค้นหาก็เป็นงานอันหนึ่งเหมือนกัน พอเจอแล้วเอาละที่นี่ นั่น เจอเมื่อไรแล้วเป็นเอาหนักทีเดียว เหมือนเข้าตะลุมบอนกันเลยถอยไม่ได้ ไม่มีคำว่าถอย ไม่เจอก็ค้นหา
เวลาอันนี้ผ่านไปแล้ว เรียกว่าแก้ได้เรียบร้อยแล้วอย่างนี้ มันค้นหาของมัน มันค้นเองนี่นะ มันเสาะมันแสวงซอกแซกซิกแซ็กหาเรื่องหาราวขึ้นมา ให้เกิดเหตุเกิดผลขึ้นมา จนกระทั่งได้พบตัวข้าศึก พอพบข้าศึกก็เท่ากับว่าได้งานแล้วนั่นเอง แล้วมันจะคิดไปอะไรถึงเวล่ำเวลานาทีชั่วโมง มันไม่ได้คิดนี่นะ มีแต่ความรู้กับสิ่งนั้นเท่านั้น ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย จิตไม่ออกมาเลยหากอยู่กับนั้น ไม่งั้นจะไปเดินได้ยังไงตั้งแต่จังหันแล้วจนกระทั่งถึงปัดกวาด
ตอนกลางวันท่านก็พัก ถ้ามีหมู่เพื่อนดูแลเป็นประจำเราก็ไม่ได้ไปตอนนั้น ตอนค่ำน่ะตอนเวรสำคัญ อยู่ในวัดหนองผือเราไม่ได้เข้าเวรเข้ายามกับหมู่เพื่อน แต่เป็นผู้คอยตรวจเวรตรวจยามอยู่เสมอ จิตของเราก็เป็นอย่างนั้นละ ท่านก็เพียบทางขันธ์ เราก็เพียบทางจิต ต่างคนต่างเพียบคนละด้านละทาง นี่พูดถึงเรื่องความพะวักพะวนกับท่านที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร
พอท่านป่วยเท่านั้นพระเณรยุบยอบไปหมด เพราะแสงสว่างไปอยู่กับท่าน พวกเราเหมือนคนตาบอด ท่านเป็นผู้ให้แสงสว่างให้ดวงตา แสดงอรรถแสดงธรรมแง่ใดต่อแง่ใด เราคอยสำเหนียกศึกษาคอยยึดคอยถือเอาจากท่าน ท่านล่วงไปนี้ โอ้โห ปรากฏว่าเหมือนฟ้าดินถล่มเชียวนะ พระเณรแตกกระจัดกระจายเกาะกันไม่ติดเป็นเวลาตั้ง ๓ ปี ๔ ปี แตกขนาดนั้นนะ จึงเป็นสิ่งที่จำไม่ลืม ใครอยู่ไหนก็แตกกระจัดกระจายไปหาครูหาอาจารย์ ต่างองค์ต่างไป แตกกันไปเพราะเกาะกันไม่ค่อยติด ระยะนั้นไม่ติด พอ ๓-๔ ปีมานี้ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ เช่นอย่างหลวงปู่ฝั้นท่านก็อยู่เป็นหลักไปเสีย หลวงปู่ขาวก็อยู่เป็นหลัก ก็เข้าเกาะติด ๆ เรื่อยไปละ
สำหรับเราก็กลับมาจำพรรษาหนองผือ จากนั้นก็ไปห้วยทราย หมู่เพื่อนก็ติดตามไปด้วยตั้งมากมาย นั่นก็ไปอยู่ ๔ ปี พระเณรก็มากอยู่งั้นละ อยู่ตามบ้านเล็กบ้านน้อยเหมือนกัน อยู่สำนักเราจริง ๆ มีสัก ๑๐ กว่าองค์ไม่มาก ที่นั่นที่นี่หลายแห่งหลายหน รวมกันก็มาก พอเราหนีจากห้วยทรายมาก็ยุบไปอีกเหมือนกันสำนัก
สุดท้ายก็มาตั้งตรงนี้ละ..วัดป่าบ้านตาด และตั้งแต่มาตั้งทีแรกจนป่านนี้ พระเณรก็หลั่งมา แต่ก่อนไม่รับมาก อย่างดีรับแค่ ๑๘ องค์อยู่เป็นเวลาหลายปี ตั้งแต่ ๒๔๙๙ มาจนกระทั่งถึง ๒๕๑๙ หรือ ๒๕๒๐ มีแค่ ๑๗-๑๘ องค์เท่านั้นไม่รับมาก จากนั้นมาก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ เพราะเห็นว่าครูบาอาจารย์ท่านล่วงลับไป ๆ หมู่เพื่อนไม่มีที่เกาะเราก็อนุโลมบ้าง ทีนี้ก็มากขึ้นโดยลำดับ ปีหนึ่งถีบขึ้นไป ๆ ถีบขึ้นไปสูงขึ้นไปเรื่อย สูงจนผิดหูผิดตา อย่างปีกลายเท่าไร ๓๕ แน่ะ ก็อย่างนั้นซิ
เราก็ทนเพื่อหมู่เพื่อเพื่อน เพราะหัวใจอยู่กับหมู่กับเพื่อนเท่านั้น ด้วยความเมตตาสงสาร เพราะการดำเนินทางด้านจิตใจนี้เราเห็นโทษมาพอแล้วสำหรับเราเอง เราเห็นคุณค่าของครูบาอาจารย์ที่คอยแนะนำสั่งสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำ อย่างพ่อแม่ครูบาอาจารย์นี้เราลงถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ ไม่มีบิ่นเลย เพราะฉะนั้นชีวิตเราจึงไม่มีความหมาย อะไรที่จะเป็นความสะดวกสบายสำหรับท่านแล้วเรามอบเลย ๆ ลงขนาดนั้นละลงต่อพ่อแม่ครูอาจารย์ ตั้งแต่โน้นจนกระทั่งบัดนี้ไม่มีเคลื่อนมีไหว ไม่มีคำว่า อนิจฺจํ เข้าไปเกี่ยวข้องเลยในหัวใจดวงนี้ซึ่งมีต่อท่านอาจารย์มั่น นั่น เห็นคุณของท่านเห็นขนาดนั้นแหละ และก็เห็นโทษตัวเองที่ตะเกียกตะกาย ไปไหนก็ไปไม่ได้
