พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สามารถแก้การเกิดตายของสัตว์โลกได้ และพระพุทธศาสนามีความมุ่งหมายที่จะประกาศธรรมสอนโลก เพื่อแก้การเกิดตายของสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โตเรื้อรังประจำวัฏจักรนี้มานานแสนนาน ไม่มีสิ่งใดในโลกทั้งสามนี้จะแก้ปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นไปได้ หรืออย่างน้อยก็เบาบางไม่มี มีพุทธศาสนาเท่านั้น ทำไมถึงทราบว่ามีพุทธศาสนาเท่านั้น ก็เพราะศาสนานี้แสดงถึงสัจธรรมทั้งสี่ประการ นี่คือธรรมเครื่องสังหารวัฏจักรโดยแท้ อย่างอื่นไม่มีทาง
เมื่อได้เข้าใจจากการได้ยินได้ฟังแล้ว จะเป็นทางหนังสือก็ตาม จากครูอาจารย์ก็ตาม หรือจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าก็ตาม แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามหลักสัจธรรม ที่เป็นเครื่องมืออันยอดเยี่ยมทำลายวัฏจิตวัฏจักรของสัตว์โลกนี้ อันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องถามผู้ใดเลย ขอให้ดำเนินตามหลักสัจธรรมทั้งสี่หรือสติปัฏฐาน ๔ นี้เถอะ นี่เป็นธรรมที่แน่นอนตายตัวที่สุด ไม่มีกิเลสตัวใดจะเล็ดลอดออกไปจากเครื่องมืออันนี้ที่จะสังหารไม่ได้ หรือค้นไม่พบหาไม่เจออย่างนี้ไม่มี
สัจธรรมทั้งสี่จึงเป็นเครื่องยืนยัน หรือเป็นหลักชัยของพระพุทธศาสนามาเป็นประจำศาสนานี้ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดเป็นศาสดาเอกขึ้นมาก็ตรัสรู้สัจธรรมทั้งสี่นี้ และนำสัจธรรมทั้งสี่นี้ประกาศกังวานโลกเรื่อยมาจนกระทั่งถึงพวกเรา นี่เป็นศาสนธรรมหรือเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแม่นยำ และสมมักสมหมายแก่ผู้ปฏิบัติโดยไม่ต้องสงสัย
ความมุ่งหมายบ่งบอกอย่างชัดเจนก็คือ เพื่อแก้ปัญหาความเกิดตายของจิตแต่ละดวง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เราเป็นสำคัญ ผลพลอยได้ต่อไปคือ เมื่อยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่พุทธศาสนาต้องการอย่างแท้จริง ก็ให้ไปเกิดในสถานที่ดี ความทุกข์เบาบางลง และเป็นการสร้างอุปนิสัยให้มีความมากมูนขึ้นโดยลำดับ สิ่งที่เป็นข้าศึกต่ออรรถต่อธรรมต่อความที่จะไม่ให้เกิดตายนั้นได้แก่กิเลส อันนี้ก็จะค่อยเบาบางลงไปโดยลำดับลำดา เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่าสร้างบารมี ความจริงก็คือสังหารสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในจิตใจนั่นแล
การสังหารเป็นประโยคอันสำคัญมาก สำหรับผู้มุ่งหวังความพ้นทุกข์ต้องทำอย่างหนักมือ สละเป็นสละตายเช่นเดียวกับเขาเข้าสู่แนวรบ ชนะเท่านั้นเป็นความมุ่งหมายของนักรบ เอ้า ไม่ชนะก็ตาย เป็นความมุ่งหมายอย่างแรงกล้าของนักรบในสงคราม นี่ก็เช่นเดียวกัน เป็นความมุ่งหมายอย่างแรงกล้าของพระพุทธเจ้า ที่จะประกาศธรรมสอนโลกให้ได้รู้ได้เห็นตามพระองค์ท่าน ในขณะเดียวกันก็เป็นการสังหารกิเลสซึ่งฝังจมอยู่ภายในจิตให้หลุดลอยออกไป ได้ตรัสรู้หรือได้บรรลุธรรมตามเสด็จพระพุทธเจ้าทัน ดังพระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นต้น นี่เป็นพระประสงค์อย่างแรงกล้าของศาสดาองค์ปัจจุบันของเรา
จากนั้นก็ลดหย่อนกันลงไปตามกำลังวาสนาของผู้จะก้าวเดินได้เพียงใด และจะสังหารวัฏจักรวัฏจิตสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจนี้ได้มากน้อยเพียงไร เช่น ไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหัตบุคคลก็ให้เป็นพระอนาคาบุคคล ไม่ได้พระอนาคาบุคคลก็ให้ได้พระสกิทาคาบุคคล หากไม่ได้ถึงขั้นพระสกิทาคาบุคคลก็ให้ได้พระโสดาบันบุคคล หรือเป็นกัลยาณปุถุชนเป็นลำดับลำดาลงมา นี่เป็นผลพลอยได้ที่เคลื่อนมาหรือที่ลดหย่อนลงมาจากอันดับหนึ่งคืออรหัตบุคคล ซึ่งเป็นภูมิที่สูงสุดหลุดพ้นจากการเกิดแก่เจ็บตายโดยประการทั้งปวง
