ศาสดาเอกของโลก
วันที่ 1 สิงหาคม 2528 เวลา 19:00 น. ความยาว 61.05 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

ศาสดาเอกของโลก

พระเราในช่วงเข้าพรรษา ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วท่านไม่ให้ไปพักแรมคืนนอกวัด เหตุจำเป็นมีก็ต้องดำเนินตามหลักพระวินัย คือ สัตตาหกรณียกิจ กิจที่ควรจะไปได้มี ๗ วันท่านบอก บิดามารดาป่วย เพื่อนฝูงสหธรรมิกหรือครูหรืออาจารย์ป่วย ท่านก็บอกไว้ตามหลักพระวินัย วัดวาอาวาสชำรุดมากจนจะหาที่หลบที่ซ่อนที่อยู่ไม่ได้ เช่น ศาลาโรงฉัน เป็นต้น ให้ไปหาไม้มาทำมาซ่อมแซม สัตตาหะไปได้ แล้วก็มาค้างวัดคืนหนึ่งแล้วออกไป ภายใน ๗ วันกลับมา หรือพวกศรัทธาญาติโยมที่เป็นศรัทธาใหม่ เช่น พระมหากษัตริย์ นี่ก็ไปได้ ๗ วัน สิ่งที่ควรจะอนุโลมในสิ่งนั้นท่านก็บอกว่ามี ก็พึงอนุโลมตามนี้

อย่าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้หน้าได้หลัง นั่นดูไม่ได้นะ อยากไปไหนก็สัตตาหะไปเรื่อย ๆ สัตตาหะไปโน้นสัตตาหะไปนี้ เลยไม่ทราบว่าสัตตาหะอะไร เก่งกว่าครูกว่าอาจารย์ไปอย่างนั้น มีแล้วนะ ทุกวันนี้ปรากฏแล้วทั้ง ๆ ที่เป็นครูเป็นอาจารย์นั่นแหละ ให้เห็นได้อย่างชัดเจน ไอ้เราจะว่าขวานผ่าซากก็ตาม หรือจะว่าตรงไปตรงมาก็ตาม เหตุผลมียังไงธรรมมียังไงเราพูดตามนั้นเลย ไม่น่าเลื่อมใสเราบอกว่าไม่น่าเลื่อมใส ผิดเราว่าผิดเลย เรื่องครูเรื่องอาจารย์ว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่สำคัญยิ่งกว่าธรรมกว่าวินัย

เรื่องหลักธรรมหลักวินัยเป็นหลักสำคัญมากทีเดียว เราเคารพตรงนี้ ถึงเคารพอาวุโสภันเตก็ตาม ก็ต้องเป็นผู้มีหลักธรรมหลักวินัยเป็นเครื่องยืนยันพอที่จะเป็นอาวุโสภันเตได้โดยสมบูรณ์ แล้วควรกราบไหว้บูชาซึ่งกันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน ก็ถือในหลักเกณฑ์ของธรรมวินัยเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่จะว่าบวชมาหลาย ๆ พรรษาแล้วก็ว่าเป็นอาวุโส จะให้กราบให้ไหว้เลยอย่างนั้นไม่ได้ ในหลักพระวินัยมี อายุ ๖๐ พรรษายังต้องมาขอนิสัยต่อพระผู้มีพรรษาน้อยกว่า นั่นคือไม่สามารถที่จะรักษาตนได้ อายุพรรษาจึงไม่สำคัญ

กฎเกณฑ์คณะสงฆ์ลักษณะปกครองอะไรมีขึ้นมาทุกวันนี้ เพราะเรื่องการประพฤติของพระของเณรเรามันพิสดารไปเรื่อย เพาะฉะนั้นจึงต้องมีเรื่องกฎกระทรวงบ้าง ข้อบังคับกฎกติกาอะไรบ้าง กฎหมายลักษณะปกครองสงฆ์บ้างขึ้นมาเพื่อปกครอง หลักเหล่านี้ถึงจะมีมากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่ต้องไม่ทำลายหรือทำความกระทบกระเทือนต่อหลักพระวินัยเป็นสำคัญท่านว่า อย่างบัญญัติหรือกฎข้อบังคับให้ตั้งอุปัชฌายะนี่เหมือนกันนะ ก็ตั้งตามเขตตามภาค ใครอยู่ในเขตไหน อำเภอใด ตำบลใด ควรจะมีอุปัชฌาย์ เพื่อไม่ให้ลำบากในการอุปสมบทของกุลบุตรสุดท้ายภายหลัง ก็ตั้งอุปัชฌาย์ ตั้งทางโน้นก็ให้บวชให้ทางโน้น ตั้งที่ไหนก็ให้บวชทางนั้น ๆ ผู้ไม่ได้ตั้งก็ไม่ให้เป็นอุปัชฌาย์ ไม่เรียกว่าอุปัชฌาย์ นี่ความหมายของการตั้งขึ้นเมื่อภายหลังนี้ว่าอย่างนั้น

แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ควรจะบวช-จะบวชนี่จะผิดไหม นี่เป็นปัญหาอันหนึ่งขึ้นมา เอ้า พระวินัยผิดไหม พระวินัยว่ายังไง เอาพระวินัยเป็นเกณฑ์เลย คือพระวินัยพระที่บวชตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไปแล้วสามารถที่จะเป็นอุปัชฌายะได้ นี่ละตรงนี้อันหนึ่ง ถ้าสมมุติว่าเกิดมีผู้บวชขึ้นมา หรืออย่างผมนี้มีความจำเป็นที่จะบวชกุลบุตรสุดท้ายผู้ใดก็ตาม ผมบวชขึ้นมานี้สงฆ์จะรับรองไหม นี่เป็นข้อหนึ่งขึ้นมา

ที่ผมพิจารณาหรือผมพูดออกมา เพื่อให้หมู่เพื่อนได้ใช้ความพินิจพิจารณา หรือได้พิจารณาตามเหตุผลนี้ เทียบเคียงกับหลักธรรมหลักวินัยต่างหากนะ ไม่ใช่ผมจะเป็นผู้ล่วงเกินธรรมวินัย คือมันมีหลายแง่หลายทางนี่ที่จะถือว่า ถ้าได้ตั้งให้เป็นอุปัชฌาย์แล้วถึงจะบวชได้ ถ้าไม่ได้ตั้งเป็นอุปัชฌาย์แล้วบวชก็เป็นโมฆะอย่างนี้ จะเป็นโมฆะจริง ๆ เหรอในเมื่อหลักพระวินัยมีอยู่นี่ พระวินัยท่านว่าผู้มีอายุ ๑๐ พรรษาขึ้นไปแล้ว และเป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัยด้วยดี มีสัมมาคารวะ มีอาจาระดี เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระเณรและประชาชนแล้ว ผู้นั้นเป็นอุปัชฌายะได้โดยไม่ต้องตั้งจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย แน่ะ นี่คือพระวินัยตั้งเอง หรือศาสดาตั้งเองก็ได้ เพราะศาสดาเป็นผู้บัญญัติไว้ นี่ยังมีข้อแม้อยู่อันหนึ่ง

