ในช่วงตลอดระยะเวลา ๓ เดือนที่ผ่านมานี้ คณะศิษยานุศิษย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน โดยมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ได้เข้าขอพึ่งอำนาจศาล ด้วยการขอไต่สวนฉุกเฉินต่อศาลปกครองมาแล้วถึง ๓ ครั้ง ผู้ฟ้องคดีได้มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นสถานีเสียงธรรม ๑๓ แห่งที่ยื่นคำขออนุญาตภายหลัง ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ ถูกตัดสิทธิ์ในการออกอากาศ จึงเห็นควรจะยื่นขอคำขอไต่สวนฉุกเฉินในประเด็นปัญหาดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
โดยในการยื่นขอไต่สวนฉุกเฉินครั้งที่ ๑ ได้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและยื่นขอไต่สวนฉุกเฉิน รวมถึงยื่นคำชี้แจงลำดับขั้นตอนในการดำเนินการยื่นคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงทั้งหมดของผู้ฟ้องคดี ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันที่ฟ้องนี้ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตามที่ศาลมีคำสั่ง การยื่นขอไต่สวนฉุกเฉินในครั้งนี้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นพ้องกับที่ประชุมร่วมกรรมการสิทธิมนุษยชนว่ากรณีช่อง ๓ มีสำคัญน้อยกว่ากรณีนี้อย่างไม่อาจกันได้ยังได้รับการไต่สวนฉุกเฉินและให้ความคุ้มครองจากศาล กรณีวิทยุศาสนาเป็นเรื่องใหญ่โตมากและยังเป็นสิทธิที่ชอบด้วยหลักกฎหมายมหาชนและสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์
และในครั้งต่อ ๆ มา
เหตุผลสำคัญในการยื่นขอไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นเวลาเกือบ ๓ เดือนแล้ว แต่ศาลยังคงไม่เมตตามีคำสั่งนัดไต่สวนแต่อย่างใด หรือแม้แต่จะเมตตาเร่งรัดให้ผู้ถูกฟ้องคดีมาให้ข้อเท็จจริงต่อศาลและต่อผู้ฟ้องคดีในเรื่องสำคัญจำเป็นต่อชีวิตที่สุดเช่นนี้ ...
ผู้ฟ้องคดีจึงได้มาพึ่งศาลปกครองซึ่งน่าจะเป็นที่พึ่งได้ เช่นเดียวกับที่กรุณาให้ความช่วยเหลือแก่ช่อง ๓ เป็นอย่างดียิ่ง
ปรากฏว่า ศาลปกครองอุดรธานีได้มีคำวินิจฉัยว่า
พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้ยังไม่มีเหตุฉุกเฉินที่จะต้องไต่สวนฉุกเฉินตามคำขอของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เนื่องจากกรณีของสถานีวัดป่านาคูณและสามร้อยยอด กสท.จะพิจารณาในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ ส่วนสถานีอื่นไม่ปรากฎข้อเท็จจริงใดเพิ่มเติม จึงยกคำขอไต่สวนฉุกเฉิน ...
ผู้ฟ้องคดีได้มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นที่ยื่นฟ้อง จึงเห็นควรจะยื่นขอคำขอไต่สวนฉุกเฉินอีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าร้องทุกข์ต่อองค์กรของรัฐ ๒ แห่ง ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ คณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ..
