จนท.วุฒิสภาส่งชื่อปชช. ๕๐,๐๐๐ รายชื่อถอดถอน กสทช. ไป ปปช. แล้ว
Posted Date : วันที่ 29 ส.ค. 2555 เวลา 00:00 น.

 

เจ้าหน้าที่วุฒิสภาได้ผ่านขั้นตอนการตรวจนับจำนวนเอกสารแสดงเจตนาถอดถอนกสทช. ของประชาชนและส่งไปตรวจกับทะเบียนราษฎรแล้ว บัดนี้เอกสารการถอดถอนได้ส่งปปช.แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ มีจำนวนรายชื่อ ๗ พันกว่าชื่อที่ต้องส่งคืนจากจำนวนทั้งหมด ๕๗,๙๐๔ รายชื่อ

 

++++++++++++++++++++++++++

 

 

ด้วยวุฒิสมาชิกผู้มีตำแหน่งระดับสูงตรวจพบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๕ ว่า กสทช.ได้ส่งเรื่องเข้าสู่การประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงมีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้ ประชาชนผู้รับฟังสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้สูงวัย นักวิชาการ สตรี ผู้พิการ ข้าราชการ เยาวชน ภาคเอกชน และประชาชน ที่ล้วนแล้วเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากประกาศฉบับนี้อันเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ที่จงใจลิดรอนสิทธิและปิดกั้นการรับฟัง จึงประสานงานมายังสำนักงานวุฒิสภาและได้รับการนัดหมายให้เข้าแสดงตนต่อประธานวุฒิสภาอย่างเป็นทางการเพื่อร้องขอวุฒิสภาดำเนินการถอดถอน กสทช. ออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิการรับฟังให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องดุจดังเดิม ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน พร้อมแบบแสดงตนฯ ถ.ต.๑ ชี้แจงเหตุผลและรายละเอียด ดังต่อไปนี้

 

(คลิกรับชมรับฟัง บทเพลง ร่วมปกป้องวิทยุเสียงธรรมได้แล้วที่นี่)

 

ร้องประธานวุฒิล่า 2 หมื่นชื่อถอดถอน 11 กสทช. ส่อทุจริต-ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ

 

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2555 เวลา 13.30 น.

 

 

 

 

วันนี้(13ก.ย.) ที่รัฐสภา ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ พร้อมด้วยคณะในฐานะผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อได้เข้าแสดงตนต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ ทั้ง 11 คน ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยได้ใช้อำนาจหน้าที่ออกประกาศกสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ขัดต่อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ดังนี้ คือ 1. เเนวทางการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ หรือปรับปรุง ไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ รวมถึงไม่มีมาตรการชดเชยความเสียหายให้กับผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ เดิม ถือว่าเป็นการคืนคลี่นอย่างไม่เป็นธรรม เปรียบได้เป็น “การปล้นทรัพย์” หรือ “การปล้นสิทธิ”ของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง


ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า 2.การประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้นำประเด็นเนื้อหาสาระของผังรายการที่ เป็นต้นเหตุในการถือครองคลื่นมาพิจารณากำหนด ทำให้เกิดการไม่ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความเสียหายต่อผู้รับฟัง 3.เกิดการลิดรอนกำลังส่งแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ ในขณะที่คุ้มครองผู้ประกอบการรายเดิมแบบไม่เท่าเทียม จนส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารบนวิทยุขาดความหลากหลาย ซึ่งเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเนื้อหาเฉพาะด้านบันเทิงเท่านั้น 4. อีกทั้งมีการออกประกาศที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน เนื่องจากสถานีวิทยุากระจายเสียงด้วยระบบเอฟ.เอ็มตามประการศนี้ ไม่ได้ถูกกำกับมาตรฐานทางเทคนิค แต่กลุ่มสถานีวิทยุรายใหม่แม้จะประกอบกิจการกระจายเสียงมานาน 7-8 ปี กลับยังถูกเข้มงวดบังคับมาตรฐาน เทคนิค และ5.สถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะเกือบทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบจาก ประกาศฉบับนี้ โดยเฉพาะสถานีวิทยุที่มีเนื้อหาในการมุ่งเผยแพร่พระพุทธศาสนาเท่ากับเป็นการ รอนสิทธิในการปฏิบัติตามศาสนธรรม

 

++++++++++++++++++++++++++

แบบ ถ.ต. ๑

 

แบบหนังสือแสดงตนเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอ

 

เขียนที่ ………สำนักวุฒิสภา………………

                                                 วันที่ .....๑๓...... เดือน ...กันยายน.... พ.ศ. ๒๕๕๕....

