แถลงการณ์ฉบับที่ ๔ / ๒๕๕๘
เรื่อง ชี้แจงความจริงกรณีมีผู้ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
แก่ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร
ด้วยเว็บไซต์ www.dmc.tv มีการเผยแพร่ชีวประวัติตอนหนึ่งของพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ไว้ว่า เมื่อสมัยที่มาอยู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ได้ส่งไปสอนธรรมปฏิบัติแก่เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จัน สิริจันโท) วัดบรมนิวาส จนได้เข้าถึงพระธรรมกาย และใน Wikipedia (สารานุกรมออนไลน์) ยังมีผู้ส่งข้อมูลไปเผยแพร่ด้วยว่า จากนั้น พรรษาที่ 13 ท่านได้พาพระภิกษุสังวาลย์ไปจำพรรษาที่วัดสองพี่น้อง ที่วัดนี้มี พระภิกษุได้เห็นธรรมอีก 1 รูป คือ พระภิกษุหมก (ภิกษุรูปนี้ เมื่อมาจำพรรษา ณ วัดปากน้ำ หลวงพ่อได้ส่งไปสอนธรรมแก่ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส จนได้บรรลุธรรมกาย) นั้น
เพื่อจะได้ทราบในข้อเท็จจริงอย่างไม่มีผิดเพี้ยน คณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จึงได้เข้าสอบถามหาความจริงจากครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และสืบค้นจากประวัติของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส ที่เขียนโดยท่านเจ้าคุณเองในหนังสือชื่อ "ประมวลธรรมบรรยาย โดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)" ได้ความจริงสอดคล้องกันว่า ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ไม่เคยข้องเกี่ยวในวิชชาธรรมกายและไม่เคยข้องแวะกับบุคคลผู้ฝึกวิชชาธรรมกายแต่อย่างใดทั้งสิ้น การประพฤติปฏิบัติจิตภาวนาของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ รวมถึงการสนทนาธรรมสากัจฉาในธรรมทุกขั้นทุกภูมิจะเป็นไปอย่างใกล้ชิดสนิทในธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เท่านั้น ขอยกกรณีตัวอย่าง ๒ ช่วง จากประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เรียบเรียงโดยองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งแสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างบูรพาจารย์ทั้งสองท่านเช่นกัน ดังนี้
๑) ระยะที่พระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่วัดปทุมวันก็ได้พยายามมาศึกษาอบรมอุบายปัญญาเพิ่มเติมกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ที่วัดบรมนิวาสมิได้ขาด
เวลามีโอกาสก็เข้าไปกราบนมัสการและเล่าธรรมะถวาย และเรียนถามปัญหาข้อข้องใจเกี่ยวกับอุบายปัญญากับท่านเจ้าคุณอุบาลี วัดบรมนิวาส ท่านก็ได้รับอธิบายวิธีพิจารณาปัญญาเพิ่มเติมให้จนเป็นที่พอใจ แล้วกราบลาท่านไปเที่ยววิเวกทางถ้ำสาริกา เขาใหญ่ จังหวัดนครนายก ...
จวนจะถึงวันลงจากถ้ำ ตอนกลางคืนราว ๔.๐๐ นาฬิกา คือ ๑๐ ทุ่ม ท่านคิดถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดบรมนิวาส ว่าเวลานี้ท่านจะพิจารณาอะไรอยู่ จึงกำหนดจิตส่งกระแส ลงมาดูท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ทราบว่า เวลานั้นท่านกำลังพิจารณาปัจจยาการคืออวิชชาอยู่ ท่านอาจารย์ทราบแล้วก็จดจำวันไว้ เวลาลงมากรุงเทพฯ ได้โอกาสก็เรียนถามท่านตามที่ตนทราบมาแล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ พอได้ทราบเท่านั้น เลยต้องสารภาพและหัวเราะกันพักใหญ่ พร้อมทั้งชมเชยว่า
ท่านมั่นนี้เก่งจริง เราเองเป็นขนาดอาจารย์ แต่ไม่เป็นท่า น่าอายท่านมั่นเหลือเกิน ท่านมั่นเก่งจริง แล้วก็กล่าวชมเชยว่า มันต้องอย่างนี้ซิลูกศิษย์พระตถาคต ถึงจะเรียกว่าเดินตามครู พวกเราอย่าทำตัวเป็นโมฆะจากธรรมของพระพุทธเจ้าเสียหมด ต้องมีผู้ทรงธรรมท่านไว้บ้าง สมกับธรรมเป็นอกาลิโก ไม่ปล่อยให้กาลสถานที่และความเกียจคร้านเอาไปกินเสียหมด ธรรมจะไม่ปรากฏแก่โลกทั้งที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนแก่หมู่ชน ต้องทำอย่างท่านมั่นที่ได้ความรู้ต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้จึงเป็นที่น่าชมเชย
๒) ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เลื่อมใสและชมเชยท่านมาก บางครั้งเวลามีเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านไม่แน่ใจว่าควรจะพิจารณาและตัดสินใจอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม ท่านยังให้พระนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นไปร่วมปรึกษา และมอบเรื่องราวให้ท่านไปพิจารณาช่วยก็ยังมี พอควรแก่เวลาแล้ว ท่านก็เดินทางไปภาคอีสาน"
