หนังเสือถึงฯ พณฯ นายกรัฐมนตรี เรื่องความเห็นต่อ "รายงานผลการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา"
Posted Date : วันที่ 12 มิ.ย. 2558 เวลา 10:29 น.

เลขที่พิเศษ ๐๔๕/๒๕๕๘                                                                         เขียนที่วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด

                                                                                                             อ.เมือง จ.อุดรธานี ๔๑๐๐๐

๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘

เรื่อง          ความเห็นต่อ "รายงานผลการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา"

เจริญพร     ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

          ตามที่ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธ ศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอแนวทางปฏิรูปพระพุทธศาสนาในเอกสาร "รายงานผลการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา"ต่อ สปช.และคณะรัฐมนตรี โดย ครม.ได้มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำไปศึกษาและส่งรายงานกลับภายใน ๓๐ วัน หรือวันที่ ๑๒ มิถุนายน๒๕๕๘ ทั้งนี้ ฯพณฯสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้สั่งการว่า การทำงานที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ จะมีการหารือกับคณะสงฆ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายโดยล่าสุด เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ท่านไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายการ “จับตาเส้นทางปฏิรูป : พิมพ์เขียวปฏิรูปพระพุทธศาสนา”เพื่ออธิบายแนวทางปฏิรูปศาสนา   เป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วนั้น

          คณะสงฆ์กรรมฐานขออนุโมทนาสาธุการต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่มีความใส่ใจและห่วงใยในสถาบันพระพุทธศาสนา โดยให้ท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสั่งการให้มีการรับฟังความเห็นของคณะสงฆ์ พร้อมทั้งขออนุโมทนาต่อสปช. และขอแสดงความเห็นต่อรายงานผลการพิจารณาฯ ของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธ ศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  ดังต่อไปนี้

๑.     หลักการในการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา

                    ๑.๑ เห็นควรให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้วเท่านั้น ห้ามบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติโดยเด็ดขาด

                    ๑.๒ เห็นควรให้รัฐสนับสนุนการเผยแผ่พระธรรมวินัยผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อพระและคฤหัสถ์จะได้เข้าใจศาสนธรรมคำสอน สามารถแยกแยะพระแท้พระปลอมได้อย่างถูกต้องอันเป็นการรักษาพระศาสนาอย่างยั่งยืน การที่ กสทช.กีดกันและลิดรอนคลื่นวิทยุธรรมะที่เผยแผ่เสียงธรรมเทศนาของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ศาสนาเสื่อมจากจิตใจพุทธบริษัท                 

                   ๑.๓ เห็นควรแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เมื่อมีปัญหาที่ใด แก้ที่นั้น มีพระไม่ดีที่ใด ก็แก้ไขตรงจุดนั้น ไม่ใช้ระบบเหวี่ยงแหที่กระทบต่อพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นเดียวกับที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์ในงานวันต่อต้านคอรัปชั่นเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ ถึงปัญหาข้าราชการทุจริตคอรัปชั่นว่า “อยากให้ทุกคนศึกษาปัญหา และร่วมกันหาทางออกตามหลักพระพุทธศาสนา อริยสัจสี่ รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร และแก้ที่ตรงไหน.....แต่จะโทษข้าราชการอย่างเดียวไมได้ ตนก็เป็นข้าราชการ คนดีๆ ก็มีอยู่”

 

          ๒. ข้อเสนอต่อแนวทางการปฏิรูปพระพุทธศาสนาตามที่ ประธานคณะกรรมการปฏิรูป แนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธ ศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอ

          ๒.๑ ประเด็นการจัดการทรัพย์สินของสงฆ์

                    ๒.๑.๑ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ ที่กำหนดให้วัดต้องทำบัญชีตามมาตรฐานทางการบัญชีที่ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี ฯลฯ แทนที่จะทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามปกติเช่นที่เคยกระทำอาจจะฟังแล้วดี แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า นักการเมืองทุกคนจะต้องส่งบัญชีทรัพย์สิน แต่กฎเกณฑ์นี้ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นได้หรือไม่ หรือบริษัทต่าง ๆ จะต้องส่งบัญชีตามมาตรฐานทางบัญชี แล้วกฎเกณฑ์นี้ป้องกันการเลี่ยงภาษีหรือการฉ้อโกงได้หรือไม่

                    คำตอบคือ ประเทศไทยบังคับให้นักการเมืองแสดงบัญชีทรัพย์สินมานานแล้ว แต่การคอรัปชั่นยังมีทั่วไปจนทำให้ คสช.จำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครอง นอกจากนี้ บริษัท เลห์แมนบราเธอร์ บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ AAA มีระบบบัญชีที่ดีมีมาตรฐานระดับโลก ก็ยังมีการซุกซ่อนหนี้แฝงจนกระทั่งล้มละลายในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปีพ.ศ.๒๕๕๕  ซึ่งการล้มละลายของบริษัทแห่งนี้ นอกจากจะกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศอื่น ๆ อีกด้วยนี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า บัญชีที่ได้มาตรฐาน อาจกลายเป็นช่อง รับรองให้มีการทุจริตโดยชอบธรรม ก็เป็นได้ทั้งนี้ วิกฤติทางเศรษฐกิจในประเทศไทยก็เกิดจากบริษัทที่จัดทำบัญชีที่มีมาตรฐานทั้งสิ้น

                   ดังนั้น การนำวิธีการทางโลกมาบังคับใช้กับสมณเพศนอกจากจะกระทำในสิ่งที่เกินเลยต่อพุทธบัญญัติแล้ว ยังไม่ได้ผลจริงในการรับรองความสุจริตเป็นธรรม หลักธรรมวินัยชี้ขาดความเป็นสมณเพศได้ละเอียดลออลึกซึ้งกว่านั้นพิจารณาเข้าไปถึงไถยจิตด้วยค่าเพียง ๕ มาสกโดยไม่คำนึงว่าวัดนั้นๆ จะมีผู้ตรวจบัญชีรับรองหรือไม่ การมีมาตรฐานทางบัญชีที่โปร่งใส แต่ความจริงแอบร่วมกันยักยอกทรัพย์ก็ไม่อาจพ้นโทษในทางพุทธบัญญัติได้ ขณะเดียวกัน แม้ไม่มีการบันทึกบัญชี ไม่มีผู้ตรวจบัญชีรับรอง ก็ไม่อาจทำให้ความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์เสื่อมสูญไปได้ จึงไม่ควรบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ นอกจากจะไม่มีผลรับรองความสุจริตแล้ว อาจเป็นเครื่องมือรับรองความทุจริตของโมฆะภิกษุก็อาจเป็นได้

                    ๒.๑.๒ การกำหนดให้เจ้าอาวาสต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐาน นอกจากจะไม่ได้ป้องกันการคอรัปชั่นหรือการทุจริต ยังจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต้องเสียเวลากับเรื่องพวกนี้เพราะกฎเกณฑ์มาตรฐานทางบัญชีมีการปรับปรุงตลอดเวลา พระมุ่งมาบวชเพื่อหวังความพ้นทุกข์ มิใช่มุ่งมาตั้งบริษัททำมาหากินดังเช่นที่โลกกระทำกัน

                   หากเมื่อใดที่ชาวพุทธเห็นว่าวัดควรใช้หลักการจัดการเช่นเดียวกับบริษัท เมื่อนั้นย่อมบ่งบอกถึงความเสื่อมทรามของศาสนาในใจชาวพุทธอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดกว่ายุคสมัยใด แนวคิดดังกล่าวจึงควรยกเลิก