แต่นี้เพื่อเคารพกันในท่านที่เป็นอุปัชฌาย์ ได้ตั้งแล้วก็ให้บวชกันไป ไม่ไปก้าวก่าย ไม่ไปดื้อไปอะไร หรือไม่ไปกีดไปขวาง หากว่ามีความจำเป็นที่จะทำก็ทำได้ เพราะพระวินัยยืนยันอยู่แล้ว องค์ศาสดาเองเป็นผู้บัญญัติอย่างนั้น อันนั้นท่านตั้งขึ้นภายหลัง ตั้งขึ้นแล้วก็ไม่ให้กระทบกระเทือนกับพระวินัย ไม่ลบล้างพระวินัย แน่ะ ถ้าสมมุติว่าผู้ที่มีอายุพรรษาล่วง ๑๐ ไปแล้ว เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมหลักวินัย ได้บวชกุลบุตรองค์ใดก็ตามคนใดก็ตามขึ้นมาเป็นพระ จะเป็นพระได้ไหม

ถ้าเป็นไม่ได้ก็เท่ากับลบล้างพระวินัยข้อนี้ แน่ะ ต้องเป็นได้จึงไม่ลบล้างพระวินัยข้อนี้ แต่ท่านไม่ทำอันนั้นเพราะเคารพในกฎอันนี้ ไม่ทำนั้นเฉย ๆ ไม่ได้หมายถึงว่าจะบวชไม่ได้เลย พระวินัยมีอยู่ทำไมบวชไม่ได้ ศาสดาแท้ ๆ เป็นผู้ตั้งเป็นผู้บัญญัติขึ้น อันนี้เป็นพวกคณะสงฆ์เราสุดท้ายภายหลังมาตั้งขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นความวุ่นวายเกินไป เพราะสมัยทุกวันนี้พระองค์ที่โลภมาก เป็นอุปัชฌาย์แล้วคอยแต่จะกินมี นั่นจะว่าไง ไม่ใช่อุปัชฌาย์ด้วยความเมตตาสงสารกุลบุตรสุดท้ายภายหลัง ไม่ได้ทำด้วยความเมตตาสงสาร แต่ผู้ที่ทำด้วยความเมตตาสงสาร ไม่ได้หวังโลภโลเลอะไรเลย บวชตามหลักพระวินัยทำไมจะเป็นไปไม่ได้ นี่อันหนึ่งที่เป็นข้อคิด

สำหรับเราเองเราแน่ใจว่าได้ทั้งนั้น ไม่มีใครตั้งก็ตามพระวินัยตั้งแล้ว นั่น พระวินัยตั้งแล้วคือศาสดาตั้งแล้ว บวชได้ แต่ท่านไม่ทำเพราะเคารพในกฎนี้ กฎนี้ก็ไม่เห็นมีอะไรเสียหายนี่ ท่านบวชมาสักเท่าไรแล้วไม่ทำความเสียหาย มันเป็นกฎเป็นระเบียบอันดีงามซึ่งควรเคารพเราจึงเคารพเรื่อยมา บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายจึงเคารพในกฎนี้เรื่อยมา แต่ไม่ถึงกับว่าจะต้องลบล้างพระวินัยข้อนั้นทิ้งไปเลยไม่ให้มี ให้มีแต่ผู้ตั้งเป็นอุปัชฌายะแล้วถึงจะบวชได้เท่านั้น นี้พูดเป็นข้อคิดให้คณะสงฆ์เราได้คิด แต่ไม่ใช่ให้อุตริไปทำนะ คณะสงฆ์ท่านตั้งไว้แล้วก็เป็นความสวยงามแล้ว เรียบร้อยแล้ว เราทำเป็นแง่คิดแห่งพระวินัยข้อหนึ่งขึ้นมาเท่านั้นเอง

เหตุการณ์เข้าพรรษาส่วนที่จะทำก่อนก็บิณฑบาต สมาทานบิณฑบาตเป็นวัตร ไม่รับสิ่งของที่ติดตามมาภายหลังมาถวายที่ศาลงศาลานี้ เข้าในเขตวัดแล้ว อันนี้มีมาแต่เช้าก็ต้องทำแต่เช้า ส่วนการอธิษฐานพรรษานี้ก็มาทำตอนเย็นไม่มีอะไรขัดข้อง ส่วนใดที่จะทำแต่เช้าก็ทำไปเสียดังบิณฑบาต เมื่อเช้านี้เราก็ทำแล้วนั่น นี่มีเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง เพื่ออะไร เพื่อดัดความโลภของเรานั่นแหละ ดัดกิเลสตัณหาซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจอันหาความพอดีไม่ได้ มีแต่ความหิวความโหย ความโลภโลเลในอาหาร ในจตุปัจจัยไทยทานทั้งหลายไม่มีเมืองพอ

เรื่องของกิเลสนี้เข้าตรงไหนเหยียบย่ำตรงนั้น ทำลายตรงนั้น ไม่มีคำว่าส่งเสริมสิ่งนั้น ๆ ให้ดี ส่งเสริมคนให้ดี มีแต่ธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องส่งเสริมคนให้ดี ส่งเสริมพระให้ดี ฉะนั้นพระผู้ใดองค์ใดเป็นผู้รักเป็นผู้เลื่อมใส เป็นผู้เชื่อมั่นคงในศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ผู้นั้นแหละธรรมจะเจริญ ผู้นั้นแหละจะเป็นผู้มีธรรม จะเป็นผู้เจริญ กิเลสมันไม่ทำคนให้เจริญแหละ มีแต่ทำให้เสื่อมให้เสีย ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่มีอะไรที่จะทำคนให้ดีได้เลย มีแต่ทำคนให้เสียลงไปเรื่อย ๆ แต่อำนาจของมันรุนแรงจึงบังคับให้โลกจำยอมมัน นอกจากจำยอมแล้วยังให้สรรเสริญมันเยินยอมัน เลียแข้งเลียขามัน เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น

นี้พูดตามหลักธรรมชาติ เราไม่ได้พูดดูถูกเหยียดหยามโลก เราเกิดในโลก พ่อแม่เราเป็นโลก เราเกิดมาก็เป็นโลก แต่เราได้ออกมาประพฤติปฏิบัติศาสนา ได้พิจารณาค้นคว้าตามหลักตามเกณฑ์ ตามสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ซึ่งเป็นความจริงอยู่ในหัวใจของเราแต่ละราย ๆ และแสดงออกอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีความรู้ความเห็นในแง่ใดซึ่งเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ ทำไมเราจะพูดไม่ได้ เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้นแหละ หลักธรรมชาติจริง ๆ แล้วกิเลสจะไม่ให้คุณแก่ผู้ใด ที่แสดงคุณออกมามากมาน้อย มีแต่เรื่องของธรรมทั้งนั้นที่แทรกออกมา แฝงออกมา เล็ดลอดออกมาแสดง ทั้ง ๆ ที่กิเลสมีอำนาจแผลงฤทธิ์อยู่ตลอดเวลาภายในจิตใจของเรา ที่เรียกว่ามีอิทธิพลมากตลอดกาลสถานที่เวล่ำเวลานั่นเอง ตลอดภพตลอดชาติไหน ๆ กิเลสมีอิทธิพลมากอยู่ตลอด นี่จึงว่าจำต้องยอมมัน

