================================
ดร.สุรัตน์ เมธีกุล ประธานและผู้แทนคณะทำงานวิทยุชุมชน เจ้าหน้าที่ กทช.
รศ.กิติมา สุรสนธิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พ.อ.ดร.พิเชษฐ คงศรี
ดร.ภิฤดี ภวนานันท์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.รัชดา เจียสกุล Advisory Group
ดร.อนันต์ เจียรวงศ์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
Mr. David Rogers กระทรวงการต่างประเทศ
ดร.อนาลยา หนานสายออ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดร.บูชา บูชาธรรม สถาบันไทยพัฒน์
รศ.ดร.ทวีวัฒน์ ปุญฑริกวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม โครงการอบรมพัฒนาจิตเยาวชน
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์
รศ.สุดารัตน์ ชุณหคล้าย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
ศ.ดร.รัตนา ศิริพานิช
รศ.สุเมธ แก่นมณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.วิฑูรย์ ประเสริฐเจริญสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน)
คุณมณเฑียร บุญตัน สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
แพทย์หญิงอมรา มลิลา
คุณอานิก อมระนันทน์ สำนักงานสภาผู้แทนราษฎร
คุณขจิตร ชัยนิคม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คุณรสนา โตสิตระกูล สำนักงานวุฒิสภา
ดร.เสกสรร ทองคำบรรจง มหาวิทยาลัยบูรพา
ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
คุณยุวดี บุญครอง บ.เอเชียเทเลวิชันแอนด์มีเดีย จำกัด
จตุพล บุญครอง บ.TVR เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด
ศาสตราจารย์ ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนเชิงประเด็นเด็กและเยาวชน
ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนเชิงประเด็นด้านคริสต์ศาสนา
ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนเชิงประเด็นด้านศาสนาอิสลาม
ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนเชิงประเด็นด้านพุทธศาสนา
ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนประเด็นสิ่งแวดล้อม
ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนประเด็นเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนประเด็นวัฒนธรรม
ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนประเด็นเอดส์
ดร.วรพัฒน์ อรรถยุกติ
ดร.เยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว
ศ.ดร.นิวัติ เรืองพานิช สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.นิมิตชัย สนิทพันธุ์
นายยุทธนา โพธสุธน
พ.ต.ท. จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์
ศ.หิรัญ รดีศรี
ผศ.วนิต มาลาศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยวลักษณ์ฯ
สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
มูลนิธิไฮริคเบิร์น
ฯลฯ
สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาการพิจารณา ให้ใบอนุญาต(ชั่วคราว)ประกอบกิจการวิทยุชุมชนเชิงประเด็นของสถานีวิทยุที่เป็นระบบเครือข่าย ดังนั้นคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ภายใต้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงได้จัดประชุมสัมมนากลุ่มย่อย Focus Group วิทยุชุมชนเชิงประเด็นขึ้น เพื่อหาข้อเท็จจริงในสังคมปัจจุบัน โดยคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนฯ ได้เชิญคณะนักวิชาการที่ทำการศึกษาถึงความหมายและรูปแบบของวิทยุชุมชนในประเทศและต่างประเทศมานำเสนอในที่ประชุมโดยคณะนักวิชาการดังกล่าวได้สรุปถึงความหมายของวิทยุชุมชนว่าต้องประกอบด้วยคุณลักษณะดังต่อไปนี้