เพราะท่านเป็นผู้ฉุดผู้ลากนี่นะ ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใดที่ฉุดลากผม ประกอบกับผมเป็นคนทิฐิมากก็ว่าได้นะ ไม่ลงใครง่าย ๆ ถ้าไม่ถึงเหตุถึงผลที่ควรลงไม่ลง แม้แต่กับองค์ท่านเองก็ยังทะเลาะกับท่าน ถ้าพูดถึงเรื่องทะเลาะนะ โต้กับท่านไม่ถอยนี่ ตอนไหนยังไม่ลงได้ในเงื่อนใดอย่างนี้จะไม่ถอยแหละ คือเราพูดหาเหตุหาผลหาความสัตย์ความจริง เอาจนลงได้ ลงแล้วก็หมอบราบเลยถ้าลง เพราะฉะนั้นจึงว่ามีแต่ท่านที่ฉุดผม ฉุดขึ้น ๆ ตรงไหน ๆ ก็ฉุดขึ้น แล้วจะไปลืมได้ยังไง
จากนั้นก็เอาเรื่องเหล่านี้แหละ มาพิจารณาเทียบเคียงถึงเรื่องหมู่เพื่อนทั้งหลาย จึงทนนะนี่นะ ผมทนเอาเฉย ๆ ถ้าเป็นตามนิสัยของผมแล้ว นิสัยหมายถึงความชอบใจนะ เราไม่ได้ชอบใจเกี่ยวกับหมู่เพื่อนมีมาก ๆ นี่นะ นิสัยของเราเป็นมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วเรื่องความอยู่คนหนึ่งคนเดียว ตั้งแต่ปฏิบัติเราก็ปฏิบัติอย่างนั้น อย่างมากก็ ๒ องค์ ไปข้างหน้าแล้วก็แยกกันเสีย ทีแรกก็ไปด้วยกัน ๒ องค์ ครั้นต่อไปก็แยกกันคนละทิศละทางไปเสียอย่างนั้น กลายเป็นคนเดียว ๆ บางทีก็ไปคนเดียวเลย อย่างมากก็ไป ๒ ซึ่งก็มีแต่ผู้อายุพรรษาไล่เลี่ยกัน ออกจากนั้นก็พูดกันตรง ๆ เลย เอ้า ใครจะไปทางไหนไปนะ ก็แยกกัน ใครจะขึ้นเขาลูกไหน ๆ ไป ป่าไหนถ้ำไหน เรื่อยมาอย่างนั้น จนกระทั่งพ่อแม่ครูอาจารย์มรณภาพไปแล้ว หมู่เพื่อนรุมเกาะเรานี่ซิ
แต่ก่อนเราก็ไม่เคยคาดเคยคิดว่าหมู่เพื่อนจะคอยจ้องจะมองจะอะไรเรา เพราะเราเคยอยู่คนเดียว ๆ หมู่เพื่อนก็รุมตั้งแต่บัดนั้นมา คิดดูซิจนกระทั่งป่านนี้แล้วมันเป็นของมันเองอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของเราเสาะแสวงหา ตามลำพังเราตั้งแต่หมู่เพื่อนเกาะทีแรกก็พยายามหลบหลีกปลีกตัว ตั้งแต่ยังไม่ได้เอาโยมแม่บวช ไปไหนก็หนีไปได้ ๙ วัน ๑๐ วัน เต็มแล้ว ๆ หนีเข้าป่าเข้าเขาไหน ๙ วัน ๑๐ วันเต็มแล้วที่ไปอยู่นั่น เดี๋ยวมา ๆ สุดท้ายก็เลยเกาะเต็มตัวน่ะซิ จนมองหาตัวไม่เจอ
ผลแห่งการแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อน ด้วยการทุ่มเทลงจนเต็มสติกำลังความสามารถของเรานี้เป็นอย่างไรบ้าง นี่อันหนึ่งที่ทำให้เราได้คิดอยู่ตลอด การสอนก็นับว่าหมดผมพูดจริง ๆ ผมนี้หมดภูมิเลย ไม่มีอะไรลี้ลับเหลืออยู่แม้นิดหนึ่งที่ไม่ได้แนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อน ไม่ได้พูดให้หมู่เพื่อนฟัง เพราะอยู่ด้วยกันมานานแสนนานก็ต้องหมดพุงละ จะจริงหรือเท็จก็หมดเท่านั้น ไม่มีอะไรเลยจากนั้นไป
หมู่เพื่อนจะตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติก็เอา ถ้าว่าธรรมพระพุทธเจ้าของจริงมีอยู่ ระวังแต่กิเลสจะเข้าเหยียบหัวใจว่าของจริงไม่มี กิเลสกลายเป็นของจริงขึ้นมาแทนในหัวใจให้ระวังให้ดี อันนี้เร็วที่สุดนะ กิเลสจะเข้าเป็นของจริงแทนหัวใจนี้มีมากตามไม่ทันแหละ ของปลอมกับของจริงแทรกกันไปนั้นแหละ อะไรมีจริงอะไรต้องมีปลอมแทรกกันไป ๆ เรื่องธรรมของจริงประกาศไว้ขนาดไหน ครูบาอาจารย์ผู้ท่านประพฤติปฏิบัติเอาจริงเอาจัง ท่านก็รู้จริงเห็นจริงท่านแนะนำสั่งสอนพวกเรา เป็นยังไงเราผู้ที่จะคืบคลานไปตามท่าน มีความมุ่งมั่นขยันหมั่นเพียรขนาดไหน มีความจริงจังต่อข้อวัตรปฏิบัติต่อสิ่งที่เรามุ่งหวังคืออรรถคือธรรม ตลอดถึงมรรคผลนิพพานหนักเบามากน้อยเพียงไร เราควรจะคิดจะชั่งตวงให้พอดีพอเหมาะกับเรา ไม่ควรจะมานิ่งนอนใจ เห็นไหมเดี๋ยวนี้ครูบาอาจารย์มีที่ไหน จะพากันคว้าน้ำเหลวไปแล้วนะ มีแต่กรรมฐาน ๆ เดี๋ยวจะไม่เกิดประโยชน์นะ