                    ๒.๑.๓ เงินที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้มาล้วนจากเงินบริจาคจากศรัทธาของประชาชน มิใช่เป็นเงินของรัฐหรือเงินที่ได้จากการพาณิชย์ หากประชาชนทราบว่าพระรูปใดประพฤติผิด จากพระธรรมวินัย ประชาชนจะเสื่อมศรัทธา จะทำให้พระรูปนั้นเสื่อมจากลาภสักการะไป ดังปรากฏเป็นข่าวทั่วไปอยู่แล้ว                 

                   ดังนั้น หากประสงค์จะลงโทษมิให้พระเลวมีลาภสักการะใดๆ รัฐก็ควรเข้ามาสนับสนุนคุ้มครองวิทยุเพื่อพระพุทธศาสนาเสียงธรรมพระกรรมฐานให้มาก เพื่อประชาชนจะได้มีความรู้เพียงพอสามารถแยกแยะออกได้ระหว่าง “พระจริง” กับ “พระปลอม” ซึ่งแม้พระจริงจะมีลาภสักการะเพียงใดก็ไม่มีโทษ แต่พระปลอมได้รับทานอาหารบิณฑบาตเพียงคำเดียวก็เป็นโทษ จึงควรแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น

                    ๒.๑.๔ การตรากฎหมายบีบบังคับให้พระต้องจัดการทรัพย์สินด้วยวิถีทางโลก ถือเป็นการบัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้

                    พระพุทธเจ้าบัญญัติไม่อนุญาตให้พระภิกษุมีความยินดีในเงินทอง หากยินดีในเงินทองให้ปรับอาบัติ ดังที่องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เทศน์ไว้เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ ดังนี้

                        “ชาตรูปรชตํอุคฺคณฺเหยฺย วา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย, นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ ภิกษุรูปใดก็ตามรับเงินก็ดี ทองก็ดี หรือสิ่งที่สมมุติให้เป็นเงินก็ดี รับเองก็ดีต้องอาบัติ ให้คนอื่นรับต้องอาบัติ หรือเขารับให้ยินดีก็ต้องอาบัติจากการรับของเขา นั่นฟังซิ   ปรับขนาดนั้น นี่เป็นพระบัญญัติเบื้องต้น อันดับที่สองเมณฑกเศรษฐีไปขอความผ่อนผันจึงลดลงมา แต่ก่อนไม่ให้รับทั้งนั้นเลย ต่อมาอันดับหลังนี้จึงมาผ่อนผันให้เขารับแทนได้ แต่ให้ยินดีในกัปปิยภัณฑ์ที่เขาจะไปซื้อมา  ไม่ให้ยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ถ้ายินดีปรับอีก แน่ะฟังซิ  คือท่านตัดขาดเพื่อไม่ให้มีความเยื่อใยในสิ่งเหล่านี้เลย จะได้ปฏิบัติธรรมสะดวกไม่มีอะไรเลย  เพราะอันนี้เป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตัดอย่างรุนแรง คือเป็นภัยต่อการบำเพ็ญธรรม”

                        ดังนั้น การตรากฎหมายบังคับให้วัดต้องจัดการทรัพย์สินด้วยวิถีทางแบบชาวโลก จึงยิ่งเป็นการเพิ่มภาระการเกี่ยวข้องให้เกิดความวุ่นวายเป็นอันมาก โดยผลดีที่หวังจะได้รับก็ไม่อาจรับรองถึงความซื่อสัตย์สุจริตได้อย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าทรงหวังให้วัดแต่ละแห่งมีเพียงบริขาร ๘ กุฏีวิหาร เท่านั้น มิได้หวังให้พระพก "ลูกคิด" และ "สมุดบัญชี" ติดตัวไปด้วย

                    ๒.๑.๕ การจะให้ฆราวาสเข้ามามีส่วนร่วมช่วยแบ่งเบาภาระของวัดนั้น ก็เป็นไปตามวินิจฉัยของเจ้าอาวาสของแต่ละวัดอยู่แล้วว่าบุคคลใดน่าจะมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างแท้จริง ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นกฎหมาย ซึ่งอาจจะถูกประชาชนคัดค้านได้ว่า พยายามหาช่องทางให้ฆราวาสเข้ามาปกครองสงฆ์