๑. มีการกำหนดอย่างชัดเจนในกฎหมายว่าเป็นองค์กรที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่ดำเนินการโดยมีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์ของสังคมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว
๒. มีการดำเนินการที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับภาครัฐ และภาคธุรกิจ
๓. มีการออกแบบที่จะให้บริการชุมชนทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น
๔. มีการจัดการโครงสร้างของสถานีวิทยุที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นตัวแทนของชุมชนที่ให้ บริการ โดยการเป็นเจ้าของและการดำเนินการต้องแสดงถึงการเป็นตัวแทนของชุมชนซึ่งหมายถึงบุคคลในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดผังรายการและการจัดการ และรายการวิทยุต้องมีความสัมพันธ์กับชุมชนที่ให้บริการ
ดังนั้นจึงสามารถจำแนกวิทยุชุมชนออกเป็น ๒ ประเภทคือ
๑. วิทยุชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based Community Radio หรือ Geographical Community Radio) หมายถึง สถานีวิทยุของประชาชนในพื่นที่ ที่ให้บริการกระจายเสียงโดยประชาชนในพื้นที่ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ โดยการดำเนินการต้องเป็นไปอย่างอิสระ และไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรโดยมีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก
๒. วิทยุชุมชนเชิงประเด็น (Issue-Based Community Radio หรือ Interest-Based Community Radio) หมายถึง สถานีวิทยุที่ให้บริการกระจายเสียง เพื่อตอบสนองความสนใจร่วมกันของประชาชนโดยไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของพื้นที่ หรือขอบเขตทางภูมิศาสตร์ แต่จะถูกจำกัดด้วยประเด็นของเนื้อหาสาระของรายการวิทยุที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการร่วมของประชาชนในชุมชนลักษณะเฉพาะนี้ สำหรับประเด็นความสนใจร่วมของประชาชนอาจหมายถึง ประเด็นด้านศาสนา การต่อต้านยาเสพติด สิ่งแวดล้อม เด็ก สตรี หรือ เพื่อคนพิการ เป็นต้น และเพื่อให้การบริการสนองต่อความต้องการของประชาชนที่มีความสนใจร่วมกันซึ่งอยู่กระจัดกระจายห่างไกลออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการสถานีวิทยุชุมชนในลักษณะระบบเครือข่าย โดยสถานีแม่ข่ายถ่ายทอดรายการสู่สถานีลูกข่าย บางแห่งมีความจำเป็นต้องใช้กำลังส่งสูง อย่างไรก็ตามการดำเนินการของวิทยุชุมชนเชิงประเด็นก็ต้องมีการดำเนินการอย่างอิสระ ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรโดยมีประเด็นการนำเสนอที่ชัดเจนเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก
เมื่อคณะนักวิชาการได้นำเสนอถึงความหมายและรูปแบบการจัดการวิทยุชุมชนในสังคมโลกปัจจุบันเสร็จแล้ว ท่านประธานฯ ในที่ประชุมจึงได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่มาจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่าง ๆ กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้ประกอบการกิจการวิทยุชุมชน สมาชิกจากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งประเทศไทย สมาชิกจากมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ตลอดจนกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กทช. ได้แสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้านโดยประเด็นของการอภิปรายประกอบไปด้วย
๑. ความหมายของวิทยุชุมชน
สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความหมายของวิทยุชุมชน ภายหลังจากที่ประชุมได้มีการพิจารณาและอภิปรายกันอย่างกว้างขว้างและรอบด้านเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทั้งในความหมายของวิทยุชุมชนตามที่นักวิชาการนำเสนอ และบทบัญญัติต่าง ๆ ของกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าวิทยุชุมชนสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะคือ วิทยุชุมชนเชิงพื้นที่ และวิทยุชุมชนเชิงประเด็น โดยมีหลักการพื้นฐานตรงกันว่า เป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐและธุรกิจ และไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ
๒. วิทยุชุมชนเชิงประเด็นในสังคมไทยปัจจุบัน
สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ประชุมได้มีการนำวิทยุชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม (ของสถานีวิทยุชุมชนที่ตำบลบ่อนอก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เพื่อเด็กและคนพิการ รวมทั้งเพื่อการศาสนา (ของเครือข่ายวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน) เป็นกรณีศึกษาโดยละเอียดเพื่อการอภิปราย ภายหลังจากที่ประชุมได้มีการพิจารณาและอภิปรายกันอย่างกว้างขว้างและรอบด้านแล้ว ที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าในสังคมไทยปัจจุบันได้มีวิทยุชุมชนเชิงประเด็นเกิดขึ้นจริง บางแห่งเป็นสถานีที่มีความสนใจร่วมกันในพื้นที่แคบ บางแห่งเป็นสถานีที่มีความสนใจร่วมกันในพื้นที่กว้าง และบางแห่งมีความสนใจร่วมกันกว้างขวางกระจายไปหลายพื้นที่เกือบทั่วประเทศจึงจัดทำรายการร่วมกันในสถานีแม่ข่ายและถ่ายทอดสัญญาณไปยังสถานีลูกข่าย
๓. วิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายในสังคมไทยปัจจุบัน
สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและอภิปรายอย่างรอบด้านเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินการที่ส่งเสริมให้วิทยุชุมชนเชิงประเด็น มีความสามารถให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในชุมชนลักษณะเฉพาะนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่ารูปแบบการดำเนินการที่จะส่งเสริมให้วิทยุชุมชนเชิงประเด็นบรรลุผลในการจัดตั้งวิทยุชุมชนประเภทนี้คือ การคัดเลือกตัวแทนในแต่ละภูมิภาคหรือท้องถิ่นเพื่อร่วมกันบริหารจัดการด้วยระบบเครือข่ายที่มีสถานีวิทยุแม่ข่ายส่งสัญญาณไปยังสถานีวิทยุลูกข่าย บางแห่งอาจใช้กำลังส่งสูงเพื่อให้การกระจายเสียงครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจร่วมกัน
๔. วิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายและวิทยุสาธารณะ
สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายและวิทยุสาธารณะที่ประชุมได้มีการนำวิทยุชุมชนเพื่อการศาสนาของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน เป็นกรณีศึกษาเพื่อการอภิปรายโดยการตั้งคำถามในการอภิปรายว่า ทำไมเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน (หรือวิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายอื่น ๆ) ไม่ขอใบอนุญาตเป็นวิทยุประเภทบริการสาธารณะภาครัฐ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงคุณลักษณะของวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชนพบว่า เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนมีลักษณะดังต่อไปนี้
๔.๑ สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน เป็นวิทยุของชุมชนที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่มีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์ของสังคม
