ประชาชนผู้ฟังวิทยุเสียงธรรมฯ ทำคำคัดค้านคำให้การของ กสทช. ต่อศาลปกครองระยอง และศาลนครราชสีมา
Posted Date : วันที่ 12 ก.ย. 2556 เวลา 09:59 น.

คำคัดค้านคำให้การของ กสทช. ต่อ

ศาลปกครองระยอง ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๐ /๒๕๕๕

ศาลปกครองนครราชสีมา ในหมายเลขดำที่  ๓๐๔ /๒๕๕๕
๑๑ กันยายน ๒๕๕๖

 

 ระหว่าง ประชาชนผู้ฟัง ผู้บริจาค ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดธรรมสถิต ระยอง.

และประชาชนผู้ฟัง ผู้บริจาค ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่าเสาหงส์(หนองรังกา) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา    ผู้ฟ้องคดี  

กับ        คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวก    ผู้ถูกฟ้องคดี

ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องหน่วยงานทางปกครอง และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวม  ๒ คน  ต่อ ศาลปกครองระยอง/ ศาลปกครองนครราชสีมา ดังต่อไปนี้

()    คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)     ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑

()   คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)           ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒

อยู่ที่ ๘๗ ถนน พหลโยธิน ซอย ๘ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ

ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบหมายแจ้งคำสั่งศาลฉบับลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๖ พร้อมเอกสารที่แนบมาพร้อมคำสั่งศาลแล้วเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๖ ซึ่งแม้ศาลมิได้มีคำสั่งให้ทำคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีได้นำกรณีดังกล่าวเข้าหารือต่อผู้แทนคณะสงฆ์และผู้แทนประชาชนที่ร่วมบริจาคตลอดถึงผู้แทนผู้ฟังสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ แห่งนี้ มีความเห็นร่วมกันว่า สมควรทำคำคัดค้านคำให้การเพิ่มเติมแบบสรุปใจความสำคัญเพราะผู้ฟ้องคดีได้ให้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตลอดถึงประโยชน์สาธารณะของเครือข่ายสถานีเสียงธรรมฯ ได้ครอบคลุมประเด็นคำชี้แจงเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ อย่างละเอียดเพียงพอแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาเทียบเคียงอย่างเป็นธรรมกลับเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คำชี้แจงเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวกลับดูเลื่อนลอยขาดความน่าเชื่อถือไม่สมเป็นองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงและการดำรงความเป็นชาติให้ยั่งยืนถาวรอยู่ได้ คณะสงฆ์และประชาชนเชื่อมั่นในข้อวินิจฉัยของศาลจะคำนึงถึงประโยชน์อย่างมหาศาลในวันหน้าของการดำรงไว้ซึ่งชาติเช่นเดียวกับบูรพกษัตริย์และบรรพชนในอดีตทั้งหลายที่ต่างได้ดำเนินมาถือหลักการหรือปณิธานสำคัญอย่างแน่นหนามั่นคงและสืบเนื่องกันมาหลายพันปีด้วยหลักการเดียวกัน จนสามารถดำรงอธิปไตยของชาติไทยของเราให้มั่นคงสถาพรอยู่ได้ด้วยเหตุแห่งการมีพระพุทธศาสนาเป็นหัวใจของชาติไทยเรามิใช่สิ่งอื่น หากแม้ชาติบ้านเมืองก้าวเดินผิดพลาดล่มจมเพราะหลงเพลิดเพลินเห็นแก่วัตถุฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมมัวเมา มีแต่โลภโมโทสันจนทำชาติให้วิบัติถึงขั้นภาวะวิกฤตสูญเสียเอกราช แต่บูรพกษัตริย์ในกาลก่อนทั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ในที่สุด แรงบันดาลใจสูงสุดที่นำมาซึ่งความเสียสละและกล้าหาญยอมสละเป็นสละตายได้เพื่อส่วนรวมมิใช่สิ่งอื่นใดเลย สิ่งนั้นก็คือ Content หรือเนื้อหาสาระหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระองค์ทรงบริโภคได้รู้ได้เห็นได้ศึกษานำมาปฏิบัติเท่านั้น หาใช่ Content เพื่อการโฆษณาหากำไรในทางธุรกิจหรือเพื่อสิ่งบันเทิงเริงรมย์ที่มนุษย์ปุถุชนทั้งหลายต่างส้องเสพย์ติดจนงอมแงมก็หาได้เป็นแรงบันดาลของพระองค์ไม่

แม้ในกาลปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ชาติเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงขั้นสูญสิ้นอธิปไตยทางการเงินไปแล้วและหายนะจากเหตุปัจจัยดังกล่าวกำลังจะเพพังลุกลามบานปลายไปสู่ระบบอื่นๆ ของชาติและย่อมนำไปสู่ความวิบัติสิ้นเอกราชของชาติในทุกระบบอย่างสมบูรณ์ได้ในที่สุด สาเหตุสำคัญที่ยังความสิ้นชาติทางการเงินในครั้งนี้นั้นก็มิใช่มาจากสิ่งไกลตัว ล้วนแล้วแต่มาจากความฟุ่มเฟือยลืมเนื้อลืมตัวละโมบโลภมากหรือภาษาธรรมให้คำนิยามไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นประเภทของกิเลสจำพวกหนึ่งนั่นเอง และด้วยการออกมาเป็นผู้นำขององค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน โดยใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าเข้ามากอบกู้วิกฤตดังกล่าวจนสามารถยังความมั่นคงกลับคืนสู่ทุนสำรองเงินตรามิให้ IMF ใช้อำนาจบาทหลวงผ่านหนังสือแสดงเจตจำนงได้แต่เพียงผู้เดียว จนกระทั่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นได้กล่าวยืนยันความจริงว่า หากไม่มีเงินบริจาคขององค์หลวงตาฯ เข้ากีดขวางการนำทุนสำรองเงินตราออกใช้หนี้ IMF ในเวลานั้น บัดนี้ประเทศไทยของเราต้องสูญสิ้นค่าเงินบาทและสูญสิ้นกิจการของรัฐตลอดถึงสมบัติของชาติไปอย่างหมดเนื้อหมดตัว แม้สำนักงาน กสทช. ของผู้ถูกฟ้องคดี ดีไม่ดีย่อมไม่อาจก่อตั้งขึ้นได้อีกเลยก็เป็นได้ เพราะกิจการของรัฐตลอดถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ย่อมเพพังเป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติแทบทั้งสิ้น แต่เพราะอำนาจของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาจึงสามารถกอบกู้ความเสื่อมทรามทางจิตใจอันมาจากอำนาจกิเลสของประชาชนให้เบาลงไปได้ และต่างหันหน้ามาจับมือช่วยเหลือกันและกัน เสียสละสมบัติของตน ขององค์กรของตน ร่วมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อนำเข้าสู่ทุนสำรองของชาติจนสามารถพิทักษ์รักษาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ชาติไทยของเราจึงไม่ล่มสลายลงไปได้แม้ในเวลานั้นจะจวนเจียนเพียงใดก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาจึงเป็น Content ที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษยิ่งกว่า Content ใดๆ จนไม่อาจนำมาเทียบเปรียบกันได้ แม้หลักการสำคัญดังกล่าวนี้เพียงหลักเดียวย่อมเหนือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ไม่อาจจารึกบัญญัติไว้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวลงในรายละเอียดของข้อกำหนดในประกาศพิพาทที่แทบจะหาสาระสำคัญเพื่อการดำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๔๗ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรได้ไม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีตั้งใจประกอบกิจการอย่างแน่วแน่ทุกกระเบียดนิ้วตามหลักการสำคัญดังกล่าวและยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งมาตรา ๔๗ ตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติเช่นนี้ การมาโต้แย้งคัดแค้นในประเด็นปลีกย่อยแห่งประกาศพิพาทจึงดูเป็นเรื่องน่าขบขันยิ่ง เหมือนผู้ใหญ่มาทะเลาะกับเด็กน้อยที่ไม่รู้เดียงสา ยิ่งตัวแทนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นถึงนายตำรวจผู้รักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของชาติเช่นนี้ด้วยแล้ว กลับมีแนวคิดที่กลับหัวกลับหางนำเอาตัวบทกฎหมายที่ตีความแบบผู้ไม่รู้เดียงสาภาวะขึ้นมาสู้กับพระพุทธศาสนาที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาหลายครั้งจากบรรพชนว่า สามารถพิทักษ์รักษาชาติได้ และแม้ชาติล่มสลายแล้วก็ยังสามารถนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาขึ้นมากอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้เช่นนี้ด้วยแล้ว ผู้ฟ้องคดียังไม่มีเหตุผลอื่นจะมาเปรียบเทียบได้ดีกว่าพระธรรมเทศนาขององค์หลวงตาฯ ที่กล่าวเตือนปุถุชนผู้มีหัวใจมืดบอดว่า “อย่าขับรถชนภูเขา เพราะพระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบประดุจขุนเขาอันยิ่งใหญ่ย่อมไม่มีวันบุบสลาย มีแต่รถเท่านั้นที่จะพินาศฉิบหายลง” ด้วยเหตุนี้ ข้อกฎหมายใดๆ ก็ตามในอดีตโบราณกาลที่ดำรงชาติมาได้จึงไม่มีบรรพชนคนใดคิด ตีความ หรือกล้ากระทำการกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ที่ขัดแย้งหรือเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนาและต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาก่อน เพิ่งมาพบเห็นได้ชัดเจนในกาลบัดนี้

ผู้ฟ้องคดีในนามของคณะสงฆ์ ประชาชน ผู้ก่อตั้ง ผู้บริจาค และผู้ฟังสถานีเสียงธรรมฯ แห่งนี้ จึงขอคัดค้านคำให้การเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังต่อไปนี้

ข้อ ๑. ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากประกาศพิพาท จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กล่าวคือ

 

    (๑) มูลนิธิเสียงธรรมฯ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อำนวยการสถานี เป็นผู้ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงโดยชอบด้วยกฎหมาย

    มูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นผู้ได้รับสิทธิโดยชอบในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จึงปรากฏว่ามีหลักฐานเอกสารตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑ ในฐานะผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้มาโดยชอบก่อนมีการแต่งตั้ง กสทช. จึงเป็นผู้มีสิทธิสมบูรณ์โดยชอบด้วยกฎหมายมาแต่เดิม ในขณะที่ผู้ประกอบการที่เคยได้รับสิทธิมาก่อนมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่เมื่อไม่ได้ยื่นขออนุญาตจาก กทช. เนื่องจากถูกระงับกระบวนการออกประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตแม้จะมีหลักฐานชัดเจนว่าผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว แต่สำนักงาน กทช. ในขณะนั้นกลับยุติกระบวนการไปโดยมิชอบ จึงส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการที่เคยได้รับสิทธิมาแต่เดิมเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ ต้องกลายเป็นโมฆะ เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีสถานภาพทางกฎหมายรับรองจาก กทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่แทน กสช. ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกรณีมูลนิธิเสียงธรรมฯ หากกล่าวอย่างเข้าใจง่ายๆ ภาษาชาวบ้านอาจสรุปได้ว่า

กรณีมูลนิธิเสียงธรรมฯ มืดมาสว่างไป เพราะการดำเนินการเมื่อเริ่มก่อตั้งในเวลานั้นไม่มี กสช. ในขณะที่เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้แล้ว หากมัวแต่รีรอ กสช. ซึ่งเป็นโมฆะไม่มีโอกาสเริ่มต้นได้แล้วก็เท่ากับเสียโอกาสและเสียประโยชน์สาธารณะสูงสุดที่ประชาชนทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นจะพึงได้รับอย่างยิ่ง เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้นชาติบ้านเมืองยังตกอยู่ในช่วงภาวะสงครามเศรษฐกิจที่เพิ่งสูญสิ้นเอกราชทางการเงินไปผ่านมาไม่กี่ปี เนื้อหารายการธรรมะที่เป็นไปเพื่อการฟื้นฟูชาติบ้านเมืองและฟื้นฟูจิตใจของประชาชนจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง การหยิบยกข้อกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีเช่นนี้โดยหาได้นำข้อเท็จจริงในสถานการณ์บ้านเมืองมากล่าวต่อศาลด้วยเช่นนี้ ย่อมแสดงถึงความด้อยในวุฒิภาวะของการบริหารจัดการคลื่นความถี่เป็นอย่างยิ่ง เพราะบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านี้ฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ร่างขึ้นมาแบบไร้สติปัญญาเพื่อหวังทำลายชาติ แต่เจตนารมณ์แห่งกฎหมายเหล่านั้นทุกข้อล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อฟื้นฟูหรือเพื่อพัฒนาชาติทั้งสิ้น และเมื่อมี กทช. ปฏิบัติหน้าที่แทน กสช. เกิดขึ้น มูลนิธิเสียงธรรมฯ ก็ยอมรับและเดินเข้าในระบบอย่างถูกต้องสมบูรณ์กลายเป็นผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศซึ่งเป็นสถานะที่ชอบด้วยกฎหมาย ยังประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ผู้ฟ้องคดีที่เป็นตัวแทนบรรดาผู้ก่อตั้ง ผู้บริจาค และผู้ฟังสถานีให้ได้รับประโยชน์ทางธรรมยังผลให้เกิดการฟื้นฟูตนเอง สังคม และชาติบ้านเมืองในที่สุด

ส่วนกรณีบรรดาผู้เคยได้รับอนุญาตมาแต่เดิม(หรือผู้ประกอบการรายเดิม) กลายเป็นผู้สว่างมาแต่มืดไป เพราะแม้แต่เดิมจะได้รับอนุญาตประกอบกิจการจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับรองไว้ แต่เมื่อไม่มี กสช. เกิดขึ้น การประกอบการในระหว่างไม่สามารถเกิด กสช. ขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายได้ก็ย่อมเท่ากับกลายเป็นการประกอบกิจการที่กลายเป็นโมฆะ ไม่มีผู้มีอำนาจที่แท้จริงรับรอง และต่อมาเมื่อมี กทช. ปฏิบัติหน้าที่แทน กสช. เกิดขึ้น พร้อมจะเข้าสู่ระบบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่สำนักงาน กทช. ในขณะนั้นกลับระงับกระบวนการออกประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไว้อย่างสมบูรณ์แล้วไปอย่างไร้เหตุผล กระบวนการดังกล่าวจึงถูกระงับไปโดยมิชอบ

สำนักงาน กทช. ในขณะนั้นได้จัดประชาพิจารณ์ร่างประกาศ กทช. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรายเดิม ๒ ฉบับคือ (๑) ร่างประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการแก่ผู้ได้รับอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และ (๒) ร่างประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของผู้ประกอบกิจการที่ดำเนินการอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มีผลบังคับใช้ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ...      โดยจัดประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓  ต่อมาสำนักงาน กทช. ได้จงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ต่อตามกฎหมาย จนร่างประกาศดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้เป็นประกาศตามกฎหมาย ยังผลให้บรรดาผู้เคยได้รับอนุญาตมาแต่เดิมซึ่งกลายเป็นโมฆะไปแล้วกลับไม่ได้รับการซักฟอกหรือรับรองใหม่จาก กทช. ในขณะนั้นยาวนานจนถึงปัจจุบันนี้ กสทช. ก็ยังไม่อาจรับรองให้กลับมาสมบูรณ์ได้เช่นเดิม เพราะกลายเป็นโมฆะมายาวนาน แม้จะพยายามโอบอุ้มกันเพียงใดบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ทรงธรรมก็ย่อมไม่อาจซักฟอกให้สิทธิที่เคยได้รับหรือเคยมีเคยกลับสามารถกลับคืนมาได้ดังเดิม หาก กสทช. จะดื้อรั้นกระทำการตรวจสอบแล้วซักฟอกกลับคืนมาให้ก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์และประชาชนตลอดถึงบรรดานักกฎหมายที่ดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมตลอดไป รังแต่จะทำลายหลักการที่ถูกต้องให้เสื่อมสิ้นไปและย่อมเป็นตัวอย่างที่เลวร้ายแก่อนุชนรุ่นหลังให้กระทำความผิดเช่นนี้ตามมา จริยธรรมของนักกฎหมายและของตุลาการก็จะมัวหมองตลอดไปยากจะฟื้นฟูกลับคืนมาให้ศักดิ์สิทธิ์ได้เช่นเดิมไม่ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่ากรณีผู้ประกอบการที่เคยได้รับใบอนุญาตมาแต่เดิมล้วนกลายเป็นผู้สว่างมาแต่มืดไปด้วยประการฉะนี้แล

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวยืนยันว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ และบรรดาผู้ประกอบการรายใหม่ทุกรายที่เดินเข้าสู่ระบบอำนาจของ กทช. ด้วยความบริสุทธิ์ใจแม้มืดมาเพราะไม่มี กสช. แต่ก็กลับเป็นผู้ได้รับสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเปลี่ยนสถานะจากผู้ประกอบการรายใหม่กลายเป็นผู้ประกอบการรายเดิมที่แท้จริง ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมที่ถูกสำนักงาน กทช. หักหลัง         ไม่ดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้องจนไม่มีการบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตแก่ผู้ประกอบการรายเดิม ย่อมส่งผลเสียหายร้ายแรงทำให้เปลี่ยนสถานะจากความเป็นผู้ประกอบการรายเดิมกลายมาเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในขณะนี้ที่เพิ่งก้าวเดินเข้าแสดงตนแก่ กสทช. โดยปราศจากเอกสารหลักฐานใดๆ ยืนยันต่อสาธารณชน แม้ต่อศาลในขณะนี้ก็หาได้มีเอกสารหลักฐานใดๆ มายืนยันต่อศาลได้ไม่ ทั้งๆ ที่ขอบเขตอำนาจสิทธิที่คลื่นต่างๆ ได้รับว่ามีมากน้อยหรือกว้างแคบเพียงใดถือเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยเพราะจะเป็นเครื่องชี้วัดว่าคลื่นของผู้ใดรบกวนคลื่นข้างเคียงหรือรบกวนคลื่นเดียวกันในจุดที่เข้ามาปะทะกัน การไม่สามารถนำเอกสารหลักฐานใดๆ มายืนยันต่อศาลถึงขอบเขตของความเป็นผู้มีสิทธิเดิมของผู้ประกอบการเหล่านั้นได้เช่นนี้ ย่อมประจักษ์ชัดถึงคำให้การต่อศาลของผู้ถูกฟ้องคดีที่เลื่อนลอยปราศจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างยิ่ง ความบกพร่องดังกล่าวแม้เพียงประการเดียวหากสิ่งนี้ถือเป็นสาระสำคัญแห่งการวินิจฉัยประกาศพิพาทว่าเป็นประกาศซึ่งเลือกปฏิบัติโดยมิชอบที่คณะสงฆ์และประชาชนผู้ฟ้งเนื้อหาสาระของสถานีเสียงธรรมฯ ตลอดมาแต่กลับต้องสูญสิ้นการรับฟังไปในหลายพื้นที่ด้วยเหตุแห่งความไม่ชอบธรรมเช่นนี้ย่อมไม่มีผู้ใดจะยอมรับได้ 

สรุปความได้ว่า สถานภาพของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้บำเพ็ญประโยชน์และได้รับประโยชน์สาธารณะจากการดำเนินการในปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนสถานะของผู้ประกอบการที่ในอดีตเคยได้รับอนุญาตจากส่วนราชการมาก่อน ในปัจจุบันกลับไม่ปรากฏเอกสารสิทธิหรือมีสถานภาพทางกฎหมายที่ยืนยันต่อศาลได้ว่า เป็นผู้ได้รับการรับรองจาก กทช. ในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ แม้จนบัดนี้ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่อาจนำมายืนยันได้ ดังนั้น คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่กล่าวต่อศาลว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการบริการส่งวิทยุกระจายเสียง หรือประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงตามพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จึงเป็นคำให้การต่อศาลที่มีเจตนาเฉไฉไม่กล่าวถึงข้อเท็จจริงในปัจจุบันของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ที่มีสถานภาพโดยชอบด้วยกฎหมายครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่กลับพยายามตอกย้ำอดีตที่ไม่มีผู้มีอำนาจคนใดจะสามารถเข้ามาแก้ไขให้มี กสช. ที่ถูกต้องได้ราวกับว่ามูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นผู้ร้ายในสังคมเสียเองที่ทำให้ กสช. ไม่มีการแต่งตั้งขึ้นได้ฉะนั้น

 

(๒) มูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้รับสิทธิในการทดลองออกอากาศตามข้อ ๑๘ ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) โดยผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้อำนวยการสถานีวิทยุในเครือข่ายวิทยุของมูลนิธิเสียงธรรมฯ และในฐานะตัวแทนประชาชนผู้ก่อตั้ง ผู้บริจาค และผู้ก่อตั้งซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชอบในการดำเนินคดีต่อ กสทช. และจากตัวแทนประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมูลนิธิเสียงธรรมฯ ในทุกกรณี โดยที่การปกป้องรักษาสิทธิเสรีภาพเหล่านี้กระทำการในฐานะวิทยุภาคประชาชนที่กฎหมายให้ความคุ้มครองประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ในทุกกรณี

 

ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างอิงแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองนครศรีธรรมราช ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๙๙/๒๕๕๕ และคดีหมายเลขแดงที่ ๔๓/๒๕๕๖ ซึ่งสรุปว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศ ไม่ได้เป็นผู้ได้รับสิทธิในการยื่นขอทดลองตามประกาศพิพาท จึงไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการบังคับใช้ประกาศพิพาทแต่อย่างใด นั้น

(๒.๑) ข้าพเจ้าในนามคณะสงฆ์และประชาชนผู้ร่วมก่อตั้ง บริจาค หรือรับฟังสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ และเป็นผู้อำนวยการสถานีที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายจากมูลนิธิเสียงธรรมฯ ขอเรียนต่อศาลว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการลิดรอนและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทำให้ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบกิจการได้อันเป็นการขัดแย้งต่อหลักการและเจตนารมณ์ของความเป็นวิทยุภาคประชาชนที่มีบทบัญญัติหลายมาตราที่ให้ความคุ้มครองสิทธิดังกล่าวของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ วัดเจริญสมณกิจ จังหวัดภูเก็ต จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิทักษ์ปกครองไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามเจตนารมณ์แห่งการปฏิรูปสื่อตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖

(๒.๒) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้อ้างอิงการฟ้องร้องของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ต่อศาลปกครองอุดรธานี และอ้างอิงการฟ้องร้องของผู้อำนวยการสถานีเสียงธรรมฯ จังหวัดระยอง / สถานีเสียงธรรมฯ วัดป่าเสาหงส์(หนองรังกา) จ.นครราชสีมา โดยได้รับมอบอำนาจจากประชาชนผู้ก่อตั้ง ผู้บริจาค และผู้รับฟังในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองระยอง / ศาลปกครองนคราชสีมา เพื่อหยิบยกนำมาเป็นประเด็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการยื่นฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองแล้ว ยังเป็นการฟ้องซ้ำตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๓๖ (๑) อีกด้วยนั้น

ข้าพเจ้าและคณะขอเรียนต่อศาลว่า ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจในการยื่นฟ้องคดีโดยชอบด้วยกฎหมายทุกประการ เพราะเป็นการยื่นฟ้องในฐานะของความเป็นประชาชนผู้ก่อตั้ง ผู้บริจาค และผู้ฟังที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากประกาศพิพาท ซึ่งลักษณะของความเดือดร้อนเสียหายที่ได้รับย่อมมีแง่มุมรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและย่อมไม่เหมือนกับความเดือดร้อนเสียหายที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้รับ แต่บรรดาความเดือดร้อนเสียหายเหล่านี้ทั้งปวงล้วนแล้วมีต้นเหตุมาจากประกาศพิพาททั้งสิ้น

ทั้งนี้บทบัญญัติแห่งกฎหมายก็ได้ยอมรับว่า ผู้มีส่วนได้เสียในกรณีวิทยุประเภทบริการชุมชนนั้น คือ ประชาชนที่รวมตัวกันเป็นชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน จึงร่วมกันจัดตั้งวิทยุนี้ขึ้นและยังมีส่วนในการบริหารดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสถานี การเป็นอาสาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ในสถานีวิทยุ การเรียกร้องให้จัดรายการต่าง ๆ ฯลฯ (ผู้ฟังต้องการจะฟัง จึงลุกขึ้นมาทำวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะ) ดังนั้น กฎหมายจึงมีบทบัญญัติให้วิทยุบริการชุมชนต้องเป็นไปตามความต้องการของชุมชน หรือของประชาชนที่มีส่วนร่วมนั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากวิทยุธุรกิจและวิทยุบริการสาธารณะที่ผู้ฟังไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้ง ในขณะที่ผู้ก่อตั้งและดำเนินการบริหารวิทยุทำตามจุดมุ่งหมายของตน ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อกำไรในทางธุรกิจหรือเพื่อกิจการของรัฐก็แล้วแต่กรณีไป

ด้วยข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าได้เรียนต่อศาลหลายครั้งแล้ว และเป็นข้อมูลความจริงที่วิญญูชนย่อมสามารถพินิจพิจารณาและใคร่ครวญได้ จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีที่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว และมิใช่การฟ้องซ้ำตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดอีกด้วย ทั้งนี้หากนำคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วเกี่ยวกับประชาชนผู้ใช้น้ำประปาที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงซึ่งมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ข้าพเจ้าก็ขออนุญาตต่อศาลยกคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ คำร้องที่ ๑๔/๒๕๕๒ คำสั่งที่ ๒๔๑/๒๕๕๒ ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๔/๕๑ และคดีหมายเลขแดงที่ ๒๘๗/๕๑ ผู้ฟ้องได้แก่นายพีรพล รัตนประยูร กับพวกรวม ๙๑ คน ฟ้องเทศบาลกับกรมชลประทาน ทั้งนี้เพื่อเป็นกรณีศึกษาเทียบเคียงในการธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิของประชาชนผู้บริโภคที่ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องโดยตรงเมื่อเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากคำสั่งทางปกครอง (เอกสารแนบท้าย หมายเลข ๒)

(๒.๓) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า กรณีมูลนิธิเสียงธรรมฯ ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการวิทยุภาคประชาชนในระดับชาติ และได้รับอนุญาตสิทธิทดลองออกอากาศในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทบริการชุมชน ด้วยมาตรฐานเทคนิคข้อ ๓.๓.๔ ในภาคผนวกมาตรฐานทางเทคนิคของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) นั้น แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ ไม่ได้รับอนุญาตในมาตรฐานเทคนิคข้อ ๓.๓.๔ นั้น

ผู้ฟ้องคดีขอกราบเรียนศาลว่า ก่อนที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ จะยื่นขออนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงต่อ กทช.นั้น พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้เดินทางไปยังวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เพื่อขอให้มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ลงชื่อในแบบแจ้งความประสงค์ กทช.กจส.๐๐๑ (แผ่นเหลือง) ซึ่งมีข้อความจำกัดสิทธิต้องลดกำลังส่งเสาสูงที่ดำเนินการอยู่ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเทคนิคข้อ ๓.๓.๑  ข้อ ๓.๓.๒ และข้อ ๓.๓.๓ โดย พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ได้กล่าวรับรองต่อคณะสงฆ์ว่า ขอให้ลงนามตามแบบแจ้งความประสงค์ กทช.กจส. ๐๐๑ นี้ แล้วไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้

แต่คณะกรรมการมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ พิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนแล้วเห็นว่า ศีลเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และมีความจำเป็นอย่างที่สุดที่จะต้องมีความซื่อตรง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ในฐานะประธานมูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้มีหนังสือที่พิเศษ ๐๔๐/๒๕๕๒ ถึงประธาน กทช. แจ้งความประสงค์ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนระดับชาติต่อ กทช. พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบตามที่ กทช.ต้องการ หนังสือดังกล่าวระบุว่า ไม่สามารถลงนามในแบบแจ้งความประสงค์ กทช.กจส.๐๐๑ (แผ่นเหลือง) นั้นได้ โดยขอให้ กทช.ดำเนินการให้เหมาะสมกับการประกอบกิจการสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนและเครือข่ายที่มีในปัจจุบัน หากผลการตัดสินใจเป็นอย่างใด  กรุณาแจ้งมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนทราบด้วย 

ปรากฏว่า กทช.ได้ส่งหนังสือที่ ทช.๑๒๐๐.๑/๖๖๓๓ ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๒  เรื่อง การเป็นผู้มีสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว ตามข้อ ๑๘ ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) มีความตอนหนึ่งระบุว่า

“ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ....... มีมติให้เครือข่ายวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน เป็นผู้มีสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราวตามข้อ ๑๘ วรรคสอง แห่งประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป” (เอกสารแนบท้าย หมายเลข ๑)

ข้อ ๑๘ วรรคสอง แห่งประกาศ กทช.ดังกล่าว กำหนดไว้ว่า

“ผู้ที่แจ้งความประสงค์ตามวรรคหนึ่ง ต้องยื่นเอกสารเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาออกใบอนุญาตตามประกาศนี้ภายในสามร้อยวันนับแต่วันที่แจ้งความประสงค์ ทั้งนี้คณะกรรมการอาจกำหนดระยะเวลาได้ตามความเหมาะสม ในระหว่างระยะเวลาที่คณะกรรมการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ถือว่าผู้ยื่นความประสงค์ดังกล่าวได้รับสิทธิในการทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว โดยคณะกรรมการอาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการอย่างใด ๆ ก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ข้อ ๑๘ วรรคสอง มีความเกี่ยวพันกับ ข้อ ๑๘ วรรคหนึ่ง เนื่องจากข้อ ๑๘ วรรคสองระบุว่า ผู้ที่แจ้งความประสงค์ตามวรรคหนึ่ง ต้องยื่นเอกสารเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาออกใบอนุญาต จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณา ข้อ ๑๘ วรรคหนึ่ง ด้วย ดังนี้

ข้อ ๑๘ วรรคหนึ่ง แห่งประกาศ กทช.ดังกล่าว กำหนดไว้ว่า

“ผู้ใดดำเนินการในลักษณะการให้บริการวิทยุกระจายเสียงชุมชนอยู่ก่อนวันที่ประกาศ

ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ โดยเป็นผู้มีคุณสมบัติและประสงค์จะเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ

วิทยุกระจายเสียงชุมชนตามประกาศนี้ ให้แจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ”

เมื่อพิจารณาข้อ ๑๘ แห่งประกาศ กทช. ดังกล่าวทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง สรุปได้ว่า ผู้ที่จะแจ้งความประสงค์ต่อ กทช.ได้นั้น  จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ

๑)     จะต้องให้บริการวิทยุกระจายเสียงชุมชนอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

๒)    มีคุณสมบัติเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนตามประกาศนี้

๓)     มีความประสงค์และแจ้งความประสงค์ต่อ กทช.ภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

 ในเมื่อ กทช. ได้ให้สิทธิทดลองออกอากาศแก่เครือข่ายวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ก็เท่ากับว่า กทช.ได้รับรองว่า มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ได้เป็นผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนก่อนวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ และมีคุณสมบัติเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนตามประกาศนี้

โดยที่ กทช. รับทราบเป็นอย่างดีแล้วถึงเงื่อนไขดังกล่าวที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ยื่นและระบุไว้ ด้วยการยอมรับและออกใบอนุญาตทดลองออกอากาศแก่บรรดาสถานีวิทยุในเครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรมฯ ที่อยู่ทั่วประเทศภายใต้เงื่อนไขตามมาตรฐานเทคนิคดังกล่าวซึ่งไม่มีการจำกัดสิทธิการใช้เครื่องส่ง ความสูงเสา หรือจำกัดพื้นที่กระจายเสียงแต่อย่างใด

ในเมื่อ กทช. ทราบเป็นอย่างดีถึงเงื่อนไขของสถานีวิทยุในเครือข่ายของมูลนิธิเสียงธรรม ว่าไม่ประสงค์ใช้มาตรฐานทางเทคนิคข้อ ๓.๓.๑ สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนเมืองใหญ่ และ ข้อ ..๒ สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนเมือง และ ข้อ ..๓ สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนนอกเขตเมือง แต่ประสงค์เป็นการประกอบกิจการของภาคประชาชนระดับชาติ ที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย ตามหนังสือลิขิตของพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ที่มีถึงประธาน กทช.เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ แล้ว

ดังนั้น การที่ กทช. ยอมรับเงื่อนไขด้วยการมีมติให้ใบอนุญาตทดลองออกอากาศตามประกาศ กทช. โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ออกของหนังสือฉบับนั้น คือวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา พร้อมสั่งการให้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงฯ หาแนวทางออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ แก่เครือข่ายสถานีวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมฯ ในสถานะ “สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะในเชิงประเด็น” ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานทางเทคนิคในข้อ ๓.๓.๔ ตามประกาศกทช. ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มีมาตรฐานทางเทคนิค ๔ ข้อ  และโดยที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ปฏิเสธมาตรฐานทางเทคนิค ๓ ข้อแรก เนื่องจากไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องและไม่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบการของมูลนิธิเสียงธรรมฯ และในเมื่อ กทช. ได้ยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าวถึงลักษณะการประกอบการของเครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ ที่เป็นการประกอบการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนระดับชาติ และยังต่ออายุใบอนุญาตแก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ในเครือข่ายสถานีทุกแห่งทั่วประเทศด้วยเงื่อนไข ๓.๓.๔ ตลอดมา ทั้งในอำนาจของ กทช.และ กสทช.หลายครั้งหลายวาระ โดยเลขาธิการ กทช.ในขณะนั้นยังมีหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการในเงื่อนไขที่ใช้รัศมีกระจายเสียงมากกว่า ๑๕ ก.ม.ขึ้นไปต่อประธานเครือข่ายองค์กรวิทยุภาคประชาชนแห่งชาติตามสำเนาหนังสือลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๓) ซึ่งได้ชี้แจงต่อศาลไปแล้ว ด้วยการระบุให้เข้าเป็น “วิทยุกระจายเสียงที่มีลักษณะเฉพาะ” นอกจากนี้ กทช.ดร.พนา ทองมีอาคม ในนามคณะกรรมการ กทช. ซึ่งยังทำหน้าที่ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองกิจการวิทยุกระจายเสียง ร่วมกับคณะอนุ กรรมการวิทยุกระจายเสียงฯ ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจนได้ข้อสรุปร่วมกันที่ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งอีกด้วยว่า เครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะโดยใช้มาตรฐานเทคนิคในข้อ ๓.๓.๔ ตามประกาศ กทช. เป็นพื้นฐานแห่งการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการในขั้นตอนต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น กทช. ยังมีมติที่ประชุมกำหนดมาตรการออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้แก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ในฐานะที่เป็น “วิทยุชุมชนเชิงประเด็นที่มีลักษณะเฉพาะ” อีกด้วย โดยจะออกใบอนุญาตให้ต่อเมื่อผ่านการศึกษาวิจัยและรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ รวมทั้งการประชุมกลุ่มย่อยกำหนดหลักเกณฑ์อนุญาตแล้ว ตามเอกสารซึ่งได้กราบเรียนต่อศาลไปแล้ว ซึ่ง ณ บัดนี้ กระบวนการดังกล่าวทั้งหมดนี้ก็ได้ดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์นานแล้ว เมื่อมี กสทช. เกิดขึ้นก็ย่อมเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณาออกใบอนุญาตในทันทีในฐานะที่เป็น “สถานีวิทยุประเภทบริการชุมชนที่มีความสนใจร่วมกันหรือเชิงประเด็น” ตามคำนิยามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งเกี่ยวโยงกับบทบัญญัติในหลายมาตราทั้งในกฎหมายฉบับเดียวกันนี้รวมทั้งในกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงซึ่งมีหลักการและสาระสำคัญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการประกอบการให้ทัดเทียมกับผู้ประกอบการรายเดิมที่เป็นภาครัฐ

ด้วยข้อเท็จจริง ข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากทุกภาคส่วน เฉพาะอย่างยิ่งข้อกฎหมายดังกล่าว ย่อมใช้เป็นหลักฐานพยานสำคัญถึงขอบเขตของสิทธิที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้รับจาก กทช. ซึ่งมีการระบุไว้อย่างชัดเจนทั้งโดยวาจา และโดยเอกสารอย่างเป็นทางการที่ข้าพเจ้าได้ส่งมอบให้ศาลพิจารณาแล้วแต่ครั้งก่อน และหากสำนักงาน กทช. ในครั้งนั้นไม่อนุญาตและไม่ยอมรับให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ เข้าตามเงื่อนไข ๓.๓.๔ ก็ไม่น่าจะยอมรับให้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศ ทั้งที่รู้ว่ามูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ยื่นเงื่อนไขดังกล่าวไว้อย่างเป็นทางการ หากไม่อนุญาตตามเงื่อนไขนี้ก็ย่อมเป็นการสมควรยิ่งที่ กทช. จะมีหนังสือระบุไว้อย่างชัดเจน แจ้งกลับมาถึงมูลนิธิเสียงธรรมฯ หากแต่ในมติ กทช. เองว่า ยังยอมรับด้วยว่า  “วิทยุชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะ” นั้นมีอยู่จริง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะทางเทคนิคที่ ๓.๓.๔  ที่มีชื่อสถานีวิทยุประเภทนี้ว่า “สถานีวิทยุชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะ” และหลังจากนั้นยังตอกย้ำการอนุญาตและการยอมรับอย่างหนักแน่นด้วยการมีมติอีกครั้งให้จัดสรรงบประมาณทำการศึกษาจากทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์อนุญาตให้สมบูรณ์ต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏได้ว่า มีมาตรฐานทางเทคนิคที่ ๓.๓.๔ อยู่จริงตามประกาศฯ และเมื่อ กทช. ในครั้งนั้นก็ไม่มีหนังสือคัดค้านหรือไม่มีหนังสือที่ระบุว่าไม่อนุญาตให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้รับสิทธิตามเงื่อนไข ๓.๓.๔ ทั้งที่ทราบดีว่าได้ร้องขอไปเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้กล่าวอ้างต่อศาลแบบเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนัก มิหนำซ้ำคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีในครั้งก่อนก็ยังมีเจตนาปกปิดข้อ ๓.๓.๔ ต่อศาลอีกด้วย

(๒.๔) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า ผู้ฟ้องคดีมิใช่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้ที่จะอยู่ในบังคับของประกาศพิพาท เนื่องจากมิได้เป็นผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่เป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลนั้น

ข้าพเจ้าได้เรียนความจริงต่อศาลมาโดยตลอดตั้งแต่คำฟ้องครั้งแรกแล้วว่า ข้าพเจ้าในฐานะผู้ฟ้องคดีมิได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ มิได้เป็นผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศ ทั้งนี้เนื่องจากสิทธิในการประกอบกิจการทั้งปวงเป็นขององค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งเมื่อก่อตั้งมูลนิธิเสียงธรรมฯ ขึ้นได้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ จึงได้ยกสิทธิในการประกอบกิจการทั้งปวงมอบให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ในการยื่นคำขอ จึงเป็นนิติบุคคลเดียวที่มีเครือข่ายหลายสถานีทั่วประเทศที่ได้รับสิทธิทดลองประกอบกิจการ อย่างไรก็ตาม แม้ข้าพเจ้าจะเป็นผู้อำนวยการสถานีแต่ในการฟ้องร้องครั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับมอบอำนาจจากประชาชนผู้ก่อตั้ง ผู้บริจาคและผู้รับฟังที่ต่างได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากประกาศพิพาทที่ผู้ถูกฟ้องคดีบังคับใช้ จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในฐานะประชาชนในการฟ้องร้องต่อศาลเนื่องจากกฎหมายให้การคุ้มครองการประกอบการวิทยุบริการชุมชนต้องถือความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง หลักเกณฑ์ดังกล่าวกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะผู้ประกอบการภาคประชาชนเท่านั้น หาได้บัญญัติไว้ในผู้ประกอบการวิทยุภาครัฐหรือภาคธุรกิจไม่ ดังนั้น ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากประกาศพิพาทจึงเป็นผู้มีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการฟ้องคดีนี้ต่อศาล

(๒.๕) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า ข้าพเจ้าและคณะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมภายหลัง กล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏเอกสารหรือหลักฐานเพื่อยืนยันการมอบอำนาจ รวมถึงเป็นการกล่าวอ้างโดยปราศจากการชี้แจงหรือแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งถึงความเสียหายที่อ้างถึงในคำคัดค้านคำให้การ ถือเป็นการกล่าวข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในชั้นการทำคำคัดค้านคำให้การตามข้อ ๔๘ ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ พ.ศ. ๒๕๔๓ และมีลักษณะเป็นการเพิ่มเติมฟ้องซึ่งมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ ทำให้คำฟ้องหรือคำคัดค้านคำให้การของข้าพเจ้าเช่นว่านี้เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นการเพิ่มเติมประเด็นในคำฟ้องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น

ข้าพเจ้าขอยืนยันต่อศาลว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ได้กล่าวอ้างไว้แล้วต่อศาลตั้งแต่คำฟ้องครั้งแรกว่า การฟ้องคดีของข้าพเจ้ากระทำการในฐานะใดบ้าง เนื่องจากโดยส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้นนอกเหนือจากการเป็นผู้อำนวยการสถานีที่ได้รับแต่งตั้งจากมูลนิธิเสียงธรรมฯ แล้ว ข้าพเจ้ายังมีสถานะหลายอย่างในบุคคลเดียวกัน อาทิ เป็นผู้ก่อตั้ง ผู้บริจาค และผู้ฟัง ดังที่ปรากฏในคำฟ้องครั้งแรกว่า

“ผู้ฟ้องคดีและประชาชนทั่วไปที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่มีจิตเลื่อมใสในปฏิปทาของคณะศิษยานุศิษย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตรงตามหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกันสอดคล้องกับคำนิยามของกฎหมายในนาม “ชุมชนผู้มีความสนใจร่วมกันในธรรมะคำสอนของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ที่ต้องการนำพระธรรมเทศนาที่มีความหลากหลายตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงที่สุดเหมาะกับประชาชนทุกหมู่เหล่าทุกสาขาอาชีพมาเผยแผ่

ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับการคัดเลือกจากประชาชนในพื้นที่จึงได้ร่วมกันสละทุนทรัพย์ในการก่อตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง และได้นำสถานีวิทยุดังกล่าวไปมอบถวายแด่พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ในเวลาต่อมา เพื่อขอเป็นสถานีวิทยุลูกข่ายของสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ วัดป่าบ้านตาด และได้ดำเนินการถ่ายทอดรายการวิทยุกระจายเสียงอันมีสาระประโยชน์ยิ่งต่อประชาชนทั่วไปจากสถานีแม่ข่าย สำหรับการดำเนินการเพื่อประกอบกิจการของสถานีวิทยุของผู้ฟ้องคดีจะดำเนินการโดยประชาชนในพื้นที่ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการประกอบกิจการก็ได้จากการบริจาคจากประชาชนในพื้นที่ที่มีความสนใจ โดยเป็นการประกอบกิจการกระจายเสียงที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ ดังนั้นลักษณะการประกอบกิจการกระจายเสียงของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ว่า “เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ซึ่งการดำเนินการต้องไม่อยู่ภายใต้การแทรกแซงจากอำนาจรัฐ และไม่ถูกอิทธิพลจากอำนาจทุนในทางธุรกิจเข้ามาครอบงำ”

โดยผู้ฟ้องคดียังได้อ้างถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายหลายมาตรา โดยในคำฟ้องครั้งแรกนั้นยังอ้างถึงคำนิยามของคำว่าชุมชนตามกฎหมายอีกว่า

“คำนิยามของคำว่า “ชุมชน” หมายความว่า “ กลุ่มประชาชนที่มีพื้นที่อาศัยในแห่งเดียวกันไม่ว่าจะในเมืองหรือในชนบท และให้หมายความรวมถึงกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกันและอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันหรือสื่อสารถึงกันได้ โดยมีผลประโยชน์ด้านสังคมและวัฒนธรรมเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมร่วมกัน มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้ ” ดังนั้นผู้ฟ้องคดีซึ่งมีรากฐานมาจาก “ชุมชนผู้มีความสนใจร่วมกันในธรรมะคำสอนของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ตามหลักการที่เป็นสากลที่วิทยุกระจายเสียงประเภทบริการชุมชนสำหรับภาคประชาชนต้องมีองค์ประกอบครบถ้วนที่เป็น “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” “