เรื่อง              ขอแสดงตนต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๒๗๐ของรัฐธรรมนูญ ออกจากตำแหน่ง

กราบเรียน       ประธานวุฒิสภา

สิ่งที่ส่งมาด้วย  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อ จำนวน ...๑๕...... แผ่น

 

                    ด้วยข้าพเจ้าในฐานะผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อ (ไม่เกิน ๑๐๐ คน) จำนวน ..๑๕...... คน (ประกอบด้วยตัวแทนผู้สูงวัย นักวิชาการ สตรี ผู้พิการ ข้าราชการ เยาวชน ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นผู้รับฟังสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ถูกลิดรอนจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.) มีความประสงค์ที่จะขอแสดงตนต่อประธานวุฒิสภาก่อนเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๐ วรรคสอง (๒) และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๒๕ ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ

          ผู้ดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แก่

          ๑ . พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี         

          ๒. พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์

          ๓. พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

          ๔. พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ

          ๕. ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ

          ๖. พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า

          ๗. รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์

          ๘. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์

          ๙. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์

          ๑๐. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

          ๑๑. พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร

 

          ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว มีพฤติการณ์หรือส่อว่ากระทำผิด ดังนี้ คือ

มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยได้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง ออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนี้

 

๑. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรคแรก ที่ได้บัญญัติไว้ว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่า “คลื่นความถี่” ไม่ใช่สมบัติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งนี้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เพียงจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง เปรียบได้กับกรมที่ดินที่มีหน้าที่ในการจัดแบ่งโซนที่ดิน อันเปรียบได้กับ “คลื่นความถี่” โดยแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบ “ที่ดิน” ซึ่ง เป็นสมบัติของชาติ

 

แม้แต่ในกระบวนการคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงรายเดิม (รายละเอียดในภาคผนวก จ ของประกาศดังกล่าว) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังกำหนดให้มีแนวทางการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือการปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการถือครองคลื่นเป็นสำคัญ มิอาจยึดคืนได้โดยปราศจากเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ

          แต่ประกาศดังกล่าวที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้บังคับใช้ ไม่มีการชดเชยความเสียหาย ไม่มีการสอบถามหาเหตุผล หรือพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ของผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดแม้แต่รายเดียว และยังไม่คำนึงถึงสิทธิในการกระจายเสียงของผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิเดิมที่กระจายเสียงอยู่มายาวนานหลายปี ที่จะต้องถูกลิดรอนไปอย่างมาก โดยไม่มีมาตรการใด ๆ รองรับหรือหาทางออกให้กับผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ ยังไม่ได้คำนึงถึงสิทธิในการรับฟังของประชาชน ที่ดำเนินต่อเนื่องด้วยความราบรื่นมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้ประชาชนจำนวนกว่าครึ่งที่เคยได้ยินได้ฟังข่าวสารประโยชน์จากสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้ง ด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น ซึ่งบัดนี้ประชาชนจำนวนมากจะไม่ได้ยินได้ฟังอีกต่อไป การกระทำในลักษณะที่กระทบต่อสิทธิความเป็นเจ้าของของผู้ประกอบการและสิทธิความเป็นเจ้าของการรับฟังเนื้อหาสาระจากสถานีวิทยุเหล่านี้ที่จะต้องสูญเสียไปอย่างรุนแรง โดยปราศจากเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงอาจเปรียบได้กับ “การปล้นทรัพย์” หรือ “การปล้นสิทธิ” ของผู้อื่นมาเป็นของตัว กล่าวคือ

