ปุจฉา-วิสัชนา กรณีปัญหาวิทยุเสียงธรรม ฉบับที่ ๑
Posted Date : วันที่ 13 พ.ย. 2558 เวลา 15:17 น.

ปุจฉา-วิสัชนา กรณีปัญหาวิทยุเสียงธรรม ฉบับที่ ๑

 

ปุจฉา     ท่านผู้เคารพบูชาต่อองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จำนวนหนึ่งประสงค์จะทราบว่าสถานีที่ถูกปิดนั้น เกิดจากการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อไม่ผิดกฎหมายทำไมจึงถูกปิดได้

 

วิสัชนา   คณะศิษย์ฯ ขอน้อมนำเอาเนื้อหาส่วนหนึ่งของการประชุมอุโบสถของคณะสงฆ์ จำนวน ๙๗ รูป ณ วัดป่าบ้านตาด ในวันพุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ซึ่งยึดถือพระธรรมวินัย เทศนาคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ฯ และข้อกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ นำมาตอบข้อสงสัยของท่านผู้ประสงค์ดีแต่พอสังเขปดังนี้

 

               ๑. "วิทยุเสียงธรรม" เป็นกิจของสงฆ์ที่ชอบแล้ว "ในทางธรรม"

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำ "เสียงธรรม" ออกประกาศแก่ปวงสัตวโลก หวังให้มี "ธรรม" เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวสูงสุดของชีวิต อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ ความสุข และมรรคผลนิพพานแก่สัตวโลกผู้ปฏิบัติตาม "ธรรม" จนกระทั่งมีพระอรหันตสาวกเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นลำดับมาจวบจนสมัยปัจจุบัน

               เมื่อมาถึงยุคกึ่งพุทธกาล "วิทยุกระจายเสียง" เป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างสะดวกและประหยัดกว่าสื่อประเภทใดๆ เมื่อประชาชนในที่ต่างๆ ได้น้อมนำ "ธรรม" ของพระพุทธเจ้าผ่านพระธรรมเทศนาของพระกรรมฐานผู้รู้แจ้งเห็นจริงมาออกกระจายเสียงทาง "วิทยุเสียงธรรม" ก็ยิ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า สามารถยังประโยชน์แก่พี่น้องชาวไทยได้จริง ขณะเดียวกันประชาชนในที่ต่างๆ ก็นำ "วิทยุเสียงธรรม" มาถวายแด่องค์หลวงตาฯ เพื่อหวังให้เป็นสมบัติของสงฆ์ในพระศาสนาสืบไป 

               องค์หลวงตาฯ เห็นประโยชน์ในเรื่องนี้อย่างยิ่งถึงกับก่อตั้ง "มูลนิธิเสียงธรรมฯ" ขึ้นมารองรับด้วยมือของท่านเอง และทูลเชิญทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าหญิงหญิงจุฬาภรณ์ฯ มาเป็นองค์อุปถัมภ์สถานีทุกแห่งอีกด้วย พระธรรมเทศนาขององค์หลวงตาฯ ยังตอกย้ำคณะศิษย์ฯ ให้ตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นของการก่อตั้ง "วิทยุเสียงธรรม" อย่างที่สุดถึงกับกล่าวว่า "การก่อตั้งวิทยุเสียงธรรมของประชาชนในที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่สมกับเจตนารมณ์ขององค์ท่านที่ออกมาช่วยชาติในคราวนี้" ดังนั้น "มรดกธรรม" อันทรงค่านี้ จึงถือเป็นกิจโดยตรงของคณะศิษย์ฯ ทุกหมู่เหล่าที่ต้องปกป้องรักษาให้ "วิทยุเสียงธรรม" สามารถยังประโยชน์โปรดโปรยธรรมะเข้าสู่หัวใจประชาชนได้อย่างต่อเนื่องสืบไป  

                ในทางธรรมไม่มีผู้ใดรู้แจ้งได้ดียิ่งกว่าพระอรหันต์ ในเมื่อองค์หลวงตาฯ พิจารณาเห็นการก่อตั้งวิทยุเสียงธรรมว่าเป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้น สถานีเสียงธรรมฯ กระบี่ และอีก ๑๔ แห่ง จึงเป็นกิจที่ชอบแล้วและถูกต้องดีงามแล้วในทางธรรม ปุถุชนนับร้อยพันจะกล่าวหาว่าไม่ชอบก็ถือเป็น "โมฆะ" เพราะเป็นการวินิจฉัยของผู้มีใจมืดบอด

 

 

               ๒. "วิทยุเสียงธรรม" เป็นการประกอบการที่ชอบแล้ว "ในทางโลก"