ซึ่งจากคำฟ้องครั้งแรกนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินการของผู้ฟ้องคดีจึงมีฐานะเป็นประชาชนที่มีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์ซึ่งได้รับผลกระทบจากประกาศพิพาทโดยตรง ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยคุณลักษณะของ “วิทยุภาคประชาชน” ตามกฎหมายที่ไม่สามารถแยกประชาชนออกจากองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญหลักเหล่านี้ได้ ลักษณะการประกอบการของวิทยุบริการชุมชนเช่นนี้ แตกต่างไปจากวิทยุธุรกิจหรือแม้แต่วิทยุบริการสาธารณะอย่างสิ้นเชิง เพราะสำหรับวิทยุบริการชุมชน “ผู้ฟังอยากจะฟัง จึงลุกขึ้นมาทำ” แต่วิทยุธุรกิจหรือแม้แต่วิทยุบริการสาธารณะนั้น “ผู้ทำอยากจะทำ จึงลุกขึ้นมาทำ ไม่ว่าจะเพื่อธุรกิจหรือเพื่อสาธารณะก็ตาม”

และโดยที่ศาลปกครองบางแห่งสำคัญผิดในสถานะของข้าพเจ้าว่าเป็นเพียงผู้อำนวยการสถานีเท่านั้นโดย ไม่พิจารณาถ้อยคำสำคัญในสำนวนการฟ้องคดีครั้งแรกว่า ข้าพเจ้าใช้สิทธิในสถานะอื่นด้วยในเวลาเดียวกัน ความสำคัญผิดของศาลเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้นำเข้าหารือต่อพระสงฆ์และประชาชนที่มีสถานะเช่นเดียวกับข้าพเจ้าซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เพื่อร่วมแสดงเจตนาพร้อมกับข้าพเจ้าในการใช้สิทธิฟ้องดำเนินคดีต่อศาล จึงได้เพิ่มเติมเอกสารหลักฐานการมอบอำนาจเพิ่มเติมขึ้นโดยคงไว้ซึ่งสิทธิที่ได้ใช้มาตั้งแต่คำฟ้องครั้งแรกแล้ว หรือแม้กระทั่งหากมีประเด็นสงสัยว่ามีพระสงฆ์และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการลิดรอนพื้นที่กระจายเสียงอยู่จริงหรือไม่ถ้าเป็นความประสงค์ของศาล พระสงฆ์และประชาชนเหล่านั้นก็ยินดีเข้าแสดงตัวต่อศาลได้ในทันทีที่ศาลประสงค์ซึ่งย่อมมีน้ำหนักมากยิ่งกว่าเอกสารหลักฐานการมอบอำนาจที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวตู่ข้าพเจ้าต่อศาลว่า ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันการมอบอำนาจซึ่งไม่เป็นความจริง และหากเมื่อมีประเด็นข้อสงสัยในกรณีประชาชนผู้ฟังมีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่เกิดขึ้น ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นที่ให้ความคุ้มครองการใช้สิทธิของประชาชนในฐานะ “วิทยุภาคประชาชน” ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นประเด็นเดียวกันแต่ข้อสงสัยดังกล่าวทำให้ต้องอธิบายข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อศาลเพิ่มเติมขึ้น

 

(๒.๖) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลกรณีตนได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และระยะเวลาการแจ้งรายละเอียดการใช้คลื่นความถี่และเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ โดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือผู้ใช้คลื่นความถี่โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อการประกอบกิจการฯ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ใช้บังคับ จะต้องดำเนินการยื่นแบบชี้แจงรายละเอียดการใช้งานคลื่นความถี่ รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เอกสารใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ รวมทั้งจะต้องดำเนินการยื่นแบบชี้แจงข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน ๙๐ วัน หรือภายในวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๖ กรณีผู้ฟ้องคดีอ้างหนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ ถึงสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖ ชี้แจงความจำเป็นในการใช้งานคลื่นความถี่ฯ นั้น ไม่เป็นไปตามแบบและไม่ได้แนบเอกสารตามที่กำหนด รวมถึงไม่ได้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดในประกาศ ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีว่ามูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ดำเนินการตามมาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ อันเป็นเหตุให้ได้รับสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจรับฟังได้ นั้น

ข้าพเจ้าขอชี้แจงต่อศาลว่า การกล่าวอ้างเอามาตราดังกล่าวขึ้นมานั้นเพื่อแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อศาลว่า บรรดาผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือผู้ใช้คลื่นความถี่ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีเหมารวมว่า เป็นผู้ประกอบการที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อการประกอบกิจการฯ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ นั้น เป็นการกล่าวอ้างที่เป็นเท็จตามเหตุผลรายละเอียดที่ได้ชี้แจงต่อศาลไปแล้วสรุปความในที่นี้ได้ว่า บรรดาผู้ประกอบการรายเดิมเหล่านี้มิได้รับการพิจารณาอนุญาตเมื่อมีการแต่งตั้ง กทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสช. แต่อย่างใดไม่ แม้เป็น กทช. รักษาการ กสทช. ก็ยังไม่ได้นำเข้าสู่ในระบบซึ่งเท่ากับว่า บรรดาผู้ประกอบการรายเดิมเหล่านี้ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอในการก้าวเดินเข้าสู่ระบบตามมาตรา ๘๒ จึงไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะเที่ยวเหมารวมเอาเองตามอำเภอใจของผู้ถูกฟ้องคดีว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว และแม้จนบัดนี้ก็ไม่เคยปรากฏเอกสารหลักฐานใดๆ ต่อศาลเลยว่าบรรดาผู้ประกอบการรายเดิมเหล่านี้ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับมูลนิธิเสียงธรรมฯ ที่สามารถแสดงสิทธิทดลองออกอากาศที่ได้รับอนุญาตไว้หลายครั้งจาก กทช. ทั้ง ๒ ชุด ซึ่งเท่ากับว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นผู้ประกอบการที่ชอบด้วยกฎหมายโดยสมบูรณ์แล้วย่อมมีคุณสมบัติที่เหมาะสมยิ่งกว่าจึงสมควรจะได้รับการพิจารณาเข้าสู่ระบบตามมาตรา ๘๒ ในฐานะเป็น “ผู้ใช้คลื่นความถี่โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อการประกอบกิจการฯ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓” อย่างแท้จริงยิ่งกว่าบรรดาผู้ประกอบการรายเดิมเหล่านั้น   และหากใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการผลักดันบรรดาผู้ประกอบการรายเดิม ๓๑๔ ราย เข้าสู่ระบบทั้งๆ ที่ทราบเป็นอย่างดีถึงคุณสมบัติที่บกพร่องเป็นโมฆะดังกล่าวก็ย่อมเท่ากับ กสทช. และเจ้าหน้าที่ กสทช. กำลังจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทั้ง ๒ สถาน กล่าวโดยสรุปคือ กีดกันผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งที่ชอบด้วยกฎหมายมิให้เข้าในระบบ และโอบอุ้มผู้ประกอบการอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นโมฆะให้เข้าสู่ระบบโดยได้รับสิทธิที่เหนือกว่า ซึ่งย่อมถือเป็นโทษความผิดทั้ง ๒ สถาน แต่หากปฏิบัติหน้าที่ด้วยการยอมรับในความผิดที่ตนทำผิดพลาดไว้และยังความเสมอภาคระหว่างผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่มให้เข้าสู่ระบบด้วยหลักเกณฑ์และขอบเขตของสิทธิที่ทัดเทียมกัน โทษความผิดดังกล่าวย่อมได้รับการให้อภัยได้จากศาลตลอดถึงวิญญูชนทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าและคณะได้หยิบยกเอาประเด็นดังกล่าวนี้ชี้แจงต่อศาลก็เพื่อชี้ชัดถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่ไร้คุณธรรมและขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายแง่หลายกระทงเพื่อเป็นข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยของศาลที่ต้องมีข้อมูลที่รอบด้านในทุกมิติเพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินคดีนี้ยังผลกระทบกระเทือนต่อพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และประชาชนพลเมืองดีทั้งหลายที่ถือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการงานทั้งปวง และประโยชน์สูงสุดที่มีน้ำหนักเหนือยิ่งกว่าประโยชน์แก่ปัจเจกบุคคลทั้งหลายก็คือ ประโยชน์สาธารณะอย่างมหาศาลที่ชาติบ้านเมืองสมควรต้องได้รับต่อไป จากการดำเนินงานของมูลนิธิเสียงธรรมฯ การจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใดกระทบกระเทือนต่อประโยชน์สาธารณะที่มีชาติบ้านเมืองหรือไม่อยู่ที่สถานภาพทางกฎหมายที่สมบูรณ์ที่ฝากไว้กับการตัดสินคดีความของศาล

อนึ่ง หนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ ลว. ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖ ที่ทำถึง กสทช. นั้น มีที่มาเกิดจากการปฏิบัติตามคำกล่าวของ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ซึ่งได้ชี้แจงต่อศาลปกครองกลางในนามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า หากผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตรายใดประสงค์จะใช้มาตรฐานเทคนิคที่เกินกว่า ๕๐๐ วัตต์ เสาสูง ๖๐ เมตร รัศมีกระจายเสียง ๒๐ กม. ก็ให้แจ้งเหตุผลความจำเป็นในการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวมาก็จะได้รับการพิจารณาตามข้อ ๘ วรรคท้ายของประกาศพิพาทได้ ซึ่งเมื่อมูลนิธิเสียงธรรมฯ และข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ได้ชี้แจงต่อศาลโดยได้ยื่นหนังสือลว. ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖ ซึ่งล่วงเลยมาถึง ๘ เดือนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็หาได้ดำเนินการตามที่ได้ชี้แจงไว้ต่อศาลไม่ ข้าพเจ้าจึงขอพึ่งอำนาจศาลในที่นี้ ขออย่าให้ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวคำเท็จต่อศาลทั้งๆ ที่ได้กล่าวสัตยาบันไว้ต่อศาลปกครองกลางก่อนเริ่มการไต่สวน หากสามารถกล่าวสิ่งใดก็ตามต่อศาลได้โดยไม่จำเป็นต้องรักษาไว้ซึ่งคำสัตย์ความจริงเรื่อยไปได้เช่นนี้ ข้าพเจ้า มูลนิธิเสียงธรรมฯ ตลอดถึงพระสงฆ์และประชาชนก็ย่อมไม่มีสิ่งใดยึดถือจับต้องได้เลยจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรของรัฐ

 

ข้อ ๒. ประกาศพิพาทเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

(๑) การออกประกาศพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(๑.๑) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลถึงความล่าช้าของการจัดทำแผนความถี่วิทยุเพื่อการประกอบกิจการฯ ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากอยู่ในระหว่างขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการตามบทเฉพาะกาลมาตรา ๘๒ และ ๘๓ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ได้ จนอ้างเอาเหตุผลดังกล่าวเป็นเหตุให้ยังไม่อาจกำหนดแผนความถี่วิทยุฯ และพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้ โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศจำนวนมาก ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดในการกำหนดมาตรการชั่วคราว อีกทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการกำกับดูแลภายใต้ระบบการออกใบอนุญาต จึงอ้างเหตุดังกล่าวเป็นความจำเป็นในการออกประกาศพิพาทซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ที่กำหนดขึ้นตามความในมาตรา ๔๙ ซึ่งอ้างอีกว่าเมื่อผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้เสียแล้วก็มีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานทางเทคนิคขึ้นตามที่ปรากฏในประกาศพิพาท ซึ่งอ้างว่าเป็นประโยชน์และเป็นคุณแก่ผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศแล้ว และหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือเป็นการกล่าวอ้างว่าแผนแม่บทการประกอบกิจการฯ ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งย่อมจะต้องฟ้องเพิกถอนแผนแม่บทฯ ดังกล่าวภายใน ๙๐ วัน นั้น

ข้าพเจ้าและคณะได้พิจารณาโดยรอบหลายครั้งแล้ว ขอคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลในประเด็นดังกล่าวว่า การกำหนดมาตรการชั่วคราวสามารถดำเนินการให้เกิดความเสมอภาคในการประกอบกิจการได้และย่อมสามารถกำหนดมาตรการที่ยึดถือเอาสาระประโยชน์ของเนื้อหารายการเป็นสำคัญได้ นอกจากนี้ยังสามารถคุ้มครองหรือค้ำประกันผู้ประกอบการที่ไม่มีโฆษณาให้ได้รับสิทธิในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ให้แยกออกจากผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอยู่ดาษดื่น เนื้อหาก็ซ้ำๆ ไม่มีความแตกต่างส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความบันเทิงที่มีอยู่แล้วแม้ในผู้ประกอบการรายเดิม จนแย่งชิงเนื้อหาสาระอันเป็นประโยชน์ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ด้อยค่าลงไป ซึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหรือตัวแทน มักจะอ้างเสมอๆ ในเวทีต่าง ๆ ว่า จะส่งเสริม content ที่ดีมีเนื้อหาสาระ แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกลับมีพฤติกรรมกีดกันเครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ ซึ่งเผยแผ่รายการที่มีเนื้อหาสาระอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ และเป็นประโยชน์ต่อจิตใจประชาชน อ้างสาเหตุต่าง ๆ  แม้กระทั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังมีพฤติการณ์ที่หลอกล่อให้เปลี่ยนการยื่นคำขอใบอนุญาตจากประเภทบริการชุมชน ซึ่งใช้คลื่นภาคประชาชน มาเป็นคำขอใบอนุญาตประเภทบริการสาธารณะ ซึ่งใช้คลื่นภาครัฐที่ถือเป็นจุดด้อยหรือจุดอ่อนสำหรับประชาชนในทางกฎหมาย เพราะภาครัฐไม่คำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้ง ๆ ที่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบดีว่า เครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน จัดตั้งโดยภาคประชาชนอย่างแท้จริง ภาคประชาชนเป็นผู้บริจาคค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดในการดำเนินงาน รวมทั้งเข้ามาเป็นอาสาสมัครทำงานทั้งในสถานีวิทยุแม่ข่าย และสถานีวิทยุลูกข่าย ดังนั้นจึงเป็นวิทยุบริการชุมชนที่สมบูรณ์ถูกต้องทั้งโดยกฎหมายและข้อเท็จจริง

 

ซึ่งพฤติการณ์ต่าง ๆ นั้น ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเอกสารหลักฐาน รวมถึงเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ก็ได้ชี้แจงต่อศาลมาโดยลำดับมากเพียงพอแล้ว สรุปได้ว่า การกำหนดมาตรการชั่วคราวตามแผนแม่บทสามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๔๗ ที่มุ่งเน้นให้ใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้ประโยชน์ได้รับสาระประโยชน์สูงสุดทั้งในระดับชาติและภูมิภาค มิใช่มีการประกอบธุรกิจเพื่อดนตรีบันเทิงมากอยู่แล้วในผู้ประกอบการรายเดิมก็ยังปล่อยให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มุ่งธุรกิจเพื่อดนตรีบันเทิงให้มากหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งมีบทพิสูจน์ในทุกด้านมากเพียงพอแล้วว่า การส่งเสริมเนื้อหาด้านนี้มากเกินไปเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดกิเลสตัณหาภายในใจแก่ชนทุกระดับชั้น เกิดปัญหาด้านศีลธรรมและด้านสังคมต่างๆ มากมาย การกำหนดมาตรการชั่วคราวเช่นนี้สู้ไม่มี กสทช. ยังจะดีเสียกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง แทนที่จะมี กสทช. เพื่อเข้ามาจัดสรรสิ่งที่ดีงามตั้งแต่ต้นทางด้วยมาตรการชั่วคราว กลับไร้จิตสำนึกเพื่อสังคม ใช้คลื่นความถี่ที่มีจำกัดอย่างฟุ่มเฟือยที่สุดเพื่อสนองกิเลสตัณหาแก่ประชาชนสูงที่สุด ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์และประชาชนที่มีจิตใจรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างแท้จริงซึ่งยอมรับตามแผนแม่บทฯ แต่ย่อมไม่มีวันจะยอมรับมาตรการชั่วคราว “ที่กระตุ้นราคะตัณหาในสังคมไทย” เช่นที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำลังกระทำผ่านประกาศพิพาทเช่นนี้อีกต่อไปได้ การคว่ำบาตรของคณะสงฆ์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่เคารพบูชาพระธรรมวินัยยิ่งชีวิตจึงมีมติให้ลงนิคหกรรมคว่ำบาตรด้วยเหตุนี้ นอกจากนี้ประชาชนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ รายชื่อที่รวบรวมเพียง ๒๐ วัน ในช่วงที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก็ไม่อาจยอมรับร่างประกาศพิพาทในขณะนั้นได้ แม้จะอ้างคำเท็จต่อศาลว่าได้ปรับเปลี่ยนมาตรฐานทางเทคนิคจาก ๑๐๐ เป็น ๕๐๐ วัตต์ แล้วก็ตาม ประชาชนจำนวนดังกล่าวก็ไม่อาจยอมรับได้เพราะด้วยมาตรฐานทางเทคนิคดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์อย่างมหาศาลต่อผู้ประกอบการรายเดิมที่ส่วนใหญ่เน้นธุรกิจการบันเทิงเหนือสิ่งอื่นใดให้ได้รับสิทธิเสรีภาพแบบไม่มีขอบเขต ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศทุกรายกลับถูกลิดรอนสิทธิ์อย่างรุนแรงแม้จะบำเพ็ญประโยชน์เป็นที่ประจักษ์มากเพียงใดก็ตาม เมื่อมาตรการชั่วคราวเป็น “มาตรการที่ประหัตประหารพระพุทธศาสนาและสังคม” เช่นนี้ พระสงฆ์และประชาชนก็ไม่อาจยอมรับได้และจะไม่มีวันยอมรับได้โดยเด็ดขาด เพราะการรับฟังความคิดเห็นกลายเป็นโมฆะไปแล้วเมื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ฝ่าฝืนความต้องการของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก

หากยึดถือแนวคิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ลิดรอนสิทธิผู้ประกอบการรายใหม่โดยให้รอคอย การตรวจสอบผู้ประกอบการรายเดิมให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี และยังมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะปล่อยให้ล่าช้าเนิ่นนานเกินไปกว่า ๓ ปี อีกโดยอ้างว่าต้องรอผู้ประกอบการรายเดิมทุกรายให้ส่งคืนคลื่นทั้งหมดจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ทุกรายแบบที่เตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวแบบนี้ตลอดมา และทุกครั้งที่มีการหน่วงเหนี่ยว ก็จะพยายามกดขี่ข่มเหงผู้ประกอบการรายใหม่ที่แม้มิได้โฆษณาหากำไรในทางธุรกิจแต่ยังประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่สังคมด้วยความเสียสละอย่างยิ่งก็จะถูกบังคับให้เกิดความเสียเปรียบนายทุนธุรกิจทั้งหลายที่กอบโกยเอาคลื่นความถี่ของชาติมาเป็นเนื้อเป็นหนังเข้าสู่ตนอันเป็นพฤติการณ์ที่เห็นแก่ตัวภายใต้การสนับสนุนของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า ไม่มีจิตสำนึกแห่งความรักชาติแม้แต่น้อย  ด้วยเหตุนี้ การใช้มาตรการ “รอคอยนายทุนรายเดิม” หรือใช้ “มาตรการนายทุนดูดเอาผลประโยชน์ของตนมาเพื่อตนให้มากที่สุด” โดยกลั่นแกล้งหน่วงเหนี่ยวด้วย “มาตรการกดขี่ข่มเหงผู้ประกอบการที่ทำประโยชน์ต่อสถาบันหลักของชาติให้มากที่สุด” เช่นนี้ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและวิญญูชนพลเมืองดีทั้งหลายจะไม่มีวันยอมรับมาตรการป่าเถื่อนเช่นนี้โดยเด็ดขาด ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพราะข้าพเจ้าและคณะเชื่อมั่นว่า การตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นไปด้วยเหตุผลและความชอบธรรม แต่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่แอบอ้างเอาบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านี้มาใช้ด้วยมาตรการป่าเถื่อนเช่นนี้ก็เท่ากับกำลังเอาการตรากฎหมายที่ดีมาปู้ยี่ปู้ยำให้เสื่อมเสียไป มิใยต้องกล่าวซ้ำๆ ซากๆ ว่ามาตรการชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่านของผู้ถูกฟ้องคดีเช่นนี้ขัดแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างร้ายแรงให้ป่วยการด้วยเล่า

นอกจากนี้ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๔) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ เพื่อให้การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์เป็นไปอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของชาติ และเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ  โดยมีแนวทางข้อ ๙ “กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน” และมีตัวชี้วัดกำหนดให้ “มีหลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน”

ดังนั้น ย่อมมีความหมายชัดเจนในแผนแม่บทฯ อยู่แล้วว่า หากชุมชนใดไม่ว่าจะเป็นชุมชนเชิงพื้นที่หรือชุมชนเชิงความสนใจร่วมกันมีความพร้อมแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะต้องมีหลักเกณฑ์การส่งเสริมเพื่อให้ชุมชนนั้น ๆ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนโดยทันที มิชักช้า  ดังนั้นในเมื่อ เครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ทั่วประเทศที่ก่อตั้งโดย “ชุมชนผู้มีความสนใจร่วมกันในธรรมะคำสอนของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”  มีความพร้อมทั้งด้านจิตใจที่มุ่งมั่นศรัทธา มีบุคลากร อุปกรณ์ โครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจน รวมถึงมีชุมชนที่ให้การสนับสนุน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองควรจะออกประกาศหลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและกำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ ปัญหาที่ค้างคาที่ศาล ย่อมยุติลงไปได้

               แผนแม่บทฯ ยังส่งเสริมให้ชุมชนได้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียง โดยกำหนดในตัวชี้วัด ข้อ ๙ โดยกำหนดให้มีหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ และการส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่ในกิจการบริการชุมชนด้านกิจการกระจายเสียง ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการภายใน ๒ ปี

               ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่จำเป็นต้องรอให้ครบเวลา ๒ ปีก่อนแล้วจึงจัดสรรคลื่นความถี่ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ให้กับชุมชน  ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองควรเร่งรัดการออกประกาศการส่งเสริมให้ชุมชนทั้งชุมชนเชิงพื้นที่และเชิงความสนใจร่วมกัน ได้ใช้คลื่นความถี่ในสัดส่วนดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบัน วิทยุบริการชุมชนที่เป็นประโยชน์สาธารณะและไม่มีโฆษณา เพื่อแสวงหากำไรในทางธุรกิจ ได้ถูกวิทยุธุรกิจเบียดบังสัดส่วนของคลื่นความถี่ไป ทำให้เกิดปัญหาคลื่นเบียด คลื่นรบกวน