๔.๒ สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นสถานีวิทยุชุมชนที่เป็นอิสระ ไม่สังกัดหน่วยงานของภาครัฐและภาคธุรกิจ
๔.๓ สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นสถานีวิทยุชุมชนที่มีการออกแบบที่จะให้บริการประชาชนในชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน ในการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในสายพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เพื่อให้การดำเนินชีวิตมีหลักเกณฑ์มีคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดีงาม รู้วิธีปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ และหลุดพ้นไปจากวัฏฏสงสาร
๔.๔ สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นสถานีวิทยุชุมชนที่มีการก่อตั้งขึ้นโดยประชาชนในชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน ร่วมกันบริจาค และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโดยมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนมิใช่ผู้ลงทุน สำหรับผังรายการวิทยุก็เกิดจากความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นซึ่งเป็นสมาชิกในเครือข่าย แล้วนำเสนอความต้องการเหล่านั้นมาที่สถานีวิทยุแม่ข่ายเพื่อผลิตรายการวิทยุที่ตอบสองความต้องการของประชาชนในชุมชนนี้อย่างแท้จริง ซึ่งมีลักษณะที่ตรงกับหลักการ ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
ภายหลังจากที่ประชุมได้มีการพิจารณาและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางและรอบด้าน ถึงลักษณะของเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนแล้วพบว่า วิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นวิทยุชุมชนโดยสมบูรณ์ตรงตามนิยามที่นักวิชาการให้ไว้ดังแสดงในข้างต้น โดยเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนเป็นวิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ชอบธรรม เป็นคนดีของสังคม ทำตนให้เป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวม แต่ไม่ใช่วิทยุสาธารณะภาครัฐ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการภายใต้สังกัดของรัฐ และเนื้อหารายการเป็นไปในลักษณะเฉพาะด้านศาสนาของพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตามความสนใจร่วมกันของกลุ่มประชาชนที่กระจายตัวอย่างกว้างขวางในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มิใช่เนื้อหาพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปที่พุทธศาสนิกชนสมควรต้องรับฟัง เช่น ประวัติพระพุทธเจ้า พระสาวก พระสูตร ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในชาติไทย เป็นต้น
๕. ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว
(วิทยุกระจายเสียงชุมชน)
สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ได้รับการชี้แจงจากทางกทช.ว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้รองรับเฉพาะการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการบริการชุมชนเชิงพื้นที่เท่านั้น อาจไม่รองรับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนเชิงประเด็นชั่วคราว อย่างไรก็ตามทางกทช.ได้ให้ความเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการตรากฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้รองรับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนเชิงประเด็น นั้นสามารถทำได้ เนื่องจากทุกท่านยอมรับว่าวิทยุชุมชนเชิงประเด็นนั้นมีอยู่จริงและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