กสทช. ที่เพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง ยกเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงเล็กน้อยมาเป็นข้อกล่าวอ้าง แท้ที่จริงเป็นการก้าวล่วงมายึดเอาพื้นที่การกระจายเสียงจำนวนมากจากบรรดาผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงรายใหม่ทุกราย (ซึ่งตั้งหลังจาก พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกไปประหนึ่งว่า กสทช. เป็นเจ้าของพื้นที่กระจายเสียงเหล่านี้มาดั้งเดิม ทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์แล้วว่า ผู้ประกอบการรายใด อาศัยสิทธิโดยชอบเข้ามาจับจองทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประกอบการโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ และมีเจตนาแรงกล้ามุ่งบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะอย่างต่อเนื่องยาวนาน สมควรแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะอยู่แล้ว กสทช. จึงไม่มีเหตุผลอันควรหรือมีความจำเป็นเพียงพอที่จะใช้อำนาจก้าวล่วงเข้ามายึดเอาพื้นที่กระจายเสียงของผู้อื่นไปเช่นนี้ จึงเท่ากับกระทำการประหนึ่งการปล้นสิทธิของผู้อื่นที่กำลังทำประโยชน์มาเป็นของตัวนั่นเอง

 

๒. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรค ๓ ที่ได้บัญญัติไว้ว่า “การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ”

          แต่ประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ไม่นำประเด็นเนื้อหาสาระของผังรายการอันเป็นปฐมเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่น มาพิจารณาในการกำหนด หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ทำให้สถานีวิทยุทั้งในประเภทบริการสาธารณะ และบริการชุมชน ที่มุ่งเน้นประโยชน์สาธารณะ โดยไม่หวังผลกำไรทางธุรกิจ ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรง บั่นทอนประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทำให้ประชาชนที่เคยได้รับฟังเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ ไม่สามารถรับฟังได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ วิทยุในประเภทเดียวกันแต่มีสถานะต่างกัน กล่าวคือเป็นผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงรายเดิม ซึ่งประกอบกิจการอยู่ก่อนพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ใช้บังคับกับผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงรายใหม่ ซึ่งประกอบกิจการภายหลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ใช้บังคับ แต่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กลับใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานทางเทคนิคที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จนประชาชนทั้งหลายเกิดความสงสัยว่าในการปฏิบัติหน้าที่น่าจะมีผลประโยชน์มหาศาลแอบแฝง เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างมากระหว่างผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงประเภทเดียวกัน แต่มีการดำเนินงานก่อนหลังที่ต่างกัน ผู้ทำประโยชน์มาก กลับต้องเป็นฝ่ายสูญเสียและเสียเปรียบผู้ทำประโยชน์น้อยหรือไม่ทำประโยชน์ใด ๆ เลย จึงเป็นประกาศที่ไร้ความชอบธรรม นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงทางธุรกิจรายใหม่

 

          ๓. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรค ๔ โดยประกาศดังกล่าว ปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน กล่าวคือ ก่อนที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะออกประกาศดังกล่าว ประชาชนเคยได้รับฟังเนื้อหาจากวิทยุที่เป็นประโยชน์สูงสุดอย่างหลากหลาย ไม่ว่าด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น แต่การลิดรอนกำลังส่งแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ในขณะที่คุ้มครองผู้ประกอบการรายเดิมแบบไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารบนหน้าปัทม์วิทยุขาดความหลากหลาย กล่าวได้ว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเนื้อหาเฉพาะด้านการบันเทิงเท่านั้น (ข้อนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรค ๔ )

 

          ๔. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรค ๔ กล่าวคือ กลุ่มสถานีวิทยุรายใหม่ (ตั้งหลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ) แม้จะดำเนินงานกระจายเสียงมานานแล้วถึง ๗-๘ ปี แต่จะต้องถูกบังคับจากมาตรฐานทางเทคนิคที่เข้มงวดตามประกาศดังกล่าว ในขณะที่สถานีวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ตาม ภาคผนวก จ ในประกาศดังกล่าว ไม่ได้ถูกกำกับดูแลจากมาตรฐานทางเทคนิคใดเลย แม้จะอ้างว่าได้รับการคุ้มครองสิทธิตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๕ (๑) แต่การคุ้มครองตามกฎหมายนั้นเป็นการคุ้มครองอายุสิทธิสัมปทาน หรืออายุสิทธิตามใบอนุญาต กฎหมายไม่ได้ให้ผู้ประกอบการรายเดิมอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าผู้ประกอบการรายใหม่ โดยให้ กสทช.ใช้มาตรฐานทางเทคนิคที่ต่างกัน

จึงสรุปได้ว่า กสทช. มีเจตนาอย่างแรงกล้าที่จะฝ่าฝืนกระแสคัดค้านของประชาชนจำนวนมาก ด้วยการออกประกาศดังกล่าวที่มีเนื้อหาสาระเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน

 

          ๕. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๗ ที่บัญญัติไว้ว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา

หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น”

สถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะเกือบทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ โดยเฉพาะสถานีวิทยุที่มีเนื้อหามุ่งเน้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้วยการกระจายเสียงธรรมเทศนาจากครูบาอาจารย์ที่มีความหลากหลายทั้งองค์ปาฐกและเนื้อหา ในความเป็นจริงผู้ฟังวิทยุมักจะปฏิบัติจิตตภาวนาไปพร้อม ๆ กับการฟังวิทยุ เช่น การนั่งสมาธิภาวนา การทำวัตรสวดมนต์ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น เป็นต้น ซึ่งความสำคัญของการฟังเทศน์นั้นมีมาแต่ครั้งพุทธกาลจนกระทั่งสมัยปัจจุบัน ทำให้มีผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานในขั้นต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก (หลักฐานอ้างอิงจากพระไตรปิฎก) แต่ประกาศฉบับนี้ทำให้ผู้ที่เคยได้รับฟังเพื่อปฏิบัติภาวนา ไม่สามารถรับฟังอีกต่อไป และสภาวะจิตย่อมต้องเสื่อมลงไปอย่างแน่แท้

         สิทธิของประชาชนที่เคยได้รับฟังธรรมะจากสถานีวิทยุเหล่านี้ อย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ ๑๐ ปี จะต้องสูญสิ้นไปเนื่องด้วยประกาศดังกล่าวของ กสทช. ที่รอนสิทธิในการปฏิบัติตามศาสนธรรม และโดยที่ กสทช. เป็นหน่วยงานของรัฐอีกด้วย ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๗ อย่างร้ายแรง

          อนึ่ง มีหลักฐานเป็นที่ปรากฏชัดว่า พ.อ. นที ศุกลรัตน์ ได้มีส่วนร่วมในการจัดระเบียบวิทยุกระจายเสียงตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงวิทยุชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จนในที่สุดดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมกับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พ.อ. นที ศุกลรัตน์ ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับวิทยุกระจายเสียงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีว่า มีสถานีวิทยุที่มุ่งดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเต็มที่ โดยไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่อย่างใดทั้งสิ้น ทั้งไม่ได้อาศัยเงินทุนจากนักการเมืองและไม่ได้อาศัยเงินทุนสนับสนุนจากรัฐแม้แต่บาทเดียว แต่ได้รับเงินจากการบริจาคจากประชาชนที่มีจิตศรัทธาร่วมกัน และมีความสามารถกระจายเสียงเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดมา โดย พ.อ. นที ศุกลรัตน์ ได้เคยพบปะกับสถานีวิทยุต่าง ๆ เหล่านี้เสมอ ๆ ในเวทีการประชุมสัมมนา และยังได้ไปพบปะแลกเปลี่ยนเป็นการเฉพาะกับสถานีวิทยุเหล่านี้ในหลาย ๆ ที่อีกด้วย

นอกจากนี้ในอดีต คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทั้ง ๒ ชุด ต่างให้การยอมรับสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะเหล่านี้อย่างเต็มที่ และได้เตรียมการออกแบบรองรับสถานีวิทยุเหล่านี้ โดยเฉพาะเพื่อการศาสนา อาทิ จัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) และการรับฟังความเห็นสาธารณะจากนักวิชาการ ผู้ประกอบกิจการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจาก ๔ ภาคของประเทศ และยังมีการจัดจ้างให้มีการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ ในการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงที่มุ่งเน้นในเชิงประเด็นจนเป็นผลสำเร็จสามารถนำมาอ้างอิงทางวิชาการได้ ซึ่งพ.อ.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กทช. และ ในฐานะ กรรมการ กทช. ในเวลาต่อมา ทราบและรู้เห็นการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้มาโดยตลอด แทนที่จะให้การสนับสนุน หรืออย่างน้อยคุ้มครองบรรดาสถานีวิทยุที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะเหล่านี้ ด้วยการนำผลการดำเนินการทั้งหมดของ กทช. ทั้ง ๒ ชุดได้ทำสำเร็จไว้ มาสานต่อให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ กลับมีเจตนากระทำการตรงกันข้ามอย่างรุนแรง นอกจากนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทุกท่าน ยังทราบเป็นอย่างดีว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในด้านต่าง ๆ ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของสถานีเหล่านี้ แต่ครั้นเมื่อ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใน กสทช. อีกครั้ง และมีอำนาจอย่างเต็มที่ กลับจงใจปล่อยปละละเลยไม่สานต่อภารกิจเหล่านี้ทั้งที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประชาชน และยังกีดกันบรรดาวิทยุที่บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะทั้งในด้านวัฒนธรรม ศาสนา เยาวชน ฯลฯ เหล่านี้ให้มีพื้นที่กระจายเสียงลดลงอย่างมากเช่นนี้ แม้จะมีการทักท้วงจากองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ เป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ยังยืนกรานที่จะกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอีกต่อไปได้ทั้งที่รู้รายละเอียดและรู้เห็นความเป็นมาในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความหนักเบาของโทษความผิดแล้ว พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ดูจะหนักหนากว่า กรรมการ กสทช. ท่านอื่นๆ และสมควรถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เพียงคนเดียวย่อมไม่สามารถออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ได้สำเร็จ เนื่องจากกระบวนการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว จะต้องผ่านการรับรองจากที่ประชุม กสทช. เสียก่อน