เมื่อยอมมันแล้วยังชมเชยมันอีกโดยไม่รู้สึกตัวนะ ไม่ใช่ว่าเราชมเชยด้วยเหมือนกับเขาประจบประแจงกันเพื่อนั้นเพื่อนี้อะไรนี่ แต่มันเป็นในหัวใจจริง ๆ คล้อยตามจริง ๆ มันเชื่อมันยินดี มันเลื่อมใสมันพอใจ วิธีการแห่งการแสดงออกของกิเลส การผลักดันของกิเลสจะเป็นประเภทใดก็ตาม ทำให้สัตว์โลกพอใจได้ทั้งนั้น ถ้าลงทำให้สัตว์โลกไม่พอใจแล้วใครจะไปติดมัน ใครจะไปเกี่ยวข้องกับมัน ต้องแยกตัวออกได้โดยไม่ต้องสงสัย แต่นี้ที่แยกตัวออกไม่ได้ก็เพราะเรากับมันประหนึ่งว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หาทางแยกทางแยะไม่ได้เลย นี่ละเราถึงไม่รู้

เมื่อถึงขั้นรู้แล้วก็ปิดไม่ได้อีกนะ นี่ขั้นที่ไม่รู้มักเป็นอย่างนี้ เราพูดถึงขั้นไม่รู้ ขั้นเรามืดมิดปิดตา ถูกกิเลสปิดหูปิดตาปิดใจ ปิดความคิดทุกด้านไม่ให้ออกเป็นอรรถเป็นธรรมได้เลย ให้ออกเป็นกิริยาอาการของมันทั้งนั้น ทั้งหมดออกเป็นของมันเลย แล้วเราก็ไม่มีทางรู้เลย นี่เวลามันมืด ๆ อย่างนั้นจริง ๆ ใจดวงนี้แหละ ก็เหมือนอย่างสถานที่นี่แหละเวลานี้มันมืด เหมือนกับจะไม่แจ้ง แต่ให้พระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาดูซิ ความมืดมันหายไปไหน ความสว่างมันจ้าขึ้นมาตรงนี้ แล้วทีนี้สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ยังไงมันก็เห็นหมดนั่นแหละเมื่อความสว่างมีขึ้นแล้ว

นี่เรื่องกิเลสก็คือ ความมีความจริงของมันประเภทหนึ่ง มีอยู่ยังไงเป็นอยู่ยังไง เมื่อปัญญาได้สว่างจ้าขึ้นภายในจิตใจเท่านั้นก็มองเห็นไปโดยลำดับลำดา และมองเห็นหมดทะลุปรุโปร่งไปหมด ท่านจึงว่า นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ก็คือผู้ปฏิบัตินี่แหละ ปฏิบัติหลายครั้งหลายหน ปฏิบัติแล้วปฏิบัติเล่าซ้ำ ๆ ซาก ๆ ขัดเกลาอยู่ตลอดเวลา ส่งเสริมสติปัญญาอยู่โดยสม่ำเสมอ สุดท้ายก็สว่างจ้าขึ้นมา ๆ เวลาเข้าสุดท้ายปลายแดนจริง ๆ สว่างจ้าขึ้นหมดรอบตัวเลย กิเลสตัวไหนจะมาหลอกได้ที่นี่ ไม่มีอะไรที่จะมาหลอกได้อีกเพราะปัญญาเหนือแล้ว มองเห็นตัวมันแล้ว ตัวไหนเป็นพิษเป็นภัยจะว่าเป็นคุณได้ยังไง ก็เห็นชัด ๆ อยู่ด้วยปัญญา และสลัดกันตัดกันออกหมดไม่มีอะไรเหลือ นั่น เราจะรู้ที่นี่ มันออกมาในแง่ใดกิเลสทำไมจะไม่รู้ แต่ก่อนไม่รู้นี่ เมื่อถึงขั้นรู้ปิดไม่ได้

นี่เราพูดถึงเรื่องกิเลสมันแทรกมันแซง มันมีอำนาจมีบทบาทมากทีเดียวภายในจิตใจ จะทำอะไรก็ตาม ธรรมชาติอันนี้จะต้องแฝงเข้าไป สอดแทรกเข้าไป สวมรอยเข้าไปไม่ให้เรารู้สึกเลยทีเดียว แล้วภูมิใจด้วยนะในกิริยาอาการการกระทำของตนเอง หรือภูมิใจโดยไม่รู้สึกตัวว่ากิเลสแทรกเข้าไปให้ภูมิใจ ไม่รู้เลย เมื่อถึงขั้นมันรู้แล้วยิ่งชัดเจนที่นี่ ไม่ว่าจะมาเล่ห์ไหนเหลี่ยมไหนคมไหนอุบายใดมันรู้ไปหมด เพียงกระดิกขึ้นมาก็รู้แล้ว กระดิกออกมาจากแง่ใดมุมใดของกิริยาใดผู้ใดก็รู้

ส่วนจิตดวงที่บริสุทธิ์แล้วนั้นมันจะเอาอะไรมาแสดง มันหมดจึงเรียกว่าหมด จะให้โกรธขนาดไหนมันก็โกรธไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่จะมาให้โกรธ แน่ะ จะให้หลง จะหลงได้ยังไงก็รู้ ๆ อยู่นี้จะเอาอะไรมาหลง นี่แหละถึงเรียกว่าหมด ไม่ยังงั้นท่านไม่เรียกว่าหมด ค้นหาเท่าไรก็ไม่เจอ ค้นก็รู้ว่าค้นเสีย แน่ะ จะค้นหาอะไรของไม่มี ก็รู้ว่าไม่มีแล้วไปค้นหาทำไม แน่ะก็รู้เสีย เวลามันมีไม่ได้ค้นมันก็มี เวลามันมีค้นไปค้นมามาเจอเข้ามันก็เจอ ถ้ามันไม่มีแล้วไม่มี ค้นเท่าไรก็ไม่มี แล้วรู้ด้วยว่าค้น ก็รู้อยู่แล้วจะไปหลงอะไร ถึงขั้นถึงภูมิที่รู้เป็นอย่างนั้น