                    ๒.๑.๖ พุทธศาสนิกชนจะมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ โดยไม่ได้จำกัดว่า จะต้องเป็นเจ้าอาวาสของวัด ดังเช่น เจ้าคุณนรฯ หรือ พระธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ แม้มิได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ แต่เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ประชาชนจึงมาทำบุญโดยเจาะจงถวายท่าน ซึ่งท่านก็มิได้เก็บสะสมไว้ แต่แจกจ่ายไปทำประโยชน์สาธารณกุศลตามความเหมาะสมที่ผู้รับปัจจัยนั้นจะพิจารณาด้วยตนเอง ดังนั้น จึงไม่เหมาะสมที่จะจำกัดว่า ปัจจัยที่เขานำมาถวายนั้นจะต้องเป็นของวัดทั้งหมด หากเจ้าอาวาสวัดนั้นมีนิสัยตระหนี่ถี่เหนียวเห็นแก่ตัวแต่กฎหมายฉบับนี้กลับทำให้เจ้าวัดกลายมาเป็นผู้ถือสิทธิในปัจจัยเหนือพระผู้ปฏิบัติดีและพระลูกวัดอื่นๆ เสียเอง ย่อมจะเกิดความเสียหายหนักยิ่งกว่าเดิม แนวคิดดั่งนี้หากนำมาบังคับใช้ในครอบครัวหนึ่งก็ย่อมจะวุ่นวายไม่น้อย หากลูกที่ดีเก็บหอมรอมริบส่งเสียตนเองเรียน แต่พ่อขี้เหล้าเมาสุราถือความเป็นผู้ปกครองครอบครัวเข้ามายึดทรัพย์ลูกไปเสียสิ้น ทรัพย์ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างกว้างขวางเลยกลับถูกยึดไปใช้เพื่อการเสพสุรายาเมาเท่านั้น หากมีกฎหมายยึดทรัพย์ประเภทนี้เกิดขึ้น ย่อมถือเป็นกฎหมายมหาภัยต่อครอบครัว หากนำมาใช้ในวัดในศาสนา ก็ย่อมถือเป็นกฎหมายมหาภัยต่อศาสนาเฉกเช่นเดียวกัน                 

                   นอกจากนี้ ศรัทธาของประชาชนไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรจะถูกบังคับ ดังเช่น พระสีวลี ท่านได้ลาภสักการะมากกว่าพระสงฆ์สาวกรูปอื่นด้วยอำนาจแห่งทานที่ท่านเคยบำเพ็ญมาในอดีตกาล แล้วท่านก็แจกจ่ายออกไปหมดตามแต่ท่านจะพิจารณา หลักการนี้เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองไว้นานแล้ว ไม่ควรถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยรับรองไว้ด้วยการตรากฎหมายประเภทนี้                 

                   ๒.๑.๗ องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เทศน์เกี่ยวกับหลวงปู่มี ญาณมุนี วัดถ้ำซับมืด จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพระสายมหานิกายลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เรื่อง”ปฏิบัติแบบพระสมบูรณ์แบบ” เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม  ๒๕๕๒โดยสรุปว่า“อาจารย์มีสูงเนินนี่องค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์มั่นตั้งแต่สมัยเรายังเรียนหนังสือ อู๊ยเรียนหรือยังไม่เรียนก็ไม่ทราบละ ท่านเป็นลูกศิษย์รุ่นก่อนๆนู้นละ .............. ท่านไม่จับเงินจับทองนะท่านมีไวยาวัจกรติดตามท่านไป ท่านดำเนินตามหลักธรรมหลักวินัย เวลาท่านมรณภาพแล้วอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุ”