(๑.๒) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงต่อศาลถึงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนในคำให้การฉบับลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๖ นั้น เป็นเพียงการชี้แจงถึงเหตุผลและที่มาของการเกิดสถานีวิทยุจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาไร้การกำกับดูแล และเกิดการรบกวน มีผลต่อความมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชน เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องใช้อำนาจในการออกประกาศพิพาทโดยอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ปราศจากการรบกวน หาได้เป็นการกล่าวอ้างมติคณะรัฐมนตรีในลักษณะของการรับรองการมีผลของมติคณะรัฐมนตรีตามที่ผู้ฟ้องคดีเข้าใจคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด นั้น

ข้าพเจ้า พระสงฆ์และประชาชน ขอเรียนต่อศาลว่า ประสิทธิภาพดังกล่าวมุ่งเน้นเพียงด้านเทคนิคเท่านั้น  หาได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในทางเนื้อหาสาระแต่อย่างใดไม่

เว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน หัวข้อ คลังความรู้ ได้ให้ความหมายของประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนี้

“ประสิทธิผล หมายถึง ผลสำเร็จ หรือผลที่เกิดขึ้น เช่น แผนงานที่ดีต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และใช้แล้วเกิดประสิทธิผลยาที่มีประสิทธิผล ใช้แล้วต้องทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้น  การที่ประชาชนออกไปเลือกตั้งกันอย่างพร้อมเพรียง แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการประชาสัมพันธ์ 

คำว่า ประสิทธิผล มีความหมายต่างจากคำว่า ประสิทธิภาพ   ถึงแม้จะดูคล้ายกันและใช้ในบริบทเดียวกันได้ เช่นพูดว่า การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ หรือ การบริหารงานที่มีประสิทธิผล ก็ได้ แต่ความหมายต่างกัน. คำว่า ประสิทธิภาพ เน้นกระบวนการที่ดีซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ ส่วน ประสิทธิผล เน้นผลสำเร็จหรือประโยชน์ที่ได้”

คำว่า “ประสิทธิภาพ” ยังมีนัยยะในเชิงคุณภาพเกี่ยวกับสาระประโยชน์ของเนื้อหารายการอีกด้วย ที่ย่อมมีประโยชน์มีความสำคัญจำเป็นที่แตกต่างกัน เนื้อหารายการบางอย่างเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตอย่างยิ่ง บางอย่างไม่จำเป็น บางอย่างเป็นโทษอย่างมหันต์ด้วยซ้ำไป จึงไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะเน้นย้ำแต่เพียงการรบกวนคลื่นเท่านั้น โดยไม่แยกแยะความสำคัญจำเป็น ประโยชน์หรือโทษที่มากน้อยตามลำดับความสำคัญอันเป็นหน้าที่หลักขั้นสูงสุด จากนั้นจึงพิจารณาในขั้นการรบกวนคลื่นเป็นลำดับถัดไป กล่าวแบบภาษาธรรมได้ว่า ประสิทธิภาพที่ด้อยจากการรบกวนคลื่นไม่เป็นพิษเป็นภัยยิ่งกว่าประสิทธิภาพที่ด้อยจากเนื้อหารายการ สังคมจะมีศีลหรือทุศีลทำร้ายทำลายกันและกันอย่างรุนแรงได้มากน้อย ล้วนมาจากการได้รับอิทธิพลจากการบริโภคสื่อ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงควรให้น้ำหนักการชี้แจงต่อศาลในประสิทธิภาพเชิงคุณภาพยิ่งกว่าเพียงแค่คลื่นที่สามารถแก้ไขได้โดยง่ายในทางเทคนิค นอกจากนี้ หากจะพิจารณาถึงประสิทธิผลโดยภาพรวมในการกำกับดูแลสื่อของ กสทช. จะเห็นได้ว่า สื่อทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์มีโฆษณาสินค้าลามกอนาจาร รวมทั้งการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ทางสถานีวิทยุก็ยังคงมีอย่างดาษดื่น ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่เจ้าหน้าที่ของ กสทช.ยังได้กล่าวในที่ประชุมแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๔  กันยายน ๒๕๕๖ ในทำนองว่า “ขณะนี้(ทีวีดาวเทียม) มีแต่โฆษณาสินค้าเกี่ยวกับทางเพศ ไม่อยากให้คุณสามีซื้อมาใช้” และคุณประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ยังได้กล่าวขึ้นในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ในทำนองตั้งเป็นคำถามต่อผู้ถูกฟ้องคดีว่า ทำไม “สถานีที่หมิ่นสถาบันมีตั้งเยอะแยะ ทำไม กสทช.ไม่จัดการ ?”

ดังนั้น ในเมื่อประกาศพิพาทไม่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล และยังทำความเดือดร้อนเสียหายให้กับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ รวมถึงล่วงละเมิดสิทธิของชุมชนที่มีมาก่อนการจัดตั้ง กสทช. เสียอีก ดังนั้น คำกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่า ประกาศพิพาทมีความจำเป็น “เพื่อประสิทธิภาพ” เพื่อเป็นการควบคุมเนื้อหาต้องห้าม จึงเป็นคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยของผู้ถูกฟ้องคดี เพียงเพื่อกีดกันสถานีวิทยุภาคประชาชนที่บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะโดยใช้สิทธิตามกฎหมายอย่างถูกต้องมาโดยตลอด

ทั้งๆ เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นประโยชน์ทางด้านเนื้อหารายการที่บังเกิดขึ้นแก่ประชาชนเป็นสำคัญ การแอบอ้างเอาประสิทธิภาพในการรับฟังมาเป็นเหตุ แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นผู้ประกอบการรายเดิมได้รับประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ประกอบการอีกกลุ่มหนึ่ง จึงไม่อาจอธิบายได้อย่างสง่างามได้เลยว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีนั้นใช้อำนาจหน้าที่เป็นไปเพื่อสร้างประสิทธิภาพเฉพาะนายทุนรายเดิมที่ผูกขาดมายาวนานกว่ากึ่งศตวรรษให้การผูกขาดแน่นหนามั่นคงเป็นการถาวรใช่หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ การยกเอาประสิทธิภาพที่ไม่รบกวนคลื่นมาเป็นข้ออ้างหลักเพื่อเบียดบังผู้ประกอบการรายใหม่ที่ดีที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริงตลอดมาให้ต้องสูญเสียพื้นที่กระจายเสียงไปด้วยข้อกล่าวอ้างเพียงเท่านี้ ย่อมไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้

ส่วนประเด็นมติคณะรัฐมนตรีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ชี้แจงต่อศาลว่าตนมิได้กล่าวอ้างมติในลักษณะของการรับรองการมีผลของมตินั้น ข้าพเจ้าและคณะเห็นว่าเป็นการสมควรแล้วเพราะมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวหาได้มีอำนาจผูกพันใดๆ แก่บรรดาผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงชุมชนอย่างหนึ่งอย่างใดไม่     

ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ได้เรียนต่อศาลมาแล้วทั้งในครั้งนี้และในคำให้การครั้งก่อน จึงขอเรียนยืนยันว่า ประกาศพิพาทเป็นประกาศที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  

 

(๒) ประกาศพิพาทขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

คำชี้แจงที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้กล่าวต่อศาลว่าประกาศพิพาทของตนไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น หากกล่าวภาษาชาวบ้านเปรียบการกล่าวอ้างดังกล่าวว่ามีลักษณะของ “นกแก้วนกขุนทอง” ปราศจากเหตุผลโดยชอบ ดังที่ได้เรียนต่อศาลโดยละเอียดตลอดมาแล้ว การที่คนๆ หนึ่งจะกล่าวรับศีลได้คล่อง พูดข้องดเว้นได้ถูกต้องทั้งอักขระและฐานกรณ์ก็หาได้แสดงถึงการเป็นผู้มีกายวาจาใจที่สมบูรณ์ด้วยศีลไม่ ข้อปฏิบัติที่ไม่เกิดการละเมิดที่แท้จริงต่างหากจึงจะถือว่าเป็นผู้มีศีลที่สมบูรณ์ฉันใด การกล่าวว่าตนทำตามมาตรานั้นมาตรานี้เพียงหยิบยกเอามาบรรยายต่อศาลทั้งที่ความจริงได้ประจักษ์แล้วว่า ประกาศพิพาทได้สร้างบรรทัดฐานที่แตกต่างเกิดความเหลื่อมล้ำกันเป็นอันมากระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ ดังนั้น แม้จะท่องจำมาตราต่างๆ ได้คล่องแคล่วเพียงใด แต่เมื่อผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการเช่นนี้ ก็ต้องถือว่าขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยแท้ เฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนาเป็นของประเสริฐเลิศโลกที่บูรพมหากษัตริย์ไทยและบรรพบุรุษต่างยอมรับนับถือให้ความยกเว้นในสิ่งที่เป็นไปเพื่อการส่งเสริมเพื่อยกระดับจิตใจและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้นซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเนื้อหาสาระที่เป็นไปเพียงเพื่อการดำรงชีวิตของสัตว์โลกหรือเป็นไปเพื่อสนองกิเลสตัณหาของสัตว์โลกเท่านั้น ในขณะที่ธรรมะสามารถยกระดับจิตใจของสัตว์โลกให้กลายเป็นพระอริยบุคคลที่เลิศโลกได้อย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ บรรพชนและวิญญูชนในปัจจุบันทั้งหลายจึงให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษแก่พระพุทธศาสนา ปรากฏอยู่ในราชประเพณี จารีตประเพณี สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ แม้กระทั่งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญก็มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมเป็นกรณีพิเศษ หากจะขอหยิบยกเอาถ้อยคำที่ศาลปกครองกลางใช้ในวันที่ทำการไต่สวน ข้าพเจ้าและคณะจะขออนุญาตใช้คำของศาลที่ว่า “เป็นการเลือกปฏิบัติโดยชอบ” เพื่อยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่มหาชนและชาติบ้านเมือง

ในทางตรงกันข้าม ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนาแบบเหยียบย่ำทำลายให้ด้อยค่าไปกว่าขอบเขตของสิทธิที่ผู้ประกอบการรายเดิมได้รับอย่างน่าสมเพชเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ข้อปฏิบัติจริงที่แสดงออกมาให้สาธารณชนและวิญญูชนได้สังเกตเห็นต่างเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า เป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ไม่คำนึงถึงหลักการตามบทบัญญัติในมาตรา ๔๗ ที่มุ่งเน้นความมั่นคงของรัฐเป็นสำคัญทั้งๆ ที่ต่างก็ทราบดีอยู่แล้วว่าพระพุทธศาสนาก็คือความมั่นคงของรัฐนั่นเอง จะไม่ต้องกล่าวไปใยถึงมาตรา ๓๐, ๓๗, ๔๕, ๖๖, ๗๙ และ ๘๐ (๖) ของรัฐธรรมนูญที่ล้วนแล้วแต่มีเจตนารมณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการใช้สื่อ ซึ่งในที่นี้เป็นไปเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น การออกประกาศพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีนอกจากจะเหยียบย่ำสื่อเพื่อพระพุทธศาสนาให้ด้อยค่ากว่าสื่อธุรกิจบันเทิงรายเดิมแล้ว ยังตีค่าเสมอสื่อธุรกิจบันเทิงรายใหม่จำนวนมากกว่า ๖,๕๐๐ สถานี ว่าการให้ประโยชน์ในทางธรรมไม่ได้แตกต่างไปกว่าการให้ประโยชน์ในทางบันเทิงเพื่อความสุนทรีหรือผ่อนคลายทั้งๆ ที่การประพฤติปฏิบัติขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาได้ก้าวข้ามความเพลิดเพลินบันเทิงทั้งหลายในโลกียวิสัยให้ผ่านพ้นไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว การนำเอาเนื้อหารายการที่อยู่ในโลกียวิสัยมาเปรียบเทียบกับโลกุตตรวิสัยจึงฟ้องถึงวุฒิภาวะในทางพระพุทธศาสนาของผู้ถูกฟ้องคดีที่แตกต่างจากบูรพกษัตริย์และบรรพชนอย่างสิ้นเชิง และวุฒิภาวะดังกล่าวย่อมเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง มิใช่จากผู้ใด แต่การบ่อนทำลายดังกล่าวเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่ใช้ภาษีอยู่ในองค์กรของรัฐนั่นเอง ซึ่งจอมปราชญ์ทั้งหลาย ตลอดถึงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและประชาชนย่อมไม่อาจยอมรับวุฒิภาวะที่เป็นการบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติได้อย่างเด็ดขาด แม้ต้องสละชีวิตเพื่อให้ได้สามารถดำรงพระพุทธศาสนาผ่านสื่อได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีกว่าบรรดาสื่อต่างๆ ก็สามารถยอมพลีให้ได้ แต่จะยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการที่ย่ำยีพระพุทธศาสนา ย่ำยีหัวใจของบูรพกษัตริย์ และย่ำยีซากศพของบรรพชนผู้ยอมพลีชีวิตเพื่อกอบกู้ไว้ซึ่งชาติศาสนาให้ดำรงคงอยู่ในผืนแผ่นดินนี้มาได้นับพันๆ ปีเช่นนี้

ข้าพเจ้าและคณะขอเรียนต่อศาลอย่างมั่นใจได้เลยว่า ไม่มีผู้ที่รักเทิดทูนพระพุทธศาสนายิ่งชีวิตคนใดยอมให้อภัยในโทษความผิดครั้งนี้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีได้อย่างเด็ดขาด บทบัญญัติที่ถูกวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดจึงไม่มีน้ำหนักยิ่งกว่าความจริงที่กำลังเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนขึ้นทุกวันแล้วในขณะนี้ว่า การตีค่าพระพุทธศาสนาผ่านสื่อของผู้ถูกฟ้องคดีมีความเคารพเทิดทูนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้การคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษแก่พระพุทธศาสนาจริงหรือไม่ อย่างไร

อนึ่ง ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า มาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น เป็นการกำหนดหลักการในการบริหารจัดการประเทศเฉพาะในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติไว้เท่านั้น แต่กรณีนี้เป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้งานคลื่นความถี่ ซึ่งมาตรา ๔๗ แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้บัญญัติไว้เป็นการชัดแจ้งแล้วนั้น คำกล่าวต่อศาลเช่นนี้ยิ่งสะท้อนถึงความพยายามในการแยกพระพุทธศาสนาออกไปให้พ้นจากการวินิจฉัยแม้เมื่อเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณี และโดยที่พระพุทธศาสนาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยอย่างผสมกลมกลืนสืบเนื่องติดต่อกันมายาวนานนับพันปี นอกจากนั้น บรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็บรรจงตราบทบัญญัติดังกล่าวเอาไว้รองรับอย่างชาญฉลาด เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทหาจุดตัดสินใจที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่กรณีที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับอธิปไตยและความมั่นคงของชาติจะได้หยิบยกเอาจารีตประเพณีในการบริหารจัดการประเทศตามบทบัญญัติดังกล่าวมาเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจโดยไม่ใช้ดุลพินิจส่วนตัวที่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญหรือขาดความลึกซึ้งแยบคาย ยิ่งกว่านั้นอาจเป็นดุลพินิจที่ด้อยวุฒิภาวะและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติก็เป็นได้ จึงตราบทบัญญัติดังกล่าวเอาไว้เสมือนเป็น “เบรกห้ามล้อ” มิให้ก้าวข้ามไปไกลกว่าหลักการในการบริหารจัดการประเทศที่ยึดหลักการในพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องตัดสินใจในยามบ้านเมืองต้องประสบกับวิกฤติการณ์ตลอดมาให้มีหลักธรรมเป็นที่ยึดเหนี่ยวมิให้ชาติต้องสลายล่มจมได้ในที่สุด ซึ่งแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทหารตำรวจหรือแม้กระทั่งครูบาอาจารย์จะตระหนักถึงความสำคัญในบทบัญญัติในข้อนี้ กลับตีความแบบเหยียบย่ำทำร้ายให้บทบัญญัติที่ตราไว้ด้วยความฉลาดแหลมคมอันเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติไว้สูงสุดต้องกลายเป็นบทบัญญัติที่ถูกแยกไว้ต่างหากเป็นคนละส่วนกันมิให้นำมาพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องคลื่นความถี่แต่อย่างใดไม่ ซึ่งบ่งบอกถึงแนวคิดที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ หากจะยกตัวอย่างกรณีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำรัสจำนวนไม่น้อยที่แสดงถึงสามารถน้อมนำปรัชญาดังกล่าวมาใช้ได้ในทุกที่ทุกสถานไม่เว้นแม้การบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างยิ่งจึงต้องน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเป็นหลักคิด และโดยที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือเศรษฐกิจในเชิงพระพุทธศาสนานั่นเอง แล้วไฉนจะไม่น้อมนำมาใช้เป็นเครื่องตัดสินใจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยเล่า กล่าวโดยสรุป การนำข้อกฎหมายมาบังคับใช้ย่อมต้องพิจารณาบทบัญญัติในทุกมาตราที่เกี่ยวข้อง เพราะทุกมาตราเป็นไปเพื่อป้องกันมิให้ผู้นำกฎหมายไปใช้ในทางที่ผิดหรือทำตามอำเภอใจ แต่ต้องใช้โดยมิให้ขัดแย้งต่อบทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การตีความเพื่อแยกบทบัญญัติในข้อ ๗ ให้ขาดออกจากบทบัญญัติในข้อ ๔๗ จึงยิ่งเป็นการสะท้อนถึงแนวคิดของผู้ถูกฟ้องคดีอย่างรุนแรงว่า สื่อของชาติในขณะนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติร้ายแรงเพียงใด

 

(๓) ประกาศพิพาทส่งผลเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมแก่การประกอบการของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายเดือดร้อน

(๓.๑) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า บทบัญญัติตามมาตรา ๗๓, ๗๔ และ ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ หมายความถึงผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งไม่จำกัดหรือเฉพาะเจาะจงว่า จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินบริการวิทยุกระจายเสียงหรือประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงจาก กสช. แต่อย่างใด นั้น

ข้าพเจ้าและคณะขอคัดค้านอย่างรุนแรงว่า เป็นการตีความที่ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ ต่างมีเจตนารมณ์ตรงกันให้องค์กรอิสระเป็นผู้พิจารณาอนุญาตเสียก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการทำสัญญา สัมปทาน หรือออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการรายเดิมมิได้หมายความว่าจะชอบด้วยกฎหมายเสมอไป มีกรณีตัวอย่างไม่น้อยที่เกิดการปลอมแปลงใบสัญญาหรือแอบฮั๊วตกลงแก้ไขต่ออายุสัมปทานกันเองเพราะต่างมีผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกัน การก่อตั้งองค์กรอิสระขึ้นก็เพื่อเข้ามาชำระสะสางให้รู้จักปล่อยปละละวางการผูกขาดสื่อไว้กับรัฐและทุนมายาวนานสร้างฐานะร่ำรวยแก่บุคคลเพียงกลุ่มเดียวเพื่อสนองเนื้อหารายการที่มุ่งเน้นอำนาจรัฐและทุนอย่างยิ่งยวด จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่คร่าชีวิตประชาชนไปไม่น้อย โดยสื่อทุกแขนงกลับจงใจปิดกั้นบังตาไม่ให้ทราบข้อมูลความจริงทั้งหลาย จนกลายเป็นเหตุแห่งการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อในที่สุด ด้วยเหตุเช่นนี้ การตีความข้างต้นของผู้ถูกฟ้องคดีจึงสวนทางต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์อย่างร้ายแรง เป็นการตีความเพื่ออุ้มการผูกขาดและเพื่อเอื้อประโยชน์อย่างมหาศาลให้เป็นไปในระบบเดิมที่ประชาชนและนักวิชาการในสังคมไม่อาจยอมรับอีกต่อไปได้ ข้าพเจ้า พระสงฆ์ และประชาชน จึงขออำนาจศาลวินิจฉัยในประเด็นให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริงด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่เป็นอุปสรรคขัดขวางและเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงยิ่งต่อกระบวนการเพื่อการปฏิรูปสื่อที่ย่อมไม่อาจกระทำให้เกิดขึ้นจริงได้แบบถาวรเลยก็เป็นได้

 (๓.๒) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า ด้วยผลของมาตรา ๓๐๕ (๑) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่บัญญัติโดยสรุปตรงกันว่า ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ได้กระทำขึ้นก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกอบมาตรา ๗๓, ๗๔ และ ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่อาจกำหนดเงื่อนไขหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิและขอบเขตในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงของหน่วยงานดังกล่าวได้ นั้น

ข้าพเจ้าและคณะขอเรียนต่อศาลในประเด็นนี้ว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวคุ้มครองเฉพาะการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้มีอำนาจหน้าที่มาพิจารณาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเมื่อบทเฉพาะกาลในมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติให้ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสช. เป็นการชั่วคราวไปก่อนเพื่อจะได้นำการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาเหล่านั้นมาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีอายุยาวนานเพียงใด แต่เมื่อมี กทช. ดังกล่าวแล้วสำนักงาน กทช. กลับจงใจฝ่าฝืนอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ด้วยการไม่บังคับใช้ร่างประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตของผู้ประกอบการรายเดิมจึงเป็นเหตุให้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องกลายเป็นโมฆะไปในทันทีทั้งๆ ที่อายุ กทช. ก็ยืนยาวกว่า ๔ ปี มีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณาโดยละเอียด ก็ในเมื่อเป็นความผิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน กทช. ซึ่งก็คือสำนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีในขณะนี้ ก็ย่อมต้องตีความข้อกฎหมายเพื่อให้ตนพ้นผิดที่ได้ก้าวล่วงมามากแล้ว หากกลับตัวกลับใจเสียใหม่สร้างความเป็นธรรมขึ้นมาในสังคม พระสงฆ์และประชาชนย่อมพอยอมรับและให้อภัยได้ แต่หากดื้อรั้นดันทุรังจะทำสิ่งผิดให้กลายเป็นถูกขึ้นมาทั้งที่เป็นซากศพที่เหม็นคลุ้งไปถ้วนทั่วแล้วเช่นนี้ย่อมมีแต่จะหนักหนาสาหัสไปหน้า ผิดทั้งปัจจุบันไม่แล้ว ยังผิดหนักไปถึงอนาคตกาลที่ได้ตีความเพื่อทำผิดให้ถูกจนเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระเทือนไปถึงสื่อเพื่อพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นการสร้างกรรมที่หนักอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจึงขอสรุปความลงที่อำนาจศาลเท่านั้นที่จะยังความสงบร่มเย็นเป็นธรรมยังความเสมอภาคกลับคืนมาสู่สื่อเพื่อพระพุทธศาสนาได้