จากผลสรุปความคิดเห็นในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้วิทยุชุมชนเชิงประเด็นในสังคมไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาการที่ดีและถูกต้อง อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันวิทยุภาครัฐและธุรกิจเข้ามาครอบงำ และตักตวงผลประโยชน์จากวิทยุชุมชนเชิงประเด็น ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมดำเนินการต่อไปนี้
๑. จัดการประชุมสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดคุณลักษณะและวางระเบียบของวิทยุชุมชนเชิงประเด็น
๒. ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมออกประกาศรองรับการประกอบกิจการบริการชุมชนเชิงประเด็นชั่วคราว
ท่านกทช.รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม ประธานการประชุมได้กล่าวสรุปสาระสำคัญก่อนปิดการประชุมฯ ดังนี้
...ในการประชุมวันนี้ผมหายไปพักหนึ่ง แต่ก็จับความได้ จับความรู้สึกได้ อยากจะบอกว่าตอนนี้ผมมีความรู้สึกว่าพวกเราทั้งหมดในห้องนี้เรากำลังมีสิ่งที่ดีมาก ๆ อยู่ในมือ คือผมอยากให้ทำต่อ และทำไปจนสำเร็จ ถ้าถามว่าจะเสร็จเมื่อไรบางครั้งเราไม่รู้ เพราะสิ่งที่เราทำนี่ก็เหมือนกับของที่เราพยายามจะผลิตเองขึ้นมา เราเอาของต่างประเทศก็ได้แต่มันจะไม่เป็นเหมือนกับของที่เราผลิตเองขี้นมาให้เหมาะสมกับสังคมเรา
ในเรื่องการประชุมวันนี้ผมก็กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์กอไผ่เรื่องที่แนะนำว่าโปรแกรมฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้(เรื่องชุมชนเชิงประเด็น) ขยายต่อไป ผมก็รับจะทำ ซึ่งตรงกับท่านอาจารย์สุรัตน์ด้วย เราจะทำ การประชุมอย่างนี้ ก็อยากจะฝากพวกเราทุกท่าน ผมเข้าใจความเสียสละของพวกเรา อยากจะบอกว่าอย่าอืด เราจะทำอีก เรื่องที่กระทบกับคนจำนวนเยอะ และเรื่องใหญ่ ๆ แบบนี้ มันไม่สามารถหักหาญและทำให้เสร็จไปได้ในเร็ววันได้ เราจะไปด้วยกัน เราจะบรรลุด้วยกัน ผมได้สิ่งดี ๆ จากทางสมาพันธ์ อยากจะขอให้ทางสมาพันธ์ อุทิศตลอด มาช่วยกันทำวิทยุเชิงประเด็นให้เสร็จ อยากให้พวกเราทุกคน อยากจะได้ อยากกราบเรียนทางมูลนิธิ ท่านพระอาจารย์ทั้งหลาย ว่าอย่าทอดทิ้งตรงนี้ มาทำ มาทำให้เสร็จ ผมมองเห็นสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นมากในอนาคต
แต่ก่อนอื่นสิ่งที่เราทำตรงนี้ ผมมองว่ามันเป็นช่วงเติมช่องว่างก่อน ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ และเมื่อวันที่การเปลี่ยนแปลงใหญ่มาถึง ผมคิดว่าพี่น้องทุกคนนี่ จะได้อย่างที่ปรารถนา ไม่หมดก็เกือบหมดหล่ะครับ วันนี้พระราชบัญญัติ กสทช. ใกล้จะผ่านเต็มทีแล้ว ผ่านสภาร่างละ กำลังจะผ่านวุฒิสภา ถ้าผ่านสภา สภาพผมกลายเป็นรักษาการ ผมเป็นรักษาการกสทช. ผมก็จะสามารถทำงานได้อยู่ ไม่ใช่ทำไม่ได้ซะทีเดียว ก็ ไม่ใช่ว่าพอกฎหมายผ่านไปแล้วหมดกำลังใจ จะไม่ทำอะไรละ รอวันจากไป ไม่ใช่ครับ ก็จะทำจนถึงวันสุดท้ายที่รับหน้าที่ เราก็จะช่วยกัน
สิ่งดี ๆ ที่เห็นวันนี้ ที่นี่หน่ะครับ ผมสรุปได้อันหนึ่งคือวิทยุเชิงประเด็นไม่มีใครปฏิเสธ พวกเรายอมรับหมดเลย แม้กระทั่งทางคุณนันทพรเองก็บอกว่า เตรียมการอยู่ด้วย ตรงนี้ผมว่าเป็นสิ่งร่วมที่ดีมาก แต่สิ่งที่เราขาด ก็คือว่าวิทยุชุมชนเชิงประเด็นนี่ นิยามจริง ๆ มันเป็นยังไง แต่ตรงนี้ผมว่าไม่ใช่ว่าเราไปค้นคว้าเมืองนอกเรารู้เค้า แต่เรามานิยามกันเองว่าของเราควรจะนิยามยังไง ตรงนี้คือผมเชิญ อย่างเข้มแข็งเลย ทั้งทางสมาพันธ์และมูลนิธิ เราช่วยกัน เพราะตรงนี้เราเขียนมา เพราะทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจ ผมมั่นใจครับว่ามีความเข้าใจ แต่บางทีมุมอาจต่างกันไปบ้าง แต่จริง ๆ แล้ววิทยุชุมชนเชิงประเด็น ผมฟังแล้วไม่มีความแตกต่างเลยในความรู้สึกผม เพียงแต่ว่าเราจะนิยามอย่างไรที่ไม่ให้ถูกฉวยโอกาส ไม่ให้คนอื่นมาทำให้เพี้ยน หรืออะไรทั้งนั้น