                    ๒.๑ ปี พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๓ องค์หลวงตาฯ ได้มอบหมายให้คณะศิษย์ฯ เข้าไปร่วมเสนอร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ต่อคณะกรรมาธิการร่างฯ แห่งรัฐสภา จนประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งส.ส.และส.ว. ต่างสนับสนุนร่างกฎหมายของคณะศิษย์ฯ จนกระทั่งมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างถูกต้องรองรับ "วิทยุเสียงธรรม" ที่มีสิทธิทัดเทียมกับวิทยุของรัฐอย่างสมบูรณ์ ภายใต้ชื่อ "วิทยุภาคประชาชนเชิงความสนใจร่วมกันในระดับชาติ" (Community Radio of Interest) 

                   ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ศาลปกครองกลางก็ได้วินิจฉัย "กรณีวิทยุเสียงธรรม" เป็นที่สุด โดยให้การรับรองสถานภาพทางกฎหมายของวิทยุประเภทดังกล่าวไว้อีกชั้นหนึ่งแล้วด้วย 

                   ฉะนั้น เมื่อคณะกรรมการ กสทช. เกิดขึ้นตามกฎหมายตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ เป็นต้นมา มีวาระ ๖ ปี บัดนี้ผ่านมาจะครบปีที่ ๕ แล้วกลับมีเจตนาหน่วงเหนี่ยวถ่วงเวลาไม่ยอมออกประกาศ กสทช. ว่าด้วยการอนุญาตของวิทยุประเภทดังกล่าวสักทีแม้จะทวงถามมากเพียงใด และยังล่าช้ากว่ากำหนดเวลาที่ กสทช. ได้ประกาศไว้ในแผนแม่บทฯ อีกด้วย

                    การเตะถ่วงไม่ออกประกาศทั้งๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้และการจงใจปิดกั้นการออกใบอนุญาตแก่วิทยุเสียงธรรมจึงถือเป็นการกระทำของ กสทช. ที่ผิดกฎหมาย

 

                    ๒.๒ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติไว้อีกด้วยว่า กสทช. ต้องส่งเสริมให้ภาคประชาชนที่ไม่มีโฆษณาได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยต้องสนับสนุนให้ผู้อยู่นอกระบบต้องได้เข้าสู่ระบบด้วยการออกใบอนุญาตให้ 

                    ในเมื่อ กสทช. ทำตรงข้ามกับบทบัญญัตินี้ ด้วยการปิดกั้นไม่ออกใบอนุญาตแก่วิทยุเสียงธรรมทั้ง ๑๕ แห่ง จึงถือเป็นการกระทำของ กสทช. ที่ผิดกฎหมาย

                    ๒.๓ รัฐบาลชุดก่อนได้รับรองมติที่ประชุมร่วมหลายองค์กรภาครัฐ(๓๐ เมษายน ๒๕๕๖) อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนา และ กสทช. เป็นต้น มีมติ "ห้าม" กสทช. ลิดรอนลดทอนประสิทธิภาพการกระจายเสียงของ "สถานีวิทยุศาสนาทุกแห่งที่ไม่มีโฆษณาแอบแฝง" และยังถืออีกด้วยว่ามตินี้เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาว่าด้วยการอุปถัมภ์พระศาสนา

                    ในเมื่อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้บัญญัติให้ กสทช. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามแนวนโยบายของรัฐที่แถลงต่อรัฐสภา หากแต่ กสทช. ฝ่าฝืน ก็ย่อมถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกเช่นกัน

                     ๒.๔ "มติที่ประชุม ๓ ฝ่าย" ๑๙ ก.พ. ๒๕๕๘ ซึ่งเกิดขึ้นตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายทหาร ฝ่าย กสทช. และฝ่ายสงฆ์) มีมติอนุญาตให้สถานีเสียงธรรมฯ กระบี่ และอีก ๑๔ แห่ง สามารถออกอากาศได้ ทั้งนี้เนื่องจาก กสทช. ทราบจากการแถลงของสงฆ์ต่อที่ประชุมว่า การปิดกั้นใบอนุญาตแก่คลื่นที่ยังว่างอยู่ไม่ให้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่มีโฆษณา ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

 

 

บทสรุป ปุจฉา-วิสัชนาฯ ฉบับที่ ๑

                   การออกอากาศของสถานีเสียงธรรมฯ กระบี่ และอีก ๑๔ แห่ง จึงไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดธรรม เพราะเป็นการใช้คลื่นที่ยังว่างอยู่เพื่อประโยชน์สาธารณะทางศาสนาโดยไม่มีโฆษณาแอบแฝง และเป็นการใช้คลื่นที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐ

                   กสทช. จึงถือเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายและผิดธรรม เพราะจงใจปิดกั้นและมีเจตนากลั่นแกล้งสถานีเสียงธรรมฯ กระบี่ และอีก ๑๔ แห่ง ให้ได้รับความเสียหาย และเพราะดื้อด้านต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์

 


<< BACK

หน้าแรก