ถ้าไม่มีครูอาจารย์คอยแนะคอยฉุดลากอยู่ ลำพังจิตใจเราเชื่อมันไม่ได้ เฉพาะอย่างยิ่งกิเลสอยู่ในหัวใจนั่นแล้ว มีแต่เรื่องที่มันจะคอยต้มคอยตุ๋นเราตลอดเวลา ทีนี้เราก็หลงไปกับมันจนได้นั่นแหละ ถ้าไม่มีธรรมและไม่มีครูมีอาจารย์คอยฉุดคอยลากเอาไว้ นี่โดนเสียยิ่งกว่าโดน เจอเสียยิ่งกว่าเจอ อาศัยสติปัญญานั่นแหละไม่ค่อยจะนอนใจกับมันง่าย ๆ อะไร ๆ ก็ดี บางทีมันทำให้เรางง ถึงธรรมะขั้นละเอียดแล้วงงจริง ๆ ก็มีผมเอง แต่ก็ไม่พ้นเรื่องของสติปัญญาไปได้ แล้วก็จับกันจนได้ เอาให้มันตายใจ ๆ ทุกด้านแล้วรู้เองปล่อยเอง ๆ ถ้าลงได้ถนัดในหัวใจชัดเจนในหัวใจแล้วบอกว่า สนฺทิฏฺฐิโก นั่นแหละ สนฺทิฏฺฐิโก แท้เป็นอย่างนั้น ไม่มีเงื่อนสงสัยมาเจือปนเลย ไม่ว่าจะเป็นธรรมขั้นใดแง่ใดของกิเลสของธรรม เมื่อเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ประจักษ์ ๆ แล้วหายสงสัย หายห่วงหายสงสัยไปพร้อม ๆ ๆ
ถ้ายังมีเงื่อนเคลือบแคลงสงสัยอยู่ นั่นไม่ใช่ สนฺทิฏฺฐิโก ให้ระวังให้ดี สมมุติเราเข้าใจว่าถึงขั้นนั้นขั้นนี้ภูมินั้นภูมินี้ แต่ยังมีอะไร ๆ สงสัย นั่นยังไม่ถึงยังไม่ใช่ ว่างั้นเลย ให้เอาผลประโยชน์ยกให้ฝ่ายไม่นอนใจเลยทีเดียว บอกว่ายังไม่ใช่ นี่คือไม่นอนใจและก็ไม่ตายใจ ถ้าพอตัวแล้วไม่ได้บอกว่าจะยกผลประโยชน์ให้อะไร ๆ แหละ มันชัดเจน จึงว่า สนฺทิฏฺฐิโก ๆ
ปัญญาสำคัญมาก ไม่มีอะไรจะเหนือปัญญาไปได้ พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหลายสันหลายคมเอากันอยู่นั้น กิเลสฉลาดมากทีเดียวนะ ธรรมะละเอียดเข้าเท่าไรกิเลสก็ยิ่งละเอียด ๆ จึงต้องฝึกซ้อมสติปัญญาเข้าไปเรื่อย ๆ ๆ การฝึกซ้อมก็เป็นของมันเอง ถ้าลงถึงขั้นพอกันแล้ว พอฟัดพอเหวี่ยงกันแล้ว สติปัญญาก็ฟิตตัวเองตลอด กิเลสมันก็ฟิตของมัน จนกระทั่งมันไปไม่รอดแล้วถึงยอมสลายตัวลงไปจากหัวใจ ถ้ายังพอเกาะได้มันไม่ถอย มันเอาจนได้นั่นแหละ
เพราะฉะนั้นขอให้หมู่เพื่อนได้ตั้งอกตั้งใจ ให้ทำตัวเหมือนผ้าขี้ริ้ว นักปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมอันสูงส่งอันเลิศอันประเสริฐ ต้องทำตัวเหมือนผ้าขี้ริ้วเสมอ อย่าไปเข้าใจว่าตนรู้ตนฉลาด นั่นแหละคือเรื่องของกิเลสมันชอบทะนงตน ถ้าเป็นเรื่องของธรรมแล้วจะไม่มี ถ้าปรากฏมีเขี้ยวมีเขาขึ้นมาตรงไหน ให้สำคัญตนว่าอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นละมันขึ้นแล้ว ให้ทราบอย่างนั้น สติปัญญาคอยจับมัน อย่าปล่อยให้มันเหยียบหัวใจเราอย่างง่ายดาย
นี่จิตใจยิ่งเป็นห่วงหมู่เพื่อนมากเข้าโดยลำดับลำดา เพราะครูบาอาจารย์มองไปไหนก็จะไม่เจอแล้วเดี๋ยวนี้จะทำยังไง ผู้ประพฤติปฏิบัติผู้หวังพึ่งพิงครูบาอาจารย์ทั้งหลายยังมีอยู่มาก ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์จะหวังพึ่งพิงได้ยังไง เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามฟิตในเวลาที่ได้รับการศึกษาอบรมจากครูบาอาจารย์ อย่ากลัวตายเถอะ เรื่องเจ็บเรื่องปวดเรื่องทุกข์เรื่องลำบากเพราะการงานอื่น ๆ เราเคยทุกข์มาพอแล้ว หรือเจ็บไข้ได้ป่วยก็ล้วนแต่เป็นเรื่องกองทุกข์ เจ็บไข้มากป่วยมากเป็นทุกข์มากเคยผ่านมาแล้ว ทุกข์เรื่องการต่อสู้กับกิเลส เอ้า ทุกข์ขนาดไหนเอาให้เห็นเหตุเห็นผลกันในวงปัจจุบัน ๆ