(๓.๓) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า ประกาศพิพาทกำหนดขึ้นเพื่อเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตด้วยกฎหมายมาแต่เดิมได้เข้าสู่กระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนการพิจารณาออกใบอนุญาตต่อไป จึงไม่มีเหตุที่จะต้องกำหนดให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่เดิมจะต้องอยู่ในบังคับของประกาศพิพาทแต่อย่างใด นั้น

ข้าพเจ้าและคณะขอเรียนต่อศาลว่า การเตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้ประกอบการภาคประชาชนที่ไม่โฆษณาที่มีความพร้อมมานานแล้วด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดี มีข้อมูลในเชิงวิชาการและมีข้อกฎหมายรองรับ อีกทั้งยังเป็นผลมาจากมติ กทช. ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวโยงผูกพันมาถึง กสทช. อย่างสมบูรณ์เช่นนี้ เหตุใดจึงไม่พิจารณาอนุญาตให้มีสถานภาพที่ขึ้นมาทัดเทียมผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งไม่กำหนดขอบเขตมาตรฐานทางเทคนิคไว้แบบตายตัว แต่มีความยืดหยุ่นเหมาะสมตามกำลังความสามารถที่ได้ดำเนินมาโดยวันเริ่มต้นของการก่อตั้งไม่ได้รบกวนคลื่นความถี่ใดมาก่อน ทั้งๆ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทราบถึงความพร้อมของมูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นอย่างดีว่าพร้อมมานานแล้ว เหตุใดจึงลิดรอนสิทธิด้วยประกาศพิพาทซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวสำหรับผู้ไม่มีความพร้อม แต่เมื่อมีความพร้อมแล้วเหตุใดจึงไม่ยกระดับให้ได้ขอบเขตของสิทธิที่ไม่ตายตัวอย่างเสมอภาคเช่นเดียวกับรายเดิมซึ่งก็ตกอยู่ในมาตรการชั่วคราวเพื่อการคืนคลื่นด้วยเช่นเดียวกัน จึงเป็นการกำหนด “มาตรการชั่วคราว” แบบ ๒ หลักเกณฑ์ ๒ มาตรฐาน ที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ทราบเป็นอย่างดียิ่งว่า เมื่อผู้ประกอบการทั้ง ๒ กลุ่ม ผ่านพ้นมาตรการชั่วคราวของแต่ละกลุ่มแล้วก็จะต้องเข้าสู่ระบบมาตรฐานเดียวกันอย่างแท้จริง จึงสามารถสรุปได้ว่า การกำหนดมาตรการดังกล่าวด้วยหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันเช่นนี้ เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดแจ้งที่สุด ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น ข้อกล่าวอ้างที่ว่าผู้ประกอบการรายเดิมนั้นได้รับใบอนุญาตโดยชอบมาตั้งแต่ต้นก็เป็นเท็จ เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่อาจนำใบพยานหลักฐานใดที่ผ่านการพิจารณาว่าชอบด้วยกฎหมายแล้วตามบทบัญญัติในมาตรา ๓๐๕ (๑) แห่งรัฐธรรมนูญภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสช. แต่อย่างใดไม่ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่อำพรางไว้ซึ่งความทุจริตผิดธรรมจนพระสงฆ์และประชาชนไม่อาจเชื่อถือไว้วางใจได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ในเมื่อความจริงปรากฏได้ว่า บรรดาผู้ประกอบการรายเดิมทุกรายล้วนแล้วแต่ไม่ผ่านการพิจารณาอนุญาตจาก กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสช. และแม้เมื่อเป็น กทช. รักษาการ กสทช. แล้วก็ยังไม่รีบเร่งแก้ไขในความผิดที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน และสัญญา จนเป็นโมฆะซ้ำซ้อนหนักยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น เมื่อบัดนี้มี กสทช. แล้ว จะถือเอาความโมฆะเช่นนี้ไปเข้าในระบบอื่นมิได้อีกต่อไป ย่อมต้องเข้าสู่กระบวนการที่ใช้หลักเกณฑ์อันเดียวกัน ซึ่งในที่นี้หากเข้าสู่ประกาศพิพาทฉบับเดียวกันด้วยมาตรฐานเดียวกันแล้วไซร้ ข้าพเจ้าและมูลนิธิเสียงธรรมฯ ก็ไม่มีประเด็นโต้แย้งในการเลือกปฏิบัติโดยมิชอบระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมกับรายใหม่อีกต่อไป เพราะผู้ประกอบการทุกรายล้วนใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานอันเดียวกันซึ่งเป็นธรรมที่เหมาะสมดีแล้ว แม้สื่อเพื่อพระพุทธศาสนาจะเป็นสิ่งเลิศประเสริฐยิ่งกว่าบรรดาสื่อทั้งปวงในโลกด้วยหลักสัจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสไว้โดยชอบแล้ว แต่หากไม่กำหนดให้ใช้มาตรฐานเทคนิคที่ทำให้พระพุทธศาสนาดูด้อยค่าด้อยราคาไปกว่ามาตรฐานเทคนิคของสื่อธุรกิจเพื่อสิ่งบันเทิงที่มีอยู่ดาษดื่นหาสาระแก่นสารอันใดมิได้แล้ว ข้าพเจ้ามั่นใจว่าพระสงฆ์และประชาชนย่อมพอจะยอมรับมาตรฐานดังกล่าวที่เท่าเทียมกันได้ แต่หากยังยืนยันว่าประกาศพิพาทเป็นธรรมที่สามารถสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างสุดโต่งสองด้านระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่เช่นนี้ ก็เท่ากับผู้ถูกฟ้องคดีกำลังประกาศความเป็นโมฆะให้ประกาศพิพาทที่ผู้ดีในสังคมทั้งหลายไม่อาจยอมรับและปฏิบัติตามได้

(๓.๔) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า หากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกำหนดมาตรฐานเทคนิคในประกาศพิพาทก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเป็นเหตุให้มีมาตรฐานที่ไม่เท่ากัน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในคำฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีสมควรกำหนดมาตรฐานเทคนิคในการทดลองแก่ผู้ได้รับสิทธิทดลอง รวมถึงสถานีของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ให้เท่ากับผู้ประกอบการรายเดิมรายใด หรือสถานีของผู้ฟ้องคดีมีลักษณะเทียบเท่ารายเดิมรายใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่อาจจะชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลต่อศาลได้อย่างถูกต้องครบถ้วน นั้น

 ข้าพเจ้าและคณะขอเรียนต่อศาลว่า มาตรฐานเทคนิคของผู้ประกอบการรายเดิมในขณะนี้ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างตายตัว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้กับผู้มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งหากนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้กับกรณีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่โฆษณาแสวงหากำไรที่มีกฎหมายประกันสัดส่วนไว้แล้วว่าต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ หรือประเภทบริการสาธารณะที่ไม่โฆษณาหากำไรในทางธุรกิจก็เป็นการสมควรที่จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับผู้ประกอบการรายเดิมที่ไม่กำหนดมาตรฐานเทคนิคไว้อย่างตายตัว เพราะการกระจายเสียงที่ไม่โฆษณาสินค้าต่างๆ นั้นย่อมไม่คุ้มค่ากับการลงทุน การประกอบการย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์แท้จริงถึงความเสียสละเพื่อส่วนร่วมจนยอมนำทรัพย์สินในกลุ่มของตนนำมาใช้กระจายเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ประกอบการวิทยุประเภทบริการชุมชนและบริการสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจรวมกันแล้วทั่วประเทศมีเพียง ๕๐๐ –๖๐๐ รายเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นทางธุรกิจรายใหม่มีมากถึง ๖,๕๐๐ ราย จึงล้ำเส้นสัดส่วนที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการสมควรยิ่งที่จะต้องถัวเฉลี่ยบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจทุกรายไม่ว่าเก่าหรือไม่ให้มีมาตรฐานเทคนิคที่ลดลงเพราะการปล่อยให้กลุ่มนี้มีสัดส่วนมากจนเกินขอบเขตซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจงใจปล่อยปละละเลยไม่บริหารจัดการตามอำนาจหน้าที่จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้นำทรัพยากรคลื่นซึ่งเป็นสมบัติของชาติมาอีลุ่ยฉุยแฉกหากินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนมากล้นจนเกิดการรบกวนคลื่นซึ่งกันและกัน ความผิดที่คลื่นรบกวนไม่มีประสิทธิภาพและการใช้คลื่นอย่างฟุ่มเฟือยไม่มีประสิทธิภาพ ผ่านมาหลายปีแล้วก็ไม่มีการบริหารจัดการเกี่ยวกับสัดส่วน แม้ออกประกาศพิพาทบังคับใช้ก็ไม่เน้นการจัดการเกี่ยวกับสัดส่วนผู้ประกอบการและเนื้อหารายการเป็นสำคัญเช่นนี้ ยังกล้ากล่าวอ้างกับศาลอีกว่า ตนได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างดียิ่งจนเกิดความอยุติธรรมในสังคมได้ถึงเพียงนี้

กล่าวโดยสรุป ข้าพเจ้าและคณะจึงขอยืนยันในหลักการที่ต้องใช้มาตรฐานเทคนิคของรายใหม่ที่เสมอภาคกับรายเดิม ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจทั้งรายเดิมและรายใหม่ก่อนเข้ากระบวนการประมูลต้องลดกำลังส่ง ความสูงเสาและพื้นที่กระจายเสียงให้ลดต่ำลงอย่างเสมอภาคก่อน อันเป็นการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมแท้จริง จากนั้นจึงประมูลตามกฎหมายเพื่อลดสัดส่วนลงให้เกิดความเหมาะสม นี่คือหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมที่สุดแล้วที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่เคยคิดกระทำ จนเป็นเหตุให้คลื่นความถี่เกิดความเหลื่อมล้ำในมาตรฐานเทคนิคและถูกใช้สอยไปเพื่อบำรุงบำเรอคลื่นธุรกิจบันเทิงเกือบหมดสิ้นจนล้ำเส้นเบียดบังสัดส่วนคลื่นประเภทอื่นที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงให้ถูกลิดรอนไปอย่างน่าเวทนาอย่างยิ่ง

(๓.๕) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า ตนมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลให้ผู้ประกอบการรายเดิมสามารถประกอบกิจการตามขอบเขตและสิทธิเดิมที่มีอยู่จนกว่าจะถึงระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการห้ามมิให้รายเดิมเพิ่มกำลังส่งตามที่ผู้ฟ้องคดีประสงค์ได้ โดยหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามีรายเดิมบางรายออกอากาศผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า ประเด็นที่กล่าวอ้างนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทในคดี อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีได้ตรวจสอบคำฟ้องและคำให้การแล้วไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงว่ารายเดิมรายใดที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและผู้ถูกฟ้องคดีละเลยการกำกับดูแลรายดังกล่าวอย่างไร นั้น

ข้าพเจ้า พระสงฆ์และประชาชนขอยืนยันต่อศาลว่า มีพระสงฆ์และประชาชนได้เห็นด้วยสายตาตนเองในบรรดารายเดิมหลายรายที่เป็นสถานีวิทยุของทหาร ตำรวจ กระทรวง รัฐวิสาหกิจ ที่ใช้กำลังส่งเกินกว่าขอบเขตที่ได้จดทะเบียนไว้ หากศาลประสงค์จะรู้ความจริง พระสงฆ์และประชาชนยินดีเข้าชี้แจงความจริงโดยระบุสถานีดังกล่าวที่พบเห็นด้วยสายตาตนเองทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเพราะมีศิษยานุศิษย์ขององค์หลวงตาฯ ทำงานอยู่ในสถานีเหล่านั้น เหตุที่ยังไม่กล่าวในเวลานี้เพราะเกรงจะกระทบกระเทือนต่อบุคคลผู้ทำงานประจำสถานีเหล่านั้น แต่หากศาลประสงค์จะทราบความจริงถึงการจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่เที่ยวหาเรื่องหาราวจับผิดและกีดกันเฉพาะรายใหม่ที่มุ่งหน้าทำเพื่อสังคมไม่ให้เข้าในระบบอย่างไม่เป็นการสมควรเช่นนี้ พระสงฆ์และประชาชนที่เคยได้เข้าชมเครื่องส่งของสถานีเหล่านั้นก็ยินดีจะชี้แจงโดยตรงต่อศาลเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่ามิได้กล่าวอย่างเลื่อนลอย ส่วนการกำกับดูแลที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นไม่จำเป็นต้องมีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษ เพราะแม้จนบัดนี้สถานีเหล่านั้นก็ยังคงใช้กำลังส่งเกินกว่าขอบเขตที่ตนเคยจดแจ้งไว้อย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีสามารถใช้เครื่องวัดตรวจสอบได้อย่างง่ายดาย การแกล้งไม่รู้ทั้งที่ตนมีเครื่องมือที่สามารถเข้ารู้ได้ในชั่วพริบตาเดียวเช่นนี้ ในทางพระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นการกล่าวมุสาวาทกรรมต่อศาลอย่างร้ายแรงเช่นกัน กล่าวสรุปในประเด็นนี้ได้ว่า      จนถึงบัดนี้ข้าพเจ้าและคณะยังกล้ายืนยันอย่างแข็งขันต่อศาลว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่อย่างยิ่งในการกำกับดูแลรายเดิมจนเป็นเหตุให้ใช้มาตรฐานเทคนิคเกินกว่าขอบเขตที่ตนเคยได้รับอย่างมาก และหากกล่าวอย่างตรงไปตรงมายิ่งกว่านั้น บรรดารายเดิมทุกรายล้วนแล้วแต่เป็นโมฆะจากการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน กทช. จนไม่มีสิทธิจะใช้มาตรฐานเทคนิคตามขอบเขตเดิมที่ตนเคยได้รับอีกต่อไป การออกอากาศของรายเดิมทุกรายเป็นไปโดยมิชอบซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีความผิดที่ไม่กำกับดูแลให้เข้าสู่ประกาศฉบับเดียวกันกับรายใหม่ที่ได้ลงทะเบียนไปแล้ว

 

(๔) ประกาศพิพาทเป็นมาตรการสำคัญในการทำลายสัดส่วนผู้ประกอบการที่ไม่โฆษณาแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริงให้ด้อยลงอันเป็นการใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติที่มีอย่างจำกัดยิ่งมาใช้สอยอย่างไร้ประสิทธิภาพ โดยกล่าวอ้างเอาเหตุแห่งการกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมิให้รบกวนระหว่างกันมาใช้เป็นข้ออ้างในการออกประกาศพิพาท กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ประกาศพิพาทฉบับผู้ถูกฟ้องคดีเป็น “ประกาศฉบับขี่ช้างจับตั๊กแตน"

(๔.๑) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า ผลของประกาศพิพาทสามารถจัดการปัญหาการรบกวนการใช้คลื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพบ้าง หรือป้องกันปัญหาการเพิ่มหรือขยายกำลังส่งของสถานีวิทยุของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้บ้าง หรือส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเล็กต้องปิดตัวลงไปบ้าง หรือทำให้เกิดการจำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายอันมีผลกระทบต่อเนื่องถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย (Diversity) บ้าง เหล่านี้จึงทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีจำเป็นที่ต้องกำหนดมาตรฐานเทคนิคตามประกาศพิพาทอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้น

ข้าพเจ้าและคณะขอคัดค้านในประเด็นนี้ว่า หากถือธรรมเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง ย่อมสามารถออกประกาศที่เป็นธรรมยังความเสมอภาคระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ไม่ว่าการรบกวนระหว่างกัน ไม่มีการเพิ่มหรือขยายกำลังส่งของตนอย่างไม่มีขีดจำกัด หรือไม่มีการปิดตัวลงของรายเล็ก หรือไม่มีการจำกัดเฉพาะเพียงไม่กี่รายจึงไม่กระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย หากดำรงความเป็นธรรมแท้ย่อมสามารถออกประกาศที่ดีกว่าประกาศพิพาทได้อย่างแน่นอน และยังสามารถบริหารจัดการสัดส่วนผู้ประกอบการให้มีความเหมาะสมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ตั้งแต่ต้นทางอีกด้วย ส่งผลดีทำให้เกิดการใช้คลื่นที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมอย่างแท้จริงเพราะบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างได้รับมาตรฐานที่ทัดเทียมกันโดยมีมาตรฐานที่เล็กกว่าผู้ประกอบการประเภทอื่นที่ไม่มีโฆษณา รายได้ที่เกิดขึ้นจึงมาจากช่องทางการบริจาคเพียงอย่างเดียวเท่านั้นซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความต้องการรับฟังของประชาชนอย่างแท้จริงจึงยอมเสียสละทุนทรัพย์เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประกาศพิพาทมีข้อดีเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับผลกระทบที่จะบังเกิดขึ้น การกระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนาแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้เกิดขึ้น จึงเทียบเคียงได้ว่าเปรียบเสมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน ได้ไม่คุ้มเสีย

 ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่าตนคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย (Diversity) นั้นก็เป็นการกล่าวเท็จ เพราะจากการสำรวจการใช้คลื่นในขณะนี้ทั้งรายเดิมและรายใหม่มากกว่า ๙๐% มีเนื้อหารายการเพื่อการบันเทิงและเป็นวิทยุธุรกิจทั้งสิ้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของประชาชนถูกจำกัดให้คับแคบไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย ในขณะที่สถานีที่มีเนื้อหารายการที่ดีเป็นประโยชน์ประชาชนทั่วไปหาโอกาสรับฟังได้ยาก  เช่น ธรรมะหรือสาระประโยชน์ด้านอื่นๆ ซึ่งมีอยู่เพียงน้อยนิดกลับถูกจำกัดไว้ สถานีดังกล่าวนี้ยังสามารถรองรับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่อยู่จำนวนมากแต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กลับไม่ทำเนื้อหารายการเพื่อรองรับความต้องการเพราะมุ่งเน้นแต่การทำธุรกิจบันเทิงหากำไรหรือเน้นโฆษณาปลุกราคะตัณหาทางเพศซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอุปนิสัยฟุ้งเฟ้อไม่รอบคอบ ต่างจากผู้สูงวัยที่มีสัดส่วนในสังคมไทยมากขึ้นๆ และมุ่งเน้นสาระประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจแต่กลับไม่มีผู้ประกอบการสื่อผลิตรายการสนองความต้องการ หรือแม้กระทั่งนักบวชในพระพุทธศาสนาก็เช่นกันแทนที่จะได้ยินได้ฟังธรรมะจากพระกรรมฐานระดับครูบาอาจารย์อย่างกว้างขวางได้เต็มที่เพื่อจะได้มีนักบวชที่ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบกระจายในวงกว้างทั่วประเทศให้มากยิ่งขึ้น แต่กลับต้องถูกลิดรอนพื้นที่กระจายเสียงให้คับแคบตีบตันลงด้วยวิธีคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิผิดกฎหมายที่เอาสื่อไร้สาระที่มีอยู่ดาษดื่นมาถัวเฉลี่ยให้เหลือกำลังส่งเพียง ๕๐๐ วัตต์เท่านั้น ในขณะที่อ้างกฎหมายแบบตีความผิดๆ คุ้มครองผู้ประกอบการรายเดิมที่เป็นโมฆะไปแล้วให้ได้รับสิทธิแบบไม่มีข้อจำกัดที่ชัดเจนต่อสาธารณชนและไม่มีการกำกับดูแลทั้งๆ ที่มีเครื่องมือในการตรวจสอบได้ในชั่ววินาที เมื่อข้าพเจ้าและคณะได้ทักท้วงต่อศาลก็อ้างว่าเลื่อนลอย ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของตนที่ต้องรู้ผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องให้ผู้อื่นไปเที่ยวทักท้วงเช่นนี้ยิ่งบ่งบอกถึงเจตนาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าและคณะต้องขอให้ศาลในที่นี้เป็นสักขีพยานไว้ในชั้นนี้  เผื่อในอนาคตความดื้อรั้นของผู้ถูกฟ้องคดีหนักหนายิ่งขึ้นก็มีความจำเป็นต้องเอาถ้อยคำสำนวนทั้งหลายฟ้องร้องต่อศาลสถิตยุติธรรมในคดีแพ่งและอาญาเป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้เนื่องจากได้พยายามทักท้วงแม้กับศาลแล้วก็ยังปล่อยให้สถานีที่พระสงฆ์และประชาชนเข้าไปเห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาว่าใช้กำลังส่งและความสูงเสาเกินกว่าที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นเบื้องต้น ยิ่งกว่านั้นอาจฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ได้คำตัดสินที่ชัดเจนว่าบรรดาผู้ประกอบการรายเดิมล้วนเป็นโมฆะตั้งแต่ครั้งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทช. แล้วเพราะการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กทช. ในขณะนั้นที่ไม่ส่งร่างประกาศดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่งผลเสียหายให้บรรดารายเดิมทั้งปวงต้องกลายเป็นโมฆะ เป็นบทลงโทษที่สมควรที่ทำคำให้การแบบนกแก้วนกขุนทองเที่ยวหลอกลวงศาลว่าตนคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย (Diversity) ทั้งๆ ที่กระทำการในทางตรงกันข้าม ไม่แบ่งหมวดหมู่เนื้อหารายการ และไม่ส่งเสริมเนื้อหารายการที่จำเป็นต่อชีวิตในโลกนี้และโลกหน้าที่มีพื้นที่สื่ออยู่น้อยในสังคม แต่ปล่อยปละละเลยจนเนื้อหาเต็มไปด้วยรายการบันเทิงที่ซ้ำๆ จำเจไม่มีความหลากหลาย ค่ายเพลงสำคัญๆ มีเพียงไม่กี่ค่ายแต่สามารถนำมาออกอากาศได้เกือบทุกสถานีเช่นนี้เพียงเพราะต้องการสนองอำนาจทุนบันเทิงแล้วยังจะอ้างความหลากหลายต่อศาลได้อย่างไม่มีความละอายใจบ้างเช่นนี้ ข้าพเจ้า พระสงฆ์และประชาชนย่อมเหนื่อยหน่ายต่อความวิปริตผิดธรรมในองค์กรของรัฐไม่น้อยทีเดียว อำนาจศาลจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะวินิจฉัยกฎหมายบนพื้นฐานของธรรมจนสามารถใช้กฎหมายย้อนมาปฏิรูปสังคมไทยให้มีจิตสำนึกที่ถูกต้องดีงามกลับคืนมาได้

