Find in Page
Print
Print
Close
Close
:: ชีวิตที่วัดป่าบ้านตาด :: ชีวิตที่วัดป่าบ้านตาด (เสียง-คำบรรยาย)

                                                                                     ชีวิตที่วัดป่าบ้านตาด
แสงสีส้มเรื่อเรืองจับขอบฟ้า เป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นใหม่ วันใหม่ที่ชีวิตใหม่อีกมากมายกำลังเกิดขึ้น ในขณะเดียวกับที่อีกหลายๆ ชีวิตกำลังจบสิ้นลงตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ  ธรรมชาติแหล่งกำเนิดสรรพสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต มนุษย์ผลผลิตแห่งธรรมชาติ กับวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยการดิ้นรนต่อสู้ แก่งแย่งชิงดี แม้มนุษย์จะเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุดในโลก แต่มนุษย์ก็ไม่อาจรอดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติหยิบยื่นให้แก่ชีวิตทุกชีวิตโดยเท่าเทียมกัน วัฏจักรแห่งชีวิตหมุนไปเช่นนี้ไม่มีสิ้นสุด เป็นไปตามผลแห่งกรรมที่ก่อขึ้นในอดีตและปัจจุบันชาติ
 สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
            กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลให้ถึงพร้อม 
            สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ 
            เอตํ พุทฺธานสาสนํ นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า 
            นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
 นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
            นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน กำเนิดในสกุลโลหิตดี เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗ ณ หมู่บ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัด
อุดรธานี มีพี่น้องรวม ๑๗ คน ครอบครัวมีอาชีพทำนา เมื่อเด็กท่านได้เข้ารับการศึกษาจนจบชั้นประถมปีที่ ๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้น แต่ครั้งเป็นฆราวาส ท่านมีอุปนิสัยพูดจริงทำจริง รักคำสัตย์เสมอชีวิต เป็นผู้หนักแน่นในเหตุผลกับทุกสิ่ง
ทุกอย่าง อุปนิสัยอันนี้เองที่ช่วยในการปฏิบัติธรรม และเป็นปฏิปทาของท่านในเวลาต่อมา เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี พ่อแม่ได้ขอร้องให้ท่านบวชเพื่อทดแทนคุณตามประเพณี 
ในที่สุดท่านก็ตัดสินใจบวช ณ วัดโยธานิมิตร อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์ให้นามฉายาว่า ญาณสมฺปนฺโน 
ท่านตั้งใจไว้ว่าจะบวชเพียงเป็นประเพณีนิยมเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจจะบวชนานถึงเพียงนี้ แต่เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ต้องการบรรลุมรรคผลนิพพานดังพระอรหันตสาวก จึงตั้งใจว่าจะต้องเรียนเสียก่อน ถ้าไม่เรียนแล้วจะไม่เข้าใจทางด้านวิธีปฏิบัติ โดยมีข้อบังคับตนเองไว้ว่า จะเรียนสอบเปรียญให้ได้เพียง ๓ ประโยคเท่านั้น เมื่อได้ถึงขั้นเปรียญ ๓ ประโยคแล้ว อย่างไรเสียก็ต้องรู้แนวทางของการปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลนิพพานแน่ แต่จะไม่ให้เลยกว่านั้น เพราะจะทำให้ลืมตัว จึงตั้งข้อบังคับตนเองไว้อันเป็นคำสัตย์อันหนึ่ง 
ระหว่างศึกษาอยู่ ท่านก็ปฏิบัติสมาธินั่งภาวนาอยู่ไม่ได้ขาด จนจิตรวมได้ ๓ ครั้งเป็นประจักษ์พยาน ขณะศึกษาท่านก็สอบเปรียญได้บ้าง ตกบ้าง พร้อมกับสอบนักธรรมได้ จนกระทั่งสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค  พร้อมนักธรรมเอกในปีเดียวกันนั้น รวมเวลาที่ศึกษาอยู่ ๗ ปี จากนั้นได้มุ่งออกเพื่อปฏิบัติธรรมแต่ถ่ายเดียว จิตท่านจึงมุ่งสู่หลวงปู่มั่น เพราะได้ยินกิตติศัพท์หลวงปู่มั่นมาแต่ครั้งท่านยังเป็นเด็ก จนกระทั่งท่านบวชแล้ว ชื่อเสียงของหลวงปู่มั่นนับวันจะเลื่องลือยิ่งขึ้น 
ขณะที่ท่านอยู่ที่เชียงใหม่ ได้พบปะพูดคุยกับครูบาอาจารย์ที่เคยอยู่กับหลวงปู่มั่นมาเล่าให้ฟังถึงปฏิปทาและข้อวัตรที่หลวงปู่มั่นพาดำเนิน ล้วนแต่บอกว่าหลวงปู่มั่นไม่ใช่พระธรรมดาเป็นพระอริยะชั้นพระอรหันต์ จิตใจของท่านก็ยิ่งฝังลึกลงๆ ในการที่จะปฏิบัติตัวเอง ใจก็ถึงกับฝากชีวิตจิตใจไว้กับหลวงปู่มั่นทั้งหมด และแน่ใจว่ามรรคผลนิพพานยังมี จากนั้นท่านก็มุ่งไปหาหลวงปู่มั่น เมื่อพบหลวงปู่มั่นแล้วก็สมใจที่มุ่งไว้ทุกอย่าง เพราะเหมือนหลวงปู่มั่นจะทราบเรื่องทุกอย่างของท่านแล้ว เมื่อไปถึงก็เอาเรื่องทุกแง่ทุกมุมของท่านออกมาตีแผ่กระจายหมด ตลอดจนถึงเครื่องยืนยันมรรคผลนิพพาน หลวงปู่มั่นท่านเอาออกมาให้เห็นพร้อมเสร็จ จนท่านหมดความสงสัย ถึงกับรำพึงว่า เอาละทีนี้เรามาหาของจริง ท่านแสดงให้ฟังทุกสิ่งทุกอย่าง หาที่สงสัยไม่ได้แล้ว คราวนี้เราจะจริงหรือไม่ เราจะต้องจริง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ท่านจึงมอบตัวเป็นลูกศิษย์อยู่ศึกษาอบรมกับหลวงปู่มั่นด้วยความตั้งใจจริงและเด็ดเดี่ยว ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ เป็นต้นมา ท่านเริ่มบำเพ็ญภาวนาอย่างจริงจัง ภายในป่าเขาอันวิเวก เงียบสงัด ปราศจากบ้านเรือน ผู้คน โดยตั้งจิตไว้ว่าจะเป็นก็เป็น จะตายก็ตาย จิตมุ่งอยู่กับมรรคผลนิพพานเท่านั้น 
ขณะศึกษาอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติตลอดจิตตภาวนา ซึ่งหลวงปู่มั่นพาดำเนินด้วยความถูกต้องดีงามตามหลักธรรมวินัย และท่านได้ปฏิบัติจนเป็นที่ยืนยันประจักษ์แก่ใจตนเองจนหมดสงสัยเช่นกัน ท่านจึงได้สืบทอดข้อวัตรปฏิบัติอันดีงามมาสั่งสอนอบรมพระเณรในเวลาต่อมา 
ด้วยเหตุที่ท่านให้ความเคารพเทิดทูนหลวงปู่มั่นอย่างสุดหัวใจ โดยเรียกหลวงปู่มั่นว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เพราะหลวงปู่มั่นเปรียบเสมือนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในองค์เดียวกันหมด ด้วยความเคารพเทิดทูนอันนี้เอง จึงเป็นพลังใจให้ท่านได้เขียนหนังสือประวัติหลวงปู่มั่น เพื่อเผยแพร่ข้อวัตรปฏิบัติ ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติศักดิ์เกียรติคุณให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเป็นคติเพื่อบูชาคุณท่าน และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภาคปฏิบัติธรรมกรรมฐานอีกหลายเล่ม รวมถึงการบันทึกเทปธรรมะ เพื่อเป็นแนวทางให้สาธุชนได้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติธรรมด้านกรรมฐาน ดังที่ทราบกันอยู่ 
ท่านจำพรรษากับหลวงปู่มั่นครั้งแรกที่บ้านโคก ตำบลโตงโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ๒ พรรษา แล้วติดตามหลวงปู่มั่นไปจำพรรษาที่บ้านหนองผือ ตำบล
นาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร อีก ๖ ปี รวมเวลาที่อยู่กับหลวงปู่มั่นทั้งหมด ๘ ปี จวบจนหลวงปู่มั่นถึงแก่มรณภาพในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ หลังจากเสร็จงานถวายเพลิงหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านก็เตรียมตัวหลีกเร้นเข้าป่าเขา เพื่อแสวงหาสถานที่อันวิเวก สงบ มุ่งบำเพ็ญภาวนา แต่หมู่คณะพระเณรต่างพากันรุมติดตามเพื่อหวังพึ่งพิงให้ท่านช่วยอบรมสั่งสอน ท่านก็พยายามหลบหลีกหนีเพื่อเร่งความเพียรของท่านเองไปสู่จุดหมายปลายทางสูงสุดที่ตั้งความหวังไว้ 
จนในที่สุดเมื่อบรรลุผลสมความตั้งใจแล้ว ท่านก็มาพิจารณาสงสารหมู่คณะที่หวังพึ่งพิงครูบาอาจารย์ เช่นเดียวกับที่ท่านเคยเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์มาแล้วในอดีต ท่านจึงได้นำข้อวัตรปฏิบัติและธรรมอันวิเศษที่ได้รู้เห็นประจักษ์แก่ใจ สั่งสอนหมู่คณะพระเณร ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยในครั้งแรกท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองผือนาใน ซึ่งท่านเคยจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น เพราะเมื่อหลวงปู่มั่นล่วงลับไปแล้ว พระเณรที่เคยมีอยู่มากมาย จากไปหมด เหลือเพียงพระสูงอายุเฝ้าวัดอยู่เพียงรูปเดียว ท่านจึงเกิดความสลดสังเวช จึงย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดนี้ ๑พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ 
จากนั้นท่านก็ออกหาที่สงัดวิเวก และได้ไปพักจำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ปัจจุบันเป็นจังหวัดมุกดาหาร อีก ๔ พรรษา คือระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๙๔-๒๔๙๗ ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่นี่ ท่านมีความเข้มงวดกวดขัน เอาจริงเอาจังในการอบรมสั่งสอนพระเณรมาก ทั้งในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ ธุดงควัตร และการปฏิบัติภาวนา จนทำให้พระเณรมีหลักใจมากขึ้น หลังจากนั้นท่านก็ออกเดินทางไปเที่ยวหาสถานที่สงบสงัดทางแถบเมืองจันทบุรี และได้ไปสร้างวัดจำพรรษาอยู่ที่นั่น ๑ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๘ 
ต่อมาได้ทราบข่าวว่าโยมมารดาของท่านป่วย ท่านจึงได้เดินทางกลับบ้านที่อุดรธานี เพื่อมาดูแลโยมมารดา ชาวบ้านและญาติโยมได้นิมนต์ท่านมาพักในป่า บริเวณทางทิศใต้ของหมู่บ้าน พร้อมทั้งได้นิมนต์ท่านขอให้อยู่เป็นหลักแหล่งเพื่อโปรดชาวบ้านที่นี่ อย่าได้ออกเที่ยวธุดงค์อีกต่อไป โดยจะขอบริจาคที่ดินบริเวณนี้ประมาณ ๑๖๓ ไร่ ให้ท่านสร้างวัด ท่านพิจารณาเห็นว่าโยมมารดาท่านก็แก่เฒ่ามากแล้ว สมควรที่ท่านจะอยู่ช่วยดูแล ท่านจึงรับนิมนต์ เริ่มสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ใช้ชื่อว่า วัดป่าบ้านตาด 
(เสียงหลวงตา) ...วัดนี้เป็นสถานที่ภาวนามาดั่งเดิม ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดก็เป็นวัดเพื่ออบรมจิตตภาวนาล้วนๆ ไม่ให้มีงานอื่นเข้ามายุ่งเหยิงวุ่นวาย ถ้าหากจะมีบ้างก็ต้องกำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ให้มีชั่วระยะกาลเพียงเล็กน้อยที่เห็นว่าจำเป็นเท่านั้น ตามความนิยมของโลกของธรรมก็ว่าวัดกรรมฐาน พระกรรมฐาน งานของพระกรรมฐานไม่ใช่งานก่อนนู้นสร้างนี้ ยุ่งเหยิงวุ่นวาย งานพระกรรมฐานท่านมอบให้ตั้งแต่วันบวชนู้น อุปัชฌาย์ทุกๆ องค์ มอบให้เรียบร้อยแล้ว นั่นแหละคืองานแท้ ท่านมอบให้พอเหมาะกับเวล่ำเวลาเพียง ๕ อาการ อนุโลม ปฏิโลม จากนั้นก็ให้เจ้าของไปคลี่คลายขยายออกไปตามส่วนแห่งงานนั้นๆ ที่จะขยับขยายออกไป กว้างแคบหยาบละเอียดเพียงไร
เริ่มต้นท่านมอบให้เพียงว่า เกสา นั่นฟังสิ คือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาได้แก่ฟัน มีอยู่ในปากนี้ ตโจคือหนัง หุ้มห่ออยู่โดยรอบสรรพางค์ร่างกายนี้ นี่ท่านเรียกว่างานของพระผู้ปฏิบัติตามหลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง.....