อย่าคาดอย่าหมายถึงเรื่องสัจธรรมว่าจะรู้ยังไงไม่รู้ยังไง ไปคาดไปหมายไม่ได้นะจิตใจอ่อนแอ ต้องผู้มีความเด็ดเดี่ยวอาจหาญแล้วจะรู้ในวงสัจธรรม เพราะทุกขเวทนานี้เด่นได้เร็วมาก เมื่อไม่มีที่ไปแล้วมันสู้กัน สติปัญญาจะหมุนติ้ว ๆ ๆ เร็วที่สุด จะเอาความอยากความต้องการให้รู้อย่างนั้นรู้อย่างนี้มาสวมเข้าไม่ได้ นั้นคือสมุทัย อยากรู้อยากเห็นความจริงนั้นเป็นมรรค อยากให้มันเสร็จมันสิ้นไปเสีย เราจะได้พักผ่อนนอนหลับ นั้นคือเรื่องของกิเลส ไปคาดไปหมายไม่ได้ ถ้าเวลามันรอบทุกขเวทนานี้เห็นชัดจริง ๆ นะ ท่านว่าสัจธรรมเป็นของจริงนี้ ในอริยสัจท่านบอกว่าของจริง ๔ อย่าง ภาคความจำเราก็จำได้เร็วกว่าของจริง มันจริงยังไงจำได้เฉย ๆ เหมือนนกขุนทอง ต่อเมื่อได้เข้าตะลุมบอนกัน สู่แนวรบแล้วนั่นละ เช่น ต่อสู้กับทุกขเวทนาในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเวลานั่งมากทรมานมากในเวลานั้น นั่นเราจะได้เห็นชัดเจนถ้าสติปัญญาไม่ถอยหลัง
ทุกข์เกิดขึ้นรู้เลยว่าทุกข์มันเกิด เกิดขึ้นเพราะอะไร นั่น เพราะทุกข์ท่านบอกว่าพึงกำหนดรู้ มีแค่นั้นนะ ไม่ได้เป็นผลเป็นประโยชน์อะไรจากความกำหนดรู้ทุกข์เพียงเท่านั้น เพื่อจะสาวเข้าหาสมุทัยต่างหาก นั่นผลจะเกิดที่นั่นนะ เกิดขึ้นมาเพราะอะไร เช่นว่าทุกข์แข้งทุกข์ขาทุกข์กระดูกตรงไหนเป็นทุกข์นั่นค้นหา ค้นหาสมุทัยนั่นละ ไอ้เรื่องทุกข์รู้อยู่แล้ว ทุกข์เข่าก็รู้ ขาจะแตกหลังจะหักมันทุกข์มาก นั่งมากมันก็รู้แต่ไม่เกิดประโยชน์ อะไรเป็นทุกข์นั่นน่ะ ควรแยกหาตรงนั้นจะเกิดประโยชน์
คือปัญญาค้นเข้าไป หนังนั้นหรือเป็นทุกข์ หนังมันมีตั้งแต่วันเกิดไม่เห็นมันเป็นอะไร แล้วทุกข์เพิ่งมาเกิดเดี๋ยวนี้มันเป็นอันเดียวกันเมื่อไรวะ ถ้าหากว่าเป็นอันเดียวกัน หนังมีตั้งแต่วันเกิด ทุกข์แบบนี้จะต้องมีตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ซิ อย่าลดอย่าถอยลงไป นี้มันเพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้แล้วก็จะดับลงในเวลาใดเวลาหนึ่งจนได้ทั้ง ๆ ที่หนังไม่ดับ เอ็นหรือ ไล่ลงไป กระดูกหรือ กระดูกก็เหมือนกันว่าอย่างเดียวกันนี่ กระดูกก็เป็นกระดูกตั้งแต่วันเกิด ทุกข์เพิ่งเกิดมาเดี๋ยวนี้ เอ็นก็มีตั้งแต่วันเกิด ทุกข์เพิ่งเกิดมาเดี๋ยวนี้ เป็นอันเดียวกันได้ยังไง
เราว่ากระดูกก็จ่อกระดูก ว่าเอ็นจ่อเอ็น สติปัญญาจ่อลงไปตรงนั้น เราว่าทุกข์จ่อทุกข์ แล้วก็จ่อเข้ามาหาใจ ใจเป็นยังไง ใจเป็นทุกข์เหล่านี้หรือ หรือทุกข์เป็นใจ ถ้าว่าทุกข์เป็นใจ ทุกข์ดับไปทำไมใจไม่ดับ ปัญญาแทรกเข้าไป หนังเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นหนัง ไล่กันไปซิ ถ้าว่าทุกข์เป็นหนัง เวลาทุกข์ดับไปหนังทำไมไม่ดับ และว่ากระดูกเป็นทุกข์ เวลาทุกข์ดับไปทำไมกระดูกไม่ดับ แล้วเป็นอันเดียวกันได้ยังไง นั่นวิธีซักปัญญา วิธีใช้ปัญญา
แต่ไม่ให้คาดนะว่าครูบาอาจารย์ท่านว่าอย่างนั้น ไม่ให้คาดนะ เป็นเรื่องของเจ้าของอีกในวงปัจจุบัน ๆ นี่ท่านเรียกว่าการพิจารณาค้นสัจธรรม เมื่อมันพอของมันแล้ว โอ้โห เหมือนกับอะไรพูดไม่ถูก หนังก็สักแต่ว่าหนัง ว่าเนื้อ ว่าเอ็น ว่ากระดูก ว่าอะไรมันมีของมัน มันจริงของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่รู้ความหมายเลยนะ หนังก็ไม่รู้ความหมายของมันว่าเป็นทุกข์นี่นะ นั่นละเวลาปัญญาหยั่งเข้าไป สติหยั่งเข้าไปจริง ๆ แล้วหนังก็เป็นหนัง สักแต่ว่าหนังอยู่เท่านั้นไม่ใช่ตัวทุกข์ ไม่ทราบว่ามันเป็นทุกข์ เนื้อก็ไม่ทราบว่าตนเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นตนอะไร แน่ะ กระดูกก็เป็นกระดูกอยู่อย่างนี้ ทุกข์ก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น นั่นเวลาพิจารณาเข้าไปชัดเจน ชัดอย่างนั้นนะ ต่างอันต่างจริง หนัง เอ็น กระดูก อวัยวะแต่ละส่วน ๆ แต่ละอย่าง ๆ มันเป็นของมันแต่ละอย่าง ๆ ไม่ได้เป็นสองกับอะไร ทุกข์ก็เป็นทุกข์ของมันแต่ละอย่างแต่ละอาการของมัน ความทุกข์ที่แสดงขึ้นมาอยู่ในจุดใด ๆ ทุกข์เองก็ไม่ทราบอาการเหล่านั้น อาการเหล่านั้นก็ไม่ทราบว่าเป็นทุกข์ ต่างอันต่างไม่ทราบกัน