รองลำดับลงมาก็คือพระอนาคามี ท่านเหล่านี้ที่อยู่ของท่านเป็นความแน่นอนตามขั้นภูมิแห่งธรรมของท่านที่แก่กล้า มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน อันดับแรกก็ไม่พ้นที่จะเกิดชั้นสุทธาวาสในชั้นที่หนึ่ง คืออวิหา ชั้นที่สองตามภูมิแห่งจิตภูมิแห่งธรรม อตัปปา ชั้นที่สาม สุทัสสา ชั้นที่สี่ สุทัสสี ชั้นที่ห้าเรียกว่าแก่กล้าเต็มที่ อกนิฏฐา เลยจากอกนิฏฐาแล้วก็หลุดพ้นก้าวเข้าสู่นิพพาน เป็นลำดับลำดามาเช่นนี้ นี่เป็นพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าผู้ประทานพระศาสนาไว้ ตลอดถึงการแนะนำสั่งสอนสัตว์โลก ทรงมีความมุ่งหมายอย่างนี้เป็นสำคัญภายในพระทัย
เราจะเห็นได้จากปัจฉิมยาม ทรงเล็งญาณดูสัตวโลกว่าผู้ใดจะมาข้องกับตาข่ายคือพระญาณของพระองค์ และชีวิตจะมาถึงอย่างรวดเร็วทั้ง ๆ ที่มีนิสัยอยู่นั้น ก็เสด็จไปโปรดคนนั้นก่อน การไปแสดงธรรมในสถานที่เช่นใด มีความมุ่งหมายอย่างแรงกล้าสำหรับธรรมประเภทสูงสุด นี้เป็นพื้นฐานแห่งพระทัยพระพุทธเจ้าไม่ทรงลดละ ผลพลอยได้ก็ดังที่กล่าวนั้น แสดงธรรมแต่ละครั้ง ๆ ด้วยความสัตย์ความจริง ด้วยความรู้ความเห็นจากพระทัยของพระองค์จริง ๆ แสดงอย่างอาจหาญให้บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายได้ทราบ บางพวกได้สำเร็จพระอรหัตผลในขณะที่ฟังนั้นแล บางพวกสำเร็จพระอนาคา บางพวกสำเร็จพระสกิทาคา บางพวกสำเร็จพระโสดา บางพวกก็เข้าถึงสรณะเป็นกัลยาณปุถุชน นี่เป็นผลพลอยได้โดยลำดับลำดา เรียกว่าผลตั้งแต่สุดยอดโดยลำดับลงมาดังที่กล่าวนี้ เป็นความมุ่งหมายของศาสดาที่ประทานพระโอวาทไว้ และประทานธรรมแก่โลกตลอดมา
เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่สำคัญมาก ในการแก้ความเกิดตายประจำจิตของสัตว์โลก ให้หลุดพ้นไปได้เป็นอันดับแรก อันดับต่อไปก็ตัดทอนวัฏวนวัฏจิตวัฏจักรที่แสนยืดยาวนั้น ให้หดสั้นเข้ามาโดยลำดับลำดา จนกระทั่งกุดด้วนไปไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจ กลายเป็นใจที่บริสุทธิ์พุทโธขึ้นมาก็เพราะศาสนธรรมเหล่านี้ นี่จึงเรียกว่าเป็นศาสดาองค์เอกด้วย เป็นศาสนธรรมที่เอกด้วย เรียกว่าพุทธศาสนานี้เป็นพระพุทธศาสนาที่เอก
เอ้า อยากทราบว่าพระพุทธศาสนาที่เอกให้ดำเนินตาม ปริยัติศึกษามาแล้ว ได้ยินได้ฟังจากครูจากอาจารย์มาแล้ว เริ่มต้นตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่ได้รับมาจากอุปัชฌาย์ เรียกว่าเป็นการศึกษาแล้วในเบื้องต้น แล้วดูตำรับตำราและฟังจากครูจากอาจารย์ จากนั้นก็นำไปประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสอนนี้จะไม่เป็นอื่น ผลอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องได้อย่างแน่นอน เพราะธรรมเหล่านี้ตีตะล่อมเข้าสู่จุดอันเป็นผลที่จะได้ดังที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น นับแต่อรหัตบุคคลลงมาจนกระทั่งถึงกัลยาณปุถุชน จะไม่นอกเหนือจากสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ด้วยการปฏิบัติของผู้เอาจริงเอาจังนี้เลย จะต้องปรากฏ นี่เป็นข้อยืนยันคือภาคปฏิบัติ
ปริยัติเมื่อศึกษาแล้วให้ปฏิบัติ ตั้งแต่เริ่มจิตตภาวนา จะกำหนดพุทโธ ธัมโม สังโฆ ในภาวนาบทใดก็ตาม นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติ พยายามรักษาใจ บังคับจิตใจไม่ให้คิดไปในสิ่งที่ไม่ควรคิด เรียกว่าสิ่งที่ผิด ไม่ให้คิด พยายามหักห้ามไม่ให้คิด ให้คิดในสิ่งที่ถูก เช่น คำบริกรรมภาวนา นี่เป็นหลักใหญ่ของการอบรมบ่มอินทรีย์ของตัวเอง จนปรากฏเป็นความสงบเย็นขึ้นมา นี่ละเราพิสูจน์จิตตัวเกิดตายที่ว่าเกิดตาย ๆ หมายถึงจิตนี่มีเชื้อ แล้วเข้าไปอาศัยร่างนั้นร่างนี้ ร่างหยาบร่างละเอียด ร่างที่มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อก็มี ร่างที่มองเห็นได้ชัดเจนอย่างสัตว์บุคคลทั่ว ๆ ไปนี้ก็มี อย่างเป็นเปรตเป็นผีเป็นอสุรกายที่ให้ชื่อให้นามต่าง ๆ นั้นไม่มีประมาณ มากยิ่งกว่าที่เรามองเห็นด้วยตานี้เป็นไหน ๆ นี่ก็เป็นภพแต่ละอย่าง ๆ ที่จิตเข้าไปแทรกสิงไปอาศัย ตัวจิตเองไม่เคยตาย ตัวจิตเองไม่เคยฉิบหาย หากเป็นนักท่องเที่ยวอย่างนี้ตลอดมา