นี่คือจุดประสงค์และปณิธานอันแน่วแน่ ที่ท่านอาจารย์ได้สร้างวัดนี้ขึ้นมา ก็เพื่อการนี้สิ่งนี้เท่านั้น ซึ่งท่านได้ยึดมั่นเป็นแบบฉบับสั่งสอนอบรมลูกศิษย์ตามนี้มาตลอด เพื่อให้เป็นแบบอย่างอันถูกต้องดีงามของวัดป่าและพระป่าตามที่พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์พาดำเนินมา ซึ่งเรียกว่าวัดอรัญวาสี และพระฝ่ายอรัญวาสี 
จากเส้นทางสายขอนแก่น-อุดรธานี ตรงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๕๕๕ ก่อนถึงตัวเมืองอุดรอีก ๗ กิโลเมตร ด้านซ้ายมือมีทางแยกตรงบ้านคำกลิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีป้ายเขียนและลูกศรชี้บอกไปตามเส้นทางที่ลาดยาง ตลอดเส้นทางผ่านหมู่บ้านตาด เป็นระยะทาง ๘ กิโลเมตร ก็จะถึงผืนแผ่นดินที่สงบและร่มเย็น เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ใหญ่น้อยปกคลุมอยู่ดูเขียวชอุ่มร่มครึม เพราะได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีอยู่ภายในกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ สภาพโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าบนโคกเนิน ล้อมรอบด้วยพื้นที่นา แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นป่าเพียงแห่งเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 
ณ ที่นี้คืออาณาจักรที่หลายๆ ชีวิตได้มีโอกาสสัมผัสทิพยรสแห่งธรรมะและธรรมชาติอย่างแท้จริง สถานที่นี้ในอดีตเมื่อ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งเริ่มตั้งวัดนี้ขึ้น อาณาบริเวณโดยทั่วไปยังเป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ พันธุ์ไม้ใหญ่น้อยมากมาย อีกทั้งยังเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิดมากมายชุกชุม 
(เสียงหลวงตา)....เสือโคร่งนี้มีอยู่ ๓ ตัว เสือดาวมันมาตั้ง ๓  ตัว เห็นเข้าออกอยู่เรื่อย เข้าออก ส่วนเสือดาวมันไปตามกุฏิ เสือดาวนี้มันไม่สนใจกับคน นอกจากสัตว์คือหมา ถ้าคนอยู่ที่ไหน เสือดาวมันเคยกินสัตว์เช่นกินหมาเป็นต้น เมื่อเค้าได้ยินเสียงคนที่ไหน เค้าจะด้อมเข้าไปเลย ไปสอดส่องดู มองโน่นมองนี่ ถ้าไม่มีหมา ไม่มีอะไร เค้าจะหนี เค้าจะไม่นิ่งอยู่นาน แต่ถ้ามีหมาแล้วเค้าจะพยายามเอาจนได้นะ เดินดักหน้าดักหลัง พอเผลอคว้าหมับไปเลย นี่หมายถึงเสือดาว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีในวัดนี้ ไปกุฏิทุกหลังเลย ทำไมเราทราบได้ยังไง ก็เราปัดกวาดเสียเตียนโล่งนี่ แม้ตั้งแต่รอยหนูวิ่งผ่านวัด มันยังรู้ ใช่มั๊ย นี่เสือทั้งตัว ทำไมจะไม่เห็นรอยมัน.....
ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธรรมชาติโดยรอบบริเวณวัดหมดไป ทั้งนี้เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกเบิกที่ทำมาหากิน ทำไร่ ทำนา คงรักษาไว้ได้แต่อาณาเขตของวัด ดังสภาพที่เห็นอยู่ในขณะนี้เท่านั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า ๓๐ ปีแล้ว แต่วัดป่าบ้านตาดก็ยังคงรักษาสภาพความเป็นป่าอย่างแท้จริงเอาไว้ เพื่อให้พระเณร อุบาสก อุบาสิกา ได้อาศัยความสงัดวิเวก สงบเงียบ ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่ท่านอาจารย์ได้เทศน์อบรมสั่งสอนเสมอๆ ว่า
(เสียงหลวงตา)....พอเสร็จแล้วก็รุกฺขมูลเสนาสนํ นั่น ตามที่ท่านบอก อุปัชฌาย์บอก พระพุทธเจ้าประทานให้อย่างนั้น รับสั่งอย่างนั้น ว่ารุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย ถ้าเราพูดเป็นภาษาเรียบๆ ธรรมดาๆ มันก็จะกลายเป็นธรรมเนียมไปเสียว่า บรรพชา อุปสมบทแล้วพึงอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ต่อจากนั้นก็ชายป่าชายเขา ตามถ้ำเงื้อมผา พึงทำความอุตส่าห์พยายามอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด.....จากคำสั่งสอนดังกล่าว จึงเป็นแบบฉบับและปฏิปทาที่ยึดถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ชีวิตที่นี่จึงเป็นไปอย่างเรียบง่าย มักน้อย สันโดษอย่างที่สุด สิ่งก่อสร้างต่างๆ ต้องเป็นไปด้วยความเหมาะสมและจำเป็นตามเหตุตามผล 
แต่เดิมที่ดินบริเวณวัดนี้ไม่มีรั้วรอบขอบชิด ด้วยความเมตตาสงสารสรรพสัตว์ที่อาศัยพึ่งความสงบร่มเย็นของวัดเป็นจำนวนมากมาย อีกทั้งป้องกันบุคคลภายนอกเข้ามารบกวนการปฏิบัติภาวนาของพระเณร ท่านจึงได้สร้างกำแพงคอนกรีตล้อมรอบอาณาเขตของวัดขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ใหญ่น้อยและบุคคลภายนอกเข้ามารบกวนในเวลาที่ไม่เหมาะสม กำแพงนี้จึงประดุจปราการอันแข็งแกร่งที่ให้ความร่มเย็นคุ้มครองสัตว์ป่า ตลอดจนพระเณรและสาธุชนผู้ต้องการความสงบ เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง พร้อมทั้งยังเป็นเครื่องแสดงอาณาเขตอันแน่นอนของวัดป่าบ้านตาด อันเป็นดินแดนแห่งพุทธจักรของผู้ที่หวังความหลุดพ้น 
เมื่อผ่านประตูเข้าสู่บริเวณวัด ตามทางที่ปูลาดจากประตูไปตามถนนใหญ่สู่ตัวศาลาใหญ่ของวัด สองข้างทางปลูกต้นไม้เป็นแนว ปิดหน้าป่าไม้ไว้เบื้องหลัง เราจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของความร่มรื่นจากแหล่งธรรมชาติ นำมาซึ่งความสงบสุขแห่งจิตใจของผู้มาเยือน ไม่ว่าหญิง ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ เพราะที่นี่มีแต่ความสงบ ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสงบ และผ่องแผ้วภายในจิตใจของผู้ที่อยู่ในสถานที่นี้ ทั่วบริเวณของวัดปราศจากเสียงอื่นใดมารบกวน จะมีก็เพียงเสียงสัตว์ป่าและเสียงของธรรมชาติดังมาเป็นระยะๆ นานๆ ครั้ง จึงนับว่าเป็นสถานที่วิเวก สงบ เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติธรรม ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสกับบรรยากาศเช่นนี้ ย่อมต้องเกิดความปีติ สงบและเยือกเย็น ชุ่มชื้นในจิตใจทุกคนไป 
สภาพทั่วไปภายในวัดเท่าที่เห็น จะเริ่มจากศาลาหลังใหญ่เป็นศาลาไม้เนื้อแข็ง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดยาวประมาณ ๒๗ เมตร กว้างประมาณ ๒๐ เมตร สูงจากพื้นดินประมาณระดับสายตา ตัวพื้นปูด้วยไม้เนื้อแข็งขัดเป็นเงามันวาว ยกเป็นชั้นๆ สามระดับ ด้านหลังสุดทำเป็นห้องพระและห้องเก็บของ มีฝาไม้กั้นประตูเหล็กเปิดปิดรอบด้าน มีบันไดทางขึ้นสามทาง คือบันไดใหญ่ทางด้านหน้าและบันไดด้านหลังซ้ายขวา ข้างศาลาทั้งสองด้านมีถังปูนซีเมนต์เก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ ด้านละ ๓ ใบ บริเวณรอบศาลามีทางเดินและทางรถโดยรอบอัดแน่นด้วยดินลูกรัง รายล้อมด้วยป่าไม้รอบบริเวณ มองจากที่สูงจะเห็นได้ชัดเจนเป็นแนวป่าล้อมศาลาไว้เป็นรูปเนื้อที่สามเหลี่ยม ศาลาหลังนี้เดิมเป็นศาลาเล็กๆ มุงหลังคาด้วยหญ้า สร้างในปีพุทธศักราช ๒๔๙๘  ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ จึงได้สร้างเป็นไม้ถาวรขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ มีสาธุชนผู้ศรัทธามากขึ้น จึงต้องขยายต่อเติมปีกออกไปทั้งด้านซ้ายด้านขวาเป็นรูปร่างแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเสาฐานด้านล่างเป็นคอนกรีตเนื่องจากเสาฐานด้านล่างถูกปลวกกัดทำลาย และเพื่อป้องกันการกัดรุกล้ำทำลายต่อไปอีก ใต้ถุนศาลาโล่งโปร่ง ใช้เป็นที่พักและเก็บของได้ ทุกส่วนของศาลาเป็นแบบสมถะ ไม่มีรูปแบบแห่งความวิจิตรหรูหรา แต่เปี่ยมไปด้วยความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นศาลาอเนกประสงค์ที่เป็นศูนย์รวมใจของพระเณรและสาธุชนทั้งหลายที่มุ่งมายังวัดป่า
บ้านตาด เพื่อใช้ศาลานี้เป็นที่ประกอบศาสนพิธี ใช้เป็นสถานที่ประชุมอบรมพระเณรตลอดจนสาธุชนทั่วไป ใช้เป็นศาลาโรงฉัน และยังใช้เป็นสถานที่รับแขกพร้อมทั้งที่พักอาศัยของพระเณรและผู้มีจิตศรัทธามาพักชั่วคราวเป็นคณะในบางโอกาสด้วย
เมื่อก้าวขึ้นศาลาจากบันไดด้านหน้า จะเห็นสภาพศาลาโล่งตลอดพื้นศาลา 
สะอาดสอ้านได้รับการขัดจนเป็นเงามันวาวทั่วทั้งศาลา ทุกๆ สายตาจะสะดุดรวมอยู่ที่จุดที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคือพระพุทธรูปใหญ่ปางมารวิชัยที่เป็นพระประธานในศาลา ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังสุด พระพักตร์งดงาม ลักษณะสงบราบเรียบ ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ด้านหลังพระประธานจะแขวนรูปพระปรมาจารย์และพระเถระชั้นผู้ใหญ่อันเป็นที่เคารพนับถือของพระเณรและสาธุชนทั่วไปติดอยู่ข้างฝาผนัง มีรูปของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ที่โต๊ะหมู่บูชาจะตั้งรูปบุษบกที่บรรจุอัฐิหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล อัฐิหลวงปู่มั่น 
ภูริทัตโต และอัฐิท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่วัดป่าสาละวัน และจัดตั้งรูปพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานอันเป็นที่เคารพบูชาคือ หลวงปู่แหวน สุจิณโน 
หลวงปู่ขาว อนาลโย พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ หรือพระอาจารย์ลี ธัมธโร และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งพระเณรจะพากันกราบไหว้บูชาทั้งเช้าเย็น 
จากศาลาอเนกประสงค์อันเป็นศูนย์รวมและศูนย์กลางของวัด จะมีทางแยกไปหลายสายมุ่งสู่ส่วนที่แบ่งเป็นอาณาเขตกุฏิที่พักของพระเณร ซึ่งจะเป็นหลังเดียวโดดๆ อยู่กระจายไปทั่วบริเวณในป่าลึก เป็นระยะห่างกันพอสมควร มีแนวป่ากว้างกั้นปิดบังพอให้ไม่สามารถมองเห็นกันได้ ทั่วบริเวณด้านนี้มีแต่ความสงัดเงียบกว่าด้านหน้าที่ผ่านมา พระจะอยู่กันกุฏิละเพียงรูปเดียว ไม่เกี่ยวข้องกัน ต่างปฏิบัติตนเหมือนมีอยู่เพียงผู้เดียวตลอดเวลา มุ่งอยู่กับการทำความเพียร นั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่ภายในบริเวณกุฏิของตนเอง ไม่ไปข้องแวะกับผู้ใด ซึ่งเป็นการดำเนินตามแบบอย่างรุกขมูลที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ทุกประการ
สภาพของกุฏิจะเป็นแบบลักษณะกุฏิถาวรกับกุฏิลักษณะชั่วคราวพออยู่อาศัยได้เท่านั้น กุฏิลักษณะถาวรจะมีอยู่เพียงไม่กี่หลัง ขนาดไม่ใหญ่มากนัก สูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร มีห้องขนาดกว้างประมาณ ๒ เมตรครึ่งคูณสามเมตร มีประตู หน้าต่าง มีระเบียงเล็กน้อย ลักษณะมั่นคงแข็งแรง แต่เป็นแบบเรียบๆ ง่ายๆ ไม่มีลักษณะความสวยงามหรือหรูหราให้เห็นเป็นที่สะดุดตาแม้แต่น้อย แต่กลับแฝงไว้ด้วยความสงบ ร่มรื่น น่าอยู่อาศัย บริเวณกุฏิจะปรับดินเรียบโดยรอบ พร้อมทั้งทำเป็นทางเดินจงกรมไปในตัว ทั้งด้านหน้าด้านหลังของกุฏิ และรักษารอบบริเวณไว้อย่างสะอาดสอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วปิดล้อมด้วยแนวป่าโดยรอบ เพื่อบดบังสายตาจนผู้คนที่เดินผ่านไปมาแทบจะไม่ทราบว่าในบริเวณนั้นมีกุฏิที่พักอาศัยของพระอยู่ ทั้งนี้เพื่อท่านจะได้ทำความเพียรด้วยความสะดวก ไม่มีผู้คนเข้าไปรบกวนได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วกุฏิที่ท่านพักอาศัยกันจะเป็นกุฏิแบบชั่วคราวพออยู่อาศัย หรือส่วนมากที่พระท่านจะเรียกกันว่าร้านมากกว่า เพราะปลูกขึ้นอย่างง่ายๆ เป็นกระต๊อบหรือเพิงขนาดเล็กเพียงพอนอนได้ มีเสาพิงสี่ด้าน มีหลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือสังกะสี สูงจากพื้นดินประมาณศอกเศษ เพื่อป้องกันการรบกวนหรืออันตรายจากสัตว์เลื้อยคลาน ไม่มีฝาทั้ง สี่ด้าน ท่านจะใช้ผ้าจีวรหรือสบงเก่ามาปิดกันแดดกันฝน โดยสามารถรูดเปิดปิดได้โดยรอบด้าน กุฏิแบบนี้จะอยู่สบายดีในฤดูร้อน เพราะลมสามารถเข้าได้ทุกทิศทาง แต่ค่อนข้างจะลำบากในฤดูหนาว และเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน 