ผู้ทราบก็คือจิต ผู้หลงคือสัญญาอารมณ์นั่น ตัวนี้หลงต่างหาก นี่ละที่ว่าสมุทัยมันหลง เวลาค้นเข้าไปก็เป็นมรรคชัดเข้าไป ๆ อะไรก็จริงตามเรื่องของตัวเอง มันก็น่าหัวเราะเจ้าของซิมันโง่จะตาย เพราะไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของจริงยังไง ทีนี้จิตทราบชัดย้อนเข้ามาหาจิต จิตก็สักแต่ว่าจิตนี่ ไม่ได้ไปเป็นทุกข์เป็นอะไรเหล่านั้น เพราะถ้าหากว่าจิตเป็นทุกข์ ทุกข์ดับไปจิตต้องดับไปด้วยซิ นี่จิตก็ไม่ดับ แล้วจะหาว่าเป็นของจริงเป็นของอันเดียวกันได้ยังไง นี่เราแยก มันชุลมุน แยกกันอยู่นั้น หมุนติ้ว ๆ ไม่ได้คำนึงละว่าจะเป็นจะตาย
เอา ทุกข์ขนาดไหนเอาให้เห็นจริงกัน อะไรตายก็ให้รู้ จิตกัดอะไรขาดสะบั้นไปเลย กัดเพชรก็ขาดจะว่ายังไง เวลาถึงขนาดนั้นแล้วมันจะถอยไปได้ยังไง เอาให้เห็นจริง เอาตายก็ตายซิ อะไรจะตายก่อนตายหลังให้รู้ เกิดมายังไม่เคยตายให้รู้สักที นั่นเวลามันหมุนกัน และสุดท้ายมันก็เห็นชัดเจน กำหนดดูหนังก็เป็นหนังเฉย ๆ ตั้งแต่วันเกิดมา เนื้อ เอ็น กระดูก ตั้งแต่วันเกิดมันก็เป็นของมันอย่างนี้ ทุกข์นี้ก็เกิดขึ้นดับไป ๆ ตามระยะของมันอย่างนี้ จิตก็รู้อยู่อย่างนี้
เมื่อต่างอันต่างจริงชัดเจนแล้ว กำหนดดูอันไหนก็ไม่กระทบกระเทือนกัน ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ ทีนี้เลยไม่มีฤทธิ์มีเดชเลยทุกข์นี่นะ เพราะไม่มีอะไรมาหมายมาสำคัญ มาจับมาคลุกเคล้ากัน สัญญาอารมณ์มันก็ไม่หมาย ไม่คว้าเอามาคลุกเคล้ากัน แล้วก็ต่างอันต่างจริง พอต่างอันต่างจริงแล้ว ๑) ทุกข์ดับวูบลงหมดหายเงียบไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความจริงล้วน ๆ ต่างอันต่างจริงอยู่เฉย ๆ ทุกข์ดับไป จิตยิ่งสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาเห็นอย่างอัศจรรย์ พอดับไปแล้วจิตก็ลงของจิตอีก ปล่อยกันหมด เลยไม่ทราบอะไรเป็นอะไร ทราบสักแต่ว่ารู้ด้วยความอัศจรรย์ของจิตดวงนั้นเท่านั้น นั่นหนึ่ง ๒) ถึงทุกข์ไม่ดับก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับจิตใจให้มีความกระทบกระเทือน ให้มีความบอบช้ำเหมือนอย่างแต่ก่อนได้เลย และไม่สามารถที่จะไปทำร่างกายเหล่านั้นให้กำเริบเพราะความทุกข์นี้เลย นี่ต่างอันต่างจริงอยู่อย่างนั้นไม่กระเทือนที่นี่ นี่หนึ่ง การพิจารณารอบคอบเป็นอย่างนี้ มีอยู่สองอย่าง
แต่จิตนั้นมันหากอัศจรรย์นะ เพราะเมื่อรอบตัวเองทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรเข้าไปแทรกตัวเองแล้ว ตัวเองก็ไม่ไปหลงอาการทั้งสามทั้งสี่อย่าง หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตนด้วยแล้วก็อัศจรรย์เท่านั้นละจิต นี่การพิจารณาสัจธรรม ทีนี้ไม่ต้องบอกก็ได้ว่าสัจธรรมจริงอย่างนี้เหรอ หากอัศจรรย์ตัวเอง โอ้โห ว่าสัจธรรมจริงอย่างนี้เหรอ ทุกข์เป็นของจริง-จริงอย่างนี้เชียวเหรอ ๆ นั่น ทุกข์ไม่ได้เป็นอะไรกับใคร เราเป็นบ้าเฉย ๆ สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ว่ามันเป็นทุกข์ ความสำคัญมั่นหมายซึ่งออกจากสมุทัยนั่นแหละไปสำคัญมั่นหมายไปหลง พอรู้แล้วมันรอบตัวของมันแล้วก็ปล่อยเป็นระยะ ๆ อย่างนี้นะ
การว่าปล่อยเหล่านี้ไม่ใช่จะปล่อยโดยสิ้นเชิงตลอดไปนะ มันปล่อยในช่วงนั้นเวลานั้น เข้าใจในเวลานั้น แยกกันในเวลานั้น เป็นทุกขสัจ อริยสัจ ๔ เป็นของจริงในเวลานั้น ครั้นต่อไปก็เหมือนกับน้ำใส ๆ ที่จอกแหนไหลเข้ามาปกคลุมหุ้มห่อตามเดิมนั่นแหละ ช่างมัน ความเชื่ออันนั้นเราได้ฝังลงไปแล้ว ได้เห็นชัดเจนแล้วว่า ความจริงเป็นอย่างนี้จริง ๆ ทีนี้ก็มีสติปัญญามีกำลังวังชา มีแก่จิตแก่ใจเป็นแม่เหล็กดึงดูดความเพียรทั้งหลายมา จะเอาให้เห็นจริงอย่างนี้เรื่อย ๆ ไปจนกระทั่งถอนได้โดยสิ้นเชิง นั่นที่ท่านว่าสัจธรรมเป็นของจริง-จริงอย่างนี้ ทุกข์ก็จริงของมัน สมุทัยก็เงียบไปเลย มรรคก็รู้ นิโรธก็รู้ มันดับทุกข์ ได้หลักแล้ว เวลาพิจารณาวันต่อไปยิ่งขยับใหญ่เลยไม่มีถอย