จิตดวงที่ว่านี่ละ ดวงนี้เป็นตัวยืนยันเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องเกิดเรื่องตายไม่มีตัวใด กิเลสซึ่งเป็นตัวภพตัวชาติมันแทรกมันสิงอยู่ในจิตดวงนี้เท่านั้น ไม่แทรกไม่สิงอยู่ในอันใดเลย ในวัตถุเต็มโลกธาตุนี้ไม่มีกิเลสจะไปแทรกอยู่กับอันใด แทรกอยู่กับจิต และพาให้จิตนี้แหละเข้าไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ร่างนั้นร่างนี้ สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะวิบากแห่งกรรม ที่อำนาจของกิเลสและอำนาจของธรรม ต่างอันต่างยื้อแย่งแข่งดีกัน ทำงานภายในหัวใจของเราหรือของสัตว์โลก

กิเลสมีอำนาจมากกว่าก็พาสัตว์โลกให้ทำชั่วมาก หากมีธรรมอยู่ภายในแทรกอยู่ในหัวใจดวงเดียวกันนั้น ถึงจะมีกิเลสก็ตามธรรมก็มีอำนาจ มีโอกาสที่จะแทรกทำความดีสำหรับตน นั้นแหละผลจึงปรากฏขึ้นสูง ๆ ต่ำ ๆ ว่าดีบ้างชั่วบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้าง ภพสูงภพต่ำบ้างภพนั้นภพนี้ ย้ายภพย้ายภูมิไปสู่ที่นั่นที่นี่หาความแน่นอนไม่ได้ ก็เพราะวาระแห่งกรรมที่เราทำนี้ทำด้วยความไม่มีกฎมีเกณฑ์ แล้วจะหาความแน่นอนได้ยังไง เมื่อปรากฏขึ้นมาก็เป็นลักษณะของเหตุที่ทำหากฎเกณฑ์ไม่ได้นั่นแล ต้องเป็นไปตามวาระของกรรม

ความดีก็มี ถึงวาระทำดีก็ทำ ถึงวาระทำชั่วก็ทำ ผลของความชั่วความดีจึงผลัดเปลี่ยนกันให้ผลเรื่อยมาในจิตดวงเดียวกันนั้น นี่เป็นข้อยืนยัน นี่เป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ในจิตแต่ละดวง ๆ นี่ไม่มีว่างแห่งการเกิดตาย มีทางเดินอยู่อย่างเดียวเท่านั้นว่าเกิดตาย ๆ เรื่อย สูงต่ำ ๆ นั้นเป็นเงา ๆ เทียมตัวไปละนั่น คือสูงต่ำ ๆ เพราะวิบากเป็นเงาแฝงอยู่ในจิตนั้น วิบากคือดีชั่วแฝงกันไปพาให้สัตว์ทั้งหลายเกิด พื้นแน่นอนที่สุดคือว่าเชื้อ ได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ตัวเชื้อนี้แหละฝังพาให้เกิด นี่เป็นพื้นฐานเลยอันนี้

เมื่อเกิด-เกิดเป็นอะไรบ้าง นี่เกี่ยวกับเรื่องวิบากดีชั่วพาให้เป็นไป ๆ วิญญาณแต่ละดวง ๆ จึงไม่ว่างจากความเกิด จึงไม่ได้อยู่เป็นสุขโดยอัตโนมัติโดยอิสระเลย มีอย่างนั้นด้วยกันหมด ใครจะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม ใครจะเชื่อก็ตามไม่เชื่อก็ตาม ความจริงเป็นอย่างนี้ เป็นมาอย่างนี้ เคยเป็นมาอย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ และจะเป็นต่อไปอย่างนี้ตลอดกัปตลอดกัลป์หาประมาณไม่ได้ถ้าไม่มีสิ่งเข้าไปทำลาย คืออะไร คือธรรม นั่นละธรรมเป็นสิ่งที่จะทำลายภพทำลายชาติ ทำลายชั่วให้ดี ทำลายทุกข์ให้เป็นสุขขึ้นมาเรื่อย ๆ สับเปลี่ยนกันไป ๆ เพราะอำนาจแห่งความดีนี้ ไม่ใช่เพราะอำนาจแห่งความชั่ว ความชั่วจะไม่เปลี่ยนชั่วให้เป็นไปเพื่อความสุขความสบายเลย นี่แหละท่านจึงว่าไม่ว่าง เรื่องจิตไม่ว่าง

เอ้า คำพูดอันนี้ขอให้ท่านทั้งหลายได้ยึดเข้าไปในหัวใจ แล้วให้ปฏิบัติจิตดวงนี้ เริ่มตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลานอยู่นี้แหละไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งจิตมีความสงบ จะเป็นยังไง เปลี่ยนสภาพของตัวอย่างไรบ้าง ท่านว่าจิตเป็นสมาธิ จิตมีความสงบ จิตเยือกเย็น จิตไม่วุ่นวาย จิตสบายเป็นยังไง ท่านเขียนไว้ในปริยัติ เขียนไว้ในชื่อในตำรับตำรา แล้วความจริงจะมาอยู่กับอะไร มาอยู่กับจิต มาอยู่กับผู้ปฏิบัตินี้ก่อน ผู้ปฏิบัติเหตุเป็นยังไง ปฏิบัติเพื่อจิต เมื่อผลปรากฏขึ้นมาต้องปรากฏที่จิต มีความสงบที่ใจ เย็นที่ใจ สบายที่ใจ นี่เราเห็นแล้วที่นี่ เห็นที่ใจนี่แหละ เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งกว่าเห็นด้วยตาได้ยินด้วยหูเป็นไหน ๆ อันนี้แจ้งมากชัดมากทีเดียว

ใจนี่พิสดารมากนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสสัมพันธ์อะไรก็ได้ตามวิสัยของตน ๆ เท่านั้น ไม่เลยวิสัยไปได้เลย ตามีวิสัยที่จะดู ก็ให้เห็นแต่รูปสีแสงต่าง ๆ หูเป็นวิสัยที่จะทราบเสียง ก็มีเท่านั้น ไม่เลยจากขอบเขตนี้เลยอย่างนี้เป็นต้นนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีหน้าที่รับสัมผัสสัมพันธ์อยู่ตามหน้าที่ของตน ๆ ท่านจึงว่า อินฺทฺริยํ ๆ ความเป็นใหญ่ ตาก็เป็นใหญ่ในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน เป็นต้นนี่นะ ท่านว่าอินทรีย์ ๆ แปลว่าความเป็นใหญ่ มันเป็นใหญ่แต่ละอย่าง ๆ ไม่ก้าวก่ายกัน หน้าที่ของใครก็เป็นหน้าที่ของตัว เช่น สัมผัสสัมพันธ์ก็กายรู้ แต่ได้เพียงแค่นั้นไม่พิสดารเหมือนจิต จิตนี่พิสดารมากทีเดียว สิ่งที่ตาไม่เห็นจิตเห็นได้ หูไม่ได้ยินใจได้ยิน สิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กายไม่สามารถสัมผัสสัมพันธ์ จิตสัมผัสสัมพันธ์ได้ทั้งนั้น นั่นฟังซิ กว้างแคบขนาดไหนไม่มีประมาณเลย นี่ละขอให้ฝึกทรมานได้เป็นอย่างนี้