                    จะเห็นได้ว่า การดำเนินตามหลักธรรมหลักวินัยเพื่อบรรลุถึงมรรคผลนิพพานนั้น อาศัยฆราวาสเป็นไวยาวัจกรก็เพียงพอแล้ว พระจะได้ไม่ต้องยุ่งกับการถือเงินถือทองซึ่งผิดพระวินัย และไม่ต้องยุ่งยากยุ่งเหยิงกับการทำบัญชีให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานทางบัญชีอย่างที่โลกเขาทำกันอันเป็นเรื่องที่เกินเลยต่อพุทธบัญญัติ มิใช่วิสัยของสมณเพศในพระพุทธศาสนา

                    ๒.๑.๘ องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ทรงความบริสุทธิ์เกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทองอย่างไม่มีที่ต้องติ เห็นประจักษ์จากการนำทองคำแท่งบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙ % เข้าคลังหลวงได้มากถึง ๑๓ ตัน และช่วยสงเคราะห์สถานพยาบาลโรงพยาบาลทุกภาคทั่วประเทศมากถึง ๒๒๕ แห่ง นับเป็นการสงเคราะห์โลกที่กว้างขวาง แต่ท่านก็ไม่เคยต้องมาเสียเวลาวุ่นวายไปกับการตรวจสอบบัญชี รวมทั้งไม่อนุญาตให้ ปปง.เข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทองอีกด้วย เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งผิดต่อพระธรรมวินัยที่ฆราวาสกำลังเข้ามาก้าวก่ายการปกครองสงฆ์ เป็นการฝ่าฝืนต่อพุทธบัญญัติ การสั่งเก็บสั่งจ่ายเงินทองขององค์หลวงตาฯ เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนแล้วว่าเป็นไปเพื่อการสงเคราะห์โลกโดยถ่ายเดียว ไม่มีการเก็บสั่งสมไว้ องค์หลวงตาฯ ได้ถือปฏิบัติที่เคร่งครัดตามหลักพระธรรมวินัยเท่านี้ก็สมบูรณ์แบบเพียงพอแล้ว ไม่มีจำเป็นใดๆ ที่พระต้องเที่ยวมาทำมาตรฐานบัญชีและไม่จำเป็นต้องกระทำผิดพระวินัยด้วยการยอมให้คฤหัสถ์เข้ามาตรวจสอบในทรัพย์ของสงฆ์ การแก้ปัญหาด้วยการฝ่าฝืนพุทธบัญญัติย่อมเป็นโทษเป็นกรรมที่หนักและรุนแรงยิ่งกว่า  

            ๒.๒ ประเด็นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งและการ    ถอดถอนเจ้าอาวาส

            ​กล่าวง่ายๆ ก็คือ การใช้ระบบการเลือกตั้งนั่นเอง ซึ่งหากระบบเลือกตั้งประสบความสำเร็จ ประเทศไทยคงไม่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นปัจจุบันนี้ที่บ้านเมืองแทบวิบัติล่มสลาย หากระบบดังกล่าวดีจริงคงมีนักการเมืองที่ดีทั่วปรากฏทั่วทุกหมู่บ้าน คสช.คงไม่ต้องเสี่ยงและเหนื่อยกับการออกมาปกครองประเทศเช่นในปัจจุบัน

          หากพิจารณาถึงพุทธบัญญัติในการจัดการกับอธิกรณ์ พระองค์ก็ไม่ทรงอนุญาตให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจตัดสินใจร่วมกับสงฆ์ แต่มีส่วนร่วมในลักษณะอื่นที่รองลงไปได้ มิใช่เทียบเท่า หากพระรูปใดประพฤติไม่ถูกต้องสมกับสมณสารูป ชาวบ้านก็มีส่วนร่วมตลอดมาสามารถออกมาประท้วงขับไล่ได้ หรือหากไม่ขับไล่ ชาวบ้านก็งดเว้นไม่ทำบุญกับวัดนั้น หรือกับพระที่ประพฤติผิดรูปนั้นๆ ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางตรงอยู่แล้วซึ่งสอดคล้องกับพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎระเบียบหรือกฎหมายใดให้ผิดเพี้ยนออกไปจากพุทธบัญญัติ ซึ่งเสี่ยงอันตรายยิ่งกว่า ระบบเลือกตั้งที่ไม่มีคุณธรรมได้ทำร้ายชาติแทบเพพัง จึงไม่ควรนำเอาระบบเลือกตั้งมาใช้กับพระศาสนา ซึ่งอาจทำให้ศาสนาถึงขั้นวิบัติลงก็เป็นได้