ส่วนด้านหน้ากุฏิก็จะทำเป็นทางเดินจงกรม ซึ่งท่านถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เป็นงานของพระกรรมฐานที่จะขาดเสียไม่ได้ ทางเดินจะปรับไว้อย่างเรียบเตียนสะอาด ความยาวประมาณ ๒๕-๓๐ ก้าวเท้า ที่หัวทางและปลายทางจะทำที่สำหรับปักเทียน หรือตั้งตะเกียงเพื่อไว้ส่องทางในเวลากลางคืน ด้วยความเป็นอยู่แบบง่ายๆ มีความมักน้อย สันโดษ ภายในกุฏิเท่าที่เห็นจึงมีเพียงกลด เสื่อปูนอน ผ้าห่ม สบง จีวร เครื่องอัฐบริขารและของใช้ที่จำเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะท่านถือว่าความสะดวกสบาย ความรู้สึกหนาวร้อนเหล่านี้ล้วนเป็นความสุขเพียงภายนอก ซึ่งล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความสุขที่เป็นนิรันดร์นั้นอยู่ที่ใจ หากตัดกิเลสความโลภ โกรธ หลง ได้ ใจก็เป็นสุข เมื่อความสะดวกสบายนำมาซึ่งกิเลส กิเลสนำมาซึ่งความทุกข์ ที่นี่จึงไม่มีความสะดวกสบายใดๆ ทั้งสิ้น อยู่ตามความเหมาะสม ตามความจำเป็น เพื่อการปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้ง เห็นจริง ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้แนะสั่งสอนไว้แล้วเท่านั้น 
ในส่วนที่แบ่งเป็นอาณาเขตที่พักของพระเณร ซึ่งเป็นอาณาเขตบริเวณที่ทางวัดสงวนไว้ ไม่ค่อยอนุญาตให้ญาติโยมเข้าไปเที่ยวเดินเล่นหรือชมสถานที่ เพราะหลวงตามหาบัวเกรงจะไปรบกวนการบำเพ็ญภาวนาของพระเณร ดังนั้นท่านจึงอนุโลมถ้าจะชมสถานที่ได้บ้างในช่วงตอนเช้า ขณะที่พระเณรกำลังฉันอาหาร แต่ก็ให้ไปอย่างเงียบๆ ห้ามอึกทึกครึกโครม เพราะยังมีพระเณรที่อดอาหารบำเพ็ญภาวนาเร่งความเพียรของท่านอยู่แทบทุกวัน สับเปลี่ยนกันมิได้ขาด 
นอกจากในส่วนของอาณาเขตของพระเณรแล้ว ยังมีอาณาเขตส่วนหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือเมื่อผ่านประตูวัดเข้ามา เป็นอาณาเขตบริเวณที่จัดไว้เป็นโรงครัว สำหรับฆราวาสญาติโยมมาจัดทำอาหาร และจัดเป็นบริเวณที่พักชั่วคราวสำหรับฆราวาส เหล่าอุบาสิกาที่มีจิตใจใฝ่หาความสงบสุขอันเป็นนิรันดร์ มาปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาชั่วคราวเป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยหลวงตามหาบัวจะพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมผลัดเปลี่ยนกันไป แต่จะไม่อนุญาตให้พักประจำหรือนานเกินควร เพราะสถานที่พักมีจำกัด โดยจัดเป็นบริเวณมีเรือนพักใหญ่น้อยอยู่เพียงไม่กี่หลัง พร้อมทั้งทางเดินจงกรมเช่นเดียวกับของพระเณร ทั่วบริเวณจะสงัดเงียบ วิเวก เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสอ้านน่ารื่นรมย์ เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา เช่นเดียวกับทางด้านของพระเณรและอาณาเขตนี้ยังเป็นอาณาเขตที่หวงห้าม มิให้ฆราวาสญาติโยมและพระเณรที่ไม่มีความจำเป็นและมีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณดังกล่าวโดยเด็ดขาด เพื่อให้ผู้ที่ตั้งใจมุ่งมาปฏิบัติธรรมได้ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ให้คุ้มค่าสมกับความตั้งใจ ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด 
ข้างเรือนพัก ในบริเวณที่พักฆราวาสยังได้สร้างสระน้ำซีเมนต์ขนาดใหญ่ ภายในสระปลูกบัวชนิดต่างๆ และมีเรือนพักริมสระสำหรับให้ผู้มาปฏิบัติได้พักภาวนาหาความร่มรื่นหรือพักผ่อนอิริยาบถ ทั้งเป็นการสำรองน้ำไว้ในยามแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้ไปในตัว และทำให้สัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ภายในได้รับประโยชน์ใช้ดื่มกิน เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำด้วย
ในเรื่องของน้ำดื่มน้ำใช้ที่วัดป่าบ้านตาดนั้น น้ำใช้จะขุดเป็นบ่อ ฝังท่อซีเมนต์ขนาด ๑ เมตร เป็นปลอกลงไปลึกประมาณ ๑๐ กว่าเมตร แล้วใช้สูบน้ำแบบใช้กำลังโยกชัก ต่อท่อลงไปจนถึงก้นบ่อ เมื่อเวลาจะใช้น้ำ ก็จะใช้กำลังโยกชัก ดูดน้ำขึ้นมาใส่ถัง แล้วใช้รถเข็นไปใส่ตุ่มน้ำ หรือภาชนะรองน้ำตามกุฏิ ห้องน้ำ ห้องส้วม และตามจุดต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้อาบ ซักผ้า ล้างบาตร และถ้วยชาม สำหรับน้ำดื่มก็ใช้น้ำฝน โดยได้จัดเตรียมทำถังซีเมนต์ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เมตรกว่า สูงประมาณ ๕ เมตร จำนวนข้างละ ๓ ถัง ตั้งอยู่ที่ด้านข้างศาลากับในบริเวณโรงครัวด้านฆราวาสอีกสองถัง และตามกุฏิต่างๆ ก็จะมีแท็งค์น้ำเหล็กสังกะสีสี่เหลี่ยม หรือถังปูนซีเมนต์ไว้รองรับน้ำฝนเก็บไว้ใช้ดื่ม เพียงพอกับการบริโภคตลอดฤดูกาล
จากสภาพทั่วไปของวัดที่ได้พบเห็นมีทั้งความร่มรื่น เป็นระเบียบ สะอาดสอ้าน และสงบเรียบร้อยไปทั่วทั้งบริเวณ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความสงบ ความสะอาด ความสว่าง ที่อยู่ภายในจิตใจของทุกชีวิตในวัดป่าบ้านตาดแห่งนี้ ความเงียบสงัดเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ด้วยไม่ถูกรบกวนจากกิเลสตัณหาทั้งปวง จะมีก็เพียงเสียงสัตว์ป่าที่อาศัยความสงบร่มเย็นอยู่ในวัด จึงนับได้ว่านี่คืออาณาจักรแห่งธรรมอย่างแท้จริง โดยสภาพวัดเป็นป่าอย่างสมบูรณ์แบบ ปราศจากสิ่งก่อสร้างและเครื่องอำนวยความสะดวกใดๆ ไม่ว่าไฟฟ้า น้ำประปา จะมีก็แต่ความสงัด วิเวก และสรรพสิ่งอันเกิดจากธรรมชาติ อันอาจยังให้ปุถุชนทั่วไปเกิดความขลาดกลัว 
แต่ในทางตรงกันข้ามสภาพแวดล้อมเช่นนี้กลับเป็นการหล่อหลอมให้ชีวิตที่นี่เป็นไปด้วยความเข้มแข็ง มานะ อดทน มีความเพียร ขยันขันแข็งที่จะต่อสู้กับอุปสรรค ขวากหนามของกิเลสตัณหา อันจะยังผลก่อให้เกิดสติ สมาธิ และปัญญา เพื่อเป็นเครื่องมือขจัดตัดรอนวัฏจักรให้สั้นเข้าๆ จนหลุดพ้นไปได้ในที่สุด 
แม้จะมีลูกศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากอยากที่จะทำบุญ ช่วยให้พระเณรที่นี่มีความสะดวกสบาย โดยพยายามที่จะขอนำไฟฟ้า โทรศัพท์ เครื่องสูบน้ำ เข้ามาใช้ในวัด ตลอดจนจะขอสร้างโบสถ์ กุฏิ เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกแก่พระเณร ให้ท่านปฏิบัติธรรมกันได้โดยสะดวกสบาย ไม่เสียเวลาเป็นกังวล  หลวงตามหาบัวกลับปฏิเสธ พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า ไม่จำเป็น เพราะในทางโลกถือว่าสิ่งเหล่านี้คือเครื่องบำรุงบำเรอความสุข แต่ในทางธรรมกลับถือว่าสิ่งเหล่านี้คือข้าศึกต่อการปฏิบัติธรรม ในครั้งพุทธกาลก็ไม่เห็นมีสิ่งเหล่านี้ ท่านก็อยู่ของท่านกันได้อย่างสบาย และสำเร็จมรรคผลนิพพานกันมากมาย ไม่เห็นท่านเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นมรรคผลนิพพาน แทนที่จะเป็นผลดี ทำให้พระเณรสะดวกสบาย กลับจะทำให้พระเณรเกียจคร้าน ท้อแท้ อ่อนแอ ติดอยู่กับความสุข ความสะดวกสบาย จนหนาแน่นไปด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการบำเพ็ญภาวนา วัดป่าแห่งนี้จึงสมแล้วกับที่เป็นดินแดนแห่งการแสวงหาความสุขอันบริสุทธิ์แท้จริง ตามแนวทางแห่งพุทธศาสนา 
ปฏิปทาที่พระเณรวัดป่าบ้านตาดดำเนินอยู่นี้ก็ดำเนินตามหลักของธุดงควัตร 
ที่พระบรมศาสดาได้ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นปฏิปทาที่หลวงปู่มั่น ซึ่งท่านอาจารย์เคารพเทิดทูน เรียกท่านจนติดปากว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ พาดำเนินมาด้วยความถูกต้องดีงาม ดังที่ท่านอาจารย์ได้เทศน์อบรมลูกศิษย์ของท่าน เกี่ยวกับปฏิปทาที่หลวงปู่มั่นได้พาดำเนินมาไว้ดังนี้
(เสียงหลวงตา) ....หลักปฏิปทาที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นพาดำเนินมา ซึ่งได้สืบทอดมาถึงพวกเราเวลานี้ เป็นปฏิปทาที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีเงื่อนที่จะให้สงสัยแม้แต่น้อย เพราะท่านดำเนินตามแบบฉบับของศาสดาที่มีไว้แล้วในตำราจริงๆ ท่านไม่ใช่แบบแอบๆ แฝงๆ หรือแผลงๆ ไปดังที่เห็นกันทั่วๆ ไป มีลักษณะอยากเด่นอยากดัง เข้าร่องเข้ารอยอย่างนี้ ไม่มีสำหรับของหลวงปู่มั่น เป็นปฏิปทาด้วยความเป็นธรรมล้วนๆ คือไม่มีแง่ใดที่น่าสงสัย ว่าที่พาดำเนินมานี้ก็พอจะทราบเรื่องราวบ้าง เช่น ธุดงควัตร การฉันมื้อเดียว หนเดียว นี่ก็มีอยู่แล้วในธุดงค์ ๑๓ ข้อ การบิณฑบาตเป็นวัตร คือไม่ให้ขาด เมื่อยังฉันอยู่ อันนี้ก็มีในธุดงค์ ๑๓ นั้นแล้ว การฉันในบาตรก็มีในธุดงค์นั้นแล้ว นี่ที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ก็เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่มีลี้ลับอะไรเลย เพราะในตำรามีไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ท่านดำเนินตามตำรานั้นจริงๆ ถือผ้าบังสุกุล ก็ท่านเป็นองค์หนึ่ง ดูจะไม่มีในสมัยปัจจุบันนี้ ให้เกินหรือเหนือท่านไป ถือผ้าบังสุกุลท่านถือมาตั้งแต่เริ่มบวช จนกระทั่งวาระสุดท้าย นอกนั้นยังไม่เห็นปรากฏว่าท่านใช้คหปติจีวรเลย นี่จะให้เด่นขนาดไหนในสมัยปัจจุบันนี้ ผู้ที่ทรงธุดงค์ข้อนี้ได้โดยสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นมา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย จะหาอย่างท่านอาจารย์มั่นนี้ได้ที่ไหน นี่ก็เป็นธุดงค์ข้อหนึ่งที่เด็ดเดี่ยวมากสำหรับองค์ท่าน ที่เคยปฏิบัติมาโดยลำดับลำดา ไม่ขาดวรรคขาดตอนเลย 
พูดถึงเรื่องภาวนา นี่เราพูดเพียงแง่ธุดงค์เพียงเล็กน้อยเช่นการอยู่ในป่า อยู่ในป่าช้า เหล่านี้มีในธุดงค์หมดแล้ว ไม่เป็นข้อที่น่าสงสัย ในถ้ำ เงื้อมผา เหล่านี้มีในอนุศาสน์และในธุดงค์ ๑๓ มีอยู่แล้ว ความที่ตายใจได้จริงๆ ที่ท่านพาดำเนินมา เราทั้งหลายได้รู้เป็นแนวทางสืบมาจนปัจจุบันนี้ เพราะท่านเป็นผู้พาดำเนิน พูดถึงเรื่องธุดงค์ ๑๓ เราพูดเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ไม่พูดโดยตลอดทั่วถึงทุกข้อไป เช่น เนสัชชิ ก็สมาทานไม่นอนเป็นวันๆ หรือคืนๆ ไป ก็มีในธุดงค์ นอกจากนั้นวิธีดำเนินทางด้านจิตตภาวนา ท่านก็ไม่ได้พาบำเพ็ญหรือปฏิบัติให้นอกเหนือไปจากหลักธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วนั้นเลย เช่น สอนพุทโธ หรือสอนอานาปานสติ ดูอาการ ๓๒ มักจะแสดงกรรมฐาน ๕ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงอาการ ๓๒ เหล่านี้มีในตำรับตำราโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่เป็นข้อสงสัย ไม่เป็นที่ให้เกิดความระแวงใดๆ ทั้งสิ้น ที่ท่านพาดำเนินมา ไม่มีบทแปลกๆ ต่างๆ และเป็นสิ่งที่ผูกขาดบ้าง หรือเป็นที่อะไรขลังๆ บ้าง อย่างนี้ไม่ปรากฏ ถ้าขลังก็ขลังด้วยความเป็นธรรมจริงๆ คือเอาจริงเอาจัง ประหนึ่งว่าขลัง ไม่ได้ขลังแบบโลกๆ ขลังด้วยความเป็นธรรม ขลังด้วยความแน่ใจตัวเอง และทำความอบอุ่นแก่ตัวเอง ด้วยความขลังนั้นจริงๆ นี่คือปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพาดำเนินมา....