ดังหลวงปู่มั่นท่านว่าไว้ว่า จิตคือนักท่องเที่ยว นั่นละท่านผู้ปฏิบัติเป็นผู้พูดออกมาเอง ด้วยความรู้จริงเห็นจริงจริง ๆ ไม่ใช่พูดออกมาแบบด้นเดาเกาหมัด ผู้ปฏิบัติพูดตรงไหนถูกตรงนั้น เพราะท่านพูดออกมาจากภาคปฏิบัติของท่าน ความรู้ความเห็นของท่านประจักษ์ใจเต็มที่แล้ว จึงสามารถพูดออกมาได้อย่างเต็มปากไม่กระดาก ไม่สะทกสะท้าน ท่านว่าจิตก็คือนักท่องเที่ยว นี่ละความท่องเที่ยวของจิตเป็นสำคัญ เราจะเริ่มทราบตั้งแต่ภาคปฏิบัติจิตตภาวนา
เอ้า เริ่มทำจิตให้สงบ ถ้าเราอยากจะทราบตามหลักความจริงที่พระองค์ประกาศสอนไว้ตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีนี่แล้ว มันมีแต่ชื่อ ส่วนมากมีแต่ความจำเต็มหัวอก ความจำเต็มปาก พูดได้คล่องยิ่งกว่านกขุนทอง แต่ภาคปฏิบัติไม่ปรากฏ กิเลสตัวไหนจะเป็นตัวที่เปราะที่สุด หลุดลอยออกไปโดยที่ไม่ได้ชำระสะสางกันบ้างเลยนั้นไม่เคยมี ในธรรมของพระพุทธเจ้าบทไหนได้กล่าวไว้ว่า บรรดากิเลสหรือหลานเหลนของกิเลสเปราะ แม้ปู่ย่าตายายของกิเลสจะเหนียวแน่นแก่นผูกมัดพวกเราก็ตาม แต่หลานเหลนของกิเลสนั้นเปราะ อย่างนี้ไม่เคยมี พ่อมันเป็นยังไง ปู่ย่าตายายมันเป็นยังไง หลานเหลนมันเป็นยังงั้น มันเหนียวมันแน่นเหมือนกันหมด แสดงออกมาแต่ละอย่าง ๆ มีแต่ลวดลายของกิเลสทั้งนั้น ที่จะทำให้เราลุ่มหลงแล้วยอมจำนนตามมันหาทางต่อสู้ไม่ได้ แน่ะ นี่ละเรื่องของกิเลสเป็นเช่นนี้
เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ใช้ความพินิจพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง สังเกตในภาคปฏิบัติ อย่างอื่นไม่ทราบ จำก็จำเฉย ๆ ดังที่กล่าวนี้แหละ ไม่มีทางทราบเรื่องจิต จะถือเอาทั้งกายนี้เลยว่าเป็นตัวของเรา ร่างกายทั้งหมดนี้ซึ่งเป็นเรื่องของธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ผสมกันเข้าโดยจิตเข้าไปอาศัยนี้แล้วว่าเป็นตัวเสียทั้งหมด ซึ่งผิด ไม่มีอะไรที่จะให้อภัยเลย นอกจากมอบให้กิเลสเอาขึ้นเขียงไปเสียเท่านั้น ไม่ต้อง กุสลา ธมฺมา คือความฉลาดตามกันไปได้เลย มอบให้กิเลสเอาไปกินหมด นี่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องได้พิจารณา กำหนดเบื้องต้นเอาให้จิตสงบเสียก่อน เมื่อจิตสงบแล้วจิตจะหดตัวเข้าไปสู่ความเป็นตัวของตัว ไม่พึ่งพิงไม่อาศัยร่างกายส่วนต่าง ๆ ทางตาจิตก็ไม่ออก ทางหูจิตก็ไม่ออก ทางจมูกทางลิ้นจิตก็ไม่ออก ทางกายสัมผัสนั้นสัมผัสนี้จิตก็ไม่ไปสนใจไม่ออก มีความรู้อยู่โดยเฉพาะ
เฉพาะอย่างยิ่งในขั้นเริ่มแรกที่ยังไม่สงบตัว ให้อยู่กับคำภาวนาคำบริกรรมจะเป็นคำใดก็ตาม ให้ฝากเป็นฝากตาย ฝากความรู้สึกทุกแง่ทุกมุมไว้กับคำบริกรรมนั้น เช่น พุทโธ ๆ เป็นต้น หรือกำหนดลมหายใจเรียกว่าอานาปานสติ ก็ให้รู้ลมเข้าลมออก รู้อยู่เท่านั้นไม่ต้องมุ่งหมาย ไม่ต้องไปคาดคะเนถึงมรรคถึงผลว่าจะเกิดขึ้นเป็นยังไงต่อยังไง ตลอดถึงการวาดหอวาดวิมานต่าง ๆ ขึ้นมาภายในจิตใจ ห้ามทั้งนั้น ให้มีความรู้อยู่อันเดียวกับลม ให้มีความรู้อันเดียวอยู่กับคำว่าพุทโธ ๆ เป็นต้น นี่เท่านั้น แล้วจิตก็จะสงบตัวเข้ามา
ทำด้วยความมีสติ สติไม่มีไม่เป็นท่า ต้องมีสติบังคับ อย่างอื่นเราเคยรู้เคยเห็นเคยได้ยินได้ฟัง เคยสัมผัสสัมพันธ์มาแล้ว ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อทางออกของจิตที่จะไปสัมผัสสัมพันธ์กับรูป เสียง กลิ่น รส หรือสิ่งต่าง ๆ ทั้งนั้น แล้วปรากฏเข้าสู่จิตใจ มีแต่ความแผดความเผา หาความเป็นมรรคผลนิพพานเลิศประเสริฐที่ไหนมี ตามหลักธรรมดาของกิเลสที่ฉุดลากออกไปให้รู้ให้เห็นเป็นอย่างนั้น ทีนี้จะให้ธรรมเป็นที่เกาะของจิต เช่น พุทโธ เป็นต้น ให้รู้อยู่กับคำบริกรรมนี้แล้วจิตจะสงบเข้ามา
จิตเหนือความบังคับไปไม่ได้ ตั้งแต่กิเลสบังคับจิต จิตยังต้องเป็นไปตามกิเลส เหตุใดธรรมะบังคับจิต จิตจะไม่เป็นไปตามธรรมมีอย่างเหรอ ถ้าบังคับไม่ได้ศาสนามีมาได้ยังไง พระพุทธเจ้าสอนโลกให้วิเศษไปไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านพระองค์แล้ว สำเร็จเป็นพระอรหัตอรหันต์ จนกระทั่งถึงพระอริยบุคคลทุกประเภท มีแต่ธรรมทั้งนั้นกลั่นกรองฉุดลากไปได้ กิเลสตัวใดไม่เคยฉุดลากคนให้เป็นอริยบุคคล ให้เป็นของประเสริฐได้เลย เหตุใดจึงจะต้องไปสนใจกับความสัมผัสสัมพันธ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันเป็นเรื่องของกิเลสนักหนา เราจะบังคับจิตใจของเราให้อยู่กับคำบริกรรมเพียงเท่านี้ ตามกาลตามเวลาของเราที่จะทำ ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าเราไม่จืดจางเสียเกินไป จิตมันเฉื่อยชาเสียเกินไปเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น