ที่นี่ที่ว่าเรื่องเกิดเรื่องตาย ภพน้อยภพใหญ่ของจิตแต่ละดวง ๆ เต็มอยู่ในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีจิตดวงใดที่ว่างจากความไม่เกิดไม่ตายนี่เลย นั่นเราจะรู้ได้ยังไง รู้ได้ด้วยจิตของเรานี่เป็นเครื่องพิสูจน์กัน เพราะจิตเหล่านั้นเหมือนกันกับจิตดวงนี้ ดวงของเราที่เป็นอยู่เวลานี้ เวลามีกิเลสมันก็มีอยู่อย่างเดียวกันนี่หมด เวลานี้เราพูดถึงเรื่องเวลามีกิเลสอยู่ภายในใจเป็นอย่างนี้ เอ้า ที่นี่ชำระกิเลสนี้เข้าไป ชำระเข้าไป ๆ เริ่มตั้งแต่จิตสงบจิตเย็น จิตเป็นสมาธิ จะเห็นแล้วที่นี่

อุบายวิธีนี้ไม่มีใครสอนนะในโลกนี้ สอนไม่ได้สอนไม่ถูก พระพุทธเจ้าสอน ศาสนธรรมนี้เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ค้นพบพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่ได้วิชามาจากผู้หนึ่งผู้ใด เพราะฉะนั้นท่านถึงปฏิเสธดาบสทั้งสองที่ว่าเป็นครูสอนอุบายวิธีต่าง ๆ ให้ท่าน นี้ไม่ใช่วิธีหลุดพ้นจากทุกข์ ไม่ใช่วิธีหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะโดยประการทั้งปวง แต่เป็นวิธีของกิเลสอยู่โดยดีที่จะสืบภพสืบชาติต่อไป ท่านจึงไม่เรียกว่าเป็นครูของท่าน เวลาท่านดำเนินโดยลำพังพระองค์เองไม่ได้ถามใครเลย พิจารณากำหนดอานาปานสติ นี้เอาเข้ามาย่อ ๆ ตรงนี้เลย

อานาปานสติ นี่ใครสอน แน่ะฟังซิ ไม่มีใครสอน ไม่ปรากฏว่ามีครูไหนสอน ท่านกำหนดอานาปานสติ ลมเข้าลมออกโดยลำดับลำดา ทีนี้จิตก็ค่อยสงบเข้าไป ๆ แล้วก็ปฐมยามเป็นอย่างไรที่ว่าท่านบรรลุญาณ ๓ นั่นเริ่มแล้วนะ ใครไปบอกถึงรู้ได้ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงระลึกชาติย้อนหลังได้กี่ภพกี่ชาติสามารถทั้งนั้น นั่นฟังซิ แต่ก่อนท่านสามารถไหม มีใครมาสอนท่านให้ระลึกเป็น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติถอยหลังได้มีอาจารย์ไหน ในขณะที่ท่านทรงบำเพ็ญท่านไปศึกษากับอาจารย์ไหน ไม่ปรากฏว่าได้ศึกษาจากอาจารย์ใดผู้ใด ฤาษีตนใด แต่มาปรากฏขึ้นในขณะคืนของวันเดือน ๖ เพ็ญ ที่ทรงบำเพ็ญหรือทรงเจริญอานาปานสติเท่านั้น พอจิตเริ่มละเอียดเข้าไป ๆ สามารถแทงทะลุไปได้ใน ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติถอยหลังได้

ชาติถอยหลังนี้ แต่ก่อนพระองค์ก็เป็นนักเกิดนักตายมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ นี่ฟังซิ แล้ววันนั้นทำไมถึงรู้ได้ ก็เพราะมันเปิดหูเปิดตาภายในจิตใจของพระองค์ให้ย้อนหลังไปสู่ความจริง เช่นเดียวกับที่นี่มืด ๆ มองดูที่ไหนก็ไม่เห็นนี่ มองอะไรก็ไม่เห็นเวลานี้ ให้สว่างขึ้นมาซิจะเห็นหมด พระอาทิตย์จ้าขึ้นมาแล้วเห็นหมด อะไรที่มีอยู่เป็นอยู่ตามแถวที่เรามองเห็นนี่ นั่นละ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ก็เหมือนกัน ญาณหยั่งทราบคือปัญญา หยั่งทราบความเป็นมาของพระองค์ตลอดทั่วถึงไปหมด นั่น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในปฐมยาม

มัชฌิมยามก็บรรลุ จุตูปปาตญาณ ทรงแทงทะลุความเกิดความตายของสัตว์ สัตว์ตัวนี้สัตว์รายนี้ตายจากที่นี่แล้วไปเกิดที่นั่น ตายจากที่นั่นมาเกิดที่นี่ สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน หาความสม่ำเสมอไม่ได้เพราะอำนาจแห่งกรรม นี่ถึงเรียกว่า จุตูปปาตญาณ จุตูปปาตญาณ คือความเคลื่อน ความเกิดความตาย นั่นพูดง่าย ๆ ของสัตว์มีอยู่เต็มโลกเต็มสงสารไม่ว่าภพใดภูมิใด หรือไม่ว่าชั้นใด เช่น กามโลก รูปโลก อรูปโลก ท่านว่าสามแดนโลกธาตุ สามภพสามแดนนี้มีอยู่ทุกดวงวิญญาณ มีอยู่ทุกภพทุกชาติ เกิดตายอยู่ทุกแห่งทุกหน หากำหนด หาเวล่ำเวลา หาสถานที่กว้างแคบไม่ได้ เต็มไปเลยทั้งสามแดนโลกธาตุ พระองค์ทรงรู้แทงทะลุไปได้หมด อ๋อ เป็นอย่างนี้ ๆ นี่สถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่เกิดที่ตาย ๆ ไม่มีอะไรประเสริฐเลย มีแต่เรื่องเกิดเรื่องตายเต็มไปหมด ไม่ว่าดวงวิญญาณดวงใดมีแต่เกิดกับตาย ๆ นี่ละเห็นอย่างนี้ เห็นความจริงเห็นอย่างนี้

จะไม่เห็นยังไง ความจริงเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ปัญญาหยั่งเข้าไป มองเห็นชัดเจนอยู่นี้ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนไม่เห็นนี่ เหมือนอย่างเวลานี้มืด ๆ ศาลาหลังนี้มีอะไร ๆ อยู่ก็ไม่เห็น จนกระทั่งพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาก็เห็นหมด อะไรอยู่นี้มันเห็นหมด แน่ะ นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาหยั่งทราบขึ้นมามันก็เห็นหมด จิตดวงวิญญาณของสัตว์โลกไม่มีประมาณก็รู้ไม่มีประมาณเท่ากันอีก นี่เรียกว่า จุตูปปาตญาณ ที่ทรงบรรลุ หรือทรงรู้แจ้งแทงทะลุในมัชฌิมยาม นี่ออกจาก อานาปานสติ ที่ลมละเอียดมาก สติปัญญาหยั่งทราบอย่างละเอียดสุขุมมากทีเดียว นี่เป็นญาณของพระพุทธเจ้า ปัญญาของพระพุทธเจ้า ภูมิของศาสดาเป็นอย่างนี้ เวลารู้ขึ้นมาผิดภูมิทั้งหลายตั้งแต่เริ่มแรกเลยทีเดียว