นอกจากนี้ เมื่อครั้งท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ไปเชียงใหม่ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้อาราธนาท่านพระอาจารย์มั่นเป็นองค์แสดงธรรมให้ประชาชนฟัง ปรากฏว่าท่านแสดงธรรมไพเราะเพราะพริ้งจับใจท่านผู้ฟังมากมาย ขณะนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กล่าวชมเชยธรรมเทศนาของท่านในท่ามกลางบริษัทว่า ท่านมั่นแสดงธรรมไพเราะมาก หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก และแสดงธรรมเป็นมุตโตทัย คือแดนแห่งความหลุดพ้น ที่ผู้ฟังไม่มีที่น่าเคลือบแคลงสงสัย นับว่าท่านแสดงได้อย่างละเอียดลออดีมาก
"เฉพาะท่านมั่นท่านสามารถจริง อาตมาเองยังเคยถามปัญหาขัดข้องใจที่ตนไม่สามารถแก้ได้โดยลำพังกับท่าน แต่ท่านยังสามารถแก้ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวด้วยปัญญา เราพลอยได้คติจากท่านไม่มีประมาณ อาตมาจะมาเชียงใหม่จึงได้นิมนต์ท่านมาด้วย ซึ่งท่านก็เต็มใจมาไม่ขัดข้อง ส่วนใหญ่ท่านอาจเห็นว่าที่เชียงใหม่เรามีป่า มีภูเขามาก สะดวกแก่การแสวงหาที่วิเวก ถึงได้ตกลงใจมากับอาตมาก็เป็นได้ เป็นแต่ท่านมิได้แสดงออกเท่านั้นเอง พระอย่างท่านมั่นเป็นพระที่หาได้ยากมาก อาตมาแม้จะเป็นผู้ใหญ่กว่าท่าน แต่ก็เคารพเลื่อมใสธรรมของท่านอยู่ภายใน ท่านเองก็ยิ่งมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่ออาตมามากจนละอายท่านในบางคราว ท่านพักอยู่ที่นี่พอสมควรก็ออกแสวงหาที่วิเวกต่อไป อาตมาก็จำต้องปล่อยตามอัธยาศัยท่าน ไม่กล้าขัดใจ เพราะพระจะหาแบบท่านมั่นนี้รู้สึกจะหาได้ยากอย่างยิ่ง เมื่อท่านมีเจตนามุ่งต่อธรรมอย่างยิ่ง เราก็ควรอนุโมทนา เพื่อท่านจะได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ตนและประชาชน พระเณรในอนาคตอันใกล้นี้"
ด้วยความจริงที่สืบค้นจากอัตตชีวประวัติของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ประกอบกับหลักฐานที่เชื่อถือได้อย่างสนิทใจจากองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน พระผู้ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างแท้จริง คณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้แจ้งต่อสาธารณชน ดังต่อไปนี้
๑. คำกล่าวถึงพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) วัดปากน้ำ และวิชาธรรมกาย จากเว็บไซต์ www.dmc.tv และ Wikipedia (สารานุกรมออนไลน์) ที่พาดพิงมาถึงท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาสราชวรวิหารนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เชื่อถือมิได้ หาได้มีมูลความจริงแต่ประการใด
การปฏิบัติภาวนาของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ไม่เคยเกี่ยวข้องและไม่เคยกล่าวถึงพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) วัดปากน้ำ และวิชาธรรมกาย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
๒. คณะศิษย์ฯ ขอเรียกร้องให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.dmc.tv และผู้ส่งข้อมูลไปเผยแพร่ใน Wikipedia (สารานุกรมออนไลน์) ลบข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวออกโดยเร็วด้วย มิฉะนั้น จะถือว่าผู้รับผิดชอบกรณีทั้งสองมีอกุศลเจตนา ประสงค์จะบิดเบือนชีวประวัติของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ให้สาธารณชนหลงผิดเพื่อมุ่งหวังประโยชน์โดยมิชอบบางประการซึ่งเข้าข่ายหลอกลวงโลก อันถือเป็นโทษความผิดที่ร้ายแรงทั้งทางโลกทางธรรม ผู้หวังความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาที่แท้จริงย่อมไม่อาจกระทำลงได้
๓. พุทธศาสนิกชนที่สนใจใฝ่รู้ประสงค์จะทราบชีวประวัติของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ที่ถูกต้องเชื่อถือตายใจได้อย่างแท้จริง สามารถศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ "ประมวลธรรมบรรยาย โดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)" เท่านั้น
จึงแถลงการณ์มาเพื่อกรุณาทราบโดยทั่วกัน
ศาสตราจารย์ ดร.รัตนา ศิริพานิช
ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
|