๑. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า วิทยุศาสนาเป็นเรื่องที่สร้างความดีความงามให้กับบ้านเมือง สร้างจิตใจที่ดีงามให้กับประชาชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่ใหญ่โตกว่ากฎหมายหรือกฎระเบียบ กสทช. เพราะศาสนาเป็นหลักแห่งความถูกต้องเป็นธรรม
วิทยุศาสนาไม่ว่าจะเกิดขึ้นแล้วหรือเกิดขึ้นทีหลัง ต่างเป็นเรื่องการทำความดีที่ต่อเนื่องกันซึ่งไม่ควรหยุดชะงัก ไม่ควรเอากฎหมายซึ่งเป็นของที่หยาบมากมาปิดกั้นความดี เพราะกฎหมายคุมไม่ถึงศีลธรรม อีกทั้งการทำดีไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายจะมาหักห้ามว่าให้ทำดีเพียงเท่านี้ จากนี้ไม่ต้องทำดีอีกต่อไปแล้ว
การเอื้อเฟื้อต่อศาสนามิใช่เรื่องของ อภิสิทธิ์ เพราะปัญหาสังคมไม่อาจใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวเข้าแก้ปัญหาได้ แต่ต้องแก้ด้วยหลักคุณธรรมจริยธรรมของศาสนา จึงสมควรต้องมีข้อยกเว้นได้เพื่อประโยชน์ในมิติทางสังคม
นอกจากนี้ คลื่นความถี่ถือเป็นสื่อสาธารณะเป็นสิทธิของประชาชนที่รัฐต้องจัดให้มีอย่างเพียงพอ การใช้คลื่นเพื่อศาสนาแม้จะเกิดก่อนเกิดหลังต่างก็เกิดขึ้นจากความตั้งใจดี มิได้ไปแทรกแซง มิได้ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะใช้ย่านความถี่ที่ยังว่างอยู่ ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นแสดงถึงความห่างไกลของประชาชนที่มีต่อศาสนา จึงต้องอาศัยวิทยุศาสนาเพื่อช่วยสังคมให้หันเข้าสู่หลักธรรม
ฉะนั้น สิ่งใดที่เป็นสิทธิของประชาชน รัฐต้องเข้ามาส่งเสริม มิใช่เข้ามาปิดกั้น เพราะสิ่งที่วิทยุศาสนาทำอยู่นี้เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะที่มีต่อส่วนรวม การที่รัฐเข้ามาส่งเสริมสิ่งนี้จึงไม่เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๗
๒. ท่านดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แสดงความเห็นใจความยากลำบากในการทำงานของ กสทช. อย่างมาก แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นของศาสนาที่มีต่อบ้านเมืองไม่น้อย จึงให้ความเห็นที่พอจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแต่ทำความยุ่งยากแก่ กสทช. ให้น้อยที่สุด พอจะสรุปความได้ว่า กรณีที่มูลนิธิเห็นว่าการรอคอยให้แผนความถี่วิทยุและประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แล้วเสร็จ เป็นการรอคอยที่เปล่าประโยชน์ถึง ๗-๘ ปีดูจะล่าช้าเกินควร ส่งผลกระทบอย่างไม่เป็นการสมควรให้สถานีวิทยุที่ยังประโยชน์สาธารณะอย่างมหาศาลทางพระศาสนาต่อประเทศชาติและประชาชนที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาแล้วในคลื่นความถี่ที่ว่างอยู่ ต้องได้รับความเดือดร้อนเสียหายร้ายแรงอย่างร้ายแรง
ท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า แนวนโยบายของ กสทช. มุ่งจัดการวิทยุที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ และหากจะปลดล็อคเพิ่มเติมอีกย่อมจะทำให้มีสถานีจำนวนมากยากแก่การกำกับดูแล สิ่งสำคัญจะทำให้เกิดปัญหารบกวนวิทยุการบินขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ท่านได้กรุณาเสนอแนะทางออกที่สามารถทำได้ทันทีโดย กสทช. เร่งออกประกาศ "แผนความถี่วิทยุฉบับชั่วคราว" ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับเงื่อนไขร่วมกันว่าแผนดังกล่าวเป็นเพียงฉบับชั่วคราวเท่านั้น หากให้ยุติก็คือต้องหยุดกันทั้งหมด
๓. ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน ส.ค.ส. เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๘ นี้ เป็นภาพจากพระราชนิพนธ์พระมหาชนกการ์ตูน ที่ขอให้ทุกคนมีความเพียรที่บริสุทธิ์ในการสั่งสมสิ่งที่ดีงามเข้าสู่ชีวิต