นอกจากนั้น นับตั้งแต่วันที่มีการประชาพิจารณ์ประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก ได้คัดค้านประกาศดังกล่าวและอธิบายเหตุผลในการคัดค้านทั้งด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค และด้านสังคม ฯลฯ มาโดยตลอด และยังได้มีการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในการกระจายเสียงที่ปรากฏในปัจจุบัน การคัดค้านดังกล่าวได้กระทำ ทั้งโดยหนังสือ วาจา และการแสดงตนต่อ กสทช. ดังนั้น กสทช. ท่านอื่นนอกจาก พ.อ.นที ศุกลรัตน์ จะอ้างว่า ไม่ทราบเรื่องราวย่อมไม่ได้ สำหรับการกระทำและพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายในประเด็นอื่นๆ อีก จะได้รวบรวมนำเสนอในชั้นส่งรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อพิจารณาถอดถอนต่อไป

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ประชาชนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า เพื่อคุ้มครองประโยชน์สุขของประชาชนจำนวนมากมิให้สูญสิ้นไป จึงถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการรวบรวมลายมือชื่อ เพื่อถอดถอน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ

ในการนี้ ข้าพเจ้าผู้มีรายชื่อข้างท้ายนี้ ขอมอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ ... ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อคนหนึ่ง เป็นผู้แทนของผู้ริเริ่มทั้งหมดในการติดต่อประสานงานหรือรับแจ้งเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงตน การรวบรวมรายชื่อ การจัดทำคำร้อง การแก้ไขคำร้อง และการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง จนเสร็จการ เพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น ออกจากตำแหน่ง

          ทั้งนี้ การใดที่ผู้ได้รับมอบหมายให้กระทำแทนผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อทั้งหมดข้างต้นได้กระทำไปดังกล่าว ทางผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อขอรับผิดชอบ โดยถือเสมือนว่าผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อทั้งหมด เป็นผู้กระทำการเองทั้งสิ้น

          จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

(ลงชื่อ) ..................................................................

ผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อจำนวน ๑๕ ท่าน

(ประกอบด้วยตัวแทนผู้สูงวัย นักวิชาการ สตรี ผู้พิการ ข้าราชการ เยาวชน ภาคเอกชน และประชาชน

ซึ่งเป็นผู้รับฟังสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ถูกลิดรอนจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.)

 

(คลิกรับชมรับฟัง บทเพลง ร่วมปกป้องวิทยุเสียงธรรมได้แล้วที่นี่)

 

+++++++++++++++++++++++

 