          ดังจะขอน้อมพระธรรมเทศนาขององค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๕ เรื่อง “กฎมหาโจรปล้นพระพุทธศาสนาทำลายธรรมวินัย (ทำสังฆเภท)” ซึ่งเมตตาอธิบายเหตุผลไว้อย่างครบถ้วนว่า ไม่ควรให้ฆราวาสเข้ามาก้าวก่ายการปกครองสงฆ์ได้อย่างเด็ดขาด ดังนี้

          “พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์ปกครองกันเองปฏิบัติกันเองมาตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว จนกระทั่งปัจจุบันนี้พระสงฆ์ทั้งหลายปฏิบัติตามหลักพระวินัยข้อนี้เป็นความราบรื่นดีงามมาตลอด เช่น วัดนี้ก็ดูแลรักษามีหัวหน้าวัดเป็นสำคัญที่จะดูแลรักษาสมบัติของสงฆ์เป็นฝ่ายลหุภัณฑ์หรือครุภัณฑ์ ถ้าลหุภัณฑ์แจกจ่ายกันได้ก็แจกจ่ายกันได้ทั่ววัดทั่ววา ถ้าเป็นครุภัณฑ์แจกจ่ายไม่ได้ก็จัดไว้เป็นของกลาง แล้วสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์โยกย้ายไปมาได้ และอสังหาริมทรัพย์โยกย้ายไปมาไม่ได้ เช่นที่ไร่ที่นาที่เขาถวาย อันนี้ก็ให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ในวัดนั้นปฏิบัติดูแลในสมบัติที่กล่าวมาเหล่านี้นี่คือพระวินัยของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าวัดใดที่ใดให้เป็นหน้าที่และเป็นอำนาจของพระวัดนั้น มีสมภารเป็นหัวหน้าเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยข้อนี้ ก็ได้พากันปฏิบัติราบรื่นดีงามสงบร่มเย็นตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แล้วบัดนี้พวกนี้จะปัดพระวินัยคือจะปัดหัวพระพุทธเจ้าออก เขาจะมาปกครองเองทั่วสังฆมณฑลไม่ว่าวัดใดพวกนี้จะไปกินโต๊ะกินเลี้ยง พระวินัยข้อนี้ไม่มีความหมายอะไร ถอนข้อบัญญัติพระพุทธเจ้าออกซึ่งขัดกับที่ท่านทรงสั่งสอนไว้แล้วว่า ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้นมาและไม่รื้อถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว นี่ท่านสั่งไว้อย่างนี้ อันนี้ทั้งบัญญัติทั้งถอนด้วยสองประการ เข้าในพระวินัยข้อนี้

          ข้อนี้เป็นข้อที่กระทบกระเทือนพระสงฆ์ไทยเราซึ่งปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยข้อนี้มานานแสนนาน นี่แหละที่ยกทัพออกมา ยกทัพออกมาจะรักษาพระวินัยข้อนี้ไว้ ตีพวกเปรตพวกผีที่มาทำลายพระวินัยข้อนี้ออก นี่แหละที่ว่าต้านทาน ให้ถอนออกหมด อุบายวิธีการมหาโจรที่จะมาปล้นพระศาสนาฆ่าพระพุทธเจ้าทั้งเป็น พระพุทธเจ้าก็หมายถึงธรรมวินัย เวลาท่านจะปรินิพพานท่านก็รับสั่งไว้นี่               พระอานนท์เป็นผู้รับสนองว่า อานนท์ ธรรมและวินัยนั้นแลจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายแทนเราตถาคตเมื่อเราตายไปแล้ว”