ต้องให้หนักแน่นซินักปฏิบัติ กิเลสมันหนักแน่นขนาดไหนมาตั้งกัปตั้งกัลป์ เคยอ่อนตัวลงเมื่อไร เราทำไมจึงอ่อนเปียก ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ต้องให้มีความเข้มแข็ง เอาให้ได้ให้จิตได้สงบให้เห็นต่อหน้าต่อตา พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้แท้ ๆ และผู้ปฏิบัติตามก็เคยรู้เคยเห็นมาอย่างนี้นับจำนวนไม่ถ้วนเลยทีเดียว ได้ผลเป็นที่พอใจ ตามเสด็จพระพุทธเจ้าทันมีมากมาย นี่ล้วนแล้วแต่บังคับ
จิตเป็นของบังคับได้ จิตเป็นของฝึกฝนทรมานได้ มีความสงบเย็นลงไปได้เป็นขั้น ๆ ตามขั้นตามภูมิของการฝึกการอบรมหลายครั้งหลายหน ก็ละเอียดลงไป ทีนี้เมื่อจิตสงบตัวเข้าไป แสดงว่าจิตนี้ไม่พึ่งพิงอิงอาศัยกับสิ่งภายนอกแล้ว มีตา หู จมูก เป็นทางเดินออกไป เข้าสู่ความเป็นหนึ่ง คือรู้อยู่โดยลำพังตัวเอง แม้ที่สุดคำบริกรรมที่บริกรรมอยู่นั้นก็ปล่อยกันได้ หรือคำบริกรรมกับความรู้นั้นกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน จะบริกรรมหรือไม่บริกรรมก็ตามก็รู้อยู่นั่นแล เช่น พุทโธ แปลว่าธรรมชาติที่รู้ คำว่า พุทโธกับความรู้กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
ลมหายใจก็เหมือนกัน ลมหายใจกับความรู้ละเอียดลงไป ๆ จนกระทั่งลมหายใจหายเงียบไปเลยในความรู้สึก แต่จะหายไปไหนก็ช่างเถอะลม ไปตามเอามันทำไม เรากำหนดลมก็เพื่อจะให้จิตไปยึดไปเกาะที่ลม มีจุดเดียวเพื่อให้จิตเป็นที่ยับยั้งตัวเองให้เป็นที่เกาะ ทีนี้เวลาลมหมดไป จิตย้อนเข้ามาสู่ความเป็นตัวของตัวแล้วความรู้นี้ไม่หมด ให้รู้อยู่กับความรู้นั้น หากรู้เองเมื่อจิตถึงขั้นนี้แล้ว เริ่มรู้แล้วที่นี่ว่าร่างกายเป็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งหนึ่งต่างหาก ความรู้เป็นสิ่งหนึ่งต่างหาก นี่ภาคปฏิบัติทำให้รู้ให้เห็นในตัวเองนั่นแหละไม่ต้องไปถามใคร นี่ละท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก เริ่มปรากฏแล้ว
แต่ก่อนความรู้นี้ซ่านไปหมดทั้งร่างกายนี้ ถ้าว่าจิตก็เป็นไปหมดทั้งตัว ว่าตัวเป็นไปหมดทั้งจิต จะแตะต้องสัมผัสอะไรก็โดนแต่ตัว ๆ จะบังคับบัญชาตัวเพื่อประกอบความพากเพียรดัดสันดานกิเลส ก็ไปโดนเราอยู่ในกิเลสนั้นเสีย โดนกิเลสอยู่ในเรานั้นเสีย สุดท้ายก็ก้าวไม่ออกเพราะกลัวกิเลสจะเจ็บ กลัวเราจะลำบาก นี่มันคละเคล้ากันไปถึงขนาดนั้นแล้วเราจะทำความเพียรได้ยังไง เพราะเราก็สงวนแล้วว่าทั้งเราทั้งมันเป็นเราเสียทั้งหมด เจ็บนิดป่วยหน่อยก็ว่าเป็นเราเจ็บปวดไปเสีย เลยสงวนไว้หมด มีกิเลสจับจองไว้หมดธรรมะเลยแยกไม่ออก แทรกเข้าไม่ถึง ซึมเข้าไม่ได้ สุดท้ายก็ได้แต่ความเจ็บปวดรวดร้าว ได้แต่ความเข็ดความหลาบ จะนั่งภาวนาแต่ละครั้ง ๆ เหมือนจะเอาไปฆ่า มันเข็ดมันหลาบ นั่นคือสติสตังไม่มี ปัญญาไตร่ตรองไม่มี มีแต่เรื่องที่กิเลสเอาไปกินหมด จนกระทั่งถึงความเข็ดหลาบ ภาวนาเพื่อความเข็ดหลาบ ก็เรียกว่าขึ้นเขียงให้กิเลสยำละซิอย่างนั้น
ฟาดลงไปให้ได้เป็นความดูดดื่ม เอาจนกระทั่งถึงวันนี้ได้ความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ นั่น เกิดความกระหยิ่มยิ้มย่องขึ้นแล้ว ศรัทธามีแล้วจาก สนฺทิฏฺฐิโก คือความเห็นความรู้ความสงบแห่งใจของตนเอง จากนั้นก็เริ่มเข้าไป จิตสงบแน่วเข้าไป ร่างกายนี้หายเจ็บหายปวดหายเมื่อยหายเหนื่อย หายอะไรไปหมด เหลือแต่ความรู้เด่น ๆ อยู่กับตรงนั้น นี้ละคือความรู้ นี่ได้เค้าแล้ว เค้ามันอยู่ตรงนี้ อ๋อ นี่ความรู้เป็นอย่างนี้ เพียงเท่านี้อจลศรัทธาเริ่มปรากฏแล้วว่าจะไม่หวั่นไหวโยกคลอน วันนี้รวมได้คติได้หลักได้เกณฑ์อย่างนี้ วันหลังไม่รวมก็ตาม ความรู้เช่นนี้ความเชื่อเช่นนี้ความเคยเป็นเช่นนี้ จะไม่ถอนจากความรู้สึกนั้นเลย ท่านเรียกว่าอจลศรัทธาความไม่หวั่น ถึงจะไม่รวมไม่สงบก็ตาม ก็เคยสงบแล้ว เชื่อแน่ จะให้เป็นอย่างนั้นหนึ่ง หรือควรจะเป็นยิ่งกว่านั้นให้ได้ยิ่งกว่านั้นหนึ่ง แน่ะ สุดท้ายจิตก็สงบแน่ว