ตรงนี้พวกเราทุกคนช่วยกัน การนิยามตรงนี้ มันก็หมายถึงในรายละเอียดอีก ว่าการวางระเบียบ การทำประกาศต่าง ๆ ตรงนี้ท่านพระอาจารย์นพดลพูดไว้ ทางสมาพันธ์พูดไว้ ผมคิดว่าอันเดียวกัน คือว่าเราร่างประกาศยังไง ให้เราสามารถทำได้โดยบรรลุวัตถุประสงค์ ทางคุณนันทพรเองมีความห่วงใยว่าคลื่นมันจะไม่พอ เป็นเน็ตเวิร์คแล้วไปเบียดบังอะไรหรือเปล่า ไอ้ตรงนั้นเป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ ลองนึกสิว่าพวกเราตกลงเรื่องวิทยุชุมชนได้ ถ้าเราสามารถทำได้ โดยคนที่ทำวิทยุชุมชนเชิงประเด็นแท้ ๆ แท้ ๆ นะครับ สามารถเข้ามาทำได้ แล้วโดยที่คลื่นก็ยังเพียงพอ และโดยเกิดความถี่ที่เราเอามาใช้ไม่เบียดกันไม่แทรกกัน ถ้าเราทำได้ ปัญหาจบถูกไหมครับ เพราะเราตกลงร่วมกันอยู่แล้ว วิทยุชุมชนเชิงประเด็นเป็นได้ ถ้าจะทำก็น่าจะทำได้ นอกจากเพียงแต่ว่าเรามีปัญหา แต่ถ้าขจัดปัญหานั้นได้ ก็ฉลุยละเราก็ทำได้หมดละ ตรงนี้ผมว่าน่าจะมาคิดร่วมกัน
ในส่วนของทางด้านธุรกิจแปลกปลอมที่เข้ามา อันนี้ความเข้าใจผมเองละ เป็นส่วนตัวโดยแท้ อาจจะผิดก็ได้ แต่ผมวิเคราะห์จากพื้นเพ ทางด้านเศรษฐศาสตร์กับทางด้านบริหารธุรกิจที่ผมพอมีอยู่บ้าง ผมเชื่อว่าจะมีคนเข้ามาทางนี้น้อยมาก เพราะถ้าเป็นวิทยุชุมชนที่แท้จริงไม่สามารถที่จะแสวงหารายได้มาแบ่งปันกัน และกำไรก็ไม่มี ถ้างั้นใครจะเข้ามา คนที่จะเข้ามาต้องเสียสละจริง ๆ ซึ่งผมว่ามีไม่เยอะ นอกจากมีไม่เยอะแล้วต้องมีศรัทธาแรงกล้า เสียสละทั้งเวลา กำลังกาย กำลังสมอง ความคิดครับ แล้วยิ่งถ้าขยายเครือข่ายใหญ่โตเท่าไร ทุนทรัพย์ยิ่งมากเท่านั้น เพราะนั้น ผมไม่คิดว่าจะมีมาก แต่ตรงนี้จะดีไหมครับถ้าฝากพวกเราไปคิดว่า เราจะประเมินว่า จริง ๆ แล้ว ถ้าเราจะเปิดช่องนี้ขึ้นมา จะมีคนทำทางด้านนี้สักเท่าไร มีกี่กลุ่ม พอจะไหวไหม พอชั่งใจ นี่ผมหมายถึงพวกเด็กและครอบครัวด้วยที่สนใจ เพราะผมก็สนใจด้วย ครอบครัวนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะพื้นฐานอนาคตประเทศชาติก็อยู่ที่เด็ก เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าเราร่วมกันคิด เรามาคุยร่วมกันอีก ผมว่าเรามีทางออก
ในส่วนประกาศที่ผ่านมาแล้ว อยากเรียนว่าประกาศที่ผ่านมาแล้วมันเป็นประกาศชั่วคราว มันแก้เมื่อไรก็ได้ และสิ่งที่เราเขียนมามันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์นะครับ เราก็สามารถเขียนมันใหม่ได้ จริง ๆ อันเก่าผมก็ว่ามันก็ดีพอสมควร แต่ผมไม่ได้คิดว่ามันสมบูรณ์ แล้วอันเก่าพูดไปจริง ๆ แล้ว มองไปที่วิทยุชุมชนเชิงพื้นที่มาก โดยที่ตอนนั้นเราไม่คิดว่าเราจะไปแตะเรื่องวิทยุชุมชนเชิงประเด็น คือไม่ได้คิดว่าจะมีความต้องการ และไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรจะทำตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลึก ๆ เบื้องหลัง ผมเองก็กลัว ผมกลัวว่าถ้าเปิดมาแล้วนี่เราไม่สามารถจัดสรรหรือทำได้หรืออะไรได้เพียงพอความต้องการเป็นที่พอใจได้ ตรงนั้นมันอาจจะมีปัญหา แต่ถ้าวันนี้มานั่งคุยกันวันนี้ ผมมีความรู้สึกว่ามีความหวัง อยากจะขอว่าเสียสละมาอีก กทช.จะจัดให้ มาที่นี่ ใช้ที่นี่เป็นที่หลวง ค่าอาหารก็นิดเดียว ซึ่ง สิ่งที่ได้มามีคุณค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไปเยอะมากๆทีเดียว ตรงนี้ผมก็มีความรู้สึกผมตื้นตันและดีใจ ผมว่าพวกเรากำลังทำสิ่งดี ๆ อยากจะขอว่ามาอีกนะครับ หากมีการจัดอะไรอย่างนี้ ให้มาอีกนะครับ...