            ๒.๓ ประเด็นเรื่องการนำพระธรรมวินัยมาเป็นแนวทางให้พุทธบริษัท ๔ ปฏิบัติตาม

            คณะสงฆ์ฯ เห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ในข้อนี้ หากเผยแผ่พระธรรมวินัยให้กว้างขวาง พุทธบริษัท ๔ ย่อมเกิดความเข้าใจและปฏิบัติตามในแนวทางที่ถูกต้อง สามารถแยกแยะ "พระดี" กับ "พระเลว" ได้ถูกต้อง ซึ่งย่อมจะช่วยกันส่งเสริม "พระดี" และกีดกัน "พระเลว" ส่งผลดีโดยรวมต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปโดยไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เกินเลยต่อพระพุทธบัญญัติ         

          ๒.๔ ประเด็นการศึกษาของสงฆ์

          คณะสงฆ์เห็นด้วยกับประธานคณะกรรมการปฏิรูป แนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธ ศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่แสดงความเห็นว่า พระภิกษุไม่ควรสนใจศึกษาวิชาทางโลก ดังที่องค์หลวงตาพระมหาบัวฯ เทศน์อบรมคณะครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน ณ วัดป่าบ้านตาดวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ [บ่าย] เรื่อง มหาวิทยาลัยสงฆ์ของคนมีกิเลสความตอนหนึ่งว่า

            “มหาวิทยาลัยสงฆ์ตั้งขึ้นมา มีแต่วิชาทางโลกทางสงสารเต็มมหาวิทยาลัยนั้น เรียนก็เรียนแต่พอเป็นพื้นเป็นฐานที่เหยียบขึ้นของวิชาทางโลกทางกิเลสตัณหาทั้งนั้นแหละ พระก็ไปเรียนวิชาทางโลกกันทั้งนั้น ไม่สนใจกับวิชาทางธรรม”

            ผลของการศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยวิชาทางโลกดังกล่าวยังส่งผลร้ายแรง กลายเป็นการสังหารพระสังหารเณรจำนวนมากให้พากันสึกขาลาเพศออกไปเสียจนหมดสิ้น ที่สำคัญ ผู้จบการศึกษาเหล่านี้ส่วนมากยังมีความเห็นขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า มักไม่เชื่อในบาปบุญนรกสวรรค์พรหมโลกนิพพาน ไม่เชื่อในศีล สมาธิ ปัญญา

          ๓. ข้อเสนอให้ถวายคืนพระราชอำนาจแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

          คณะสงฆ์ฯ พิจารณาเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปในวาระนี้ ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ เพื่อการถวายคืนพระราชอำนาจแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีอันดีงามที่คณะสงฆ์ฯ ทั่วประเทศน้อมรับอยู่แล้ว หากท่านจะกรุณาแก้ไขกฎหมายให้ทรงความศักดิ์สิทธิ์ดุจดังเดิม ย่อมจะบังเกิดความเป็นมหามงคลอย่างหาที่สุดมิได้ต่อชาติไทย

จึงเจริญพรมาเพื่อกรุณาทราบ เพื่อจะได้ปกป้องและพิทักษ์พระพุทธศาสนาให้สถิตสถาพรเป็นสถาบันหลักของชาติไทยสืบไป

 

ขอเจริญพรมาพร้อมนี้

(พระมนฑน์จิตต์เกษม ธัมมธโร)

ในนามคณะสงฆ์ศิษยานุศิษย์พ่อแม่ครูอาจารย์

หลวงตาพระมหาบัวญาณสัมปันโน

 

 

ประสานงาน:

ศาสตราจารย์ ดร.รัตนา ศิริพานิช ๐๘๔ ๗๓๐ ๗๔๐๐, ๐๘๗ ๐๕๑ ๙๑๙๑

 


<< BACK

หน้าแรก