(๔.๒) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงต่อศาลว่า การกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคตามประกาศพิพาทมิได้มีนัยเป็นการกำหนดให้ผู้ทดลองประกอบกิจการแต่ละรายจะต้องดำเนินการออกอากาศตามมาตรฐานทางเทคนิคที่กำหนด หากแต่เป็นเพียงการกำหนดขีดจำกัดสูงสุดทางเทคนิคที่ผู้ทดลองประกอบกิจการจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งแต่ละรายอาจออกอากาศไม่ถึงขีดจำกัดดังกล่าวก็ได้นั้น

ข้าพเจ้าและคณะเห็นด้วยกับหลักการกำหนดขีดจำกัดสูงสุดทางเทคนิคที่จะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งแต่ละรายอาจออกอากาศไม่ถึงขีดจำกัดดังกล่าวก็ได้ แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วยก็คือ เพราะเหตุใดขีดจำกัดของผู้ประกอบการรายเดิมจึงแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับรายใหม่ ทั้งๆ ที่ก็ได้ยืนยันต่อศาลแล้วว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้นี้เป็นเพียงขีดจำกัดเท่านั้น มิได้หมายถึงการได้รับการขยายสิทธิเพิ่มเติมไปจากเดิมที่ได้ลงทะเบียนแจ้งไว้ต่อผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งแม้จะตั้งมาตรฐานไว้มากเพียงใดก็มิได้หมายความว่าทุกรายจะต้องออกอากาศสูงสุดตามขีดที่จำกัดไว้

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงเป็นปัญหาย้อนกลับไปที่ผู้ถูกฟ้องคดีว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องกำหนดขีดจำกัดไว้แบบเหมารวมโดยใช้วิธีถัวเฉลี่ยกัน เพราะ ๕๐๐ วัตต์ ก็มิได้ทำให้ผู้ทดลองออกอากาศที่มาลงทะเบียนไว้ต่ำกว่าจะกลายเป็นผู้มีสิทธิสูงเท่ากับ ๕๐๐ วัตต์ ทั้งๆ ที่ตนออกอากาศเพียง ๒๐๐ วัตต์ คำชี้แจงที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวต่อศาลว่า ผู้ทดลองประกอบกิจการ(รายเล็ก) กลับได้รับการขยายสิทธิเพิ่มขึ้นจากเดิมสมัย กทช. ที่ ๒๐๐ วัตต์ เพิ่มเป็น ๕๐๐ วัตต์ จึงเป็นมุสาวาทกรรมต่อศาลอีกวาระหนึ่ง เพราะมิใช่การขยายสิทธิแต่อย่างใด เป็นเพียงขีดจำกัดสูงสุดที่ตั้งไว้เท่านั้น ซึ่งข้าพเจ้าก็เข้าใจเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น แต่เพราะคำชี้แจงต่อศาลประหนึ่งว่าผู้ทดลองเหล่านั้นจากเดิมเล็กแต่กลับได้รับการขยายสิทธิเพิ่มขึ้นจากประกาศพิพาท ซึ่งบัดนี้ก็ได้รับคำยืนยันจากผู้ถูกฟ้องคดีเป็นที่ชัดเจนในเวลานี้แล้วว่า เกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงขีดจำกัดเท่านั้น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถือเป็นสิ่งดีที่รายเล็กกว่า ๕๐๐ วัตต์ ก็จะยังเล็กเหมือนเดิม ไม่ได้รับการขยายสิทธิให้มีอาณาเขตกว้างขวางขึ้นอย่างที่เข้าใจหรืออย่างที่เคยประชาสัมพันธ์อวดอ้างสรรพคุณแก่ผู้ประกอบการให้หลงยินดี ประกาศพิพาทจึงกระทบกระเทือนแก่บรรดาผู้ที่มีกำลังส่งสูงกว่า ๕๐๐ วัตต์ เท่านั้น ซึ่งหากผู้ถูกฟ้องคดีคำนึงการรบกวนจริงก็ย่อมต้องพิจารณาข้อเท็จจริงว่า เป็นเพราะมีสัดส่วนผู้ประกอบการธุรกิจมากกว่า ๙๐% ลึกล้ำเส้นเขตแดนสัดส่วนผู้ประกอบการประเภทอื่น ก็สมควรกำหนดมาตรการชั่วคราวให้ลดกำลังส่งหรือลดมาตรฐานเทคนิคเฉพาะกลุ่มนี้จึงจะเป็นธรรม การออกประกาศพิพาทโดยจงใจละเว้นการจัดสัดส่วนย่อมเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการรบกวน มิใช่ใช้วิธีคิดผิดๆ แบบผู้ประกอบการรายใหม่ทุกรายรบกวน ส่วนรายเดิมแม้กำลังส่งสูงเพียงใดก็ไม่รบกวนเลย หลักคิดเช่นนี้ผิดและไม่เป็นธรรม ความจริงก็คือ ทุกรายมีโอกาสรบกวนได้ทั้งนั้น หากถือการรบกวนเป็นสำคัญต้องลดการรบกวนทั้งหมดไม่เว้นแม้รายเดิมเพราะอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่หากแอบอ้างเอาบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญว่าแตะต้องรายเดิมไม่ได้(ทั้งๆ ที่เป็นโมฆะไปแล้ว) ก็ต้องถือหลักแห่งความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มใหม่กลุ่มเก่า แต่ในที่นี้สัดส่วนธุรกิจลุกล้ำเข้ามามากแทนที่จะใช้การประมูลในทันทีเพื่อแก้ปัญหารบกวนได้ในทันที ผู้ถูกฟ้องคดีก็กลับอ้างโน่นอ้างนี่เพื่อเป็นการเตะถ่วงอยู่ตลอดเวลาจนผ่านเวลาไปยาวนานหลายปีก็ยังไม่มีทีท่าจะจัดการประมูล ในเมื่อประสงค์จะคุ้มครองวิทยุธุรกิจที่มีกว่า ๙๐% ก็ต้องลดกำลังส่งลงให้หมดให้สมควรกับสัดส่วนที่กลุ่มนี้พึงได้ เฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเพิ่มกำลังส่งอย่างไม่มีขีดจำกัดที่พบเห็นกันเสมอๆ ล้วนแล้วแต่มาจากวิทยุธุรกิจทั้งสิ้นเพราะต้องการขยายพื้นที่การค้าของตนให้กว้างขวาง ในขณะวิทยุบริการชุมชนและบริการสาธารณะที่ไม่โฆษณาการเพิ่มกำลังส่งเป็นเรื่องยากแทบเป็นไปไม่ได้เพราะมาจากเงินบริจาคของประชาชน จึงมิใช่ต้นเหตุแท้จริงแห่งการรบกวนคลื่นเช่นกลุ่มธุรกิจ ด้วยเหตุเหล่านี้ การออกประกาศพิพาทที่จงใจมองข้ามและไม่จัดการสิ่งอันเป็นสาระสำคัญเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ได้เช่นนี้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ข้าพเจ้าและประชาชนไม่อาจยอมรับหลักการนี้โดยได้แสดงการคัดค้านไว้แล้วกว่า ๑.๕ แสนรายชื่อ

ส่วนกรณีของมูลนิธิเสียงธรรมฯ และบรรดาผู้ประกอบการวิทยุชุมชนที่มีความหมายในเชิงความสนใจร่วมกัน (เชิงประเด็น) ย่อมเป็นอีกกรณีหนึ่ง เนื่องจากเดิมเป็นประเภทที่ได้รับมาตรฐานทางเทคนิคที่ กทช. มิได้กำหนดขีดจำกัดไว้ปรากฏตามประกาศ กทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตบริการชุมชนชั่วคราว ในข้อ ๓.๓.๔ โดยให้ศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อสรุปในทางวิชาการและความเห็นสาธารณะจากทุกภาคส่วน ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปทางกฎหมายและวิชาการที่ชัดแจ้งแล้วและมูลนิธิเสียงธรรมฯ ก็มีความพร้อมเข้ารับใบอนุญาตประกอบการฉบับจริงแล้ว และโดยที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้รับเชิญเข้าชี้แจงจากคณะอนุกรรมการของ กสทช. ๓ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการชุมชน คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการสาธารณะ และ คณะอนุกรรมการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้ข้อมูลความจริงแก่คณะอนุกรรมการทั้ง ๓ คณะ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ ห้องประชุม สำนักงาน กสทช. กรุงเทพมหานคร ข้าพเจ้าและคณะจึงส่งข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวแก่ศาลมาพร้อมนี้ ปรากฏในแผ่นซีดีตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๕

(๔.๓) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า ประกาศพิพาทมีผลบังคับใช้กับผู้ทดลองประกอบกิจการเป็นการทั่วไป แต่อาจมีการทดลองประกอบกิจการบางประเภทหรือบางลักษณะที่ไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือมาตรฐานทางเทคนิคที่กำหนดในประกาศพิพาทได้ จึงได้กำหนดในข้อ ๘ วรรคท้าย ของประกาศพิพาท ให้ผู้ประกอบการฯ สามารถที่จะยื่นคำร้องเพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการยื่นคำขอทดลองประกอบกิจการได้ ซึ่งหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ หรือการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจะเป็นผลดีต่อการทดลองประกอบกิจการโดยรวมแล้ว หรือไม่ก่อให้เกิดปัญหาการรบกวนการใช้งานคลื่นความถี่แล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะพิจารณาปฏิเสธในการร้องขอเช่นว่านั้น ซึ่งการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดในประกาศพิพาท โดยอ้างเหตุเพียงการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกระบวนการในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนั้น ย่อมไม่ใช่เหตุที่อาจรับฟังได้ว่าประกาศพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น

ข้าพเจ้า พระสงฆ์และประชาชนขอยืนยันต่อศาลว่า คำชี้แจงข้างต้นของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกล่าวเท็จต่อศาลโดยสิ้นเชิง ดังนี้

    ๑. มูลนิธิเสียงธรรมฯ ทั้ง ๑๒๘ สถานี ได้ยื่นแบบคำขอทดลองอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงตามกระบวนการของประกาศพิพาทแล้วเสร็จสมบูรณ์ผ่านการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานโดยสำนักงาน กสทช. ของผู้ถูกฟ้องคดีมีการลงนามกำกับไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ แล้ว ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดในประกาศพิพาทอันมีที่มาแห่งการปฏิบัติตามจากคำแนะนำของศาลปกครองกลางที่มีต่อเครือข่ายวัดสังฆทานโดยศาลได้เมตตาแนะนำให้ยื่นคำขอฯ พร้อมกับสงวนสิทธิ์ไม่ยอมรับว่าประกาศพิพาทชอบด้วยกฎหมายได้ มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงถือปฏิบัติตามคำแนะนำของศาลโดยเคร่งครัด        คำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่กล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามกระบวนการจึงเป็นคำเท็จครั้งที่ ๑

    ๒. ข้อ ๘ วรรคท้ายของประกาศพิพาทระบุว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ วิธีการขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงบางประเภทเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลหรือประโยชน์สาธารณะอื่นใด คณะกรรมการอาจเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับใบอนุญาตก็ได้ โดยจะประกาศให้ทราบล่วงหน้า”

    ข้อกำหนดดังกล่าวย่อมเป็นการชี้ชัดอยู่ในตัวว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นคณะกรรมการมีอำนาจในการตัดสินใจโดยตรง ไม่มีถ้อยคำใดในประกาศพิพาทกำหนดให้ต้องยื่นคำร้องในข้อนี้ซ้ำอีกครั้ง การที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ยื่นแบบคำขอตามกระบวนการในข้อ ๑ ก็ถือเป็นความสมบูรณ์ครบถ้วนในตัวแล้ว  คำชี้แจงต่อศาลโดยอ้างข้อ ๘ ในประกาศพิพาทจึงเป็นคำเท็จครั้งที่ ๒

    อย่างไรก็ตาม หากเป็นการร้องขอของผู้ถูกฟ้องคดีผ่านศาล ประสงค์ให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ยื่นคำร้องเพื่อขอให้คณะกรรมการพิจารณาตามข้อ ๘ วรรคท้าย ด้วยเหตุผลที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ มีความพร้อมโดยมีหลักฐานทางวิชาการและกฎหมายรองรับว่าเป็นวิทยุประเภทบริการชุมชนที่มีความสนใจร่วมกันตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งสืบเนื่องมาจากวิทยุประเภทบริการชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะในเชิงประเด็นตามที่กำหนดในมาตรฐานเทคนิคข้อ ๓.๓.๔ แห่งประกาศ กทช. เรื่องด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ข้าพเจ้าและมูลนิธิเสียงธรรมฯ ก็ไม่มีทิฏฐิมานะแต่พร้อมยอมรับและปฏิบัติตามผู้ถูกฟ้องคดีได้ โดยมีศาลในทีนี้รับรู้รับทราบร่วมเป็นสักขีพยานยังความมั่นใจว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะไม่เฉไฉพลิกไปพลิกมาด้วยยำเกรงในอำนาจแห่งศาล จึงทำหนังสือร้องขอถึงประธาน กสทช. ตามความประสงค์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๖ โดยได้สำเนาหนังสือส่งมาแสดงต่อศาลพร้อมนี้ตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑๑ สาระสำคัญในหนังสือร้องขอดังกล่าวได้กล่าวถึงหนังสือลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๕  ที่เคยแสดงความประสงค์ในข้อ ๘ วรรคท้ายมาก่อนแล้ว โดยในหนังสือของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ย้ำว่า

“หลักเกณฑ์ดังกล่าวที่ กสทช.จะอนุเคราะห์นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ รวมถึงมาตรฐานทางเทคนิคที่เสมอภาคและทัดเทียมกับผู้ประกอบการรายเดิมที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้ กสทช.มีหน้าที่ในการปฏิรูปสื่อ โดยจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่สถานีวิทยุภาคประชาชนที่เป็นประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจและกำกับดูแลด้วยความเป็นธรรม  มิใช่เพื่อโอบอุ้มคุ้มครองสถานีวิทยุธุรกิจ ด้วยการฝ่าฝืนกฎหมายไม่จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ในวิทยุธุรกิจ ทั้งที่เป็นหลักเกณฑ์การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จนเป็นเหตุให้มีสถานีวิทยุธุรกิจจำนวนมากรุกล้ำสัดส่วนวิทยุภาคประชาชน  แล้วถือเป็นเหตุในการออกประกาศพิพาทโดยมิชอบด้วยข้ออ้างที่ว่าเกิดการรบกวนคลื่น ดังที่ กสทช.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน”    

   นอกจากนี้ แม้ต่อมารองประธานมูลนิธิเสียงธรรมฯ และคณะได้เข้าพบผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทั้งคณะเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ เพื่อกล่าวคำขอทางวาจาอย่างเป็นทางการ แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย จึงเป็นเหตุให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ตัดสินใจทำคำฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานีในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวว่า    ไม่เคยมีการยื่นคำร้องในเรื่องนี้มาก่อนจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ทางมูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ยื่นคำขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเป็นลายลักษณ์และโดยทางวาจา เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในประกาศพิพาท

    ๓. การหาทางออกที่เป็นธรรมแก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งเป็น กทช. เมื่อยอมรับมูลนิธิเสียงธรรมฯ ในสถานะวิทยุชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งมีข้อ ๓.๓.๔ รองรับ และยังมีมติให้ทำการศึกษาวิจัยวิทยุประเภทดังกล่าวจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงไม่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน หากคณะกรรมการยอมรับข้อ ๘ วรรคท้ายว่าเป็นข้อกำหนดที่สามารถรองรับสถานะของบรรดาวิทยุบริการชุมชนที่มีความสนใจร่วมกันตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งสืบเนื่องมาจากวิทยุประเภทบริการชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะในเชิงประเด็นตามประกาศ กทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตบริการชุมชนฯ มาตรฐานเทคนิคข้อ ๓.๓.๔ ซึ่งมีขอบเขตของสิทธิตามที่แจ้งลงทะเบียนไว้ได้ หากคณะกรรมการยอมรับข้อ ๘ วรรคท้ายแก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ในสถานะดังกล่าวได้ ก็ย่อมทำให้พอมีทางออกที่เป็นธรรมร่วมกันขึ้นอีกชั้นหนึ่งได้สำหรับการกำหนดมาตรการชั่วคราวในขณะนี้ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่วิทยุบริการชุมชนในเชิงความสนใจร่วมกันที่มีความสมบูรณ์ในเร็ววันนี้

(๔.๔) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า ประกาศพิพาทเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้นจึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถลดปริมาณผู้ประกอบการธุรกิจลงได้ ต้องผ่านประกาศพิพาทเสียก่อน จึงจะกำหนดในเชิงนโยบายต่อไปว่าควรจะต้องมีการจำกัดปริมาณของผู้ประกอบการบางประเภทหรือบางลักษณะหรือไม่ นั้น

คำกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย กล่าวคือ กสทช.จะอนุญาตให้มีการทดลองประกอบกิจการ เพื่อเป็นมาตรการชั่วคราวมิได้ เนื่องจาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีในการออกประกาศพิพาทเช่นนี้       การออกประกาศพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับ ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) เนื่องจาก พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ให้อำนาจ กทช.ปฏิบัติหน้าที่ กสช. เป็นการชั่วคราว โดยให้ กทช.มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๗๘ () ดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนตามที่คณะกรรมการกำหนด

ในทางตรงกันข้าม เมื่อพิจารณาประกาศพิพาทที่ออกโดยผู้ถูกฟ้องคดีนั้น ถึงแม้ มาตรา ๒๗ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่มากถึง ๒๕ ข้อ โดยมาตรา ๒๗ (๒๔) ได้ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี แต่เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๒๕ ข้อในมาตรา ๒๗ นั้น ไม่มีกฎหมายข้อใดที่ให้อำนาจหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดี ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง ในการอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง

ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ถึง ๒ ข้อคือ  มาตรา ๒๗ (๔) พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และเครื่องวิทยุคมนาคมในการประกอบกิจการกระจายเสียง และมาตรา ๒๗  () พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง ซึ่งสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจในการอนุญาต “ให้ใช้คลื่นความถี่และเครื่องวิทยุคมนาคม” และอนุญาต “การประกอบกิจการกระจายเสียง” เท่านั้น 

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ให้อนุญาต “ทดลองประกอบกิจการ”

หรือ อาจจะกล่าวได้ว่า ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงไม่ว่าจะเป็นรายเดิม หรือรายใหม่นั้น จะมีเพียง ๒ สถานะคือ (๑) สถานะให้ใช้คลื่นความถี่ (๒) สถานะได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ซึ่งสอดคล้องกับบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการรายเดิมใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมาตรา ๘๒ และมาตรา ๘๓ บัญญัติไว้ว่า

 

มาตรา ๘๒ เมื่อมีการแต่งตั้ง กสทช. แล้ว ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของ

รัฐหรือบุคคลใดที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีหน้าที่แจ้งรายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่  รวมทั้งเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ต่อ กสทช. ตามหลักเกณฑ์ และระยะเวลาที่ กสทช. กำหนด

 ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง   ให้ส่วนราชการ  รัฐวิสาหกิจ  และหน่วยงานของรัฐ

แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา รวมถึงอายุสัญญาและค่าสัมปทานหรือค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้น ต่อ กสทช. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. กำหนด  และให้ กสทช. ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน

                มาตรา ๘๓ ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการ

กระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและได้

ปฏิบัติตามมาตรา ๘๒ แล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ กสทช.กำกับดูแลให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่นั้นปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎหมายอื่นและตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ทั้งนี้ จนกว่าจะถึงกำหนดที่ต้องคืนคลื่นความถี่ตามวรรคสามหรือสัญญานั้น พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลและผลการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบ

 

เป็นที่ชัดเจนว่า กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงรายเดิมมี ๒ สถานะเท่านั้น คือ “สถานะใช้คลื่นความถี่”  กับ “สถานะได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการฯ” โดยแม้แต่ผู้ที่ใช้คลื่นความถี่มาแต่เดิม กฎหมายก็ยังไม่ยอมรับโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ ยังไม่ได้เป็น “ผู้ใช้คลื่นความถี่ฯ โดยชอบด้วยกฎหมาย”  จำเป็นต้องเข้าผ่านกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๒ และมาตรา ๘๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องเปิดเผยข้อมูลและผลการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน จึงจะเป็นผู้ที่ใช้คลื่นความถี่โดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วจึงจะได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการได้ ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ถูกฟ้องคดีไม่เคยเปิดเผยข้อมูลและผลกาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายให้สาธารณชนทราบ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แต่ประการใด ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันไม่มีผู้ใช้คลื่นความถี่เดิมรายใดที่ เป็นผู้ใช้คลื่นความถี่โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงยังไม่มีผู้ใช้คลื่นความถี่รายเดิมจะได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากผู้ถูกฟ้องคดี  อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กราบเรียนไว้แล้วว่า เนื่องจาก สำนักงาน กทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ประกอบการรายเดิมจึงกลายเป็นโมฆะไปแล้วเกือบทั้งหมด ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจะพยายามซักฟอกอย่างไรคงไม่ได้เนื่องจากเป็นโมฆะมาช้านาน จำต้องให้เข้าสู่กระบวนการในฐานะผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งหมด     

 นอกจากผู้ถูกฟ้องคดีจะไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการให้อนุญาต “ทดลองประกอบกิจการ” แล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดสถานะ “ผู้ทดลองประกอบกิจการ” ขึ้นมา ก็เพียงเพื่อเพิ่มขั้นตอนโดยไม่จำเป็นทำให้การได้รับใบอนุญาตต้องเนิ่นช้าออกไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งผลของประกาศพิพาทได้ฟ้องออกมาด้วยตัวเองแล้วว่า ไม่มีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลสมดังเจตนารมณ์และบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่ประการใด

แต่ถ้าหากอยู่ในภาวะที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ จำเป็นจะต้องกำหนดมาตรการชั่วคราว ก็ต้องกำหนดมาตรการชั่วคราวที่ยู่ภายใต้ความเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น การกำหนดมาตรการชั่วคราวทั้งของผู้ประกอบการรายใหม่และรายเดิมที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ที่ไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบด้วยจึงจะชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดสถานะ “ผู้ทดลองประกอบกิจการ” แก่ผู้ประกอบการรายใหม่จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายที่ข้าพเจ้าไม่อาจยอมรับได้