ความสงบของจิตนี้แลเป็นเครื่องประกาศให้เราได้รู้ชัดเจนว่า จิตกับกายเป็นอันหนึ่งต่างหาก แยกจากกันโดยไม่ต้องไปถามใคร สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศเอง ทีนี้เวลาจิตถอนออกมาหรือซ่านออกไปสู่ร่างกายส่วนต่าง ๆ มันก็รู้ชัดอยู่อย่างนั้นละว่า จิตเป็นอันหนึ่ง กายเป็นอันหนึ่ง ไม่ใช่อันเดียวกัน นี่เป็นภาคหนึ่งที่เราจะแยกถึงเรื่องการเกิดการตายจากจิตของเราให้เห็นได้ชัดเจน เริ่มแรกตั้งแต่นี้ละไป นี่ก็เรียกว่าทราบในเรื่องระหว่างกายกับจิต ก็พอทราบ
พอละเอียดเข้าไปทางด้านปัญญา ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาร่างกายนี้มันเป็นอะไร หลักธรรมชาติของมันก็เคยให้ชื่อตามชื่อเดิมของมัน คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนที่แข็งภายในร่างกายของเรา เช่นเนื้อ เช่นหนัง อย่างนี้เป็นต้น ท่านเรียกว่าธาตุดิน ส่วนน้ำที่ซึมซาบอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกายเรียกว่าธาตุน้ำ ลมมีลมหายใจเป็นต้น เรียกธาตุลม ไฟคือความอบอุ่นภายในร่างกายของเรานี้เรียกว่าธาตุไฟ ทั้งสี่อย่างนี้รวมตัวอยู่ มีจิตเข้าไปแทรกสิง เป็นเจ้าตัวการหรือเป็นเจ้าของอยู่ในนั้น สิ่งเหล่านี้จึงให้ชื่อขึ้นมาอีกว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา เป็นหญิงเป็นชาย ความจริงก็คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นแล โดยหลักธรรมชาติของมัน เราพิจารณาลงไปก็รู้ได้ชัด จากนั้นก็แยกออกโดยทางปัญญาให้เห็น
จะพูดถึงเรื่องปฏิกูลก็เอาให้มันเห็นชัด อะไรจะปฏิกูลยิ่งกว่ามนุษย์วะ สัตว์มันปฏิกูลที่ไหน เอามาเป็นอาหารเกลื่อนตลาดไป มนุษย์เอามาเป็นอาหารได้ยังไง มันปฏิกูลขนาดไหนถึงเอามาเป็นอาหารไม่ได้ แตกฮือกันทั้งบ้านทั้งเมือง เอามนุษย์เข้าไปไว้ตลาดไหนตลาดนั้นแตก ถ้าเป็นสมัยทุกวันคนพอรู้ดีรู้ชั่วอยู่ พอเป็นมนุษย์อยู่บ้างนะ ถ้าเป็นยักษ์ไปแล้วเอาอะไรมามันกินหมดไม่เหลือ พิจารณาดูซิ แยกเรื่องของปฏิกูล
เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ประกาศกังวานอยู่ในตัวของเราตลอดเวลาตามหลักความจริง ทำไมจึงให้กิเลสมันหลอกเอาว่าเป็นของสวยของงาม มันงามที่ตรงไหน มันเสกกันอยู่ตลอดเวลา กิเลสนั่นแหละเสก ตัวปลอม ๆ มันตัวเสกเก่ง และจิตของเราก็พลอยปลอมไปตามมันไปกับมัน ก็เลยเชื่อมันไปตามมันไปอย่างนั้น จึงใช้วิปัสสนาแยกดังที่ว่านี้ หลายหลายหนก็ซึมซาบเข้าไป ๆ เห็นตามความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนราง ๆ ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ ๆ ต่อไปก็แน่เข้าไป ๆ ชัดเข้าไปว่ารูปคือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟนี้ไม่เป็นเราแล้วยังไม่แล้ว เวทนาคือความสุขความทุกข์ เฉย ๆ ในส่วนร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เราอีก เราอย่าด่วนพูดถึงเรื่องจิตถึงเวทนาทางจิต เอาอันนี้ก่อน เวทนาทางร่างกายของเรานี่ แยกธาตุ แยกเวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ภายในร่างกาย
สัญญา ความจำของจิตใจ แสดงออกไปจำนั้นจำนี้ แย็บออกไปจำนั้นจำนี้ มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน จะเอาอะไรมาเที่ยง จำได้แล้วหลงลืมไป เที่ยงได้ยังไงมันถึงหลงลืมสัญญา
สังขาร ความคิดความปรุง ปรุงเมื่อไรก็ดับ ปรุงขณะไหนก็ดับไปพร้อมเอาความจริงจากมันที่ไหน ถ้าเป็นจิตแล้วทำไมจะดับ จิตไม่เคยดับ สิ่งที่ออกไปเหล่านี้เรียกว่าอาการของจิต มันดับได้ทั้งนั้นละ
วิญญาณ ความรับทราบ สิ่งมาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันรับทราบทั้งนั้น รับทราบในขณะใด สิ่งสัมผัสผ่านไปมันก็ดับไปพร้อม ๆ กัน นั่นเป็นของเที่ยงเมื่อไร อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่กับมันนั่นแหละ ให้มันเห็นชัดเจนจนกระทั่งแยก ๕ อาการนี้ออกได้จากจิต