อย่างที่ผมเคยพูดให้ฟัง ผมนั่งตลอดรุ่งมานี่ โอ๊ย ตั้ง ๙ คืน ๑๐ คืน แต่ไม่ได้ซ้ำกันนะ ไม่มีคืนใดเรากล้าพูดได้อย่างนี้เลยว่าพลาดไป วันนี้นั่งตลอดรุ่งเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่มีเลย นั่นเพราะเหตุไร เพราะการนั่งนี้ตั้งแต่หัวค่ำจนตลอดรุ่งมันจะไม่เกิดทุกขเวทนายังไง จะไม่ต่อสู้กันยังไง แล้วต่อสู้มันจะถอยกันได้ยังไง มันเคยรู้เคยเห็นกันอยู่นี่ นั่นแหละมันยิ่งขยับใหญ่เลย ถอยไม่ได้ว่างั้นเลย แล้วก็ถึงจริง ๆ
แต่เราจะไปเอาอุบายอันเก่ามาพิจารณาไม่ได้นะ อันนี้สำคัญมาก เป็นอุบายสติปัญญาอะไรที่เราเคยพิจารณา พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงยังไงให้เกิดสติปัญญา หรือให้ได้ถอดได้ถอนกัน จนกระทั่งได้รู้สิ่งเหล่านี้ว่าเป็นของจริงแต่ละอย่าง ๆ นั้น เราจะยึดเอาอุบายเหล่านั้นมาเป็นเครื่องสอนให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้นะ แล้วแต่อุบายของมัน เกิดจากอุบายของมันที่เป็นขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ จะไปพาดไปพิงไปซ้ำกันก็ตาม ถ้าเป็นวงปัจจุบัน ๆ ก็ใช้ได้ เป็นอุบายใหม่ทั้งนั้น หาใหม่ ๆ หมดในวงปัจจุบัน ๆ
ไม่ใช่ไปเอาของเก่ามาใช้ มันก็เป็นสัญญาไปแล้ว นั่นไม่ทัน ๆ กลอุบายของกิเลส ต้องเป็นอุบายของสติปัญญาที่ผลิตที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ ถึงจะซ้ำของเก่าก็ตามให้เป็นวงปัจจุบัน เป็นของใหม่ของมัน มันก็แก้กิเลสซึ่งเป็นวงปัจจุบันได้เหมือนกัน นี่สำคัญมาก เราจะไปหาคาดหาหมายว่าวันนั้นเอานี้มาใช้ได้ วันนี้ทำไมไม่เห็นได้ มันจะได้อะไรในเมื่อเป็นสัญญาไปแล้ว ต้องเอาวงปัจจุบันเข้าไปใช้ มันจะเกิดยังไงก็ตาม ถึงจะไปซ้ำของเก่าก็ตาม ถ้าเป็นวงปัจจุบันขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ของตัวเองแล้ว ใช้ได้ ๆ แก้ได้เรื่อย ๆ เลย
นี่จึงกล้าพูดว่าเราไม่เคยพลาด นั่งคราวไหนก็คราวนั้นแหละ ได้เห็นความอัศจรรย์ทุกครั้งเลยเทียว ถึงได้กล้าถึงเรื่องว่าอะไรจะตาย มันไม่มีอะไรตายนี่พิจารณาหมดแล้ว นั่นถึงขั้นนั้น ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เวลาพิจารณาลงไปแล้วมันสลายลงไปแล้วก็เป็นจริงของมัน ๆ ไม่เห็นมีอะไรตาย จิตนี่หรือตาย จิตดวงที่ว่าตายกลับเด่น เอาอะไรมาตายมันเด่น ๆ ยิ่งเด่นละเวลานั้นน่ะ
ธาตุมันกระจายออกไปหมดแล้ว เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ อยู่ภายในตัวเองแล้ว ยิ่งเด่นกว่าเวลาธาตุขันธ์ครองตัวเองอยู่เวลาที่เรายังไม่ได้พิจารณามัน เมื่อเวลาพิจารณามัน แยกธาตุแยกขันธ์ แยกทุกสิ่งทุกอย่างออกไปแล้ว ลงไปถึงดินถึงน้ำถึงลมถึงไฟกระจายตัวออกไปแล้ว ความรู้อันนี้เป็นความรู้อันนี้ล้วน ๆ แล้วยิ่งเด่น มันจะตายได้ยังไง นี่ก็รู้ชัดซิ อ๋อ ไม่มีอะไรตาย มันโกหกกันจะว่าไง ให้รู้ด้วยตัวเองอย่างนั้นซิ
ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นนะถึงจะแก้กิเลสได้ ไม่ใช่ว่าจะจำมาจากโน้นจากนี้อะไร ถึงจะจำจากครูบาอาจารย์เท่าไรก็เป็นแนวทางต่างหาก ส่วนเจ้าของที่จะทำให้เกิดมีของเจ้าของต้องเป็นเงื่อนหนึ่ง ๆ ของอุบายสติปัญญาของเจ้าของที่จะผลิตขึ้นมาคิดขึ้นมาให้เป็นสมบัติของเจ้าของ ถึงจะแก้กิเลสเจ้าของได้นะ นี่เป็นแนวทางต่างหากที่ครูบาอาจารย์สอนนี่ ให้จำเอาไว้เฉย ๆ แต่เวลาเป็นหน้าที่ของตัวเองแล้ว มันเป็นเรื่องของตัวเองที่จะผลิตจะค้นขึ้นมาทุกสิ่งทุกอย่าง ให้เป็นวงปัจจุบัน ให้เป็นสมบัติของเจ้าของและแก้กิเลสเจ้าของได้ เป็นผลขึ้นมาในขณะนั้น ให้จำให้ดี