นักวิชาการ(ถาม) : ...ได้ยินแต่กลุ่มนักวิชาการกลุ่มที่ท่านพนาได้พูดถึงนะคะกลุ่มของคุณนันทพร เพื่อป้องกันการครอบงำความคิดทางด้านนี้ คือไม่ทราบว่าเกิดขึ้นอย่างไร แต่ว่ามีเสียงสะท้อนก็อยากจะสะท้อนจากกลุ่มนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งไปให้ถึงกทช. ซึ่งขอสะท้อนให้กทช.ฟังนะคะว่า กทช.ไม่มีความจริงใจต่อภาคประชาชน ไม่มีนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชนจริง ๆ ทำให้ไม่อยากร่วมเสวนาด้วยในการที่จะกำหนดนโยบาย
ตรงนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นตามนี้ เปิดโอกาสให้นักวิชาการกลุ่มอื่นได้เข้ามา เหมือนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชนที่แท้จริงได้มีโอกาสเข้ามาร่วมในการกำหนดนโยบายตรงนี้ด้วย กทช.ให้สิทธิกับประชาชนจริง ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มันเป็นธรรมหรือยัง อาจารย์ท่านนี้เคยได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร แต่ว่าความคิดเห็นไม่สอดคล้องนักและสวนทางกับกทช. อีกเรื่องคือเรื่องการระดมความคิดเห็นก็ไม่สามารถที่จะเป็นไป สรุปแล้วเค้าค่อนข้างจะผิดหวังกับการทำงานของกทช. เพราะฉะนั้นอันนื้คือความเห็นของนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันมิให้ความคิดถูกจำกัดอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และมีอำนาจในการที่จะมากำหนดตรงนี้ อยากจะฝากสะท้อนให้ท่านได้ยิน
ดร.พนา (ตอบ) :
จริง ๆ อยู่กันแบบนี้ผมก็อยากจะบอกว่าผมเองก็ไม่ค่อยพอใจตัวผมเองเท่าไร มันมีหลายอย่างที่อยากทำบางทีทำไม่ได้ เพราะคนเรานี่มีข้อจำกัด ผมก็มีข้อจำกัด แต่ว่าโดยเจตนาแท้ ๆ เวลาพูดถึง กทช.มันเป็นองค์กร องค์กรก็ประกอบด้วยคน คนในองค์กรไม่ได้เหมือนกันหมด นี่ถ้าพูดถึงตัวผมเอง รากฐานชีวิตผมก็มาจากวิชาการ นักวิชาการไม่กลัวหรอกครับความแตกต่างทางความคิดและก็นักวิชาการที่ดีก็ย่อมไม่ปิดกั้นนักวิชาการท่านอื่น ผมเองก็ถือว่าเป็นชาวพุทธคนหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ที่ใดมีการถกเถียงที่นั่นไม่รู้จริง เราก็ยังถกเถียงกันอยู่ผมถึงชวนกันมาเจอกันใหม่บ่อย ๆ มาถกเถียงกัน เมื่อถกเถียงกันน้อยลงก็จะรู้จริง
เวลาคุยก็จะรู้สึกว่าแตกต่างกับซีกของสมาพันธ์และมูลนิธิ แต่ดูจริง ๆ แล้วไม่แตกต่าง แต่อาจมีข้อกังวลที่ต่างกันบ้าง นี่ผมถึงได้เชิญ เพราะนี่ถือว่าเป็นขุมกำลังสำคัญที่จะทำให้วิทยุชุมชนเชิงประเด็นเกิดได้ และเกิดได้อย่างถูกต้องด้วย ถ้าปล่อยผมทำตามลำพัง ผมก็เหมือนเด็ก ถ้าผมทำไปก็ทำไปผิด ๆ ถูก ๆ แต่ถ้ามาช่วยกันหลาย ๆ คน คอยติ คอยเตือน คอยสอนกัน คอยบอกกันเราก็จะได้สิ่งที่ดี ตรงนี้ผมตั้งใจอย่างนั้น นักวิชาการทั้งหลายผมเชิญเลยนะครับ ถ้าเผื่อยังไงอยากให้ผมเชิญท่านไหนบอกมาได้ ผมจะเชิญ บางครั้งอาจจะไม่ทั่วถึงไปบ้าง หรืออะไรบ้างก็เป็นธรรมดาของการทำงาน แต่โดยเจตนาไม่มีเลยที่จะปิดกั้นใคร มาช่วยกันหลาย ๆ คน ...
.
สรุปข้อมูลพื้นฐานเครือข่ายวิทยุชุมชนเชิงประเด็น