นั่นจิตรู้ชัดละนะ แยกได้ ๆ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อาการทั้งห้านี้ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่สิ่งนี้แต่เป็นอาการ เพียงอาศัยกันอยู่ รู้ได้อย่างชัด ๆ ภายในจิตใจ นี่ละท่านเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก คือรู้เองเห็นเองอย่างนี้ ประจักษ์เข้าไป ๆ สุดท้ายจนกระทั่งอันนี้ขาดสะบั้นออกไปเลย คำว่ารูปกายนี้ไม่ใช่เราแล้วก็ไม่ใช่ชัด ๆ จริง ๆ มันเห็นชัดเจนขาดสะบั้นออกจากจิตจริง ๆ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาอันเกี่ยวกับเรื่องร่างกายนี้ก็เห็นได้ชัดขาดจากจิต มันเป็นสักแต่เวทนาอยู่ภายในกาย สัญญาก็ออกมาจากจิตก็ดับให้เห็น ๆ แสดงความแปรปรวนให้เห็น ดับไปพร้อม ๆ ก็รู้ชัดว่าไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่อันนี้ วิญญาณก็เหมือนกันรู้ได้ชัด นั่น
นี่ละหลักของปัญญา จะพิสูจน์เรื่องจิตว่ามันเกิดมันตายได้ยังไง อะไรพาให้เกิดตาย นี่ละปัญญาฟาดลงไปตรงนี้ เหล่านี้เป็นเชื้อเป็นแขนงของความเกิด แขนงของอวิชชา อวิชชา ญา ธาตุในความรู้ ถ้าจะแปลเป็นทางปริยัตินะ เอา ญา เป็น ชา อวิชชา รู้แต่ไม่แจ้งไม่ชัด รู้อะไรก็รู้ด้น ๆ เดา ๆ ไปอย่างนั้นแล ท่านจึงเรียกว่าอวิชชา มันพาให้รู้แต่มันไม่ได้จริง รู้ก็รู้แบบลูบ ๆ คลำ ๆ จึงเรียกว่าอวิชชา รู้ไม่แจ้งไม่ชัด รู้หลงงมงาย ท่านจึงเรียกว่าอวิชชาความหลง
อันนี้มันอยู่ที่ไหน ดูไปรูปก็ไม่ใช่อวิชชา ไม่ใช่กิเลส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่กิเลส เมื่อเวลาพิจารณาเข้าไปด้วยปัญญาแล้วต่างอันต่างจริง มันเป็นทางเดินของจิตเพียงเท่านั้น เช่นอย่างทางเราออกไปโน้นไปนี้นี่ ทวารทั้งห้าทั้งหกนี้เป็นทางเดินของจิตทั้งนั้นไม่ใช่จิต นี่ก็รู้ได้ชัด ตัดขาดออกไป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ ก็ไม่ใช่จิต มันตัดออกไป ๆ ขาดออกไป นี่ละท่านเรียกว่าตัดภพตัดชาติตัดเข้าไปอย่างนี้ ภายในจิตภายในการปฏิบัติของผู้ปฏิบัตินั้นแลจะไปถามใคร จะไปรอถามพระพุทธเจ้าทุกประโยคได้เหรอ
พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้วธรรมะทั้งหมด สอนพวกเรานี่สอนไว้แล้ว สฺวากฺขาโต ๆ ว่ายังไง ตรัสไว้ชอบแล้ว ๆ เอ้าเดินตามนั้น เมื่อพิสูจน์เข้าไป ๆ ด้วยปัญญาหยั่งทราบเข้าไป เห็นได้ชัด ปล่อย ๆ มันปล่อยเองนะเมื่อรู้ชัดแล้ว มันจะเคยถือมาแน่นขนาดไหนก็เถอะ เช่นเดียวกับเขาจับคองูนั่นแหละ เข้าใจว่าเป็นอาหาร คว้าขึ้นมาจากสุ่มจากแห จากที่ไหนก็แล้วแต่เถอะ เข้าใจว่าเป็นอาหาร หรือเข้าใจว่าเป็นปลาไหล คว้ากำคอมันขึ้นมา พอยกขึ้นมาได้เห็นชัดเจนว่าเป็นงูเท่านั้นแหละ สลัดปึ๋งเดียวเลย
นี่ก็เหมือนกัน เมื่อได้รู้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอสรพิษแล้วสลัดทันทีเลย ยังเหลือแต่ความรู้มันเป็นยังไงละที่นี่ เมื่ออะไรก็ขาดไปหมด รูปก็ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่รูป ขาดกันแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งเหล่านี้แล้วอะไรเป็นเรา เมื่อยังติดอยู่ตรงไหนมันจะว่าอันนั้นเป็นเรา เช่น ติดอยู่ในจิตมันก็ว่าจิตเป็นเรา นั่นเอากันตรงนี้ละ เมื่อมันหมดทางสัมผัสสัมพันธ์หมดทางแก้ไขแล้ว หรือว่ารู้ชัดตามเป็นจริงแล้ว มันจะปล่อยด้วยกันทั้งนั้นไม่มีอะไรเหลือ เช่นอย่างเรารบข้าศึก ยิงไอ้คนนี้ตายแล้วจะไปยิงมันอีกอะไร ไปยิงคนที่ยังไม่ตายนั่นซิ ส่วนคนไหนตายแล้วข้ามศพมันไป ยิงคนที่ยังไม่ตาย
อันนี้ก็เหมือนกัน ตัวไหนที่ตายแล้วมันรู้แล้ว ชัดแล้วปล่อยวางแล้ว ข้ามมันไป ๆ จนกระทั่งถึงจุดใหญ่คือมหากษัตริย์วัฏจักรวัฏจิต ได้แก่อะไร ก็ได้แก่อวิชชา อวิชชากับจิตกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน นี่ ๆ การพิสูจน์เรื่องการเกิดตายพิสูจน์อย่างนี้ซินักปฏิบัติ ให้มันเห็นชัด ๆ อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้ามาสอนเลย ให้มันเห็นในตัวเองนี่เป็นไร ธรรมะเป็นของปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นตลาดก็ตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน มีการล้าสมัยที่ไหน นอกจากเราเสียเองให้กิเลสพาล้าสมัย