ด้วยเหตุผลอย่างน้อย ๓ ประการข้างต้น ประชาชนผู้สนใจใฝ่ธรรมที่สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงร่วมใจกันเข้ามาขอไต่สวนฉุกเฉินต่อศาลอีกเป็นครั้งที่ ๔ กรณีปัญหาสถานีเสียงธรรมฯ ๑๓ แห่ง ที่ยื่นแบบคำขออนุญาตภายหลังกำหนดเวลา ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้ศาลเมตตาทำการไต่ส่วนฉุกเฉิน ให้สถานีวิทยุทั้ง ๑๓ แห่ง ให้สามารถกลับมาออกอากาศได้อย่างถูกต้อง แต่จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ศาลเมตตาแจ้งแต่เพียงว่า ยังไม่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากทาง กสทช. เท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการป่าวประกาศถึงความบกพร่องไม่เป็นธรรมของ กสทช. ต่อกรณีนี้และสะท้อนความจริงว่าสถานีทั้ง ๑๓ แห่งควรต้องได้รับความคุ้มครองให้ออกอากาศได้ในทันที
ผลการพิจารณาของศาลในวันนี้ ปรากฏว่า ศาลก็ยังไม่ยอมรับการไต่สวนฉุกเฉินอีกเป็นครั้งที่ ๔ เพราะเห็นว่าไม่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากครั้งก่อนแม้กรรมการสิทธิมนุษยชนและกฤษฎีกาจะหาทางออกที่ดีงามต่อสถานีที่เสียสละเพื่อพระพุทธศาสนาแล้วก็ตาม ผลการวินิจฉัยครั้งนี้ ยังความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่งแก่บรรดาคณะศิษย์ที่เสียสละเวลามาเฝ้าติดตามคำสั่งของศาลในคราวนี้ จนกระทั่งไม่อาจอดกลั้นน้ำตาแห่งความเศร้าสลดใจไว้ได้
เหมือนฟ้าฟาดพวกเราเข้ากลางอก
ให้เศร้าโศกเสียใจมากมายเหลือ
หวังพึ่งศาลผู้ทรงธรรมค้ำจุนเจือ
ได้ช่วยเหลือสะสางทางแห่งธรรม
ด่วนสรุปปุบปับไม่รับเหตุ
ปฏิเสธทุกข์ร้อนหมดสิ้นหวัง
พ่อแม่(ครูจารย์)จ๋า น้ำตาลูกประดัง
ฤาจะถึงกาล "เสียงธรรม" ม้วยมรณา
-----------------------------------------------------------------------------------
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ส.ค.ส. พระมหาชนก ประจำปี ๒๕๕๘
โดย ส.ค.ส.พระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๘ นี้ เป็นภาพจากพระราชนิพนธ์พระมหาชนกการ์ตูนในเหตุการณ์ขณะที่เรือกำลังแล่นไปสุวรรณภูมิล่ม พระมหาชนกต้องอดทนว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรนานถึง ๗ วัน ๗ คืน และนางมณีเมขลาได้มาอำนวยพรให้
กลางภาพ ส.ค.ส.มีพรพระราชทานพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ว่าขอให้ทุกคนมีความเพียรที่บริสุทธิ์ปัญญาที่เฉียบแหลมกำลังกายที่สมบูรณ์
ด้านล่างของภาพข้อความภาพขวามีข้อความภาษาไทยขอจงมีความสุขความเจริญ และข้อความภาษาอังกฤษ พิมพ์ด้วยตัวอักษรสีขาว ว่า HAPPY NEW YEAR และชื่อพระราชนิพนธ์พระมหาชนก The Story of MAHAJANAKA
ด้านซ้ายบนของ ส.ค.ส.มีตราพระมหาพิชัยมงกุฎและผ้าอบทองประดับ มีตัวอักษรสีเหลือง พร้อมข้อความว่า "ส.ค.ส. พ.ศ. ๒๕๕๘" และตัวอักษรสีขาวข้อความว่า "สวัสดีปีใหม่"
ด้านล่างของ ส.ค.ส.มีแถบสีเขียวเข้ม มุมล่างซ้ายมีข้อความ "ก.ส.9 ปรุง 301021 ธ.ค.2557" มุมด้านขวาข้อความ "มหาวิทยาลัยปูทะเลย์ มิถิรา ๒๕๕๗" กรอบของ ส.ค.ส.พระราชทานฉบับนี้เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆ เรียงกัน ด้านบนด้านซ้ายและด้านขวาเรียงกันด้านละ ๒ แถว ส่วนด้านล่างเรียงกัน ๓ แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม
=========================================================
เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นี้ คณะศิษยานุศิษย์ขององค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ยื่นหนังสือสำคัญสามฉบับ ดังนี้
๑. ด้วยคณะศิษยานุศิษย์ฯ มีความเห็นว่าสื่อสารมวลชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงได้ส่งหนังสือขอเสนอความเห็นในการปฏิรูปสื่อมายังประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ
๒. หนังสือขอเสนอความเห็นคัดค้านการออกกฎหมายปกครองสงฆ์ที่ขัดต่อพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ดีแล้ว เพื่อมิให้เกิดสังฆเภทอันเป็นกรรมหนักที่สุดในพระพุทธศาสนา ต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองประธานสภาฯ
๓. หนังสือขอเสนอความเห็นในการ ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองประธานสภาฯ
=========================================
=========================================
=======================================
วิทยุธรรมะสำคัญกว่าช่อง ๓ จึงมาพึ่งศาลไต่สวนฉุกเฉิน !!