พอสุดท้ายจวนจะสว่างก็บรรลุถึง อาสวักขยญาณ สิ้นกิเลสอาสวะโดยประการทั้งปวง ภายในพระทัยไม่มีอะไรเหลือเลย เป็นพระจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ ซึ่งไม่เคยมีเคยเป็นมาเลย และไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้ใดเลย นี่ทรงขุดค้นในปัจจยาการ ขุดค้นอยู่ในนั้นอยู่ในอานาปานสติ แต่ผมจะไม่อธิบายให้มากไปยิ่งกว่านี้เวลาจะไม่เพียงพอ ความละเอียดลออของจิตที่พิจารณาอานาปานสติ เป็นได้ตั้งแต่ขณะสมถะคือความสงบ สงบละเอียดลงไป ๆ ญาณหยั่งทราบไปด้วยกันในขณะที่จิตละเอียด ไม่ละเอียดอยู่เฉย ๆ นะ ละเอียดหยั่งทราบเป็นญาณไปเลย ๆ สามารถหยั่งทราบไปถึง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ หยั่งทราบไปถึง จุตูปปาตญาณ หยั่งทราบทะลุไปถึงอาสวักขยญาณ มีแต่เรื่องของปัญญาญาณ ๆ ดังที่ท่านว่า ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ มีแต่เรื่องปัญญาญาณที่ละเอียดแหลมคมทั้งนั้น สามารถแทงทะลุในสิ่งเหล่านี้ไปด้วยอำนาจแห่งอานาปานสติของพระองค์ นี่ละหยั่งทราบอย่างนี้ละ นี่ภาคปฏิบัติ

พระองค์ดูโลกดูอย่างนี้ รู้โลกรู้อย่างนี้ ไม่ใช่เอาสุ่มสี่สุ่มห้ามาด้น ๆ เดา ๆ สอนพวกเรานะ ศาสนานี้ไม่ใช่ออกมาจากความด้นเดา ออกมาจากของแท้ของจริง ค้นมาจากหลักธรรมชาติจริง ๆ ไม่ได้มาเสกสรรปั้นยอกันขึ้นเลย ทรงทราบทรงเห็นทรงรู้ตามสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ จนกระทั่งถึงอาสวักขยญาณ แทงทะลุไปหมดโดยลำพังพระองค์เอง จึงเรียกว่า สยัมภู ๆ ทรงรู้เองเห็นเอง นั่นแปลออก สยัมภู ๆ โลกวิทู นั้นคือแจ้งทั้งโลกนอกโลกใน โลกนอกกว้างแคบขนาดไหนไม่มีประมาณ พระญาณของพระองค์ก็ไม่มีประมาณ หยั่งทราบตลอดทั่วถึงเช่นเดียวกันหมด ทันกัน และโลกในในธาตุในขันธ์ ในพระจิต ในที่กิเลสตัณหา ทราบหมดแทงทะลุหมด พังทลายให้มันฉิบหายตายไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลย ก็คือพระพุทธเจ้าทรงรู้เองเห็นเอง นี้เป็นของละเอียดแหลมคมมากทีเดียว

เอ้า เราพิจารณาเรื่องจิตตภาวนาดังที่กล่าวมานี่ซิ ถึงไม่รู้แบบศาสดาทุกกระเบียดก็ตามเถอะ เรื่องศัพท์ “ศิษย์มีครู” นี้ไม่ต้องสงสัย ครูรู้ยังไงลูกศิษย์จะรู้ตามรอยพระองค์ไปนั้นแหละ ไม่กว้างเหมือนพระพุทธเจ้าก็ได้เงื่อนที่แน่นอนที่สุดภายในจิตใจ ไม่ได้มากเต็มลำเรือ มันจะได้ขนาดไหนลำเรือ มันก็รู้ว่าลำเรือของเรามีสมบัติอะไรบ้าง นั่นเป็นข้อยืนยันได้ไหมว่าเรือนี้ไม่ใช่เรือว่างเปล่าเฉย ๆ เรือโมฆะ ใจนี้ไม่ใช่ใจว่างเปล่าเฉย ๆ ว่างเปล่าจากกิเลสยังไม่แล้ว ยังเต็มไปด้วยคุณธรรมเต็มภูมิของเรา ทำไมจะไม่รู้ทำไมจะไม่เห็นของจริงมีอยู่

นี่ละการพิสูจน์ภพชาติในศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เรียกศาสนาพุทธ ๆ ยอมกราบสนิทเลยเรา ใครจะว่าบ้าก็ตามเถอะเรานี่ขอกราบสนิท ตายด้วยอย่างสนิทเลย ถ้าอย่างอื่นเราไม่เล่นด้วย ศาสนาของพระพุทธเจ้าเห็นตรงนี้ละ เห็นกันก็ตรงนี้ละ ย่อ ๆ เอามาอานาปานสตินี่ นักภาวนาจะภาวนาบทใดแบบใดก็ตาม ขอให้มันถูกไปตามจังหวะแห่งธรรมที่กล่าวนี้เถิด จะเป็นเหมือนกับอานาปานสตินี้เลย จะเป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆก็ตาม รวมลงไปแล้วจะเป็นเหมือนกัน จิตจะสงบอย่างเดียวกัน และมีความละเอียดลออไปโดยลำดับลำดาเหมือนกัน จนกระทั่งแทงทะลุไปหมด เอ้าที่นี่เป็นยังไง ไอ้ที่ว่ากิเลสพาสัตว์ให้เกิดให้ตาย ๆ ไม่มีเวลาว่างเลย ที่ว่าจุตูปปาตญาณ พระองค์หยั่งทราบถึงเรื่องความเกิดความตายของสัตว์อยู่ตลอด หยั่งทราบยังไง มันก็เป็นอยู่ในนี้ รู้ชัดตามเป็นจริงนี้เลย ทีนี้หยั่งทราบหมดแล้วเจ้าของหมด คือว่าที่จะพาให้เกิดอีกไม่มี

นี่ละการพิสูจน์เรื่องภพเรื่องชาติของจิตแต่ละดวง ๆ พิสูจน์ในการปฏิบัติของเรานี่ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยเยี่ยมที่สุดในการพิสูจน์เชื้อของจิตที่พาให้เกิด เชื้อของใจที่พาให้เกิด นั่นละปัจจยาการ ท่านว่าปัจจยาการ ๆ เป็นยังไง ก็ได้แก่พวกอวิชชานั่นแหละ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ถ้าจะให้เต็มจริง ๆ นะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา....อวิชฺชาปจฺจยา วิญฺญาณํ นี่ละย้ำกันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ แล้วไปนู้น ๆ ยังงั้นนะ