พูดท้ายเทศน์
แต่ก่อนเราก็หวังอาศัยท่านสิงห์ทองนี่องค์หนึ่ง เพราะได้พูดคุยธรรมะกันแล้วทางด้านจิตใจ เราก็แน่ใจแล้ว จนถึงพูดกันในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์เลย บอกนี่เวลาผมตายแล้วมอบศพให้ท่านสิงห์ทองนะ ถ้าท่านตายผมไปเผาศพท่านเอง ถ้าผมตายมอบศพให้ท่านนะ ไม่ได้มอบให้สุ่มสี่สุ่มห้ามันยุ่ง เอา เผาโยนลงตรงไหนโยนลงเลย บอกท่านสิงห์ทอง มันยุ่งจริง ๆ คนตายแล้วนี่น่ะ มันจะก่อเหตุก่อเรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายมากทีเดียวศพนี้ ให้ท่านเอาไปเลย ผมมอบให้ท่านแล้ว เผาเลย เวลาท่านตายผมก็จะเผาให้
มันก็จริงอย่างนั้น ท่านตายใครมายุ่งผมได้เมื่อไร ผมเอาได้เลยเห็นไหม อย่างท่านอุปคุตก็เป็นลูกศิษย์ของวัดนี้ ท่านสิงห์ทอง ท่านอุปคุต เป็นพระวัดนี้ ออกจากนี้ก็ไปอยู่ที่นั่น เคยอยู่ด้วยกันมาเท่าไรท่านสิงห์ทอง ท่านอุปคุต ติดสอยห้อยตามพึ่งเป็นพึ่งตายกันมานานแสนนานแล้ว ผมไม่ได้ลืมนะ ท่านสิงห์ทองมีคุณต่อผมมากมายอยู่ ท่านอุปคุตรองกันลงไป หมู่เพื่อนก็เหมือนกัน อย่างท่าน...อย่างนี้เหมือนกัน เคยมีบุญมีคุณต่อกันมา ผมไม่ลืมอะไรที่มันฝังลึก
หัวใจเราไม่เหมือนหัวใจใคร หากฝังอะไรฝังลึกจริง ๆ ไม่ได้เหลาะแหละ นี่เวลาท่านตายผมก็เป็นคนจัดการทุกสิ่งทุกอย่างสงบเรียบร้อย จึงได้บอกท่านว่า เวลาผมตายก่อนท่านเผานะ เผาผมเสีย ทำอะไร เอ้า ทำเลย อย่ารอให้เรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายเข้ามาทำลายความสงบ ว่าอย่างนั้น ก็เพราะไว้ใจท่าน ทางด้านจิตใจของท่านดี ดีมาก ท่านก็เล่าให้เราฟังทุกแง่ทุกมุม ตั้งแต่ขั้นสำคัญมันก็มี ๒ ขั้น กามราคะกับอวิชชา ท่านพูดถูกต้องทั้งสองเลย ถ้าท่านไม่เป็นจะพูดไม่ถูก นี่เราจับเอาตรงนี้
ธรรมะนี้ไม่มีในคัมภีร์ ท่านก็บอกไว้แต่ว่าอะไรในขั้นนั้นมีอย่างนั้น ๆ สังโยชน์อย่างนั้น ๆ เช่น โสดาละสังโยชน์ได้ ๓ อนาคาละสังโยชน์ได้ ๕ ท่านก็ว่าอย่างนั้น แต่วิธีละ-ละอย่างไร ๆ นั่นซิไม่รู้นี่ ถ้าไม่รู้แล้วจะพูดถูกได้ยังไง นี่ละเคล็ดสำคัญ ๆ ที่นักปฏิบัติถามกัน พูดแล้วสาธุ เราไม่ได้ประมาท ไปหาค้นคัมภีร์ไหนก็ค้นเถอะน่ะ เคล็ดลับของธรรมประเภทเหล่านี้
นี่ละที่ท่านว่าไว้ในตำราว่า กัลยาณปุถุชนไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของพระโสดาบันได้ พระโสดาบันไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของพระสกิทาคาได้ พระสกิทาคาไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของพระอนาคาได้ พระอนาคาไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของพระอรหันต์ได้ จะแก้ได้ยังไงมันมีเคล็ด ๆ อยู่นั้นประจำของผู้ปฏิบัตินั่น เมื่อปฏิบัติลงไปตรงไหน ๆ รู้ตรงนั้น ๆ ในคัมภีร์ไหนไม่มี แต่มันรู้เลยนะว่าอันไหนเป็นของจริง นั่นจะว่ายังไง นั่นแหละผู้รู้อย่างนั้นเอามาพูดจึงพูดถูก แล้วทางนั้นก็รู้ทางนี้ก็รู้ พูดกันปั๊บได้ความทันที ๆ เลย นั่น ไม่ใช่จะไปพูดแบบสุ่มเดาได้เมื่อไร หลักปฏิบัติต้องของจริง ต้องพูดออกมาได้อย่างจริงจังถูกต้องแม่นยำ
ความจำเป็นอย่างหนึ่ง ความจริงเป็นอย่างหนึ่ง ความจริงก็ประจักษ์ในเจ้าของผู้ปฏิบัตินั้นเรียกว่าความจริง เช่นอย่างกามราคะยังงี้ท่านพูดได้ถูกต้อง ผมซักเอาจนแหลกเพราะเป็นลูกศิษย์ผมนี่ เอ้า เล่าให้ฟังชัด ๆ ซิ ท่านก็เล่าของท่านไปถูกต้อง ไปถึงขั้นสุดท้ายท่านก็พูด แต่มันแปลกท่านบอก ท่านก็ยอมรับว่าท่านไม่มีขณะ แต่สมมุติว่าถ้าผู้ไม่มีขณะกับผู้มีขณะ ผลเลยออกไปจากนั้นเหมือนกัน นี่ซิมันแปลกตรงนี้ ทำไมไปเหมือนกันได้ ผู้มีขณะเลยจากขณะนี้ไปแล้วก็เป็นอย่างนั้น ผู้ไม่มีขณะก็เป็นอย่างนั้น นี่ซิจึงทำให้เราพิจารณา เอ หรือว่าสุกขวิปัสสโก ท่านจะเป็นอย่างนี้กระมัง ทำให้เราคิด
แต่ส่วนมากต้องเป็นขณะถึงจะทราบกันได้ เช่นอย่างองค์นั้นสำเร็จอยู่ในเขาลูกนั้น อยู่ในป่านั้น อยู่ในทางจงกรมตรงนั้น ๆ เวลาเท่านั้นเท่านี้ เช่นอย่างพระอานนท์ ก็อิริยาบถ ๔ จะว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอนไม่ได้ทั้งนั้น อยู่ในย่านกลาง ท่านกำลังเอนลงไปจะลงหมอน ท่านก็บรรลุธรรมเสียตอนนั้น คือจิตมันเป็นมัธยัสถ์ หมายถึงว่าปราศจากความมุ่ง ไม่ว่าท่านจะมุ่งบรรลุธรรมหรือตรัสรู้ตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ ท่านเอานั้นมาเป็นอารมณ์ลืมวงปัจจุบันนี่เสีย เอานั้นมาเป็นอารมณ์มากกว่า พอปล่อยพับจิตก็เข้าในวงปัจจุบันพับ รู้ทันทีเลย คือปล่อยอาลัยพูดง่าย ๆ พอปล่อยอาลัยแล้วจิตก็อยู่ในวงมัธยัสถ์ หมายความว่าศูนย์กลาง ไม่ยึดอะไรไม่อะไร ๆ ปั๊บลงตรงนั้นเลย ท่านว่าสำเร็จในอิริยาบถ ๔ แน่ะ เป็นขณะ
ถ้าหากว่าจะเป็นแบบเดียวกันหมด ทำไมท่านจึงพูดไว้ว่า สุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต ทำให้เราคิดน่ะตอนนี้ เพราะเอาท่านสิงห์ทองมาเป็นเหตุ แต่ก่อนผมก็ไม่คิดเพราะว่าซักกันกับท่านสิงห์ทอง ซักไปแล้ว ๆ ท่านไม่มีขณะ แต่ว่าเวลาพูดออกมาสุดท้ายของท่านตรงกันกับผู้มีขณะก็ตาม มันก็เป็นแบบเดียวกัน นี่ซิทำให้เราค้านไม่ได้ ความจริงของท่านที่พูดออกมาเรายอมรับ ก็มีแต่เพียงไม่มีขณะ ท่านก็บอกว่าไม่มีขณะ ค่อยหมดไป ๆ เอาเลย แล้วทีนี้หาอะไรก็ไม่ได้เรื่องได้ราว ถ้าเราพูดแบบเผิน ๆ ก็เป็นแบบนั้นละ อะไร ๆ ออกมามันก็เหมือน ถ้าว่าจะหลงอะไรมันก็เหมือนธรรมหลงเสีย จะว่าแกล้งหลงมันก็รู้ว่าแกล้งหลงเสีย สิ่งเหล่านี้เป็นความถูกต้อง ๆ ท่านพูดน่าฟังตรงนี้
ทำให้พิจารณาถึงท่านว่าพระอรหันต์มีหลายประเภท สุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต อย่างสุกขวิปัสสโกนี้รู้อย่างแห้งแล้ง ไม่มีความรู้อะไร ๆ ต่างหาก หรือไม่มีขณะ หรือค่อย ๆ เหือดแห้งไปโดยลำดับ ๆ อย่างนั้นเราก็ไม่ทราบได้ ที่พอจะมาจับเงื่อนนี้มาพิจารณาก็ดังที่ท่านสิงห์ทองพูด นั่นเรายอมรับทั้ง ๆ ที่ท่านว่าไม่มีขณะก็ตาม แต่แล้วผลสุดท้ายก็ไม่มีอะไรที่จะค้านท่านได้
ได้พูดถึงเรื่องหมู่เพื่อน ก็หวังท่านสิงห์ทององค์หนึ่งที่จะเป็นผู้นำของหมู่คณะ การแนะนำสั่งสอนจะถูกต้องแม่นยำในการประพฤติปฏิบัติ และข้อวัตรปฏิบัติของท่านก็เก่งด้วยนะ ท่านก็ดี นี่ยังจะมีที่ไหนเวลานี้ ผู้ที่อยู่นั่นก็แก่เฒ่าไปเสียมาก ๆ อย่างนี้เอาหลักเอาเกณฑ์ไม่ได้นี่ จะพึ่งหลวงปู่คำดีก็ไปเสียแล้ว แน่ะ ท่านก็แก่อยู่แล้ว หลวงปู่ขาวก็ไปเสีย นั่นเป็นหลักใหญ่ที่สุดละ หลวงปู่ฝั้นก็ไปเสีย นี่ละหลักใหญ่จริง ๆ
ท่านเหล่านี้สอนไม่ผิด สอนธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนสุดยอด หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่คำดี หลวงปู่ขาว สอนไม่ผิด ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ นี่ท่านก็ไปเสียจะทำไง อย่างหลวงปู่แหวนเวลานี้ใช้งานอะไรไม่ได้แล้ว เครื่องมือท่านคือขันธ์ของท่าน ก็มีแต่นอนสูดลมหายใจเท่านั้น จะพึ่งท่านด้วยอุบายนั้นอุบายนี้เหมือนแต่ก่อนก็พึ่งไม่ได้แล้วเวลานี้จะทำไง หมู่เพื่อนจึงควรตั้งอกตั้งใจ อย่าตื่นเต้นกับโลกกับสงสาร มีเรื่องเกิดกับตายเท่านั้นละ ไม่มีอะไรมากยิ่งกว่านี้ ให้ดูเอาเถอะ เจริญมาเท่าไรก็เจริญเถอะ
เอาละพอละ พูดไปก็คอแห้ง