วันนี้ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ คณะสงฆ์ ประชาชนผู้ฟังวิทยุเสียงธรรมฯ และตัวแทนมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ได้เข้าร้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อไต่สวนฉุกเฉิน ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอไต่สวนโดยมีเหตุฉุกเฉิน ตามคำร้องฉบับลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ จึงยังมิอาจพิจารณาคำขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา มูลนิธิเสียงธรรมฯ แม้จะน้อมรับในคำสั่งของศาล แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและความเดือดร้อนของประชาชนผู้รับฟังธรรมะ และประเด็นสำคัญคือ ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและความเสื่อมคลายทางจิตใจในสถาบันหลักของชาติของประชาชนในสมัยนี้ที่ทุกฝ่ายสมควรต้องช่วยกันส่งเสริมอย่างเร่งด่วน ประกอบกับล่าสุด กสทช.ได้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลในการคืนคำขอ ดังต่อไปนี้
:: ๑๑ สถานีที่กสทช.ส่งคืนแบบคำขอทดลองประกอบกิจการ ::
๑. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ สำนักสงฆ์ป่าค่ายพม่า (ชีป่า)
๒. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ บ้านไม้งาม
๓. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ อ.เวียงชัย
๔. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดพระธาตุจอมแจ้ง
๕. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดวังคัน
๖. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ โรงพยาบาลระยอง
๗. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่าสุคะโต
๘. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ ปราจีนบุรี
๙. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ บัวแก้ว
๑๐. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่ากุสลธโร
๑๑. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ กระบี่
:: ๒ สถานีที่ถูกปฏิเสธการย้ายทั้งที่เคยได้รับสิทธิออกอากาศแล้ว ::
๑๒. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ ธาตุน้อย
๑๓. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่าเขาเขียว
:: ๒ สถานีที่กสทช.ทำเอกสารหาย ::
๑๔. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่านาคูณ
๑๕. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ สามร้อยยอด
มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงขอความเมตตาต่อศาลได้โปรดมีคำสั่งไต่สวนโดยมีเหตุฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
:: กรณีตัวอย่างที่ศาลปกครองรับไต่สวนฉุกเฉินจากการฟ้องคดีของช่อง ๓ ::
โดยที่กรณีช่อง ๓ ศาลปกครองกลางมีเมตตาเห็นว่า แม้จะมีการโฆษณาหากำไร แต่ก็ยังมีส่วนที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะของประชาชน จึงรับไต่สวนฉุกเฉินถึง ๒ ครั้ง ผลที่สุด ทำให้ประโยชน์ทางธุรกิจของช่อง ๓ กับสังคมเดินหน้าต่อไปได้ด้วยกัน กล่าวคือ ไม่ต้องถูกระงับการออกอากาศทั้งๆ ที่การใช้ ๒ นิติบุคคลออกอากาศผังรายการเดียวกันเป็นสิ่งที่ช่อง ๓ มีความวิตกกังวลอย่างยิ่งว่าจะผิดกฎหมาย แต่ศาลยังอะลุ้มอล่วยคำนึงถึงประชาชนยิ่งกว่ากฎเกณฑ์ที่มาปิดกั้น
ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้ว วิทยุเสียงธรรมฯ ดำรงอยู่ด้วยการสนับสนุนจากประชาชนเพียงทางเดียว ไม่มีโฆษณาทางธุรกิจแอบแฝงแม้แต่น้อย เนื้อหารายการก็มุ่งเน้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากพระธรรมเทศนาคำสอนของพระกรรมฐานตลอด ๒๔ ชั่วโมง จึงไม่ถูกครอบงำโดยประการทั้งปวงไม่ว่าจากธุรกิจหรือการเมือง จึงเป็นประโยชน์อย่างบริสุทธิ์สุดส่วนยิ่งสมควรจะได้รับการไต่สวนและให้ความคุ้มครองการออกอากาศโดยเร็วยิ่งกว่าช่อง ๓ หลายเท่านัก
นอกเหนือจากกรณีของช่อง ๓ ยังมีเหตุผลอื่นที่มูลนิธิฯ ขอความเมตตาต่อศาล ดังนี้
๑) มีคดีตัวอย่างที่มีการไต่สวนก่อนการรับคำฟ้องไว้พิจารณา - คดีหมายเลขดำที่ ๓๑๖๐/๒๕๕๕ เป็นคดีที่ประชาชนผู้เดือดร้อนเสียหายได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ก่อนมีคำสั่งรับคำฟ้อง ศาลปกครองกลางได้จัดให้มีการไต่สวนโดยผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีนั่งประชุมร่วมกัน ตุลาการศาลปกครองกลางเป็นผู้ตั้งคำถาม ท้ายที่สุด ตุลาการได้ตั้งประเด็นหัวข้อให้ทั้งสองฝ่ายยื่นคำชี้แจงภายในเวลาที่กำหนด จากนั้นศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งรับคำฟ้อง
๒) คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น ในเมื่อคลื่นความถี่ยังว่างอยู่ จึงควรอนุญาตให้ออกอากาศเพื่อประโยชน์สาธารณะได้
๓) ศาลปกครองใช้หลักกฎหมายมหาชนเป็นหลักในการพิจารณาคดี - ซึ่งกฎหมายมหาชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองส่งเสริมสาธารณะประโยชน์ และการให้บริการสาธารณะแก่มหาชน มิใช่เพื่อคุ้มครองบุคคลเพียงไม่กี่คน หรือเพื่อคุ้มครองรัฐ ดังนั้น ในเมื่อสถานีวิทยุในเครือข่ายของผู้ฟ้องคดีมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนเกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนเป็นอันมาก เป็นสถานีวิทยุที่ให้บริการสาธารณะที่ทรงคุณค่า เป็นการเผยแผ่ธรรมะในพระพุทธศาสนาจากจิตศรัทธาของประชาชน มิต้องพึ่งพิงอิงแอบอำนาจทุนหรืออำนาจการเมือง
๔) กสทช.ได้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลในการคืนคำขอ ซึ่งจัดเป็นข้อเท็จจริงเพิ่มเติมประกอบการสั่งฟ้อง - โดย กสทช.ชี้แจงเหตุที่คืนคำขอนั้น เนื่องจาก ให้รอแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่และประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ข้ออ้างดังกล่าวจึงเป็นประจักษ์พยานชี้ชัดในตัวว่า จากนี้ไปไม่น้อยกว่า ๒-๓ ปี กรณีปัญหาสถานีทั้ง ๑๑ แห่งในคำฟ้องครั้งก่อน และกรณีปัญหาสถานีที่ไม่อนุมัติให้ย้ายอีก ๒ แห่ง และกรณีปัญหาสถานีของผู้ฟ้องคดีที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ทำหลักฐานสูญหายอีก ๒ แห่ง นั้น บัดนี้จะต้องถูกปิดไปยาวนานอย่างน้อยกว่า ๒-๓ ปี ซึ่งหากเป็นตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างมาเช่นนี้ก็ยิ่งสะท้อนถึงความจำเป็นกลับมายังกระบวนยุติธรรมของศาลว่า ต้องขอเมตตาทำการไต่สวนฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด
จึงขอศาลปกครองได้โปรดพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินและให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมทั้งได้โปรดพิพากษาบังคับให้ กสทช. ทำหน้าที่ให้สอดคล้องต่อหลักกฎหมาย และทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อจะได้ใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงเพื่อยังความมั่นคงสถาพรในสถาบันหลักของชาติสืบไป
-------------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ คณะสงฆ์และประชาชนผู้ฟังวิทยุเสียงธรรมฯ ได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองอุดรธานี ขอไต่สวนฉุกเฉินกรณีกสทช.ไม่รับพิจารณาคำขอทดลองประกอบกิจการของ ๑๑ สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ
๑. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ สำนักสงฆ์ป่าค่ายพม่า (ชีป่า)
๒. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ บ้านไม้งาม
๓. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ อ.เวียงชัย
๔. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดพระธาตุจอมแจ้ง
๕. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดวังคัน
๖. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ โรงพยาบาลระยอง
๗. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่าสุคะโต
๘. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ ปราจีนบุรี
๙. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ บัวแก้ว
๑๐. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่ากุสลธโร
๑๑. สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ กระบี่
สถานีวิทยุทั้ง ๑๑ สถานี เป็นสถานีวิทยุที่ตั้งขึ้นตามความต้องการของประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยมิได้แสวงหากำไรในทางธุรกิจ การปฏิเสธมิยอมรับแม้กระทั่งคำขอก็เท่ากับการตัดโอกาสและปิดกั้นความต้องการของประชาชนที่จะได้รับประโยชน์สาธารณะและเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เมื่อครั้งพุทธกาลที่ยังไม่มีสื่อวิทยุกระจายเสียง พระพุทธเจ้ายังทรงสั่งให้พระสาวกมุ่งหน้าออกธุดงค์ไปทั่วทุกสารทิศมิให้ไปเส้นทางเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ดังมีพระดำรัสต่อพระอรหันตสาวก ๖๐ รูปในครั้งนั้นว่า
พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย จำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม
สมัยปัจจุบันพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปกว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว พระภิกษุสงฆ์ก็ยังเคร่งครัดในพระดำรัสดังกล่าว คงช่วยกันทำหน้าที่ในการรักษาและเผยแผ่พระศาสนาออกสู่ประชาชนให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีในสมัยนี้มีเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพน่าจะยังประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น กลับถูกองค์กรของรัฐใช้อำนาจที่ขัดต่อพระพุทธดำรัส มุ่งกีดกันการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านสื่อวิทยุ จึงเท่ากับเป็นการทำลายสถาบันพระศาสนาโดยตรง
ดังนั้น พระสงฆ์และประชาชนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ได้พิจารณาอย่างรอบคอบด้วยความเป็นธรรมร่วมกันแล้วทั้งนี้ยังไม่นับรวมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหารและพลเรือน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คำสั่งทางปกครองที่คืนคำขอและให้ยุติออกอากาศทันที โดยมุ่งจะเอาผิดทางอาญา เป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบกระเทือนต่อประโยชน์สาธารณะ และกระทบกระเทือนต่อสถาบันหลักคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยตรง เป็นความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ เป็นเหตุฉุกเฉินที่ควรแก่การพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ความคุ้มครองชั่วคราวโดยด่วน ด้วยเหตุผลที่ครบทุกองค์ประกอบทั้งในแง่ศาสนา สังคม ราชประเพณี ความมั่นคงแห่งรัฐ ศีลธรรมอันดี และข้อกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายประโยชน์สาธารณะอันพึงมีพึงได้ของประชาชน กีดกันการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ขัดพระราชปณิธานของบูรพกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ขัดพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และขัดพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ซึ่งทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ประสงค์ให้พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาของ "ท่านพ่อ" (หมายถึง องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ขจรขจายอย่างกว้างขวางและดำรงอยู่คู่ชาติไทยโปรดโปรยความชุ่มเย็นเข้าสู่กายใจพสกนิกรของพระองค์ตราบนานเท่านาน
อีกทั้งยังเป็นการขัดต่อแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา (หรือ สนช.ในปัจจุบัน) และขัดต่อเจตนารมณ์ในการเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศของ คสช. ขัดต่อ ประกาศ คสช. และค่านิยม ๑๒ ประการของ คสช.
ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาในอดีตได้ทำหน้าที่ในการอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาในทุกมิติอย่างดียิ่ง และที่หนักแน่นยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็คือรัฐบาลชุดปัจจุบันมีแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อ สนช.ไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อการทะนุบำรุงและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา สนับสนุนองค์กรทางศาสนาให้มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนคุณภาพชีวิต ฯลฯ
นอกจากนี้ ในส่วนของกองทัพ กองทัพภาคตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นและให้การสนับสนุนสถานีวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ส่วนในทางกฎหมาย การยื่นขอตั้งสถานีวิทยุขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่มีโฆษณาทางธุรกิจ เป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การส่งคืนคำขอโดยอ้างเหตุว่า ล่วงเลยขอบเขตวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดไว้นั้น เป็นเพียงคำกล่าวที่เป็นเท็จ กำหนดเวลายื่นคำขออนุญาตเป็นเพียง มาตรการชั่วคราว เท่านั้น จึงไม่สมควรจะปิดกั้นสิ่งดีงามทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยืนยันว่า สิทธิในการประกอบการวิทยุภาคประชาชนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นสิทธิมนุษยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายมหาชนที่ กสทช. ต้องส่งเสริม และเป็นสิทธิที่วิทยุประเภทอื่นจะนำไปใช้แอบอ้างมิได้
ดังนั้น การออกกฎเกณฑ์ใหม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนต่อสิทธิเดิมที่ได้มาโดยชอบ
|