และหากใช้หลักเกณฑ์เงื่อนไขที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงตามที่ปรากฏในประกาศพิพาท ด้วยการไม่นำสาระประโยชน์ระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่มาพิจารณาคัดเลือกหรือเปรียบเทียบกัน เพื่อเป็นการคุ้มครองคุณภาพและรักษาประสิทธิภาพการบริโภคสื่อที่ดีที่ประชาชนจำเป็นต้องได้รับ อันเป็นการซ้ำเติมให้เลวร้ายหนักยิ่งขึ้นไปอีกด้วยแล้วเช่นนี้ ข้าพเจ้า พระสงฆ์ และประชาชนจึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจของพระธรรมวินัยและกระบวนการทางกฎหมายด้วยการถอดถอนและร้องต่อศาลเพื่อผดุงความยุติธรรมดังเช่นที่ได้ดำเนินอยู่นี้

 

ข้าพเจ้าและคณะขอยืนยันต่อศาลว่า คำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการยอมรับถึงความไม่มีเหตุผล ถึงการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยยกเอาเหตุผลเพียง “มาตรการชั่วคราว” มาใช้เป็นข้ออ้างที่แม้แต่เด็กก็ใคร่ครวญได้ว่า ไร้วุฒิภาวะ มิใยต้องกล่าวถึงพระสงฆ์และประชาชนผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลายจะยอมรับประกาศพิพาทที่ไร้วุฒิภาวะเช่นนี้ได้

หากสัดส่วนภาคประชาชนไม่ใช่สิ่งอันเป็นสาระสำคัญแล้ว บทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับก่อนว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๔๓ และฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๓ จะไม่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ประกอบการภาคประชาชนที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติต่างก็เล็งผลไว้ล่วงหน้าได้ว่า บรรดาผู้หวังเอาทรัพยากรของชาติมาถลุงทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ตนจะมีมากกว่าจนกระทั่งเบียดบังภาคประชาชนอย่างไร้คุณธรรม จึงตราพระราชบัญญัติบังคับไว้ แต่ประกาศพิพาทที่อ้างเอา “มาตรการชั่วคราว” ก็กลับมาทำลายหลักการอันเป็นสาระสำคัญให้สูญไปได้อย่างสิ้นเชิงและน่าละอายเป็นอย่างยิ่ง

หากเปรียบ “คลื่นความถี่” เป็นภูเขาที่มี “ต้นไม้นานาพรรณ สัตว์ป่า และแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์” ผู้ถูกฟ้องคดีก็คือ ผู้จงใจใช้อำนาจหน้าที่ปล่อยให้นักธุรกิจค้าไม้ ค้าสัตว์ป่า ทำเหมืองแร่ เข้าย่ำยีตีแหลกภูเขาอันอุดมสมบูรณ์ที่มีบริเวณกว้างครอบคลุมทั่วประเทศให้ถูกถลุงจนหมดสิ้นไปถ้วนทั่ว ทำดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ให้กลายเป็นทะเลทรายได้ในชั่วพริบตา ทรัพย์สมบัติที่อยู่ใต้ดินก็ถูกใช้ไปหมดสิ้นไม่เหลือสมบัติใดๆ ไว้ให้ลูกหลานในภายภาคหน้าได้ทำประโยชน์เพื่อชาติบ้างไม่มี มีแต่ผูกขาดไว้กับบรรดานายทุนทำลายป่าทำลายภูเขาและทำลายชาติให้วินาศสันตะโรเพราะการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง คำชี้แจงในประเด็นนี้ต่อศาลของผู้ถูกฟ้องคดีทำให้ข้าพเจ้า พระสงฆ์ และประชาชนที่ได้หารือกันแล้วสรุปได้ว่า “มาตรการชั่วคราว” ดังกล่าวกลายเป็น “มาตรการชั่วร้ายทำลายชาติ” จึงไม่อาจยอมรับประกาศพิพาทได้หากยังยืนยันในหลักการป่าเถื่อนขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่สุดอีกต่อไปได้

(๔.๕) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า ประโยชน์ที่ประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับจากการออกอากาศนั้น หาได้จำกัดว่าจะต้องเป็นการออกอากาศรายการที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งอย่างเดียวไม่ หากแต่การออกอากาศรายการที่มุ่งเน้นเพื่อสร้างความบันเทิงหรือความรื่นรมย์ให้แก่ประชาชน ก็ถือเป็นการออกอากาศรายการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเช่นเดียวกัน นั้น

ข้าพเจ้า พระสงฆ์และประชาชนยอมรับในระดับหนึ่งว่า การออกอากาศรายการในภาพรวมต้องมีความหลากหลาย ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อก่อนๆ เพราะประชาชนมีหลากหลายกลุ่มความสนใจ หากแต่ในข้อเท็จจริงที่ศาลสามารถพิสูจน์ความจริงได้ด้วยตนเอง ต้องยอมรับว่า สื่อมากกว่า ๙๐% มุ่งเน้นทำธุรกิจเฉพาะความบันเทิงรื่นรมย์ให้แก่ประชาชนเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าหลากหลายได้อย่างไร ก็เท่ากับผู้ถูกฟ้องคดีกำลังกล่าวแต่หลักการโดยจงใจหลอกลวงในข้อเท็จจริง หากผู้ถูกฟ้องคดีตระหนักถึงประโยชน์สาธารณะในภาพรวมย่อมจะต้องจำกัดจำนวนธุรกิจลง เพราะวิทยุธุรกิจส่วนใหญ่มุ่งเน้นเฉพาะการบันเทิงเป็นหัวใจหลัก ใครทำใครก็ได้เกือบทุกรายไปเพราะธุรกิจบันเทิงย่อมนำเงินนำกำไรมาให้ ข้อเท็จจริงจึงกลายเป็นคลื่นธุรกิจบันเทิงเกลื่อนเมือง แทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมุ่งหน้าบริหารจัดการให้การใช้สอยคลื่นในภาพรวมเป็นไปอย่างหลากหลายแต่กลับพิทักษ์ปกป้องในทางที่ผิด

อนึ่ง ข่าวสารบ้านเมืองและเนื้อหาที่ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เท่านั้นที่ถือเป็นรายการที่มีสารประโยชน์ ส่วนเนื้อหาด้านการบันเทิงถ้ามิใช่เพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมมิได้ถือเป็นรายการที่เป็นประโยชน์สาธารณะอย่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีแอบอ้างต่อศาล แต่เป็นเนื้อหารายการที่มุ่งการค้าหากำไร แม้แต่เด็กก็ยังรู้ดีว่าการทำรายการเหล่านี้มุ่งหน้าเอาโฆษณาสินค้า นักร้อง ค่ายเพลงเป็นจุดขาย ซึ่งมิใช่ประโยชน์สาธารณะอย่างที่อ้างต่อศาล หากมีรายการที่เน้นความบันเทิงรื่นรมย์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะที่มุ่งเน้นเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทยของเราก็มีอยู่จริงแต่น้อยมากจนไม่อาจยกเอามาเพียงเพื่อกลบเกลื่อนธุรกิจค่ายเพลงที่นำเสนอนักร้องในค่ายของตนเป็นสำคัญ แม้จะเน้นราคะตัณหามากเพียงใดแต่เป็นที่นิยมก็ถือว่าใช้ได้ หรือว่ามีโฆษณากระตุ้นทางเพศเกลื่อนเมืองก็เป็นที่พอใจแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่หวังให้ประชาชนและเยาวชนของชาติมีจิตใจเสื่อมทรามด้านศีลธรรมลงให้มากที่สุด เยอะที่สุด และเร็วที่สุด จึงเป็นให้การกำหนดมาตรการจำกัดเนื้อหารายการประเภทนี้ล่าช้าที่สุดด้วยเหตุผลที่อ้างต่อศาลตลอดมาว่า “เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น” ส่วนการทำลายชาติและเยาวชนของชาตินั้นถือเป็นการถาวร ด้วยเหตุแห่งความไร้เหตุผลไร้วุฒิภาวะของผู้ถูกฟ้องคดีดังได้แสดงต่อศาลแบบมีลายลักษณ์อักษรเช่นนี้เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องเอาความซึ่งกันและกัน เพราะ “ธรรม” ย่อมทนและสยบยอมต่อหลักการความคิดและการบังคับใช้ประกาศพิพาทที่มาจากหลักความคิดที่เป็นเยี่ยง “อธรรม” มิได้

(๔.๖) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลสรุปความว่า การอ้างถึงข้อเท็จจริงในการกำหนดมาตรฐานเทคนิคในการกำกับดูแลของต่างประเทศนั้น เป็นเพียงการแสดงให้ศาลเห็นว่า ในนานาอารยประเทศต่างได้มีการจำกัดหรือกำหนดมาตรฐานเทคนิคในการออกอากาศเช่นเดียวกัน หากแต่ละประเทศจะกำหนดอย่างไรนั้น ย่อมเป็นดุลพินิจเชิงนโยบายของแต่ละประเทศเท่านั้น หาใช่เป็นการอ้างข้อเท็จจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงเพื่อประโยชน์ในการทำคำให้การ นั้น

ข้าพเจ้าและคณะขอเรียนต่อศาลว่า การที่ข้าพเจ้าได้อ้างอิงข้อเท็จจริงทางวิชาการในต่างประเทศก็เพื่อแสดงให้ศาลประจักษ์ว่า นานาอารยประเทศต่างยึดหลักความเสมอภาค แม้เป็นวิทยุที่ไม่แสวงกำไรหรือแสวงกำไรก็มีมาตรฐานทางเทคนิคที่ใช้สิทธิได้ทัดเทียมกัน โดยมีการควบคุมสัดส่วนให้เหมาะสม มิใช่กำกับดูแลด้วยการปล่อยให้ถลุงคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติแบบอีลุ่ยฉุยแฉกหาสาระประโยชน์แทบมิได้ ล้วนใช้สอยไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของตนเป็นส่วนใหญ่

อนึ่ง กฎหมายมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติไว้ให้มีสัดส่วนรายการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะสำหรับวิทยุธุรกิจเพียงร้อยละ ๒๕ เท่านั้น ในขณะที่วิทยุบริการชุมชนและบริการสาธารณะต้องมีถึง ๗๕%

ในเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีปล่อยปละละเลยให้มีวิทยุธุรกิจที่มีอยู่กว่า ๙๐% ในพื้นที่ทั้งหมด ก็เท่ากับสนับสนุนส่งเสริมให้มีสิ่งที่เป็นสารประโยชน์ในพื้นที่ทั้งมวลแต่เพียงน้อยนิดเท่านั้น มิหนำซ้ำยังจำกัดและลิดรอนสิทธิของวิทยุบริการชุมชนและบริการสาธารณะที่กฎหมายประกันให้ต้องยังประโยชน์เพื่อสาธารณะไม่น้อยกว่า ๗๕% โดยประกาศพิพาททำให้ต้องลดน้อยถอยลงไปด้วยการลิดรอนพื้นที่กระจายเสียง ดังนั้น ด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า มาตรการชั่วคราวตามประกาศพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีไม่เป็นธรรมขัดแย้งต่อบทบัญญัติที่ประกันเนื้อหาสาระให้การใช้คลื่นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างยิ่ง

 

(๕) ประกาศพิพาทส่งผลกระทบต่อสิทธิในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ผู้ฟ้องคดีรับฟัง

(๕.๑) ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลโดยสรุปว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดมาตรฐานเทคนิคในการใช้ความคลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) โดยต้องใช้กำลังส่งไม่เกิน ๒๐๐ วัตต์ และมีพื้นที่กระจายเสียงไม่เกิน ๑๕ กม. ซึ่งมูลนิธิเสียงธรรมฯ มีบางสถานีที่กำลังส่งสูงถึง ๑๐,๐๐๐ วัตต์ หรือมากกว่านั้น และมีพื้นที่กระจายเสียงมากกว่า ๑๕ กม. โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสถานี จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดไปจากเงื่อนไขในการได้รับสิทธิตามที่กำหนดไว้ อยู่นอกเหนือขอบเขตแห่งสิทธิที่ได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น จะนำเหตุดังกล่าวมาใช้โต้แย้งว่าประกาศพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีผลเป็นการลดขอบเขตพื้นที่ออกอากาศของผู้ฟ้องคดีมิได้ นั้น

ข้าพเจ้า มูลนิธิเสียงธรรมฯ พระสงฆ์และประชาชนผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานขอเรียนต่อศาลว่า ตามข้อเท็จจริงเครือข่ายสถานีวิทยุของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ที่มีกำลังส่งสูงถึง ๑๐,๐๐๐ วัตต์ มีเพียง ๓ แห่ง ที่กทม. จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดอุดรธานี ไม่มีกำลังส่งที่มากกว่านั้นซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีมีข้อมูลหลักฐานอย่างเป็นทางการและสามารถวัดค่าโดยใช้เครื่องมือพิสูจน์ได้ การกล่าวว่า “มากกว่านั้น” จึงเป็นข้อมูลเท็จที่โกหกศาลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ข้าพเจ้าและคณะเคารพบูชาธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนคุณธรรมที่ต่ำที่สุดได้แก่ศีล ๕ ประการ จึงถือความสัตย์ความจริงเป็นสาระสำคัญแห่งชีวิตมิใช่เพียงนำมาใช้กับศาลเท่านั้น แต่ใช้ในทุกกรณี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีข้อมูลความจริงทุกอย่างในเครือข่ายวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมฯ แต่พยายามกล่าวเท็จบิดเบือนความจริงเสมอๆ ไม่เพียงในศาลเท่านั้น กรณีดังกล่าว พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ก็เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อสาธารณะจำนวนมากซึ่งเป็นการโกหกหลอกลวงประหนึ่งว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ ใช้เครื่องส่งมากกว่า ๑๐,๐๐๐ วัตต์ เกือบทุกสถานี ซึ่งในการกล่าวครั้งนั้นถือเป็นการโกหกอย่างน่าละอายอย่างยิ่งหวังให้ผู้ไม่รู้ทั้งหลายเกิดความรู้สึกว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบสังคม ทำให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ต้องออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๕เรื่อง “ชี้แจงความจริงกรณี กสทช.บางท่านจงใจให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนเพียงบางส่วน อันอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการดำเนินการปกป้องสิทธิการรับฟังของประชาชนผู้ฟังเครือข่ายวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมฯ” ตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๖

และแม้จนบัดนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีก็ยังนำคำเท็จดังกล่าวมาใช้ต่อศาลอีกทั้งที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญมีข้อมูลรายละเอียดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วเหตุใดจึงไม่กล่าวตามข้อมูลความจริงนั้น สิ่งนี้ทำให้ข้าพเจ้า คณะสงฆ์และประชาชนจำเป็นต้องร้องขอความเป็นธรรมจากศาลโปรดมีคำสั่งตักเตือนการแทรกคำเท็จอยู่เนืองๆ ในที่ต่างๆ หรือในสื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งในคำชี้แจงต่อศาลที่ทุกถ้อยคำสมควรต้องออกจากความสัตย์จริงทุกประการ

สำหรับประเด็นที่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ดำเนินการที่ผิดไปจากเงื่อนไขในการได้รับสิทธิตามที่กำหนดไว้ โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขกำลังส่งไม่เกิน ๒๐๐ วัตต์ และมีพื้นที่กระจายเสียงสูงสุดไม่เกิน ๑๕ ก.ม. ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสถานี จึงอยู่นอกเหนือขอบเขตแห่งสิทธิที่ได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น จะนำเหตุดังกล่าวมาใช้โต้แย้งว่าประกาศพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีผลเป็นการลดขอบเขตพื้นที่ออกอากาศของผู้ฟ้องคดีมิได้ นั้น

ข้าพเจ้า มูลนิธิเสียงธรรมฯ คณะสงฆ์และประชาชนซึ่งเห็นเป็นเอกฉันท์จึงขอชี้แจงต่อศาลอีกครั้งว่า มาตรฐานเทคนิคที่ ๓.๓.๑, ๓.๓.๒ และ ๓.๓.๓ ที่กำหนดให้มีรัศมีกระจายเสียง  ๓, ๕ และ ๑๕ กม. ตามลำดับนั้นจัดเป็นประเภท “วิทยุชุมชนในเชิงพื้นที่” ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงระบุถ้อยคำไว้อย่างชัดเจนว่า “ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสถานี”

ในขณะที่กรณีมูลนิธิเสียงธรรมฯ และผู้ประกอบการชุมชนที่มีลักษณะในเชิงประเด็นนั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ในมาตรฐานเทคนิคที่ ๓.๓.๔ ทั้งสิ้น ซึ่ง กทช. ในขณะนั้นมิได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ไว้ หากเป็นเงื่อนไขก็ถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขอันเดียวกับนานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้วที่ถือเอา “บริบทของชุมชน” เป็นหลักเกณฑ์ กล่าวคือ มีพื้นที่กระจายเสียงเท่าใดก็ได้ตามกำลังความสามารถและความพร้อมของชุมชนในพื้นที่นั้นๆ เพราะมีข้อจำกัดอยู่ในตัวเองแล้วว่า มิให้เป็นไปเพื่อการบันเทิง มิให้โฆษณาหากำไรทางธุรกิจ แต่ต้องเป็นประโยชน์สาธารณะแก่ชุมชนเป็นสำคัญ จึงเป็นเงื่อนไขที่จำกัดขอบเขตของสิทธิที่ลงตัวแล้ว  ซึ่งแตกต่างจากกรณีวิทยุธุรกิจที่แสวงหากำไรสร้างฐานะความมั่งคั่งแก่ตนเองได้ในกรอบสาระประโยชน์สาธารณะเพื่อสังคมเพียง ๒๕% ตามกฎหมายเท่านั้น จึงมีความได้เปรียบอย่างมาก ยิ่งกระจายกว้างขวางเท่าใดยิ่งทำรายได้เข้าสถานีได้มากจึงจำเป็นต้องใช้กรอบ ๓.๓.๑ – ๓.๓.๓ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ส่วนกรณีที่เป็นวิทยุบริการชุมชนในเชิงพื้นที่เนื้อหาสาระก็ย่อมถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบของพื้นที่อยู่ในตัวเองแล้ว เช่น วิทยุชุมชนที่เน้นการสื่อสารภายในชุมชนท้องถิ่นหรือในตำบลของตนก็สมควรมีพื้นที่กระจายเสียงในขอบเขตของตำบลเท่านั้น ไม่เป็นการสมควรจะได้รับพื้นที่กระจายเสียงที่กว้างขวางออกไปแม้ไม่มีการโฆษณาหากำไรก็ตาม

ดังนั้น ด้วยเงื่อนไขตามประกาศ กทช. ในครั้งนั้นที่มีข้อ ๓.๓.๔ ไว้ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ว่า “ชุมชน” มีความหมายแบบกว้างครอบคลุมความสนใจร่วมกันด้วยเช่นนี้ มูลนิธิเสียงธรรมฯ ก็สมควรต้องได้รับสิทธิตามความหมายของชุมชน มิใช่ถูกกีดกันด้วยอคติหรือความลุแก่อำนาจใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะกระทำการอย่างใด โดยไม่นำข้อกฎหมายมาใช้เป็นขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของตนไว้ไม่ให้ลืมตัวออกนอกกรอบ เช่นที่ได้ทำคำชี้แจงต่อศาลแบบนอกกรอบ นอกกฎหมาย นอกคำนิยามที่บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งแล้วในพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ หากผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจล้นฟ้าจนสามารถกระทำการเกินกว่าที่บัญญัติในกฎหมายในหลายประการได้เช่นนี้ การตราพระราชบัญญัติทั้งหลายก็จะกลายเป็นโมฆะไป เนื่องจากองค์กรของรัฐที่ลุแก่อำนาจก็จะอ้างว่าใช้ดุลยพินิจแทนที่จะใช้กฎหมาย ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเสียงธรรมฯ ข้าพเจ้า ตลอดถึงพระสงฆ์และประชาชน ก็ย่อมมีสิทธิโดยชอบทั้งในหลักพระธรรมวินัยที่ขอบเขตแห่งสิทธิเหล่านี้ล้วนเป็นสมบัติของสงฆ์ทั้งสิ้น และในหลักกฎหมายบ้านเมืองที่จำกัดสิทธิผู้ถูกฟ้องคดีมิให้หลงลืมตนว่ามีอำนาจหน้าที่ล้นฟ้าล้นแผ่นดินคิดจะกระทำการใดๆ ก็ได้ตามอำเภอใจ ลุแก่อำนาจไม่นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในหลายมาตราในหลายฉบับเข้ามาพิจารณาด้วยก็ยังได้ สุดแล้วแต่ความพอใจของฉันแต่เพียงกลุ่มเดียวองค์กรเดียวเท่านั้น หากกระทำการเช่นที่ได้แสดงคำชี้แจงไว้ต่อศาลเช่นนี้ ข้าพเจ้า พระสงฆ์และประชาชนก็ย่อมไม่อาจยอมรับนับถือและนำมาปฏิบัติในสิ่งที่ขัดต่อธรรมวินัยและหลักกฎหมายอย่างร้ายแรงเช่นนี้ได้ด้วยเช่นกัน

 

(๖) ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการตามกระบวนการในการบรรเทาผลกระทบที่อ้างว่าตนได้รับตามที่กำหนดในประกาศพิพาท

ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้อ้างต่อศาลโดยสรุปว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ หรือผู้ฟ้องคดีเองนั้นแม้จะมีการยื่นคัดค้านการออกประกาศพิพาทก็ตาม แต่หากถ้าประสงค์จะทดลองประกอบกิจการตามประกาศพิพาทแล้วเห็นว่า เงื่อนไขมาตรฐานทางเทคนิคตามที่กำหนดในภาคผนวก ง ไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมกับการประกอบการของผู้ฟ้องคดีแล้ว ย่อมที่จะใช้กระบวนการตามที่กำหนดในข้อ ๘ ได้ ซึ่งมูลนิธิเสียงธรรมฯ หรือผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ยื่นคำร้องตามข้อ ๘ ของประกาศพิพาทแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้การฟ้องคดีไม่ชอบด้วยมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น