ก่อนตะวันจะจับขอบฟ้า ระหว่างเวลาประมาณ ๓ นาฬิกาถึง ๔ นาฬิกา พระเณรที่วัดป่าบ้านตาด จะเริ่มตื่นจากจำวัด ลุกขึ้นทำกิจวัตรส่วนตัว จากนั้นก็จะสวดมนต์ ทำวัตรเช้ากันภายในกุฏิของตนเอง เสร็จแล้วก็จะลงเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิภาวนา ส่วนที่ศาลาใหญ่ก็จะมีพระผู้ปฏิบัติหน้าที่เตรียมปัดกวาดศาลา จัดอาสนะที่นั่งฉันของพระภิกษุทุกๆ รูปไว้ โดยเฉพาะการจัดอาสนะที่นั่งฉันของหลวงตา จะจัดด้วยความประณีต เป็นระเบียบเรียบร้อยตามข้ออาจาริยาวัตรด้วยความเคารพ พร้อมทั้งจัดเตรียมยา ของใช้ น้ำดื่ม น้ำใช้ และกระโถน การจัดเตรียมนี้เป็นไปด้วยความละเอียดลออ สะอาดหมดจด จนได้เวลาอรุณจะรุ่ง หรือได้เวลาอรุณรุ่งพอดีแล้ว ซึ่งเวลาอรุณรุ่งจะเลื่อนไปตามฤดูกาล พระภิกษุสามเณรก็จะออกจากทางจงกรม หรือลุกออกจากการนั่งสมาธิภาวนา จัดเตรียมบริขาร เครื่องฉัน มีบาตร กาน้ำ เครื่องใช้ และผ้าไตรจีวร แขวนสะพายออกจากกุฏิของตนทุกทิศทุกทาง เพื่อมุ่งสู่จุดรวมคือศาลาใหญ่ เหมือนกับฝูงนกที่ต่างบินออกรวงรังของตนทุกทิศทางเพื่อมุ่งไปหากิน 
เมื่อมาถึงศาลาแล้วต่างก็จะปูผ้านิสีทนะ หรือผ้าปูนั่งยังอาสนะที่จัดเตรียมไว้แล้ว โดยจะนั่งไปตามลำดับอาวุโสภันเต แล้วจะจัดบาตร เช็ดบาตรให้สะอาดอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วก็จะวางบาตร กาน้ำ เครื่องใช้ของตนเองไว้บนอาสนะอย่างเป็นระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน จากนั้นจึงลุกขึ้นไปกราบไหว้บูชาระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พระบุพพาจารย์ พระอาจารย์เถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนท่านอาจารย์ที่ให้การดูแลการอบรมสั่งสอน เมื่อเสร็จแล้วก็จะแยกย้ายไปปฏิบัติข้อวัตร โดยส่วนใหญ่จะเอากาบมะพร้าวที่ผ่าซีกครึ่งลูกตากจนแห้ง องค์ละ ๒ อัน มาถูพื้นศาลาทั้งหมด โดยกระจายกันถูไปตามจุดต่างๆ ไล่เข้าหากันทั่วทั้งศาลา เสียงถูพื้นจะค่อยๆ ดังขึ้นๆ เป็นเสียงสามัคคีของกำลังแขนพระภิกษุสามเณรทั้งหลายที่กดลงไปบนกาบมะพร้าวแห้ง แนบสนิท ถูไปมาบนพื้นศาลา เป็นเสียงที่แสดงถึงว่าท่านอยู่กันด้วยความสามัคคี พร้อมเพรียง มีความจดจ่อ มุ่งมั่น พื้นศาลานี้จะต้องสะอาดหมดจดเป็นเงางาม ไม่มีรอยด่างพร้อย เช่นเดียวกับที่ท่านกำลังขจัดขัดถูกิเลสออกจากจิตใจของท่านด้วยธรรมะ เพื่อให้จิตใจขาวสะอาดบริสุทธิ์เช่นกัน ชั่วเวลาไม่กี่นาที พื้นก็สะอาดหมดจดเป็นมันวาว จากนั้นท่านก็จะเอาไม้กวาดปัดกวาดอีกครั้ง 
พระเณรอีกส่วนหนึ่งก็จะแยกมาช่วยใช้ผ้าสะอาดเช็ดถูถาด ถ้วยชาม ทัพพี ช้อน ซึ่งจะใช้เป็นภาชนะรองและตักใส่อาหาร ทั้งของพระเณร และเตรียมไว้จัดใส่อาหารให้ญาติโยมสาธุชนที่มาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมากแทบทุกวัน ท่านจะเช็ดถูทำความสะอาดด้วยความพิถีพิถัน สะอาดสอ้านจนหาคราบฝุ่นละอองไม่ได้ จากนั้นก็ช่วยกันจัดเตรียมปูเสื่อ จัดแก้ว ทั้งขวดน้ำดื่ม กระโถน กระดาษเช็ดมือ กั้นผ้ากันแดด เพื่อคอยต้อนรับสาธุชน อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใคร่จะมาทำบุญฟังธรรมเป็นจำนวนมาก แทบทุกๆ วัน ยิ่งเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันพระ จะยิ่งมากเป็นพิเศษ จนศาลาหลังใหญ่แน่น บางครั้งไม่พอนั่ง ล้นมาอยู่ข้างล่างบ้าง ใต้ถุนศาลาบ้าง ถ้ายังพอมีเวลาอยู่บ้าง ท่านก็จะช่วยกันเก็บเศษกระดาษ ใบไม้ และปัดกวาดลานถนนรอบๆ ศาลา จนสะอาดเตียนโล่ง 
จากนั้นพระทุกรูปจะขึ้นมาบนศาลา เปลี่ยนผ้าสบง เตรียมซ้อนผ้าสังฆาฏิทับจีวร ตามธรรมวินัย ก่อนออกบิณฑบาต เณรจะประเคนบาตร กาน้ำ ถาด ถ้วย และเครื่องใช้ในการฉันจังหันอีกครั้ง เพื่อให้ถูกต้องตามธรรมวินัย แม้กิจวัตรในข้อนี้จะดำเนินไปในช่วงเวลาที่ยังไม่สว่างชัด หากจิตใจของพระเณรคล้ายแฝงไว้ด้วยความสว่างกระจ่างแจ้ง ต่างปฏิบัติภารกิจด้วยความพินิจพิจารณา อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างกระจ่างแจ้งได้เกิดขึ้นแล้วภายในจิต 
สำหรับอาสนะของหลวงตามหาบัว พระที่อยู่ประจำศาลาจะเป็นผู้จัดให้หลวงตาทุกวัน ที่หลวงตาจะลงฉันจังหัน ด้วยถือว่าเป็นอาจาริยวัตร จุดที่นั่งของหลวงตาเป็นจุดที่มองเห็นได้ทุกทิศทาง และเรียงลำดับต่อไปจากซ้ายมือของหลวงตาตามอาวุโสพรรษา เวียนไปรอบศาลา และสุดท้ายคือเณรที่อ่อนพรรษาที่สุด ด้านหลังของอาสนะหลวงตา
มหาบัว มีหมอนอิงสี่เหลี่ยมหุ้มด้วยปลอกสีกรักเช่นจีวร ด้านซ้ายมือมีกาน้ำ แก้ว หรือที่พระเณรท่านนิยมเรียกว่าโจกน้ำ กล่องกระดาษชำระ ยางวงเล็กและใหญ่เพื่อใช้รัดสิ่งของ ยาสำหรับฉันก่อนและหลังฉันจังหัน ผ้าเช็ดมือ เช็ดปาก และไม้สีฟัน ทำด้วยไม้คนทา หรือกะลันทา ที่ชาวพายัพเรียกว่าจี้ หรือหนามจี้ ซึ่งยาวไม่ต่ำว่า ๔ นิ้ว ปลายด้านหนึ่งแหลม สำหรับใช้จิ้มฟัน และปลายอีกด้านหนึ่งถูกทุบหัวแตกเป็นฝอย ใช้เป็นแปรงสีฟันไปในตัวด้วย พร้อมทั้งมีกระบอกเล็ก สำหรับใส่ถุงพาสติกวางอยู่ด้วย ด้านขวามีกระโถน แส้ปัดแมลง กระดิ่งไขลานสำหรับเรียกพระเณรและเด็กวัด ด้านหลังมีกระบอกไม้ไผ่ตอกติดกับเสาทั้งสองข้าง ด้านซ้ายใช้ใส่ไม้จิ้มฟัน ด้านขวาใส่ปากกา 
การเตรียมตัวออกบิณฑบาต พระเณรจะห่มจีวร ซ้อนสังฆาฏิ มีการจัดบาตรให้พร้อม โดยการผูกมัดอย่างแน่นและเรียบร้อย ขณะเดินบิณฑบาตจะใช้วิธีสะพายบาตร เพราะระยะเดินค่อนข้างไกล เมื่อหลวงตามหาบัวออกจากจำวัด ก็จะปฏิบัติกิจวัตรเช่นพระเณรทั่วไป คือลงมาที่ศาลาเพื่อเตรียมตัวออกบิณฑบาต หลวงตาจะกราบบูชาพระหน้าองค์พระประธาน หากมีเวลาเหลือพอจะเดินจงกรมบนระเบียงรอบศาลา แล้วจึงห่มจีวรออกบิณฑบาต 