เวลาพิจารณาเข้าไปจริง ๆ แล้ว หลักธรรมชาติ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา...อวิชฺชาปจฺจยา วิญฺญาณํ อวิชฺชาปจฺจยา นามรูปํ ย้ำกันลงนี้ ๆ ไม่ใช่ใคร ๆ ที่ทำให้เกิดนั้นไม่ใช่ใคร ๆ คือจิตดวงนี้ คืออวิชชาดวงนี้ ๆ ย้ำกันลง ๆ นี่ละอวิชชาถึงตายได้ จะตามไป ๆ โน้นแล้วเท่านั้น ไม่มีทางอวิชชาจะฉิบหายจะตายได้เลย ทำลายอวิชชาไม่ได้ ถ้าจิตถึงขั้นที่มันจะย้ำกันเป็นยังงั้น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา คืออวิชชานี่แลเป็นตัวสำคัญ เป็นเครื่องหนุนให้เกิดสังขาร อวิชฺชาปจฺจยา วิญฺญาณํ ก็นี่แลมันให้เกิดวิญญาณ นี่ละมันให้เกิดอันนั้น ๆ

โทษของมันก็รวมอยู่นี้หมดเลย พอรวมตรงนี้มันก็ฟาดกันลงตรงนี้ ขาดสะบั้นหมดแล้ว อะไรที่นี่มันจะไปต่อเนื่องอะไร เหมือนอย่างต้นไม้ต้นหนึ่ง รากแก้วรากฝอยกิ่งก้านสาขาดอกใบยังเขียวชอุ่มอยู่ก็ตามเถอะ ถอนพรวดมันขึ้นมาหมดแล้ว ไม่ต้องไปหานับว่าอันนั้นตายเวลานั้น อันนี้ตายเวลานี้ ที่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา คือถอนนั้นขึ้นมาแล้วกิ่งนั้นก็จะตาย ใบนี้ก็จะตาย ความหมายท่านว่าอย่างนั้น ดอกก็จะตาย อันนั้นก็จะตาย นี้มันก็จะตาย จะตายเมื่อไรก็ช่างมันเถิด หรือไม่ตายช่างมันเถิด ถอนพรวดออกมามันหมดเลยต้นไม้นั้นน่ะ เอ้าเอาไปทิ้ง ไม่ต้องไปนับมันแหละ มันจะตายพร้อมกันหรือจะตายหน้าหลังก่อนกันอะไรก็ไปดู มันตาย ไม่มีพ้นไปได้หรอก นั่น นี่ก็เหมือนกัน เรื่อง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

อันนั้นท่านเล่าเรื่อง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เฉย ๆ ไม่ใช่ภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัติแล้วจะเป็นอย่างนี้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชฺชาปจฺจยา วิญฺญาณํ คือย้ำกันลง ๆ เห็นโทษกันโดยลำดับลำดา เน้นลง ๆ เหมือนตีหัวตะปูย้ำหัวตะปู นี้พังลงไปเลยอวิชชา ทีนี้เมื่ออวิชชาพังแล้วจิตดวงนี้เป็นยังไงที่นี่ แต่ก่อนอวิชชามีมันเป็นยังงั้น มันพาให้เกิดให้ตาย อะไรพาให้เกิดก็รู้แล้วว่าคืออวิชชา อ๋อ เป็นอย่างนี้เหรอ ทีนี้พออวิชชาพังไปหมดแล้ว จิตดวงนี้เป็นยังไงที่นี่ ฉิบหายไหม สว่างกระจ่างแจ้ง ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นอิสรเสรีเต็มที่เต็มภูมิของตนเอง นี่ละคือจิตดวงนี้

จิตนอกนั้นไม่มีที่จะอยู่เฉย ๆ โดยลำพังได้ ถูกเตะเหมือนฟุตบอลนั่นแหละ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เตะไป สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เตะไป ๆ ตลอด หาที่สิ้นสุดวิมุตติหลุดพ้นไม่ได้เลย ถ้าลงเราเตะย้อนหลังกลับมา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา...อวิชฺชาปจฺจยา วิญฺญาณํ...นามรูปํ เรื่อย ย้ำเข้าตรงนี้ ๆ แล้วตาย ฉิบหาย พอฉิบหายแล้วทีนี้สว่างจ้าเลย ไม่มีอะไรที่จะเป็นภพ

เอ้า หากสูญไหมจิตดวงนี้ สูญอะไร วิเศษอะไรเกินจิตดวงนี้ นั่นที่ว่า นิพฺพานปรมํ สุขํ นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ อะไรจะไปวิเศษวิโสยิ่งกว่านี้ อะไรที่จะไปสูญสิ้นกิเลสตัณหาอาสวะที่เป็นภัยทั้งหลายยิ่งกว่าจิตดวงนี้ ที่นี่หมด นี่ละท่านว่าเป็นอิสระที่นี่ จิตดวงนี้ละ ดวงพ้นจากกิเลสทุกประเภทตั้งแต่อวิชชาเป็นต้นไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในจิตใจเลย นี้แลตัวอิสระ นอกนั้นไม่มีเลย

จะจิตใดก็ตาม สัตว์ตัวใดก็ตาม ตั้งแต่พรหมโลกลงมานี้หาความเป็นอิสระไม่ได้ ต้องหมุนไปตามอำนาจของกิเลสอยู่โดยดี จนกระทั่งว่ากิเลสสิ้นไปหมดแล้ว เอาละหมดที่นี่คำว่าหมุน เป็นอิสระเต็มที่อิสระเต็มตัว นอกสมมุติไปแล้ว สมมุติคือตัวกดขี่กันนั่นแหละจะเป็นอะไรไป มันกดขี่บังคับขับไสกันอยู่ตลอดเวลา นั้นคือตัวสมมุติ วิมุตติหลุดพ้นจากนี้แล้วจะเอาอะไรมากดขี่กัน จะมาบีบบังคับกันไม่มี นั่นมันก็รู้อยู่ในหัวใจดวงนี้เอง

แต่ก่อนไม่รู้ เวลาล้มลุกคลุกคลานก็รู้อยู่ว่าล้มลุกคลุกคลาน พ้นจากล้มลุกคลุกคลานก็รู้ รู้ไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงพ้นวิสัยทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้วไม่มีอะไรเหลือเลย พ้น เป็นอิสระเต็มที่ของตัวเอง นั่น กาลสถานที่เวล่ำเวลามีที่ไหน ความหวัง-หวังอะไรที่นี่ หมด นั่นละท่านถึงบอกว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ สุขํ ๆ มันสุขไม่ได้เหมือนโลกทั้งหลายสุขกันนี่ ถ้าว่าสุขเหมือนอย่างโลกจะเอาอะไรมาอัศจรรย์ เอาอะไรมาแปลกประหลาด มันก็เหมือนโลกซิ เขาเหมือนเรา เราเหมือนเขา มีอะไรผิดแปลกกัน อันนี้ไม่เหมือนใครนี่ ไม่มีใครเหมือนอันนี้นี่จะว่าไง ถึงได้ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ปรมํ ๆ คือเยี่ยมเลยเชียว ไม่มีอะไรสู้แหละ