ทีนี้พอเข้าถึงตรงนี้แล้วจะไม่ไปไหนละจิตน่ะ เคยพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเคยพิจารณา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันปล่อยไปหมดเพราะอิ่มแล้วพอแล้วจะให้พิจารณาอะไรอีก มันรู้ชัด ๆ ในจิตนี่นะ จึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก มันสัมผัสสัมพันธ์ตรงไหนก็ลุกลามเข้าไป ๆ สติปัญญาจะต้องจ่อเข้าไป ๆ รู้เท่าตรงไหนมันปล่อยของมัน ๆ จนกระทั่งเข้าถึงจิต ไม่ปล่อยจิตที่นี่ นั่น มันติดเนื่องจากยังไม่รู้เท่านี่จึงไม่ปล่อยจิต หากติดอยู่กับจิตหลงอยู่ที่จิต เอ้า หลงที่จิต สติปัญญาฟาดลงไปมันมีอะไรอยู่ที่นั่น ค้นดู แย็บ ๆ ออกมา จิตจะมาเป็นอาการ ๕ เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็รู้ ๆ มันแย็บดับ ๆ ค้นไปค้นมา
เอ้าทีนี้เราสรุปลงไปเลยนะ นี่ละปัญญาขั้นเรียกว่าภาวนามยปัญญา เป็นอย่างที่อธิบายมาแล้วนี้ เรื่อย ๆ มาอย่างนี้ จนกระทั่งถึงขั้นนี้แล้วมีอะไรที่จะพิจารณา มีแต่อันเดียว มีอันเดียว ความรู้ก็เด่น สว่างไสวก็สว่าง องอาจกล้าหาญก็ไม่มีอะไรเกินอวิชชา มันจึงหลอกโลกได้อย่างสำคัญ ท่านว่าโอภาส ๆ ฟังซิ ประภัสสร ๆ ท่านว่าไว้ ประภัสสรอะไร นี่ละประภัสสร ตามหลักธรรมชาติของผู้ปฏิบัติจะเจอตรงนี้ สติปัญญาจะไปหลุดลุ่ยตรงนั้นก่อน เพราะไม่เคยเห็นไม่เคยพบ ค่อยพบเข้าไป ๆ ก็เห็นเป็นความอัศจรรย์ แล้วก็ติด ๆ
แต่เพราะเหตุว่ามันไม่มีอะไรจะพิจารณา อะไร ๆ ที่เคยพิจารณามามันหมดไปเสียทั้งนั้น คือมันรู้แล้ว ๆ ปล่อย ๆ เหมือนกับว่ายิงข้าศึกตายเกลื่อนอยู่นั้นแหละ ข้ามศพไป ๆ ไม่ไปติดใจกับพวกที่ตายแล้วนี้ มันติดใจกับผู้ที่ยังอยู่ ใครเป็นผู้ยังอยู่ ยังอยู่ตรงไหน มันค้นเข้าไปที่นั่น นี่เชื้อที่พาให้เกิดอยู่ที่จิต มันก็ค้นลงไปที่ตรงนั้น แยกกันตรงนั้นพิจารณาตรงนั้น เช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลายที่เคยผ่านมาแล้ว รู้มาแล้ว ละมาแล้วนั้น สุดท้ายมันก็พังทลายเหมือนกัน
เมื่อธรรมชาติอันนี้ได้พังทลายลงไปแล้ว นั้นละถ้าพูดเป็นศัพท์พระพุทธเจ้าท่านว่า ตรัสรู้ ถ้าเป็นศัพท์ของสาวกเรียกว่า บรรลุธรรม จะว่าตรัสรู้ก็เป็นไรไปธรรมดวงเดียวกัน หัวใจพ้นจากกิเลสอันเดียวกัน จะว่าตรัสรู้ก็ได้เป็นไร ถึงขั้นนั้นแล้ววิเศษวิโสเต็มที่แล้ว ไม่มีอะไรจะเกินแล้วในสามโลกธาตุนี้ ข้ามไปหมดแล้ว ที่นี่เป็นเครื่องรู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และเริ่มรู้มาตั้งแต่โน้นแล้วแหละ ไอ้เรื่องเกิดเรื่องตาย มันติดมันสัมผัสสัมพันธ์กับอะไร เป็นภพเป็นชาติสืบเงื่อนกันไป สืบต่อแขนงกันไป พอตัดขาดเข้าไป ๆ มันก็วงแคบเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงตัวเชื้อที่ฝังอยู่ภายในจิต ถอนกันออกมาแบบสลัดปัดทิ้ง ไม่มีอะไรเหลือแล้วที่นี่ สิ่งที่เหลือคือความบริสุทธิ์ล้วน ๆ อวิชชาจมไปหมดไม่มีอะไรเหลือ นั่น
นี่ละตัวพาให้เกิด ก็รู้ได้ชัดละซิ ทีนี้จะเอาอะไรไปเกิด เอ้า เห็นกันอยู่รู้กันอยู่ ตัวนี้จะไปเกิดที่ไหนที่นี่ เอ้า เกิดที่ไหนล่ะ อะไรพาให้เกิด ก็สิ่งที่ดับไปตะกี้นี้พาให้เกิด นั่นมันรู้ชัดขนาดนั้นนะ ทีนี้ไม่เกิดแล้วจะดับไหมจิตดวงนี้ จะเอาอะไรมาดับ นั่น ไม่เกิดด้วยไม่ดับด้วย ไม่มีคำว่าว่ามีอยู่แบบโลกด้วย ไม่สูญแบบโลกด้วย มีอยู่แบบความบริสุทธิ์ ถ้าว่าสูญก็สูญแบบความบริสุทธิ์ เหมือนอย่างที่ว่านิพพาน มีอยู่แบบนิพพาน สูญแบบนิพพาน ไม่ได้สูญแบบโลกสงสาร
นี่ละธรรมะพระพุทธเจ้า ที่ว่าสอนธรรมสอนโลกสอนอันนี้เป็นอันดับแรกอันดับหนึ่ง ทรงมุ่งหมายจุดนี้เป็นสำคัญวางศาสนาลง จากนั้นก็เป็นผลพลอยได้ ผู้ใดควรจะได้ผลแบบใด ๆ ก็ดำเนินตามนั้นไม่เสียผลเสียประโยชน์ ศาสนธรรมจึงเปรียบเหมือนกับห้างร้านใหญ่ ๆ เอ้า จะเอาของตั้งแต่ราคา ๑ บาทขึ้นไปก็ได้ในห้างนี้ไม่อด ราคาเท่าไรได้ ๆ เอาราคาเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านได้ ได้หมดจนกระทั่งจะเอาเงินกอบมาทั้งแผ่นดินมาซื้อของในร้านนี้ไม่มีอั้น ได้หมด นี่ก็เหมือนกันผู้ที่ควรจะได้คุณงามความดีด้วยการให้ทาน ด้วยการรักษาศีล ได้หมด ด้วยการภาวนาประเภทไหนได้หมด สมาธิภาวนาขนาดไหนได้หมด จนกระทั่งถึงอริยทรัพย์ โสดา สกิทาคา อนาคา ได้ จนกระทั่งถึงอรหันต์ ได้หมด นั่น ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้ามีบกพร่องที่ตรงไหน เอาให้เห็นซินักปฏิบัติ
นี่การพิสูจน์ภพชาติภายในจิต ไม่มีวิชาใดที่จะสังหารวัฏจิตนี้ให้เป็นวิวัฏจิตได้ นอกจากพุทธศาสนาแล้วก็ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้น วิชานอกนั้นมีแต่วิชาของกิเลสมาเป็นเครื่องเสริมมัน วิชาของกิเลสจะไปฆ่ากิเลสได้ยังไง ต้องวิชาธรรมซิถึงจะไปฆ่ากิเลสได้ วิชากิเลสจะฆ่ากิเลสไม่ได้เลย มีเท่าไร ๆ ก็กิเลสเป็นผู้ผลิตให้ เอาไปให้มันหัวเราะเหรอ จะไปฆ่าให้มันหัวเราะเหรอ ก็วิชาอันนี้เครื่องมืออันนี้เราผลิตให้นี่จะเอามาฆ่าเราได้ไง ลองฟันหัวแกดูซิจะเลือดออกไหม มันจะเป็นยังไง นั่น ให้กิเลสหลอกฟันหัวเจ้าของด้วยซ้ำไป วิชาในทางโลกเป็นอย่างนั้นมีแต่หลอก วิชาธรรมนี้ต่างหากเป็นเครื่องสังหารกิเลส
พระพุทธศาสนานี้มิได้เกิดขึ้นจากผู้ใดผู้หนึ่งมาสอนนะ เกิดขึ้นจากหลักสยัมภูของพระพุทธเจ้า ทรงรู้เองเห็นเอง นี่เป็นหลักธรรมชาติ ไม่มีใครจะสอนได้เลย จึงเรียกว่าสยัมภู ๆ ทรงรู้เองเห็นเองทุก ๆ พระองค์ อย่างพระปัจเจกพุทธเจ้าก็สยัมภู หากไม่ใช่ภูมิผู้ประกาศศาสนธรรมเท่านั้นเอง ส่วนศาสดาองค์เอกแต่ละพระองค์ ๆ นี้เป็นวิสัยของพระองค์ที่จะประกาศศาสนธรรม สยัมภูเหมือนกันแต่ความรู้กว้างขวางมากมาย อุบายวิธีการที่จะนำมาสั่งสอนสัตว์โลกมีมากทีเดียว ผู้นี้ละผู้ประกาศสอนธรรม พระพุทธศาสนานี้พร้อมบริบูรณ์เลยทีเดียว วัฏจิตวัฏจักรกิเลสเต็มหัวใจจะพังไปหมดไม่มีอะไรเหลือเหนือกำลังของศาสนานี้ไปได้เลย นี้ครอบหมด เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านนำไปประพฤติปฏิบัติ
อย่าเข้าใจว่าตนนี้แก่มากไป ตนอ่อนมากไป ตนเป็นคนเช่นนั้น ตนเป็นคนเช่นนี้ อย่าไปคิดให้กิเลสมันหลอก นิสัยวาสนาสร้างมาด้วยกันทุกคน อยู่ในหัวใจด้วยกันทุกคน จะว่ามากหรือน้อยก็สร้างอยู่ด้วยกันทุกคนนี่แหละ ไม่มีใครสร้างให้ใครได้ ไม่มีใครรู้ของใครแหละ สร้างเอง ต่างคนต่างมีกรรม กรรมดีกรรมชั่วมี เสวยผลวิบากแห่งกรรมด้วยกันทั้งนั้น ท่านจึงไม่ให้ประมาทนิสัยวาสนาของกันและกัน ให้สร้างตัวเองให้ดี เอาให้ได้จิตนี่ ตัววัฏจิตวัฏจักร นี่ละตัวสร้างภพสร้างชาติคือกิเลสตัณหาอาสวะนี่ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ฟังซิท่านว่า ทำกรรมแล้วผลเกิดขึ้นเป็นวัฏวน ๓ ท่านว่า จะเป็นอะไรถ้าไม่ใช่ของกิเลส กิเลสท่านว่าเป็นเหตุให้ทำกรรม เอาให้มันหมดเสียภายในจิตใจแล้วอยู่ไหนก็สบาย ไม่มีละคำว่ากาลสถานที่เวล่ำเวลา ขึ้นชื่อว่าสมมุติไม่มีที่จะเข้าไปแทรกในจิตนั้นได้เลย แล้วจะเอาอะไรมายุ่ง ฟังซิ
ให้มีความจงใจ ให้มีความมั่นใจ ให้มีหลักใจ อย่าเหลาะแหละโยก ๆ คลอน ๆ เหมือนหลักปักขี้ควายการปฏิบัติธรรม ให้ต่างองค์ต่างตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ อยู่ที่ไหนก็ให้เป็นเหมือนอยู่คนเดียว ๆ และอยู่คนเดียวนั้นยังให้รู้เรื่องอารมณ์ของจิตว่ามันปรุงอะไรบ้าง ให้รู้เรื่องอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วของตัว ด้วยสติด้วยปัญญาของตัวเอง นี่ละชื่อว่าผู้มีความเพียร ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่าลดละความเพียร สติเป็นสำคัญในเรื่องความเพียร
เรื่องพุทธศาสนานี้ไม่มีปัญหาอะไรแล้วสำหรับหัวใจผมนี้ ถ้าใครจะว่าบ้าก็บ้าร้อยเปอร์เซ็นต์เลยเทียว ลงขนาดนั้นน่ะ ลงพระพุทธเจ้า ลงศาสนธรรม ลงใน สนฺทิฏฺฐิโก นี้ด้วย ไม่ได้ว่าลงอะไรนะมันไม่ถนัด ลงว่า สนฺทิฏฺฐิโก นี้หมด หมดพุงเลย หมดปัญหา
เอาแค่นี้ พูด ๆ ไปก็รู้สึกเหมือนกัน ๆ ไม่มากนัก หากรู้สึก วันนี้พูดเสียงดังด้วยนะ ระยะนี้ธาตุขันธ์ค่อยดี เสียงมันขึ้น ถ้าแต่ก่อนไม่ได้นะขนาดนี้ โอย จะสลบไปแล้วนะ