รอยยาตรพระบาทย่าง ไปท่ามกลางความทุกข์เข็ญ คือธรรมอันฉ่ำเย็น ระงับทุกข์อยู่ทุกยาม การออกบิณฑบาตที่วัดป่าบ้านตาด จะแบ่งออกเป็น ๓ สาย สองสายแรกเดินเข้าสู่หมู่บ้าน ซึ่งค่อนข้างไกล สายที่ ๓ สำหรับพระผู้สูงอายุ ไม่สะดวกในการบิณฑบาตในระยะไกล จะบิณฑบาตแต่เพียงในเขตฆราวาสที่มาทำความเพียรภายในวัด เมื่อเข้าเขตหมู่บ้าน พระเณรจะเดินเรียงแถวตามลำดับพรรษา เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าดู ภาพของท่านที่ออกโปรดสัตว์ด้วยใบหน้าสงบ เยือกเย็น และภาพของพุทธศาสนิกชนที่มาใส่บาตรด้วยความซาบซึ้งและศรัทธาในพุทธศาสนา สร้างความชื่นชมและปีติยินดีแก่ผู้ที่ได้มาพบเห็นยิ่งนัก การใส่บาตรให้พระ ถือเป็นกิจวัตรของเราชาวพุทธโดยแท้ ทุกโอกาสที่เกี่ยวข้องกับชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หมู่บ้านตาด แม้ว่าการครองชีพที่หมู่บ้านนี้จะค่อนข้างขัดสน แต่บรรดาลูกศิษย์ในหมู่บ้านทำบุญมิได้ขาด แต่ละวันจะมีการเตรียมตัวใส่บาตรทุกๆ เช้า ส่วนมากจะใส่แต่ข้าวเหนียวนึ่งอย่างเดียว หากมีเทศกาลพิเศษ ก็จะใส่อาหารมาหนึ่งหรือสองอย่างตามแต่กำลัง เหตุนี้ที่วัดป่าบ้านตาด จึงมีโรงครัวเพื่อทำอาหารให้พระเณรขบฉันเพียงพออิ่ม 
แต่เช้าบรรดาลูกศิษย์จะถือกระติ๊บบรรจุข้าวเหนียวนึ่งใหม่ๆ เข้าแถวคอยพระออกบิณฑบาตเป็นระเบียบ และเมื่อแลเห็นพระมาแต่ไกล ทุกคนก็จะทำพิธีจบ โดยการยกกระติ๊บข้าวเหนียวขึ้นเหนือหัว ในท่านั่งยอง และขออุทิศส่วนบุญกุศลตามแต่ความต้องการแต่ละคน ด้วยใบหน้าที่อิ่มเอิบ เปี่ยมไปด้วยศรัทธา ขณะที่เปิดกระติ๊บข้าวเหนียว หยิบข้าวทีละปั้น จะเห็นควันของข้าวเหนียวลอยออกมาจากกระติ๊บข้าว ทุกจังหวะที่หยิบข้าวเหนียวใส่บาตร เป็นภาพที่หาดูได้ยากในเมือง การใส่บาตร บรรดาลูกศิษย์จะถอดรองเท้าทุกคน ด้วยถือว่าการใส่รองเท้าใส่บาตร เป็นการกระทำที่ไม่เคารพในธรรม และในทางที่จะขอให้
วิถีบาตรกลางสายฝนที่โปรยปรายคือ หนทางจารึกพระธรรมทาน ตามรอยพระบาทองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาพชีวิตในชนบทอีกบทหนึ่ง ที่พวกเราประทับใจทุกอิริยาบถ ดูไร้สีแสง หากแต่มีวิญญาณที่สัมผัสได้ในจิตใจ 
ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย  บรรพชาอุปสมบทแล้ว ให้ท่านทั้งหลายเที่ยวบิณฑบาตมาฉัน ด้วยกำลังปลีแข้งของตน และพึงทำความอุตส่าห์ไปจนตลอดชีวิตเถิด ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ยึดถือว่าการเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นกิจวัตรข้อที่หนึ่ง ในข้อปฏิบัติที่ท่านพระอาจารย์มั่นพาดำเนินมาดุจเส้นชีวิต คือกรรมฐาน ๕ ธุดงค์ ๑๓ ด้วยถือได้ว่าพอจบการเที่ยวชมสถานที่อันน่ารื่นรมย์เป็นการเปิดหูเปิดตา เพื่อร่าเริงในธรรม ตามถ้ำ เงื้อมผา ป่าเขาแล้ว ก็จะนำออกบิณฑบาตในหมู่บ้าน ด้วยบทธรรมหมวดต่างๆ คือสอนวิธีครองผ้า และทำสำรวมในเวลาเข้าบิณฑบาต ด้วยไม่ให้มองโน่นนี่ ทำกิริยาให้มีสติกับตัว ด้วยทำสำรวมและสงบเสงี่ยม มีสติทุกระยะที่ก้าวไปและถอยกลับ ใจรำพึงในธรรมที่เคยบำเพ็ญมาประจำนิสัย การบิณฑบาตถือว่าเป็นกิจวัตรสำคัญประจำพระธุดงค์ในสายของท่านพระอาจารย์มั่น ไม่ให้ขาดได้  
แม้บางวันอากาศจะหนาวเย็นเพียงใดก็ตาม แต่พระเณรที่วัดป่าบ้านตาดก็ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ โดยไม่ได้ย่อท้อต่อลมหนาวประการใด ท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็นยะเยือก ภาพแห่งสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เดินเรียงรายเป็นแถว ด้วยกิริยาอาการอันสงบ จึงเป็นอีกภาพหนึ่งที่เราพบเห็นได้ ณ วัดป่าบ้านตาดแห่งนี้
ถ้าหากเป็นช่วงเข้าพรรษา พระเณรวัดป่าบ้านตาดจะไม่รับการถวายอาหารภายในบริเวณวัดเป็นอันขาด ในวันพระหรือในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จะมีญาติโยมนำอาหารมาถวายที่ศาลาเป็นจำนวนมาก เมื่อบิณฑบาตโปรดสัตว์ไปทั่วแล้ว พระที่ออกบิณฑบาตทั้ง ๓ สาย จะกลับมาถึงศาลาในเวลาใกล้เคียงกัน หลวงตาจะกลับถึงวัดเป็นองค์สุดท้าย 
เมื่อหลวงตามหาบัวขึ้นสู่ศาลาแล้วจะเปลี่ยนผ้าครอง และเตรียมจัดอาหาร จะมีลูกศิษย์เตรียมจีวรให้ท่าน เพื่อครองสำหรับฉันจังหัน และนำผ้าที่เปลี่ยนไปผึ่งแดด การจัดแบ่งภัตตาหารที่รับบิณฑบาต พระเณรจะแบ่งแค่พอฉันเท่านั้น ที่เหลือก็ใส่ถาดให้ทานชาวบ้าน อาหารทุกชนิดที่จะฉันใส่รวมกันไว้ในบาตร ด้วยถือว่ารสชาติของอาหารหาใช่สิ่งสำคัญไม่ และจะฉันเพียงวันละหนึ่งมื้อเท่านั้น ด้วยเป็นการฉันเพื่ออยู่ เพียงเพื่อความต้องการของร่างกายโดยแท้ 
ที่วัดป่าบ้านตาดแห่งนี้ พระจะมีสติระลึกมั่นว่า ไม่ว่าวันไหนจะรับบิณฑบาตได้มากเพียงใด ก็ต้องฉันให้น้อยเข้าไว้ เพื่อสะดวกในการทำสมาธิภาวนา เพราะหากฉันมาก จะง่วง จะทำการภาวนาไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ว่า ถ้ามีอาหารในกระเพาะและลำไส้มาก เลือดเข้าไปเลี้ยงที่บริเวณนั้นมาก ในสมองจะมีเลือดน้อย ทำให้เกิดอาการง่วงและซึม การบริโภคอาหารมากจนเกินควร จึงเห็นได้ว่าเป็นศัตรูของการเจริญภาวนา พระที่นี่จึงฉันน้อยเป็นประจำ ยิ่งอยู่ในช่วงของการเร่งความเพียรภาวนาระหว่างพรรษา ก็ยิ่งฉันน้อยลงไปอีก บางรูปไม่ฉันติดต่อกันหลายๆ วัน ท่านว่าจิตรวมและภาวนาได้ดีขึ้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเห็นพระวัดป่าบ้านตาดอดอาหารพร้อมๆ กัน หลายๆ รูป บางรูป ๓ วัน ๗ วัน บางรูปอด ๒-๓ สัปดาห์ก็มี 
ในเรื่องอาหารของพระวัดป่าบ้านตาด ต้องแน่ใจว่าได้ตัดขาดจากชีวิตแล้ว จะไม่ฉันอาหารที่ยังดิบอยู่ เช่น ไข่ดาวที่ยังดิบ ปลาดิบ หอยแครง หรือเนื้อที่ยังไม่สุกโดยทั่ว ทั้งนี้เพราะเป็นสิ่งห้ามในข้อวัตรปฏิบัติและพระวินัยอีกด้วย ในกรณีที่มีผู้ถวายอาหารที่เป็นของเขียว หรือมีราก หรือส่วนที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่นมะเขือเทศ ต้นหอม ผักชี ก่อนที่จะฉัน ต้องให้แน่ใจเสียก่อนว่า สิ่งที่จะฉันนั้นปราศจากชีวิตแล้ว ท่านจะถามว่า กัปปิยัง กโรหิ ซึ่งหมายความว่า สมควรหรือไม่ พร้อมกันนั้นผู้ที่ประเคนจะหักหรือฉีกสิ่งนั้นๆ พร้อมกับกล่าว กัปปิยะ ภันเต หมายความว่า สมควรเจ้าข้า แล้วจึงประเคน ผู้ที่จะถวายอาหารหรือเตรียมอาหารใส่บาตร จะต้องเตรียมตัวด้วยความระมัดระวัง และเข้าใจในข้อปฏิบัติ เมื่อจัดแบ่งอาหารเรียบร้อยแล้ว บาตรจะถูกปิดแสดงว่าเพียงพอ พระทุกรูปจะเข้านั่งประจำที่ หลวงตาจะให้พรและแผ่เมตตา 
(เสียงหลวงตาให้พร) 
ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ 
เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา มณิ โชติรโส ยถา….