ข้อเท็จจริงตามประเด็นดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าและคณะได้อธิบายโดยละเอียดแล้วในข้อ (๔.๒) สรุปว่า ตามประกาศพิพาทข้อ ๘ มิได้มีถ้อยคำใดกำหนดไว้ว่าต้องยื่นคำร้องเพื่อกรณีดังกล่าวนี้แต่อย่างใดไม่ ส่วนเหตุผลความจำเป็นที่ไม่อาจยอมรับเงื่อนไขมาตรฐานเทคนิคตามภาคผนวก ง ได้เพราะคณะสงฆ์และประชาชนจำนวนมากได้พิจารณาอย่างรอบคอบเป็นธรรมปรากฏต่อสาธารณชนในสื่อสาธารณะทุกแขนงแม้ในขณะนี้ก็มีเหตุผลเป็นที่ประจักษ์ต่อศาลด้วยเหตุผลที่รอบด้านมากถึงเพียงนี้ด้วยแล้วก็ย่อมน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการพิจารณาตัดสินใจใช้มาตรการข้อ ๘ วรรคท้ายของผู้ถูกฟ้องคดีปรากฏตามเอกสารหลักฐานจำนวนมากที่ได้นำเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีตลอดมา ซึ่งแม้คัดเลือกเฉพาะเอกสารที่จำเป็นประกอบคำฟ้อง คำชี้แจงหรือคำคัดค้านต่อศาลก็ยังมากถึงเพียงนี้ โดยได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนเป็นธรรมแล้วว่า      ไม่อาจยอมรับเงื่อนไขตามประกาศพิพาทได้ และได้ขอความอนุเคราะห์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีตลอดมาว่าโปรดพิจารณาดำเนินการให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะการประกอบการที่เป็น “วิทยุบริการชุมชนในเชิงความสนใจร่วมกันหรือเชิงประเด็น” ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้เป็นการทั่วไปสำหรับวิทยุประเภทนี้ มิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะมูลนิธิเสียงธรรมฯ เท่านั้นด้วย  ขอคัดเลือกเอกสารที่สำคัญ ที่ผู้ฟ้องคดีได้ติดต่อขอสำเนาหนังสือออกจากมูลนิธิเสียงธรรมฯ เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลในประเด็นนี้  อาทิ (เอกสารแนบท้าย หมายเลข ๗-๑๑)

 

(๑)    หนังสือของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ร่วมกับ เครือข่ายสถานีวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๕ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงบางประเภทเพื่อประโยชน์สาธารณะ

(๒)   หนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ เลขที่ ม.ธ.ป.๒๔/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ข้อเสนอแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง ในประเด็นมาตรฐานทางเทคนิคและเงื่อนไขในการใช้คลื่นความถี่

(๓)   หนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ เลขที่ ม.ธ.ป. ๒๘/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๒  สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง รายชื่อประชาชนจำนวน ๑๕๑,๗๖๗ รายชื่อ ไม่ยอมรับร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง เนื่องจากเป็นมหาภัยร้ายแรงต่อการรับฟังและปฏิบัติธรรมของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น พร้อมข้อเสนอแนวทางแก้ไข

(๔)   หนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ เลขที่ ม.ธ.ป. ๐๐๕/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖ เรื่อง แจ้งเรื่องเหตุผลความจำเป็นของสถานีวิทยุในเครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในการใช้คลื่นความถี่ ในกำลังส่งและเสาอากาศสำหรับผู้ประกอบวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนระดับชาติ

(๕)   หนังสือมูลนิธิเสียงธรรม ฯ ด่วนที่สุด เลขที่ ม.ธ.ป. ๑๐๕/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๖ เรื่อง ยื่นคำร้องขอความอนุเคราะห์แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ วรรคท้ายของประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามที่ กสทช. ได้ทำคำให้การต่อศาลปกครองนครราชสีมา  

 

จะเห็นได้ว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ยื่นหนังสือแสดงถึงเหตุผลถึง ๔ ครั้งแล้วเป็นอย่างน้อย และล่าสุดเป็นครั้งที่ ๕ ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่เสนอให้ ผู้ถูกฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ วิธีการขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงบางประเภทเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลหรือประโยชน์สาธารณะอื่นใด  

โดยหนังสือฉบับแรก เป็นหนังสือของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ และเครือข่ายสถานีวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร ยื่นต่อ ผู้ถูกฟ้องคดีให้ทราบถึงมติที่ประชุมคณะสงฆ์และเครือข่ายสถานีวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร โดยที่ประชุมได้นำร่างประกาศ กสทช. ฉบับพิพาทมาประชุมหารือ โดยได้ขอจาก สำนักงาน กสทช.ของผู้ถูกฟ้องคดี จึงได้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ลงนามในร่างประกาศพิพาทดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้มีมติที่ประชุมฯ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีอาศัยความในข้อ ๘ วรรคท้ายของร่างประกาศพิพาท ทำการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ วิธีการขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงบางประเภทเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลหรือประโยชน์สาธารณะอื่นใด  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งหมดที่ไม่มีการโฆษณาหากำไรในทางธุรกิจ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ เท่านั้น

สำหรับหนังสือฉบับที่สอง เป็นหนังสือของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ที่ยื่นต่อ ผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อเสนอแก้ไขปรับปรุงร่าง ประกาศพิพาท หลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. คณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานด้านเทคนิคฯ และมูลนิธิเสียงธรรมฯ โดยมูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้เสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปรับปรุงมาตรฐานทางเทคนิค โดยยึดหลักความเสมอภาคเท่ากันทั้งผู้ประกอบการรายใหม่และรายเก่า

หนังสือฉบับที่สาม เป็นหนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ ที่ยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีก่อนที่จะมีการประชุมลงมติรับร่างประกาศพิพาท เพื่อเป็นการยืนยันว่า ประชาชนจำนวนมากถึงกว่า ๑ แสน ๕ หมื่นคนพร้อมเลขบัตรประจำตัวประชาชนลงชื่อคัดค้านประกาศพิพาทนี้ พร้อมกับได้เสนอหลักเกณฑ์การส่งเสริมผู้ประกอบการที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะมายาวนานโดยไม่แสวงหากำไร เช่น เนื้อหารายการต้องมีสาระในสัดส่วนที่มากถึง ๙๐% อันเป็นข้อเสนอที่เน้นประโยชน์ประชานที่จะได้รับจากการประกอบการเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการในข้อ ๘ วรรคท้าย แทนที่จะหยิบยกข้อเสนอดังกล่าวเป็นเหตุแห่งการนำมาตรการในข้อ ๘ มาบังคับใช้ แต่ในทางตรงกันข้ามผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้สนใจเสียงประชาชนแม้แต่น้อย  นอกจากจะลงมติรับร่างประกาศพิพาทดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ในวันเดียวกันไม่แล้ว ยังไม่นำมาตรการข้อ ๘ วรรคท้ายมาพิจารณาโดยถือเอาข้อเสนอในวันนี้เป็นเหตุ แม้ถึงขั้นทำคำชี้แจงต่อศาลในขณะนี้แล้วก็ตาม อันเป็นการบ่งบอกถึงทิฏฐิมานะที่แรงกล้าในการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สมควรปล่อยให้เกิดขึ้นแม้เพียงน้อยนิด ถือเป็นภยันตรายอย่างยิ่งต่อชาติและประชาชน เพราะเป็นองค์กรของรัฐที่การตัดสินใจยังผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรของชาติที่มีมูลค่ามหาศาล

หนังสือฉบับที่สี่ เป็นหนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ ที่ยื่นพร้อมกับการขอใบอนุญาต ตามที่ศาลปกครองกลางได้แนะนำให้เครือข่ายวิทยุวัดสังฆทานยื่นคำขอฯ พร้อมสงวนสิทธิในการคัดค้านประกาศพิพาท โดย ประธานผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้แนะนำให้ยื่นเหตุผลความจำเป็น ในการใช้คลื่นความถี่ กำลังส่งและเสาอากาศที่เกินกว่ามาตรฐานเทคนิคที่กำหนดในประกาศพิพาท

หนังสือฉบับสุดท้าย เป็นความพยายามล่าสุดของสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ ที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในสื่อสาธารณะตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้อย่างแท้จริง ตามหน้าที่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องปฏิบัติ

การไม่นำหนังสือเหล่านี้มาเป็นต้นเหตุแห่งการพิจารณาออกมาตรการข้อ ๘ วรรคท้าย แก่ “วิทยุบริการชุมชนในเชิงความสนใจร่วมกัน” จึงเสมือนเป็นการชี้ชัดถึงเจตนาว่าประสงค์อย่างไร ประกอบกับในทางวาจาก็ได้กล่าวปฏิเสธมาโดยตลอด ซึ่งหากมีความปรารถนาดีหาทางออกที่เหมาะสมให้ว่า สมควรต้องทำหนังสือร้องขอตามมาตรการข้อ ๘ วรรคท้ายเช่นนี้เพื่อให้สามารถออกอากาศได้ในขอบเขตของสิทธิอย่างที่เป็นอยู่นี้ ข้าพเจ้าและมูลนิธิเสียงธรรมฯ ย่อมจะต้องรีบปฏิบัติตามโดยเร็วและไม่จำเป็นต้องนำเรื่องยุ่งๆ เหล่านี้เข้ามาพึ่งอำนาจของศาลแต่อย่างใดไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้แสดงความจริงใจด้วยการระบุถ้อยคำที่ชัดเจนต่อศาลเช่นนี้ แม้จะล่าช้าอยู่บ้าง ข้าพเจ้า มูลนิธิเสียงธรรมฯ ตลอดถึงพระสงฆ์และประชาชนจำนวนมากผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ย่อมยินยอมพร้อมใจและสามารถปฏิบัติตามได้อย่างไม่มีทิฏฐิมานะ ทั้งนี้เพราะการดำเนินการใดๆ เพื่อหวังให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุดต่อชาติบ้านเมืองและประชาชนได้นั้น จะกระทำแต่เพียงลำพังเฉพาะมูลนิธิเสียงธรรมฯ พระสงฆ์และประชาชนผู้สนใจในสายกรรมฐานหลวงปู่มั่นฯ เท่านั้นย่อมไม่อาจกระทำสิ่งที่ดีงามให้สัมฤทธิ์ผลได้ จำต้องอาศัยสังคมให้มีส่วนร่วม เฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้วย “สามัคคีธรรม” ด้วย จึงจะยังความสงบร่มเย็นด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาผ่านพระกรรมฐานผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้เกิดผลานิสงส์ตามวัตถุประสงค์ได้ ซึ่งหากผู้ถูกฟ้องคดียื่นมือออกมาเพื่อส่วนรวมโดยมีศาลร่วมเป็นสักขีพยานเอกเช่นนี้ ข้าพเจ้าและมูลนิธิเสียงธรรมฯ ตลอดถึงพระสงฆ์และประชาชนก็ย่อมยินดีเข้าจับมือด้วยให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อผนึกกำลังสร้างชาติสร้างคนให้ใช้ “คุณธรรมนำชีวิต” สมดังปัจฉิมโอวาทในวาระสุดท้ายขององค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ที่กล่าวคติเตือนใจแก่พี่น้องชาวไทยเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะที่องค์หลวงตาฯ เป็นครูบาอาจารย์ที่ออกมานำชาติบ้านเมืองจนผ่านพ้นวิกฤติการณ์ไปได้ องค์หลวงตาได้กล่าวคติข้อเตือนใจไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล เมื่อเช้ามืดของวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ มีใจความว่า

“มือของครูบาอาจารย์กับมือของลูกศิษย์ลูกหา ญาติมิตร เพื่อนฝูง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใช้แทนกันได้ ไว้ใจกันได้ เชื่อใจกันได้ ตายใจกันได้”

 เพื่อให้การร่วมจับมือแสดงสามัคคีธรรมระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่มีศาลร่วมเป็นสักขีพยานมีผลเป็นรูปธรรม มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ ม.ธ.ป.     ๑๐๕/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๖ เรื่อง ยื่นคำร้องขอความอนุเคราะห์แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ วรรคท้ายของประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามที่ กสทช. ได้ทำคำให้การต่อศาลปกครองนครราชสีมา  ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑๑

ข้อ ๓. ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลโดยสรุปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบแล้วว่าต้องมีประกาศพิพาทเป็นการชั่วคราวซึ่งผู้ฟ้องคดีสามารถร้องขอให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๘ และเมื่อปฏิบัติตามบทเฉพาะกาล มาตรา ๘๒ และ ๘๓ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ แล้วเสร็จ รวมถึงมีการกำหนดแผนความถี่วิทยุฯ แล้วเสร็จ จึงจะพิจารณาออกหลักเกณฑ์อนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งย่อมจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย กรอบ และแนวทางในการอนุญาตและกำกับดูแลตามที่กำหนดในแผนแม่บททั้ง ๒ ฉบับตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะได้กำหนดตามมาตรา ๔๘ และ ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวะและความต้องการของสังคมต่อไป นั้น

ข้าพเจ้าและคณะขอท้วงติงผ่านศาลว่า ที่ถูกต้องแล้วนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย กรอบ และแนวทางในการอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ตั้งแต่ต้นทาง เฉพาะอย่างยิ่งต้องคำนึงถึงกรอบที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหลายมาตราบังคับไว้ให้เดินตามแนวทางนั้น การยึดเฉพาะบทบัญญัติใดโดยจงใจฝ่าฝืนอีกบทบัญญัติหนึ่ง หรือการฝ่าฝืนบทบัญญัติใดบทบัญญัติหนึ่งโดยอ้างว่าจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อเมื่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้แล้วเสร็จเสียก่อนนั้น ย่อมไม่อาจล่วงพ้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อกฎหมายไปได้ แต่จำเป็นต้องเดินตามทางของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ต้นทาง มิฉะนั้น การแก้ปัญหาหนึ่งด้วยการตัดสินใจที่ผิดพลาดย่อมบังเกิดผลเป็นโทษกลายเป็นก่อปัญหาใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อปัญหาหลายอย่างรุมเร้ามากเข้าๆ ก็ย่อมถึงความวิบัติได้ในที่สุด เปรียบหลักธรรมในข้อนี้ได้เช่นเดียวกับกรณี “ลิงพันแห” นั่นเอง

 

ข้อ ๔. ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า กรณีคำกล่าวอ้างที่มีบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ไปพบผู้บริหารมูลนิธิเสียงธรรมฯ เพื่อขอให้เปลี่ยนคำขออนุญาตจากบริการชุมชนมาเป็นบริการสาธารณะ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีอ้างต่อศาลว่า คำกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทในคดีซึ่งเป็นการพิจารณาว่าการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคตามประกาศพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งไม่ปรากฏเอกสารหรือหลักฐานอื่นใดอันเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี หรือเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของพ.อ.นที ศุกลรัตน์ แต่อย่างใด นั้น

ข้าพเจ้า มูลนิธิเสียงธรรมฯ พระสงฆ์ และประชาชน ขอยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลากรที่ได้รับเงินเดือนจากสำนักงานผู้ถูกฟ้องคดีจริงซึ่งติดต่อผ่านศิษย์ขององค์หลวงตาคนหนึ่งเพื่อเข้าพบประธานมูลนิธิเสียงธรรมฯ โดยการร่างหนังสือฉบับตีท้ายครัวดังกล่าวได้ร่างตามคำแนะนำของพ.อ.นที ศุกลรัตน์ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือที่เปิดลำโพง (speakerphone) มีพระภิกษุและคฤหัสถ์ได้ยินได้ฟังและพร้อมแสดงตนร่วมเป็นสักขีพยานต่อศาลได้หากจำเป็น ที่ข้าพเจ้ากล่าวยืนยันเช่นนี้ก็เพื่อแสดงความสัตย์จริงต่อศาลไม่มีการกล่าวมุสาวาทกรรมโดยเด็ดขาด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจำเป็นต้องเฉไฉไม่กล่าวยอมรับความจริงก็เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าและคณะไม่รู้สึกติดใจใดๆ ในประเด็นนี้เพียงแต่ได้คติเตือนใจว่า บุคคลผู้นั้นขาดความรับผิดชอบในคราวที่เหตุการณ์พลิกผันไม่เป็นไปและไม่เป็นธรรม ซึ่งกรณีนี้แตกต่างจากพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และประชาชนที่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของท่านอย่างยิ่งที่มีความรับผิดชอบอย่างสูงยิ่ง มีความจริงใจต่อส่วนร่วม มีความเสียสละประโยชน์ตนเพื่อชาติบ้านเมือง รักในคำสัตย์ความจริง ยอมพลีชีพได้เพื่อพิทักษ์รักษาธรรม เป็นต้น คุณธรรมเหล่านี้มิได้มีมาตั้งแต่เกิด แต่ได้รับการฝึกฝนอบรมตามพระธรรมเทศนาคำสอนต่างๆ ของบรรดาพระกรรมฐานโดยตรงบ้าง ผ่านสื่อธรรมะบ้าง จึงหล่อหลอมสร้างคนเดิมดิบๆ ให้กลายเป็นอุปนิสัยใหม่ที่รักเคารพบูชาธรรมยิ่งกว่าชีวิตได้ และไม่อาจยอมรับการกระทำหรือแนวคิดที่ผิดๆ พลาดๆ หาหลักเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและประชาชนเช่นที่กำหนดไว้ในประกาศพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ จึงต่างคาดหวังให้ผู้ถูกฟ้องคดีรู้จักปรับตัวให้สอดคล้องกับคุณธรรมของพระกรรมฐานเหล่านี้ด้วยให้นอกเหนือสูงส่งไปยิ่งกว่าเพียงกฎหมายบ้านเมืองซึ่งเป็นเพียงของหยาบๆ ร่างขึ้นมาและวินิจฉัยโดยผู้มีกิเลสเต็มหัวใจทั้งสิ้น ในขณะที่คุณธรรมคำสอนเหล่านี้ออกมาจากความรู้แจ้งเห็นจริงสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เมื่อธรรมเหล่านี้ตั้งอยู่ในใจของผู้ใดผู้นั้นย่อมมีคุณธรรมที่ตั้งมั่นและเป็นที่พึ่งของพระพุทธศาสนาและชาติบ้านเมืองได้อย่างมั่นคงไม่ผันแปรกลับกลอกอีกต่อไป จึงขอร้องผ่านศาลให้ผู้ถูกฟ้องคดีเฉพาะผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน ขอให้ปรับตัวปรับใจ ปรับทิศทางการปฏิบัติหน้าที่ให้สมควรแก่การเป็นลูกชาวพุทธ ลูกพระพุทธเจ้า และในสมัยปัจจุบันเป็นลูกพระกรรมฐานที่ท่านมีเมตตาอย่างสูงสุดต่อชาติและต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง การใดที่ท่านพาดำเนินมาว่า สถานีวิทยุเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสรรพสัตว์ ขออย่าได้ลดกำลังส่งลงด้วยมาตรฐานของเปรตของผี ในเมื่อท่านกล่าวอย่างเด็ดถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าและคณะก็ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะที่ เป็นลูกศิษย์พระกรรมฐานด้วยเช่นกันโปรดนำธรรมข้อนี้ของท่านน้อมนำมาพิจารณาเข้าสู่หัวใจและปรับแก้กฎระเบียบที่ท่านเปรียบว่าเป็นเปรตผีให้กลายเป็นกฎระเบียบที่ท่วมท้นไปด้วยธรรมนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปด้วยเทอญ

ด้วยข้อเท็จจริงและบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รวมถึงความเดือดร้อนเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่ประกาศพิพาทอันไม่ชอบด้วยกฎหมายส่งผลต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังที่ผู้ฟ้องคดีได้นำเรียนมาโดยตลอดแล้วนี้ จึงขอประทานกราบเรียนความเมตตาจากศาลได้โปรดพิจารณามีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ๒๕๕๕

 

 

                      ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

 

บัญชีเอกสารแนบท้าย คำคัดค้านคำให้การ

หมายเลข

รายการ

หน้า

เอกสารแสดงว่า มูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นผู้ได้รับสิทธิโดยชอบในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนระดับชาติ โดยได้รับสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว ตามข้อ ๑๘ ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน)

คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ คำร้องที่ ๑๔/๒๕๕๒ คำสั่งที่ ๒๔๑/๒๕๕๒ ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๔/๕๑ และคดีหมายเลขแดงที่ ๒๘๗/๕๑

หนังสือสำนักงาน กทช. ที่ ทช.๑๒๐๐.๑/๗๙๖๑ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ ลงนามโดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ตอบ เครือข่ายองค์กรวิทยุภาคประชาชนแห่งชาติ

๑๑

แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙)

๒๐

ซีดีบันทึกการประชุมระหว่าง มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ประชาชนผู้มีส่วนร่วม กับ คณะอนุกรรมการของ กสทช. ๓ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการชุมชน คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการสาธารณะ และ คณะอนุกรรมการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุม สำนักงาน กสทช. กรุงเทพมหานคร

๓๖

แถลงการณ์มูลนิธิเสียงธรรมฯ เรื่อง ชี้แจงความจริงกรณี กสทช.บางท่านจงใจให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนเพียงบางส่วน อันอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการดำเนินการปกป้องสิทธิการรับฟังของประชาชนผู้ฟังเครือข่ายวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมฯ ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๕

๔๕

หนังสือของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ร่วมกับ เครือข่ายสถานีวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๕ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงบางประเภทเพื่อประโยชน์สาธารณะ

๔๗

หนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ เลขที่ มธป.๒๔/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ข้อเสนอแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง ในประเด็นมาตรฐานทางเทคนิคและเงื่อนไขในการใช้คลื่นความถี่

๔๗

หนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ เลขที่ มธป. ๒๘/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๒  สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง รายชื่อประชาชนจำนวน ๑๕๑,๗๖๗ รายชื่อ ไม่ยอมรับร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง เนื่องจากเป็นมหาภัยร้ายแรงต่อการรับฟังและปฏิบัติธรรมของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น พร้อมข้อเสนอแนวทางแก้ไข

๔๗

๑๐

หนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ เลขที่ มธป. ๐๐๕/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖เรื่อง แจ้งเรื่องเหตุผลความจำเป็นของสถานีวิทยุในเครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในการใช้คลื่นความถี่ ในกำลังส่งและเสาอากาศสำหรับผู้ประกอบวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนระดับชาติ

๔๘

๑๑

หนังสือมูลนิธิเสียงธรรมฯ ด่วนที่สุด เลขที่ มธป.     ๑๐๕/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๖ เรื่อง ยื่นคำร้องขอความอนุเคราะห์แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ วรรคท้ายของประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามที่ กสทช. ได้ทำคำให้การต่อศาลปกครองนครราชสีมา  

๓๗,

,

๕๐

 


<< BACK

หน้าแรก