มติที่ประชุมสมัยวิสามัญ มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

ตามที่ พันเอก นที ศุกลรัตน์ กับพวก ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสทช. ดึงดันจะประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ให้มีผลบังคับใช้ให้จงได้ และย่อมจะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อวิทยุเสียงธรรม ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่อาจรับฟังเสียงธรรมพระธรรมเทศนาของพระอรหันต์ได้อีกต่อไป แม้ประชาชนจำนวนมากไม่น้อยกว่า ๑๕๑,๗๖๗ ราย (ซึ่งจะรวบรวมผู้เห็นคุณค่าในวิทยุเสียงธรรมต่อไปเรื่อยๆ ให้ได้มากที่สุด) ประชาชนตามรายชื่อดังกล่าวแม้จะพยายามร้องขอ ทักท้วง ตักเตือน คัดค้านต้านทาน ก็ไม่เคยใส่ใจ ยังดื้อรั้นฝ่าฝืนต่อกระแสของประชาชนอย่างไม่มีหิริโอตตัปปะ ทั้งที่การกระทำในครั้งนี้จัดเป็นการสร้างกรรมหนักในทางธรรม เป็นการปิดกั้นทางเดินแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระสงฆ์และประชาชนผู้รับฟัง เท่ากับปิดกั้นทางเดินแห่งสวรรค์สมบัติ พรหมโลกสมบัติ นิพพานสมบัติ ของประชาชนทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอีกจำนวนมากจะต้องสูญเสียโอกาสสำคัญในการรับฟังธรรมของพระอรหันต์ผู้รู้จริง ทำให้จะต้องจมปรักอยู่ในวังวนของอาสวะกิเลสอีกตราบเท่านาน ผลกรรมของ กสทช. ในครั้งจึงหนักหนาสาหัสน่าสะพรึงกลัวมาก

ในทางโลก ประชาชนผู้รับฟังและผู้เห็นพระคุณของวิทยุเสียงธรรมฯ ได้พากันศึกษาค้นคว้าในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ อย่างจริงจัง พบว่า กสทช. ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายประการ จึงพร้อมใจกันแสดงเจตนาถอดถอน พันเอก นที ศุกลรัตน์ กับพวก ออกจากตำแหน่ง โดยจะรวบรวมให้ได้ประมาณ ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ รายชื่อ และจะเข้ายื่นถอดถอนต่อประธานวุฒิสภาต่อไป

ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ในการรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอน กสทช. ตามที่ปรากฏในเว็บนี้นั้น ประชาชนมีสิทธิถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๐ และยังดำเนินการรวบรวมต่อไปได้เรื่อยๆ (แบบฟอร์มเป็นทางการจะนำมาแสดงในเว็บไซต์ในเร็ววันนี้) ทั้งนี้เนื่องจาก กสทช. ไม่มีทีท่าจะยุติประกาศฉบับมหาภัยดังกล่าว ส่วนการแสดงตนเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภานั้น ที่ประชุมขอให้ผู้ริเริ่มที่ได้นัดหมายประธานวุฒิสภาแล้ว ในวันจันทร์ที่ ๓ กันยายน นี้ กรุณาชะลอการแสดงตนไว้ก่อน ให้เวลาและโอกาส กสทช. ได้ทบทวนอีกครั้ง และให้โอกาสผู้หวังดีต่อบ้านเมืองเข้ามาช่วยหาทางออก

หากเมื่อไม่มีทางออกอื่นแล้ว และ กสทช. ยังฝ่าฝืนต่อกระแสประชาชนถึงขั้นออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ ถ้าเช่นนั้นก็ประจักษ์ชัดว่า กสทช. มีเจตนาอย่างแรงกล้าที่จะบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ และสิ่งนี้จะเป็นต้นเหตุแห่งกรรมอันหนักในพระพุทธศาสนาและยังกระทบกระเทือนยิ่งต่อความรู้สึกของประชาชน ซึ่งย่อมถึงกาลอันควรที่ผู้ริเริ่มไม่เกินหนึ่งร้อยคนตามกฎหมาย จะพากันไปแสดงตนเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาโดยทันที เมื่อรวบรวมได้ครบ ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ รายชื่อแล้ว จึงดำเนินการตามรัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนต่อไป

 

 

+++++++++++++++++++++++

 

มติที่ประชุมเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

และประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร

วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๘.๓๐ - ๑๗.๓๐ น.

ณ หอประชุม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล นครปฐม

ด้วยคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและธรรมยุตจากจตุรทิศ ทั้งคามวาสีและอรัญวาสี มีความตั้งใจแรงกล้าในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติโดยใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงธรรมะให้ขจรขจายสู่พี่น้องประชาชน จะได้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่แท้จริง มีหลักใจ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องดีงาม

คณะสงฆ์จากจตุรทิศได้ส่งผู้แทนจำนวน ๒๓๖ รูป/คน เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ณ หอประชุม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล นครปฐม ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๕ เพื่อหารือเกี่ยวกับประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ประกาศเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๕ โดย พ.อ. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ปฏิบัติหน้าที่แทน ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบรุนแรงต่อการกระจายเสียงของสถานีวิทยุเพื่อพระพุทธศาสนาและสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะที่มีพื้นที่การกระจายเสียงเกินกว่ารัศมี ๒๐ กิโลเมตร ต่อนี้ไปประชาชนผู้รับฟังในบริเวณไกลออกไป จะรับฟังไม่ชัดเจนหรือไม่สามารถรับฟังได้อีก

ที่ประชุมผู้แทนคณะสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัย จารีตประเพณี และกฎหมายบ้านเมือง เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาประกาศ กสทช. ฉบับดังกล่าวที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการบำเพ็ญประโยชน์ของสถานีวิทยุเหล่านี้ โดยเฉพาะต่อกิจของสงฆ์ที่ตั้งใจเผยแผ่ศาสนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่องยาวนาน ให้ต้องประสบอุปสรรคขัดขวาง

เพื่อมิให้ความเสียหายเหล่านี้อันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ที่ไม่เอื้อประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ประชุมคณะสงฆ์ไทยจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ดังนี้

 

๑. ขอความอนุเคราะห์ ให้ กสทช. ดำเนินการเพิ่มเติมขึ้น เช่น คลื่นศาสนา หรือวิทยุชุมชนเชิงประเด็น ตามประกาศข้อ ๘ วรรคหก แห่งประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ระบุว่า ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์วิธีการขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงบางประเภทเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลหรือประโยชน์สาธารณะอื่นใด คณะกรรมการอาจเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับใบอนุญาตก็ได้ โดยจะประกาศให้ทราบล่วงหน้า โดยกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่แบบมีส่วนร่วมจากเครือข่ายวิทยุกระจายเสียงเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร

เพื่อให้เกิดความเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คณะสงฆ์ขอให้ กสทช. ขยายเวลาในการปรับมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับสถานีวิทยุทั้งหมดเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร จากเดิม ๑ ปี เป็นระยะเวลาที่เท่ากับช่วงเวลาที่กฎหมายให้ความคุ้มครองผู้ประกอบการรายเดิมและอยู่ในกระบวนการพิจารณาคืนคลื่นความถี่จำนวน ๓๑๔ คลื่น จนแล้วเสร็จ เพื่อให้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกันภายในกำหนดเวลาเดียวกันทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่

ทั้งนี้ให้ กสทช. แจ้งผลการพิจารณาในกรณีนี้ก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ หาก กสทช. ไม่แจ้งผลการพิจารณาภายในระยะเวลาที่คณะสงฆ์ร้องขอ จะเป็นความเสียหายทั่วไป ที่ประชุมคณะสงฆ์จึงขอความอนุเคราะห์ในเรื่องของเวลาตามที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดของประชาชน

๒. ขอให้ กสทช. คุ้มครองมาตรฐานทางเทคนิคของสถานีวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร ทั้งหมด ให้มีรัศมีกระจายเสียงคงไว้เช่นเดิม ซึ่งเป็นความเสมอภาคและเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับการคุ้มครองผู้ประกอบการรายเดิมที่ส่วนใหญ่ใช้เงินภาษีประชาชนมาประกอบกิจการ แต่ส่วนมากกลับมุ่งแสวงหากำไรทางธุรกิจและเน้นแต่การบันเทิง

๓. กรณีใด ๆ ซึ่งประชาชนไม่อาจยอมรับได้ แต่เพื่อปกป้องสิทธิการรับฟังธรรมและ ปฏิบัติธรรมของตนไว้อย่างเต็มที่ ในกรณีนี้ คณะสงฆ์อาจนำหลักธรรมหลักวินัยมาปฏิบัติ เพื่อประโยชน์แห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ และเป็นหนึ่งในสถาบันหลักที่ควรได้รับการอุปถัมภ์และส่งเสริมเป็นกรณีพิเศษ

๔. ขอให้แจ้งมติที่ประชุมคณะสงฆ์นี้ต่อ กสทช. ตลอดจนผู้รับผิดชอบบ้านเมืองในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รวมทั้งองค์กรอิสระ สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ และการเผยแผ่หลักธรรมในคัมภีร์พระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนา และประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

 

เครือข่ายวิทยุกระจายเสียงเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
และประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร

๑๖ กันยายน ๒๕๕๕

 

(พระปลัดบุญร่วม ปุญญมโน)                                                    (พระครูอรรถกิจนันทคุณ)

สถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติ                          กรรมการมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

 

 


<< BACK

หน้าแรก