พระและเณรจะพิจารณาอาหารในบาตรตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้สำนึกอยู่เสมอว่า ฉันเพียงเพื่อคลายทุกข์ อันเกิดจากความหิว ไม่ใช่ฉันเพื่อความอร่อย บรรยากาศในขณะที่ฉันภัตตาหารนั้น เงียบสงัด น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ก็ด้วยในระหว่างที่ฉัน พระเณรทุกรูปจะต้องพิจารณาอาหาร และฉันอย่างสำรวมด้วยมือ เพียงวันละ ๑ มื้อ ซึ่งเป็นธุดงควัตรที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถือปฏิบัติมา อาหารทุกชนิดจะรวมอยู่ในบาตร มีเพียงน้ำและสิ่งที่ใช้ดื่มเท่านั้นที่ใส่โจกไว้นอกบาตรได้ ในการฉันอาหาร เมื่อลุกจากที่นั่งฉันแล้ว จะไม่ฉันอะไรที่เป็นอาหารอีกเลย นอกจากน้ำปานะเท่านั้น 
เมื่อพระฉันเสร็จเรียบร้อย ก็เป็นเวลาของญาติโยมบ้าง หลวงตาจะใช้ด้ามแส้เคาะกับพื้นศาลา เป็นสัญญาณบอกให้ญาติโยมทั้งหลายขึ้นมารับประทานอาหารได้ อาหารที่เหลือก้นบาตรจะเทลงในถาด มอบให้แก่ผู้ที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวก้นบาตรของหลวงตา ซึ่งมีผู้เชื่อกันว่ากินแล้วจะเจริญในธรรม มีสติปัญญาดี ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน 
ในขณะที่อุบาสก อุบาสิกา รับประทานอาหาร บรรดาพระและเณรก็จะนำบาตรไปล้าง ด้วยที่วัดนี้ไม่มีลูกศิษย์คอยรับใช้ บาตรจะถูกล้างจนสะอาดด้วยใบตะไคร้เพื่อขจัดกลิ่น แล้วเช็ดให้แห้ง ต่อจากนั้นจะผึ่งแดดสักครู่หนึ่ง แล้วจึงเก็บใส่ในสลกบาตร เพื่อนำกลับกุฏิ การดูแลรักษาบาตรจะต้องทำอย่างประณีตเป็นพิเศษ ด้วยบาตรเป็นอัฐบริขารที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาเดินทางหรือออกธุดงค์ เครื่องอัฐบริขารจะถูกใส่ไว้ในบาตร และสะพายไปได้โดยสะดวก ถ้าเกิดเป็นสนิมก็จะขัดสนิมออกจนหมด แล้วบ่มหรือสุมด้วยไฟฟืนอีกครั้ง 
หลังจากอิ่มท้องแล้ว ญาติโยมก็จะได้อิ่มกับคำสอนที่ง่ายต่อการเข้าใจของหลวงตา ซึ่งเทศน์เป็นประจำทุกเช้าเพื่อโปรดญาติโยม และวันนี้ก็เช่นเดียวกัน หลวงตาแสดงธรรมะเรื่องบุญและบาป
(เสียงหลวงตา)....การคิดเรื่องบาปนี้มากกว่าคิดเรื่องบุญ ให้เรารู้ไว้ในหัวใจของเรานี่มันสร้างตลอดเวลา สร้างบาป มันไม่ได้บอกว่าสร้างบาปแหละ แต่คือสร้างบาปนั่นแหละ อยู่ภายในใจ มากกว่าการสร้างบุญ จนกว่าว่าบุญมีอำนาจมาก กำลังมากแล้ว ที่นี้จะสร้างบุญมากกว่าสร้างบาปนะ วันหนึ่งคืนหนึ่งนี้มีแต่เรื่องความคิดเป็นบุญเป็นกุศล หนุนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีช่องของบาปจะคิดขึ้นมาได้เลย มีแต่ช่องของบุญทั้งนั้น ถ้าเราจะเทียบแล้วก็ เวลาบาปมันมีกำลัง บาปก็เป็นเหมือนกับวัวที่อยู่ปากคอก เอะอะมันออกก่อนเพื่อน ไม่ว่าจะตัวใหญ่ตัวเล็กแหละ ตัวผู้ตัวเมีย ตัวอยู่ปากคอกมันออกได้เร็ว พอเปิดคอกมันออกก่อนแล้ว นั่นละเรื่องบาปมันคล่องตัว มันคอยที่จะออกทางใจ ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ของเรา ออกตลอดเวลา บุญไม่ทันนี่ บุญยังนอนไม่ตื่น ถ้ามี มันก็นอนไม่ตื่น บาปออกก่อนๆ ทีนี้เวลาเราพยายามสร้างบุญเข้ามากๆ มันก็เทียบกันได้อีก บุญอยู่ปากคอกแล้ว เมื่อบุญอยู่ปากคอกแล้ว เอะอะ ก็มีแต่เรื่องของบุญออก คิดเรื่องบุญเรื่องกุศล ตาเห็นก็เป็นบุญ หูได้ยินก็คิดไปทางบุญ อะไรๆ สัมผัสสัมพันธ์ก็คิดไปทางบุญเสียทั้งสิ้น นี่เรียกว่าบุญอยู่ปากคอกแล้ว เราก็สะดวก บุญได้ทำงานเต็มกำลังความสามารถ บาปไม่มีทางออกมาได้ สุดท้ายบาปก็ฉิบหายไปหมด เพราะอำนาจแห่งบุญสังหาร นั่นละเป็นอย่างนั้นละ มันเทียบกันได้อย่างนี้ เพราะงั้นเราให้ทราบเสียตั้งแต่บัดนี้ ตายแล้วมันสุดวิสัยนะ ไม่ว่าใครๆ ทั้งนั้น พึ่งใครไม่ได้เลย ก็คือการตายนี่แหละ จะพึ่งได้แต่บุญเท่านั้น นอกนั้นไม่ว่าท่านว่าเรา จะมีเงินทองข้าวของกองเท่าภูเขาก็ตาม เงินก็เป็นกองเงินอยู่เสีย ไม่ใช่กองช่วยเรา ไม่ใช่ช่วยหายใจให้เราได้ ไม่ได้ช่วยชีวิตของเราให้ยืดยาวไปได้ ไม่ได้ช่วยเราให้ยกไปสวรรค์ ไปนิพพาน ไม่ได้ช่วยเรามีความสุขความเจริญได้ เงินเป็นเงิน ทองเป็นทอง เราเป็นเรา ทุกข์เป็นทุกข์ สุขเป็นสุข บาปเป็นบาป บุญเป็นบุญ นี่สำคัญอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้สร้าง สร้างคุณงามความดี เราจนตรอกมา จิตของเรามันจะไขว่คว้า แล้วได้บุญมา ระลึกถึงบุญ แพล็บเท่านั้น จิตเย็นแล้ว ติด  เกาะกับนั้นไปแล้ว ถ้าไม่ได้สร้างบุญเลย บาปก็ต้องหาเรื่องคิดเหมือนกัน มันคิดถึงบาปจนได้ คิดนี่ แล้วพอคิดถึงบาปพับ มันก็ไปแล้ว พังแล้ว แม้จะไม่ได้คิด มันก็พังอย่างนั้นแล้ว ยิ่งคิดก็ยิ่งไปได้ง่าย นี่ให้เราทราบเสียตั้งแต่บัดนี้ เวลาจนตรอกของเรามีด้วยกันทุกคนั่นละ ไม่กาลใดก็สมัยหนึ่งจนได้แหละ ในธาตุขันธ์นี้เป็นธาตุขันธ์ที่จะสร้างความจนตรอกให้เรา ถึงเวลาจะเป็นจะตายแล้ว นั่งล้อมหน้าล้อมตากัน เท่าไหร่ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย มีแต่น้ำตาพัง ต่างคนต่างน้ำตาพัง ไม่อยากให้ตาย คนนั้นไม่อยากให้ตาย แต่ความที่มันจะตายนี้ มันไม่ฟังใคร มันดำเนินหรือมันเดินไปตามทางของมัน จนกระทั่งสุดท้ายก็ตายได้ด้วยกันทุกคน ทีนี่เวลาตายแล้ว ใครจะไปส่งกันถึงไหน อยากมากก็ได้แค่ป่าช้า ไปเผาศพ เผาเมรุ เพียงร่างกระดูกเท่านั้น แต่ส่วนจิตนั้นน่ะ ตามกันไปส่งได้ที่ไหน ไม่ได้ ก็มีหน้าที่ของบุญเท่านั้น นั่นละบุญนั่นละเป็นของสำคัญ ที่ส่งคนให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง 
ฉะนั้นจงพากันสร้างบุญนะ อย่าลืม ลืมคำของนักปราชญ์  นักปราชญ์นี้เลิศ เคยเลิศมามากต่อมากแล้ว และสอนคนให้เลิศ สอนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์มามากต่อมากแล้ว ให้จำอันนี้ ส่วนบาปไม่เคยสอนใครให้มีความสนุก รื่นเริง บันเทิง มีความสุขความสบาย มีแต่สร้างความทุกข์ให้เท่านั้นละ ให้รู้กับมัน อย่าไปถือมันเป็นมิตรเป็นสหาย จนติดจิตติดใจ คล้อยตามมัน ยิ่งกว่าเพลงลูกทุ่ง ตายลงไปแล้วมันฉิบหายนั้น.....
การเทศน์ของหลวงตาทุกครั้ง จะมีการอัดเทปไว้ในระบบมีคุณภาพ จากเทปต้นฉบับ จะมีการสำเนาเก็บเป็นแบบเพื่อเผยแพร่ญาติโยมต่อไป  รวมทั้งการถอดเทป จัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่โดยญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาด้วย การใช้อุปกรณ์เครื่องเสียงและการบันทึกเทป ใช้ระบบแบตเตอรี่ ซึ่งช่วยให้งานเผยแพร่ธรรมทานลุล่วงไปได้ 
เมื่ออิ่มใจกับธรรมะของหลวงตาแล้ว บรรดาญาติโยมจะช่วยกันล้างจานชามต่างๆ พร้อมกันนั้นพระเณรจะช่วยกันทำความสะอาดศาลา
หลังจากหลวงตามหาบัวฉันจังหันแล้ว ในแต่ละวันท่านจะเทศน์หรือพบกับลูกศิษย์ตลอดจนผู้มากราบไหว้จนถึงเวลาประมาณ ๙.๓๐-๑๐ นาฬิกา พ้นจากเวลานี้จะไม่มีผู้ใดไปรบกวนหลวงตา ยกเว้นผู้ที่มาจากต่างจังหวัดไกลๆ เท่านั้น หากมากันเป็นจำนวนมาก หลวงตาก็จะออกมาเทศน์ในศาลาใหญ่ 
เสร็จกิจที่ศาลาแล้ว พระเณรแต่ละรูปจะแยกย้ายไปทำกิจของตน บางรูปอาจนั่งสมาธิภาวนา บางรูปจะเดินจงกรม ความสงบร่มเย็นในบรรยากาศของวัดป่าแตกต่างกันอย่างมากกับความสับสนวุ่นวายที่เป็นอยู่ในสังคม แต่ก็เป็นความสุขอย่างล้นเหลือสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะมาหาความสุข สงบแห่งจิตใจ แม้จะเป็นกุฏิเล็กๆ อยู่ในป่าที่ห่างไกล แต่ก็เป็นสุข ด้วยใกล้ราวกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับร่มไม้แนวป่า จะมีก็เพียงเสียงจักจั่นเรไรและนกกาอันเป็นสัญลักษณ์ของป่า ความวิเวกจึงเกิดได้ไม่ยากนัก ชีวิตที่วัดป่าบ้านตาดจึงกลมกลืนเข้ากับธรรมชาติอย่างแท้จริง เฉกเช่นพระพุทธองค์ซึ่งประสูติกลางป่า ตรัสรู้กลางป่า และก็ทรงดับขันธ์ปรินิพพานกลางป่า และนี่เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เราได้ตระหนักว่า วิถีของการหลุดพ้นนั้นคือการดำรงตนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ความสะอาดแห่งใจเป็นผลมาจากความสะอาดแห่งกายฉันใด ความสะอาดแห่งกาย ก็เป็นผลมาจากความสะอาดแห่งใจฉันนั้น 
แม้จะปฏิบัติภารกิจอื่นที่แลดูคล้ายงานของปุถุชนทั่วไปปฏิบัติกัน ท่านก็ปฏิบัติด้วยความมีสติ ไม่ว่าจะเป็นการตักน้ำ กวาดลานวัด ขัดถูศาลาหรือกุฏิ หรือซักผ้า พระวัดป่าบ้านตาดทุกรูปจะมีสติเป็นธรรมะจำเป็น คือระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน หากมีสติอยู่กับตัวแล้ว การทำงานจะไม่มีผิดพลาด ทุกภารกิจจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี ก็ด้วยการมีสติจดจ่อนั่นเอง 
ในส่วนของการทำงานภายในวัด ได้แบ่งหน้าที่โดยใช้หลักสมรรถภาพร่างกายของพระเณรเป็นสำคัญ พระเณรที่ร่างกายแข็งแรงก็จะทำงานที่ต้องใช้แรงกาย เช่น การโยกน้ำ การขัดถู ซึ่งพระเณรทุกรูปที่นี่จะมีหน้าที่ทำงานโดยครบถ้วน เวลาประมาณบ่ายโมง บรรดาพระและเณรจะมาฉันน้ำปานะที่โรงน้ำร้อนแห่งนี้พร้อมกัน ด้วยไม่มีการเก็บเครื่องของฉันอย่างใดไว้ที่กุฏิ เครื่องดื่มที่ฉันจะมีน้ำดื่ม ซึ่งเป็นน้ำฝน ชา หรือกาแฟ ไม่มีเครื่องดื่มประเภทนมทุกชนิด 
เนื่องจากการปฏิบัติกิจของพระวัดป่าบ้านตาดทุกรูปทุกเวลา จะหมดไปกับการทำความเพียร แม้ขณะปฏิบัติงานก็ตาม หากญาติโยมมีกิจธุระที่จะพบปะกับพระวัดป่าบ้านตาด จะกระทำได้ในเฉพาะศาลาใหญ่เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นญาติโยม หญิงหรือชาย เมื่อมีผู้ประสงค์จะพบพระเณรผู้ใด จะ ต้องมาแจ้งแก่พระที่มีหน้าที่ดูแลที่ศาลา ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนประจำทุกอาทิตย์ พระจะเป็นผู้ตามพระเณรที่ต้องการพบมาให้ที่ศาลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เป็นโยมผู้หญิง จะต้องมีโยมผู้ชายนั่งอยู่ด้วยตลอด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผิดข้อวัตร กุฏิของพระเณรจัดไว้โดยเฉพาะสำหรับหนึ่งรูป ห้ามโยมมาพำนักอยู่ด้วย หากจะพักค้างคืนที่วัด ทางวัดจะจัดที่ให้โดยเฉพาะ ซึ่งแยกจากบริเวณพระ เพื่อป้องกันการรบกวนในการทำความเพียรภาวนาของพระ 
ตอนบ่ายเราจะได้ยินเสียงไม้กวาดกระทบพื้นหรือตีตาดดังมาแต่ไกล และจะได้ยินชัดเจนขึ้นทุกๆ ที หากเราอยู่บนศาลา เสียงตีตาดจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เป็นประจำทุกวัน เสียงที่ว่าเกิดขึ้นจากการกวาดบริเวณโดยรอบของกุฏิทุกหลังเรื่อยมาตามทางเดิน และจะมาบรรจบกันที่ศาลา ในขณะที่ตีตาด ใบไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดิน ก็สามารถพิจารณาไปได้ว่าเมื่อแรกใบไม้จะเป็นสีเขียวอ่อน ต่อมาก็ค่อยๆ กลายเป็นสีเขียวแก่ และสีเหลือง แล้วผลิจากขั้ว ร่วงหล่นลงพื้นดิน ทับถมกันนานเข้าก็เน่าเปื่อยผุพังไป ผู้กวาดใบไม้ใบหญ้าก็เช่นกัน แต่ชีวิตมนุษย์มีค่ายิ่งกว่า และจะมีค่ายิ่งขึ้นหากดำรงชีวิตให้อยู่ในวิถีทางแห่งธรรม 
การขัดถูศาลาก็เป็นอีกกิจวัตรประจำวันของพระเณรที่วัดป่าบ้านตาดเช่นกัน ซึ่งจะต้องปฏิบัติทั้งก่อนออกบิณฑบาตและในตอนบ่ายนี้เอง อุปกรณ์ที่ใช้ก็คือมะพร้าวแห้งผ่าครึ่งลูก พระเณรแต่ละรูปจะคุกเข่าลงขัดพื้นศาลา โดยมีมะพร้าวผ่าครึ่งลูกอยู่ในมือทั้งซ้ายและขวา ออกแรงขัดกันอย่างเต็มที่ การขัดพื้นศาลานี้นับได้ว่าเป็นการขัดเกลากิเลสและความหลงได้เช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดพื้นศาลาและบริเวณโดยรอบของวัดป่าบ้านตาดแห่งนี้ จึงอยู่ในสภาพเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดอยู่ตลอดเวลา 
ในขณะที่พระเณรส่วนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ขัดถูศาลา พระเณรอีกจำนวนหนึ่งจะทำหน้าที่โยกน้ำใส่รถเข็นไปเติมตามจุดต่างๆ ในวัดจนเต็ม รวมทั้งขัดถูห้องน้ำห้องส้วมด้วย พระเณรที่นี่มีสุขภาพดีโดยทั่วกัน ด้วยการปฏิบัติข้อวัตร ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม เดินบิณฑบาต กวาดวัด และขัดถูศาลาอยู่เป็นประจำ 
ในตอนค่ำจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากของการปฏิบัติธรรม พระเณรจะใช้เวลาเรียนเพื่อรู้ เพื่อละ และเพื่อเอาชนะกิเลส เพื่อเอาชนะตนเอง ด้วยวิธีการภาวนาในรูปแบบต่างๆ บางองค์ใช้วิธีนั่งภาวนา บางองค์ใช้วิธีเดินจงกรม การร่วมกันสวดมนต์ไหว้พระที่วัดป่าบ้านตาด จะมีก็ในเฉพาะวันพระกลางเดือนและสิ้นเดือน คือการสวดปาติโมกข์ นอกเหนือไปกว่านั้น พระและเณรจะสวดที่กุฏิโดยลำพัง เพื่อให้ใจสงบ ในการเตรียมบำเพ็ญภาวนาต่อไป ที่กุฏิแต่ละหลัง จะมีทางเดินจงกรม ซึ่งจัดขึ้นเป็นทางตรงเรียบตามตะวัน กว้างประมาณ ๑ วา ยาวประมาณ ๒๐ ก้าว หรือ ๑๐ วาเป็นอย่างน้อย มีหลักสำหรับตั้งเทียนที่หัวและท้ายทางเดิน เพื่อให้แสงสว่างในยามค่ำคืน และเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้เดินและสัตว์ 
ทางเดินจงกรมนี้ต้องเรียบเตียนเพื่อสะดวกในการเดิน จุดประสงค์ของการเดินจงกรมนี้ก็เพื่อให้เกิดความสงบ เกิดสมาธิปัญญา และเพื่อผ่อนคลาย หลังจากการทำสมาธิภาวนาโดยการนั่งเป็นเวลานานๆ เมื่อหยุดเดิน ก็เข้าที่นั่งภาวนาต่อ พอเมื่อยหรือง่วงก็ออกเดินอีก สลับกันเช่นนี้เรื่อยๆ การเดินจงกรมนี้พระเณรบางรูปเดินได้ ๓-๔ ชั่วโมง หรือบางรูปอาจเดินตลอดทั้งคืน การภาวนาของพระวัดป่าบ้านตาดจะใช้บริกรรมพุทโธ บางทีรวมกับอานาปานสติ เช่น หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ พระอาจารย์บางรูปอาจกำหนดอารมณ์ให้เฉพาะพระรูปหนึ่งๆ เพื่อให้เหมาะกับจริต หลักสำคัญคือเน้นที่ธรรมะทั้งหลาย อยู่ภายในกายของเราเอง ให้ส่งจิตเข้าไปภายในกาย ศึกษาภายในกาย ไม่ให้ส่งออกไปภายนอก เพราะไม่ได้ประโยชน์และทำให้จิตล่องลอย 
ระหว่างเข้าพรรษาเป็นโอกาสที่พระจะได้ศึกษาเล่าเรียนกับหลวงตาตลอดสาม เดือนเต็ม ยามค่ำคืนหลวงตาจะเทศน์อบรมพระเณรแบบสอนรวม ซึ่งถือว่าเป็นการแผ่เมตตาธรรมแก่ลูกศิษย์ทุกๆ รูปอยู่เป็นประจำ ช่วงออกพรรษารับกฐิน พระเณรต่างก็จะออกธุดงค์แสวงหาที่วิเวกสำหรับการภาวนา ถือได้ว่าธุดงควัตรเป็นข้อวัตรปฏิบัติของพระฝ่ายกรรมฐานที่จะสร้างจิตใจให้เข้มแข็งมากขึ้น การบำเพ็ญเพียรภาวนานั้นเป็นสิ่งยากที่จะบุกฝ่าอุปสรรคนานาประการ จนถึงจุดหมายโดยลำพังได้ บางครั้งเมื่อปฏิบัติไปสักระยะ ก็เกิดอุปสรรคในรูปของนิวรณ์ หรือนิมิตให้หลงใหล หลวงตามหาบัวก็จะคอยชี้แนวทางให้ การปฏิบัติอาจาริยวัตรของพระวัดป่าบ้านตาดจึงต้องทำโดยสมบูรณ์ เพราะถือได้ว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อหลวงตา ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของพระเณรทั้งวัด 
สมัยก่อนๆ เมื่อตั้งวัดป่าบ้านตาดใหม่ๆ ความที่ท่านเข้มงวดกวดขันพระเณรในเรื่องการภาวนา ตลอดจนธุดงควัตร ทำให้ชื่อเสียงของท่านลือเลื่องไปในทางความดุ พระเณรและประชาชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องจึงน้อย เปิดโอกาสให้การบำเพ็ญภาวนาสะดวก ต่อมาเมื่อครูบาอาจารย์ที่เป็นหลักสำคัญๆ คอยล่วงลับไปทีละองค์สององค์ เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่คำดี หลวงปู่แหวน ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ท่านอาจารย์จวน ท่านอาจารย์วันเป็นต้น ด้วยความเมตตาสงสารคนผู้ขาดที่พึ่ง ชื่อเสียงในเรื่องความดุจึงค่อยลดน้อยลงไป พระเณรและประชาชนนับวันมาเกี่ยวข้องมากขึ้น 
ที่กุฏิของฆราวาส มักจะมีโยมหญิงชายมาบำเพ็ญภาวนา บางคนมาอยู่เป็นหลายสัปดาห์ หลายเดือน วิธีปฏิบัติก็เช่นเดียวกับพระเณร มีทั้งการนั่งภาวนา การเดินจงกรม เพื่อหาหนทางสร้างความสะอาดภายในใจ ดุจการนำมาซึ่งกระแสธรรม เป็นน้ำชำระจิตใจของมนุษย์ ชีวิตที่วัดป่าบ้านตาด จึงเป็นชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ และสมแล้วที่เป็นพุทธจักรแห่งการแสวงหาโมกขธรรมโดยแท้
ชีวิตที่วัดป่าบ้านตาดเป็นชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติโดยแท้ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา แม้ว่าจะมีไฟฟ้าถึงในหมู่บ้านใกล้วัดก็ตาม ที่นี่ใช้เพียงน้ำบ่อ ที่นี่ใช้เพียงเทียนไขและตะเกียง และที่นี่ยังใช้ถ่านและฟืน ด้วยความสุขสบายอันเกินควร จะเป็นเหตุให้บรรดาภิกษุสามเณรลืมความทุกข์ ซึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นให้ปฏิบัติกรรมฐาน เพียงน้ำบ่อก็เพียงพอสำหรับดื่มกินและชำระล้างความสกปรกแล้ว เพียงเทียนไขหรือตะเกียงก็เพียงพอสำหรับแสงสว่างในยามค่ำคืนแล้ว พอมืดค่ำลงต่างก็มุ่งบำเพ็ญเพียรภาวนา แม้กระทั่งวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ก็จะหาจากที่นี่ไม่ได้ ไม่มีความสะดวกสบายอย่างโลกภายนอก แต่ก็น่าแปลกที่ทั้งภิกษุสามเณรและฆราวาสทุกเพศทุกวัย ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พากันหลั่งไหลมาฟังการแสดงธรรมที่ง่ายต่อการเข้าใจจากหลวงตา เพื่อศึกษาธรรมะจากธรรมชาติ
(เสียงหลวงตา) ....ให้กว้างแสนกว้างก็ตามเถอะโลก จิตจะไม่ไปเกี่ยวข้องเลย จิตจะเกาะอยู่ๆ จุดนั้นละ และเย็นสบายๆ อ๋อ นี่ละใจมีที่พึ่ง ท่านว่านาโถ แปลว่าที่พึ่ง ดังที่เราได้ระลึกอยู่เสมอว่าพุทโธ เม นาโถ ธัมโม เม นาโถ สังโฆ เม นาโถ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา เป็นที่พึ่งภายในจิตใจ ก็หมายถึงว่าไง ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นมันพึ่งไม่ได้ พึ่งได้ชั่วกาลชั่วเวลา เช่นส่วนร่างกายนี้ พึ่งซะส่วนมาก มีบ้านดีก็เพื่อร่างกายจะได้อยู่หลับนอนสะดวกสบาย ใจก็พลอยได้รับความสุขบ้างเล็กน้อย วัตถุสิ่งของเงินทองมีมากมีน้อย เราก็ได้อาศัยให้ทานพระ ให้ทานวัด และให้ทานคนจน ความจำเป็นประการใดก็ตาม นี่คือแบ่งไปทำประโยชน์ สาระ ประโยชน์อันนี้จะเข้าสู่จิต จิตจะได้รับสาระประโยชน์อันนี้ ไว้เป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะของตัวเอง สมบัติเงินทองข้าวของที่มีมากก็ไม่เสียอย่างเดียว ส่วนร่างกายก็แบ่งให้มันไปเสีย พออยู่ พอกิน ก็อยู่ไป กินไป หลับไป นอนไป ส่วนที่เป็นสาระของจิต คือแยกออกมาให้เป็นสาระประโยชน์สำหรับจิตใจ เราก็แยกไปทำประโยชน์ เช่นการทำบุญให้ทาน สงเคราะห์คนกำพร้าอนาถา คนทุกข์จนเข็ญใจ อะไรก็แล้วแต่ อันนี้กลายเป็นสาระประโยชน์สำหรับใจ ใจ อันนี้ก็ได้ ทีนี้เวลามันได้แล้ว อันหลักใหญ่ก็คือภาวนานะ ดังที่เคยสอนเสมอ ภาวนาให้จิตของเราเย็น จิตสงบ พอจิตสงบแล้วนะ จิตที่มันเคยเคว้งคว้างนี่นะ มันจะหดตัวเข้ามาทันที ปล่อยๆๆ เพราะได้หลักดี ได้หลักยึดเป็นที่พอใจ เย็น สบาย อยู่ไหนก็สบายๆ ยิ่งอบรมส่งเสริมให้มากขึ้นๆ อันนี้ยิ่งแน่นหนามั่นคงและเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งเด่นขึ้นๆ ความสุขในทางด้านธรรมะนี้ มีสุขพอดิบพอดี ดื่มด่ำอยู่ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าร่วงโรย ไม่มีอนิจจังเข้าไปคอยแทรกอยู่นั่น มันเย็นอยู่เสมอ เรื่องอนิจจังก็อนิจจังไปตามธรรม เช่นเสียใจก็เสียใจเพื่อจะดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เสียใจเพื่อจะเลว มันผิดกันอย่างนี้ ให้พากันจำเอานะ แล้วจิตนี้เวลาเราอบรมเข้ามากๆ แล้ว ตั้งแต่จิตเราธรรมดาๆ ที่วุ่น มันสงบตัวได้ พอมีที่เกาะแล้วสงบตัวได้ ประทังชีวิตได้ ต่อไปก็เย็นๆ แล้วอบรมเข้าไปเรื่อยๆ ใจเลยเป็นความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในตัว เมื่อใจมีความแน่นหนามั่นคง คือเป็นสมบัติภายใน เลยเหมาะกับเป็นสรณะของใจโดยแท้แล้ว.......
 ด้วยถือความหนักแน่นแห่งจิตใจเป็นสรณะ ความเรียบง่ายของสิ่งก่อสร้างและข้าวของเครื่องใช้ภายในวัด จึงมีเท่าที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นศาลา โรงน้ำร้อน ห้องเก็บของ หรือบ่อน้ำ และลานกว้างเพียงโดยรอบศาลาเท่านั้น หลวงตากล่าวอยู่เสมอว่าวัดป่าบ้านตาดจนที่สุด เมื่อมีเงินเข้าก็เอาออกไปสงเคราะห์โลกเท่าที่จะทำได้ ภาพที่ปรากฏจึงชี้ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งถึงการละเว้นของตนเพื่อการหลุดพ้นโดยแท้ 
กลางคืนนั่นคือควัน และกลางวันคือไฟลน ยาวยืดและมืดมน อยู่ฉะนี้มานมนาน วงนิ้วพระหัตถ์เน้น อยู่เป็นวงพจงจาร จารึกพระธรรมทาน ประทับใจทุกใจเทอญ 
สรรพสิ่ง ณ ที่นี้ ทั้งที่มีและหามีชีวิตไม่ ทั้งพืช สัตว์ กรวด หิน ดิน ทราย พันธุ์ไม้ใหญ่น้อย ล้วนเป็นเครื่องหล่อหลอมน้อมนำทุกดวงจิต ให้มีแต่ความสงบสุข เยือกเย็น และให้อภัย จึงถือได้ว่าทุกชีวิตในวัดป่าบ้านตาดนี้ ได้ศึกษาพุทธธรรมวิถีแห่งธรรมชาติอย่างแท้จริง
การทอดกฐินที่วัดป่าบ้านตาด กระทำอย่างง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตองมากนัก สิ่งสำคัญคือผ้าขาวสำหรับเย็บจีวร และอัฐบริขารเท่านั้น เริ่มด้วยทายก ทายิกา จะขนของไปวางไว้หน้าพระบนศาลา ประธานยกผ้าขาวขึ้นกล่าวคำถวาย เสร็จแล้วประเคนของที่เหลือ และทำพิธีกรานกฐิน ต่อจากนั้นพระก็จะนำผ้าขาวดังกล่าวไปตัดเย็บและย้อมให้เสร็จภายในวันนั้น เมื่อรับกฐินแล้ว ก็พากันแยกย้ายสู่ป่าดง เพื่อหาที่วิเวก กระทำการชำระจิตให้บริสุทธิ์ 
จุดหมายปลายทางที่สุดยอดของพระเณรวัดป่าบ้านตาดทุกองค์ก็คือ ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าพลาดจากนั้นก็ขอให้ได้อริยธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง ตั้งแต่โสดาบัน จนถึงอนาคามี เพื่อว่าจะไม่ต้องไปเกิดในแดนทุคคติ ซึ่งมิใช่เรื่องเพ้อฝัน หากมีบุคคลตัวอย่างที่พบหนทางสำเร็จคืออรหัตตผลให้เห็นแล้ว เช่น ท่านพระอาจารย์มั่น 
ภูริทัตโต และสานุศิษย์อีกหลายองค์ ต่างมีส่วนทำให้วิถีชีวิตที่วัดป่าบ้านตาด เต็มไปด้วยความหวังที่จะก้าวไปสู่ดินแดนแห่งความหลุดพ้นทั้งปวง 
ณ วัดป่าบ้านตาด ไม่เพียงบรรดาลูกศิษย์ชาวบ้านตาดเท่านั้น ที่มุ่งหวังเข้าวัดเพื่อการบุญ หากยังมีบรรดาลูกศิษย์จากทั่วทุกสารทิศของประเทศไทย มุ่งตรงไปที่นั่น ความมุ่งมั่นของบรรดาลูกศิษย์ ที่มุ่งไปศึกษาธรรมที่วัดป่าบ้านตาด ก็เพื่อได้ตั้งสติระลึกรู้ตัว  
ไม่เพียงความใกล้ชิดที่บรรดาลูกศิษย์มีต่อพระอาจารย์หลวงตามหาบัว ไม่ว่าจะเป็นในยามที่ท่านอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด หรือเมื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ความผูกพันที่หลวงตามีต่อบรรดาลูกศิษย์ได้เกิดขึ้นตามทำนองคลองธรรมแห่งพระพุทธศาสนา 
หลักพระพุทธศาสนามีอยู่ว่า ของต่างๆ ที่มีผู้ถวายแก่วัด ย่อมเป็นของกลาง ใครจะเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ได้ ทุกคนมีส่วนได้รับประโยชน์ หลวงตาจึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภค บริโภค ไปอย่างทั่วถึง และขณะเดียวกันปัจจัยที่มีผู้มาถวายวัด หลวงตามหาบัวจะใช้เพื่อประโยชน์ของชีวิตเสมอ ทั้งในด้านการกุศลและสาธารณะประโยชน์ ต่างๆ  
(นพ.เจริญ มีชัย)...ตั้งแต่เริ่มแรกท่านเจ็บป่วยและก็เข้าโรงพยาบาล ก็เห็นภาพของคนไข้ ของญาติคนไข้มีความทุกขเวทนา และก็บางคนนี่ไม่มีเงินที่จะมาเสียค่ารักษาพยาบาล ท่านก็เลยเห็นว่าความจำเป็นของความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกคนมีเท่ากันหมด แล้วถ้าคนยากคนจนนี่จะทำอย่างไร ท่านก็เลยคิดที่จะให้เงินบริจาคต่อโรงพยาบาล เพื่อสร้างตึกคนไข้ แล้วการสร้างตึกนั้น ท่านได้ให้ความเห็นว่าถ้ามีแต่ตึกคนไข้อย่างเดียว มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ท่านก็เลยคิดที่จะให้ทั้งเป็นตึกคนไข้ แล้วก็มีเครื่องมือที่สมบูรณ์ที่สุด ในพร้อมๆ กันไปเลย ในช่วงแรกท่านก็ให้ตึกสองชั้นมา ๑ หลัง แล้วความจำเป็นของโรงพยาบาลขณะนั้น ท่านผู้อำนวยการก็ได้ตัดสินใจที่จะให้เป็นตึกศัลยกรรมกระดูก เพราะคนไข้อุบัติเหตุของโรงพยาบาลมันมากเหลือเกิน ชื่อตึกทางโรงพยาบาลก็ขอใช้ชื่อของท่าน หรือฉายาของท่าน ท่านก็ไม่ยอม ท่านบอกว่าเงินจำนวนนี้เป็นของลูกศิษย์ลูกหา ท่านจะเอาชื่อคนเดียวไม่ได้ เงินของท่านไม่มีแม้แต่บาทเดียว เป็นศรัทธาที่ลูกศิษย์ลูกหาได้ร่วมศรัทธาด้วย ท่านก็เลยตั้งชื่อว่าตึกรวมเมตตามหาคุณ ซึ่งมีความหมายว่าความเมตตาทั้งหลายได้มารวมกัน.....
โรงพยาบาลจึงคล้ายเป้าหมายที่หลวงตาถือเป็นความจำเป็นต้องแก้ทุกข์ นายแพทย์เจริญ มีชัย แห่งโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เล่าให้ฟังว่า เพียงหลวงตาเข้ามาผ่าตัดเล็กน้อยที่ห้องนี้ ท่านก็รู้ว่าโรงพยาบาลขาดอุปกรณ์ เช่น โคมไฟผ่าตัดและอีกหลายๆ สิ่ง ที่ดุจท่านเนรมิตให้ เพื่อแก้ความทุกข์ของประชาชน 
(เสียงหลวงตา)...ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและหมอมาขอเรา ขอชี้แจงตามความจำเป็นให้เราทราบ ฟังแล้วก็น่าเห็นใจนี่นะ  เพราะงั้นจึงรับเลย ทั้งๆ ที่เรายังไม่มีเงินเลย เราก็บอกไม่มีเงินเลย แต่จะรับ คือรับด้วยน้ำใจ หัวใจ ความจำเป็น มากทีเดียว เอ้าๆ รับเลย เราไม่มีเดี๋ยวนี้ แต่จะรับเลย ก็รับจริงๆ พอดีมีบุญมาบุญเกิดนะ ได้แล้วจริงๆ เราก็ช่วยหมอ ไม่งั้นหมอจะทำงานได้ยังไง หมอก็ไม่มีเครื่องมือ เราทำงานอะไรๆ ก็ต้องมีเครื่องมือๆ ไม่มีเครื่องมือไม่ได้ หมอก็เหมือนกัน ยิ่งความเกี่ยวข้องกับคนไข้ คนไข้เป็นคนจนตรอกจนมุม ใครเข้าไปหัวใจอยู่กับหมอๆ  ชีวิตอยู่กับหมอ ฝากไว้กับหมอ แล้วหมอที่จะแก้ชีวิตของคน หรือเอาชีวิตของคนไว้ได้ เพราะอะไร ก็เพราะมีเครื่องมือ นี่เราคิดอย่างนี้ ไปแต่โรงพยาบาลนี้ส่วนมากเราจะเข้าไปโรงพยาบาลต่างๆ ใครขอมาโรงไหน ขอมา เราก็เข้าไป ไปดู แต่ไปที่ไหนมันก็ไม่พ้นที่จะมองเห็นความแออัดของคนไข้นะ หาที่อยู่ไม่ได้เลย นี่ละสำคัญมาก ก็เลยต้องช่วยๆๆ เรื่อยมา.....
ในส่วนของการให้เพื่อรักษาชีวิต หลวงตามหาบัวยังได้มอบรถพยาบาล ๑ คัน และเครื่องอุลตร้าซาวน์อีก ๑ เครื่อง แก่โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม นอกจากด้านการรักษาพยาบาลช่วยเหลือชีวิต หลวงตายังเห็นความสำคัญของเยาวชนน้อยๆ ทั้งในชนบทและในเมืองหลวง ตึกเรียนใหม่ในสถานศึกษาที่หมู่บ้านตาด และอีกหลายๆ แห่ง คือคุณประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง จากเมตตาจิตของหลวงตา ผู้เห็นว่าการพัฒนาเยาวชน ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ 
ทะเลทุกข์เป็นอยู่ในเบญจขันธ์ของเรา ไม่มีวันบกพร่อง อย่าเห็นทุกข์เป็นเรา และอย่าเห็นเราเป็นทุกข์
ณ สถานสงเคราะห์คนพิการปัญญาอ่อนปากเกร็ด อุปกรณ์เครื่องมือช่วยเด็กเดิน จำนวน ๘ คัน พี่เลี้ยงจำนวน ๑๒ คน จากเงินช่วยเหลือของหลวงตา ซึ่งมาจากศรัทธาของบรรดาลูกศิษย์ทุกสารทิศ ก่อให้เกิดประกายแห่งความหวังของชีวิตซึ่งหมดอนาคตแล้ว 
รอยยาตรทุกบาทย่าง ไปท่ามกลางความทุกข์เข็ญ คือธรรมอันฉ่ำเย็นระงับทุกข์อยู่ทุกยาม
ทุกครั้งที่หลวงตาเดินทางมากรุงเทพฯ บรรยากาศที่สวนแสงธรรมมีชีวิตชีวา คำสอนต่างๆ จากหลวงตา ประทับแน่นในหัวใจสานุศิษย์ทั้งมวล จงดูความเคลื่อนไหวของใจ ที่เราเกิดความไหวเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา อาการของใจมันเกิดไปถึงไหน และดับไปถึงไหน แม้เพียงเวลาน้อยนิด ไม่ว่าที่ไหน แห่งหนใด ทุกคนก็ยังรำลึกมั่นว่ามีคุณค่าที่ได้ฟังหลวงตาอบรมใจ นับได้ว่าช่วงชีวิต ๕๔ พรรษา ในร่มผ้ากาสาวพัตร์ของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ท่านได้อุทิศการสงเคราะห์มากมายให้กับทะเลทุกข์ของสรรพสัตว์ที่มีชีวิต ความทุกข์ยากทางกายของมวลมนุษย์ แม้แต่ความทุกข์ทางใจ หลวงตาก็ได้ให้ธรรมะด้วยวิถีทางต่างๆ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจกับฆราวาส ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ นี่คือแนวทางปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต โดยแท้ 
(เสียงหลวงตา)....อย่าลืมดูตัวของเรา อย่าลืมพินิจพิจารณาความเคลื่อนไหวของใจเรานี้เป็นอันดับแรกนะ รวดเร็วที่สุด ให้มีอรรถมีธรรม ท่านว่า นิสัมมะ กะระณัง เสยโย ให้ใคร่ครวญเสียก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วค่อยทำลงไป อย่าทำด้วยความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม อย่าทำด้วยความทะเยอทะยาน อย่าทำด้วยความอยากฉุดลากไป ส่วนมากมักจะผิดพลาดเสมอๆ จนกลายเป็นนิสัยผิดพลาด เพราะความไม่พิจารณา ชาวพุทธต้องพิจารณาจะทำอะไร ความอยากเอามาประมาณไม่ได้นะ ให้เหตุผลเป็นผู้เดินหน้า เราอย่าเอาความอยากเดินหน้า ความอยากเดินหน้ามันจะพาก้าวเข้าสู่นรกอเวจี สดๆ ร้อนๆ โดยไม่รู้สึกตัว ถ้าเหตุผลคืออรรถธรรมเป็นเครื่องพาเดินแล้ว ความอยากนั้นจะค่อยสงบตัวลงไปๆ จนกระทั่งไม่ปรากฏ อะไรจะก้าวเดิน อะไรจะทำอะไรอย่างนี้ ควรหรือไม่ควร นั่นเหตุผลจะมาแล้ว ความอยากจะหมอบ ฟังเหตุผล ต่อไปก็มีแต่เหตุผลเป็นทางเดิน เดินตามเหตุตามผลแล้วไม่ค่อยผิดพลาด....
วัดป่าบ้านตาด สัญลักษณ์แห่งความเมตตาของท่านผู้เป็นปุญญะเขตตัง โลกัสสะ และศูนย์รวมของพระและฆราวาส ณ ที่นี้จึงเป็นอาณาจักรเพื่อการศึกษาพุทธธรรม โดยวิธีแห่งธรรมชาติ เพื่อสันติสุขอันเป็นนิรันดร์ สันติสุขอันนำมาซึ่งสันติภาพ เพื่อมวลมนุษยชาติจะได้อยู่รวมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข 
เสียงหลวงตาให้พร....รโส ยถา มณิโชติ รโส ยถาสพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ สพฺพโรโค วินสฺสตุ
มา เต ภวตฺวนฺตราโย สุขี ทีฆายุโก ภว อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ
นัตถิ สันติ ปะรัง สุขขัง ความสุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี 















   








Copyright © 2002 - 2003 วัดป่าบ้านตาด ต. บ้านตาด อ. เมือง จ. อุดรธานี 41000
All Rights Reserved.