ตั้งใจประพฤติปฏิบัติซิ ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้านี้เป็นมัชฌิมาตลอดเวลา ตลอดกาลสถานที่ เหมาะอยู่ตลอดที่จะนำมาปราบกิเลส ประเภทใดก็ตามที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจเราอยู่เรื่อยมานั้น จะฉิบหายไปด้วยอำนาจแห่งธรรม ศรัทธาธรรม วิริยธรรม สติธรรม ปัญญาธรรม อุตสาหธรรม พิจารณาลงไปให้เหมาะกับจังหวะ ๆ นำมาใช้ให้เหมาะสมกับจังหวะ เรื่องของสิ่งลามกจกเปรตทั้งหลายซึ่งอยู่ภายในจิตใจนี้ จะพังลงไปจนได้แหละ ไม่มีอะไรจะทนต่อธรรมนี้ได้เลย

นี่เราพูดถึงเรื่องสัพพัญญู สยัมภู สัพพัญญูคือรู้ธรรมทั้งปวง สยัมภู ทรงรู้เองเห็นเอง ไม่มีใครสอนอย่างนี้ละ ทีนี้เวลาย้อนเข้ามาหาสาวกแต่ละองค์ ๆ ก็เป็นคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้านั่นแหละ พระพุทธเจ้าเป็นผู้แนะ เป็นเพียงผู้บอกในแง่ต่าง ๆ เช่นอย่างท่านว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ ฟังซิ ความเพียรเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายทำเอง อกฺขาตาโร ตถาคตา พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ชี้บอกแนวทางเท่านั้น เราเป็นผู้ดำเนินงาน เอ้า สุขทุกข์ประการใดเราจะรู้เองในการประกอบงานของเรา หรือในการรบ เราจะรู้เองกับข้าศึกนั้น เมื่อรู้เองขึ้นมาแล้วก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ๆ ขึ้นภายในตัว นี่ละเป็นสมบัติของเราแท้ที่นี่

ส่วนความจำที่เราได้มาจากครูจากอาจารย์ จากปริยัติที่เราศึกษาเล่าเรียนมานั้น เป็นเครื่องมืออันหนึ่ง เป็นกรุยหมายป้ายทางที่เราจะดำเนินไป พอดำเนินไปแล้ว ๆ ไปเจอตามความจริงที่มีอยู่ ๆ ทั้งหลายเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งถึงทะลุปรุโปร่งไปหมดก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ของเรา เป็นสมบัติของเราแท้ มีเท่านั้น จึงขอให้ทุกท่านตั้งใจปฏิบัติ

ปีนี้มากกว่าทุกปีนะ มากจริง ๆ ปีนี้ ผมก็ไม่เคยรับพระเณรถึงขนาดนี้ นี่ก็เพราะความเมตตาสงสารนั่นแหละไม่ใช่เพราะอะไร ได้ถูไถกันไปอย่างนี้แหละ และอยู่ด้วยกันให้เป็นผาสุก อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าคนนี้ดีกว่าคนนั้น คนนั้นดีกว่าคนนี้ เราเก่งกว่าเพื่อน เพื่อนสู้เราไม่ได้ หรือเพื่อนเก่งกว่าเราอะไร คิดดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน เหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล อย่าเอามาใช้ ต้องวางตัวอยู่ในธรรมทั้งหลาย ด้วยความให้อภัยซึ่งกันและกัน นี่หลักใหญ่ มองกันในแง่เหตุผลหนึ่ง มองกันในแง่แห่งความให้อภัยซึ่งกันและกันหนึ่ง เป็นหลักใหญ่ของการอยู่ด้วยกัน ใครผิดใครถูกประการใดให้พูดกันได้โดยเหตุโดยผลโดยอรรถโดยธรรม อย่านำทิฐิมานะมาใช้กัน นั้นเป็นเรื่องของกิเลสจะมาตีตลาดธรรมทั้งหลายให้แตกกระจายไปหมด หาความผาสุกไม่ได้ ให้จำเอาไว้ให้ถึงใจ

กิเลสนี่ละเอียดมากนะ คอยแทรกเสมอให้ทะนงตนว่าเก่งว่าดี นั้นละตัวกิเลสมันชอบทะนงตัวนั่นละ ถ้าธรรมแล้วไม่ทะนง จะเสียงแผดขนาดไหนก็ตาม พอเหตุผลเข้ากันปั๊บหยุดทันที ธรรมเป็นอย่างนั้น เพราะหาความจริง...ธรรม กิเลสไม่ได้หาความจริง มันหาแต่ความปลอมทั้งนั้น ฉะนั้นจึงหาที่ยุติไม่ได้ เรื่องความปลอมมันจะยุติได้ยังไง ถ้าความจริงแล้วยุติ

การบิณฑบาตเป็นวัตรคืออย่างไร ท่านว่าถือบิณฑบาตเป็นวัตรคืออะไร เดินไปก็ให้เดินจงกรมไปเลย นั่นถือเป็นวัตรหนึ่ง ไม่ให้ขาด ถ้ายังฉันอยู่ก็ต้องไปบิณฑบาตไม่ให้ขาดด้วย ให้เป็นวัตรภายในสติของตัวเราเองกำกับกับองค์ของการภาวนาเรา ไม่สนใจกับอะไร ใครจะให้อะไร ๆ ไม่สนใจ จะได้ก็ตามไม่ได้ก็ตามไม่สนใจยิ่งกว่าธรรม คือ สติธรรม ปัญญาธรรม ที่กำกับใจรักษาใจไปตลอดสาย ตั้งแต่ไปจนกระทั่งกลับมาให้มีสติให้มีปัญญาพินิจพิจารณาภายในตัวเสมอ นั้นละชื่อว่าบิณฑบาต และเป็นวัตรแท้ บิณฑบาตก็เป็นประโยชน์ จะไปหากินเฉย ๆ นี่เป็นประโยชน์อะไร นอกจากเป็นประโยชน์แก่พุงเท่านั้น เท่ากับเห็นขี้ดีกว่าไส้ไปละซิอย่างนั้น

คำว่าขี้คืออะไร ก็คือพุง ไส้คืออะไร ก็คือธรรม นั่น เห็นอาหารดีกว่าธรรมไปอย่างนี้ใช้ไม่ได้

เอาละ การพูดก็เห็นว่านานพอสมควร รู้สึกเหนื่อย ๆ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก